บทเรียนจากหุ้นแก๊งนางฟ้า

ช่วงประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ของหุ้นตัวเล็กถึงกลางกลุ่มหนึ่งที่มีเส้นทางหรือพฤติกรรมที่น่าสนใจมากควรแก่การศึกษาเพื่อเป็นบทเรียนให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ได้เข้าใจถึงเรื่องของ “จิตวิทยา” และกระบวนการสร้างสรรค์ราคาหุ้นจนเกิดเป็น “ฟองสบู่”  และ การ “แตก” ของฟองสบู่ที่ทำเงินให้คนบางคนมหาศาลและทำให้หลายคน “เจ๊ง”  อย่างหนัก  โดยที่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในยามที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เคลื่อนไหวเป็นปกติและมีความผันผวนน้อยมาก

หุ้นในกลุ่มนี้น่าจะมีไม่น้อยกว่า 10 ตัว  ทุกตัวเป็นบริษัทที่มีกำไรค่อนข้างดีถึงดีมากวัดจากฐานะทางการเงินที่มีหนี้น้อยส่วนหนึ่งเพราะขายสินค้าเป็นเงินสด  ส่วนใหญ่ขายสินค้าผู้บริโภคที่มียี่ห้อดีหรือบางตัวดีมากทำให้มีกำไรต่อยอดขายค่อนข้างสูง  ผลกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นก็ค่อนข้างสูงอานิสงค์ส่วนหนึ่งจากการที่บริษัทไม่ต้องใช้ทุนมากในการสร้างโรงงานหรืออาคารเพื่อผลิตหรือขายสินค้า  นอกจากนั้น  ผู้บริหารก็มักจะเป็นคนหนุ่มสาวและมักเป็นคนที่ก่อร่างสร้างบริษัทจากที่มีขนาดเล็กจนเติบใหญ่และนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้  ชื่อเสียงวิสัยทัศน์และผลงานในการนำบริษัทไปสู่อนาคตที่จะเติบโตต่อไปนั้นดูเหมือนจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

“การเติบโต” ซึ่งเป็นเหมือน “จอกศักดิ์สิทธิ” ของการลงทุนโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นบูม  ของบริษัทเหล่านั้นก็ดูเหมือนจะดี  เพราะหลังจากที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  กำไรของบริษัทก็เติบโต  หลายตัวดู  “ก้าวกระโดด” และแหล่งที่เติบโตนั้นดูเหมือนว่าจะมีศักยภาพที่สูงมากที่จะโตต่อไปได้อย่างไม่จำกัดอาทิเช่นจาก  “ตลาดจีน”  หรือจากธุรกิจหรือโครงการใหม่ ๆ  ที่ยังมีโอกาสที่จะโตต่อไปได้มหาศาล  ทั้ง ๆ  ที่ก่อนเข้าตลาดหุ้นนั้น  ส่วนใหญ่กำไรก็ไม่ได้โตอะไรนัก  สินค้าหรือธุรกิจของบริษัทเองก็ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อะไรในประเทศไทย  อย่างไรก็ตาม  ในตลาดหุ้นนั้น  ไม่มีใครสนใจอดีต “เราต้องมองไปข้างหน้า”  อย่างลืมว่า  “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้—และความจริง”

เพียงแค่วันแรกที่เข้าตลาด  หุ้นกลุ่มนี้ก็วิ่งขึ้นไปสูงลิ่ว  บางตัวเป็นร้อย ๆ  เปอร์เซ็นต์ก็มี  มูลค่าการซื้อขายหุ้นสูงลิ่ว  ตีความได้ว่าคนเข้ามาซื้อและขายหุ้นเปลี่ยนมือกันโดยเฉลี่ยแทบจะวันต่อวัน  มูลค่าตลาดหรือ Market Cap. ของหุ้นจากราคา IPO ที่หลายพันล้านบาทในเวลาไม่นานก็กลายเป็นหมื่นล้านบาทและต่อมาก็กลายเป็นหลายหมื่นหรือเป็นแสนล้านบาทสำหรับหุ้นบางตัว  เจ้าของหุ้นที่มักจะยังมีอายุน้อยเมื่อเทียบกับนักธุรกิจหรือเจ้าของหุ้นตัวอื่นกลายเป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี  “ในชั่วข้ามคืน” จากตัวเลขความมั่งคั่งจากราคาหุ้น  หลาย ๆ  คนก็ทยอยขายหุ้นออกและรับเงินสดจริงแทนมูลค่าหุ้นที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ในอนาคต  เหตุผลในการขายหุ้นนั้นส่วนใหญ่ก็บอกว่าเพื่อที่จะ “เพิ่มสภาพคล่อง” ให้กับหุ้นทั้ง ๆ  ที่หุ้นนั้นมีสภาพคล่องสูงจนล้นเกินอยู่แล้ว

ราคาและมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้นมากและรวดเร็วประกอบกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของบริษัทประกอบกับเรื่องราวหรือสตอรี่ที่ก่อให้เกิด “จินตนาการ” ว่าบริษัทนั้นจะกลายเป็นบริษัท  “ระดับโลก” ทำให้คนลืมคิดถึงความถูกความแพงของหุ้นที่กระโดดขึ้นจากราคา IPO ที่มีค่า PE ประมาณ 20-25 เท่าหรือบางตัว 30 เท่านั้น  กลายเป็นหุ้นที่มี PE เป็น 50-100 เท่า ซึ่งแม้แต่หุ้นไฮเท็คที่เป็นซุปเปอร์สต็อกระดับโลกยังต้องอายไม่ต้องพูดถึงราคาหุ้นที่ขึ้นไปหลายเท่าหรือบางตัวขึ้นไปเป็น 10 เท่าในเวลาไม่กี่ปีนั้น  ส่งผลให้หุ้นเหล่านั้นกลายเป็น  “หุ้นนางฟ้า”  ของนักลงทุนบางกลุ่มโดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่และสถาบันนักลงทุนเช่นพวกกองทุนรวมที่มีพลังเงินมหาศาลที่สามารถ  Corner หรือกวาดซื้อหุ้นขนาดเล็กและกลางที่มีหุ้นหมุนเวียนจำนวนน้อยเหล่านั้นจนเกือบหมดได้

การปรากฏตัวเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่”  ของนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้าไปซื้อหุ้นนางฟ้าเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าหุ้นเหล่านั้นดีจริงและราคายัง “ไม่แพง” และอาจจะเป็นตัวบอกว่านักลงทุนรายย่อยไม่ต้องห่วงว่าราคาจะลดลง  แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ราคาจะวิ่งสูงขึ้นไปอีกอย่างรวดเร็วเพราะหุ้นส่วนใหญ่นั้นถูกเก็บไปจนเกือบหมดแล้ว  ผลก็คือหุ้นก็ยิ่งปรับตัวขึ้นไปอีก   ในไม่ช้านักลงทุนโดยเฉพาะรายใหญ่ที่เข้าไปเล่นก็กลายเป็น  “เทพ” ที่เข้าไปเกี่ยวพันกับ  “นางฟ้า”  โดยที่นางฟ้านั้นดูเหมือนจะทยอยเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ตามหุ้นใหม่ ๆ  ที่มีคุณสมบัติคล้าย ๆ  กัน   เกือบทุกตัวที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดนั้นต่างก็มีพฤติกรรมราคาและเรื่องราวคล้าย ๆ  กันนับถึงปัจจุบันน่าจะไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท  ซึ่งผมอยากจะเรียกว่าเป็นหุ้น  “แก๊งนางฟ้า”  ตามแบบที่ดาราสาวในวงการบันเทิงบางกลุ่มใช้เรียกตนเอง

นอกจากมีนางฟ้าและมีเทพแล้ว  สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปถึงจุดสุดยอด (ราคาหุ้น) ได้  ที่สำคัญก็คือจะต้องมี  “สวรรค์”  และนี่ก็คือภาวะตลาดหุ้นและการเก็งกำไรที่เอื้ออำนวย  และเวลาที่ว่าก็คือในช่วงตั้งแต่ไตรมาศสุดท้ายของปี 2560 ต่อเนื่องมาจนถึงประมาณเดือนเมษายนต่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ซึ่งเป็นช่วงของการประกาศงบของบริษัทจดทะเบียนไตรมาศ 1  นี่คือช่วงเวลาที่หุ้นในกลุ่มหรือแก๊งนางฟ้าวิ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดซึ่งก็  “บังเอิญ”  เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยกำลังวิ่งขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวจากดัชนีประมาณ 1,500 กว่าจุดกลายเป็น 1,600 กว่าจุด 1,700 กว่าจุดและขึ้นไปถึง 1,800 กว่าจุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่มีการประกาศงบปี 2560  พร้อม ๆ  กับปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันที่เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 6-70,000 ล้านบาทเป็นเรื่องปกติ  ในเวลานั้นนักลงทุนต่างก็ “ฮึกเหิม”  เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ทะลุจุดสูงสุดตลอดกาลที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว

หลังจากการวิ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดของหุ้นในกลุ่มแก๊งนางฟ้าแต่ละตัวแล้ว  หุ้นเหล่านั้นก็ทยอยปรับตัวลงอย่างแรงน่าจะพอ ๆ  กับช่วงขาขึ้นและบางตัวแรงกว่า  ส่วนใหญ่แล้วเหตุของการปรับตัวลงแรงนั้นมักจะไม่มีเหตุการณ์พิเศษอะไรนอกจากผลประกอบการที่น่าผิดหวังและข่าวลือหรืออาจจะ “Inside” หรือ “ข้อมูลภายใน”  ว่าผลประกอบการจะ “ไม่ดี”  ที่หนักหน่อยก็อาจจะเป็นเรื่องของความไม่โปร่งใสของผู้บริหารหรือข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว   นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องของความเชื่อที่ว่า  “รายใหญ่ขายหุ้น” เป็นต้น  การตกลงมาของหุ้นนางฟ้านั้น  ส่วนมากแล้วตกลงมาแรงมากอย่างน้อยก็หลายสิบเปอร์เซ็นต์  บางตัวตกลงมากว่าครึ่งของราคาที่เคยขึ้นสูงสุด  บางตัวตกลงมาแรงกว่านั้นเช่นเหลือมูลค่าเพียง 20-30% ของราคาสูงสุด  หุ้นนางฟ้าเกือบทุกตัวกลายเป็น  “นางฟ้าตกสวรรค์”  คนที่เข้าไปลงทุนโดยเฉพาะที่เข้าไปซื้อหุ้นในระดับ PE ที่สูงกว่า 50 เท่าขึ้นไปกลายเป็น  “หายนะ”  คนที่เข้าไปซื้อเร็วและขายออกไปก่อนซึ่งอาจจะรวมถึงนักลงทุนรายใหญ่ก็อาจจะยังได้กำไรมหาศาลแม้ว่าจะขายหลังจากที่หุ้นตกลงมามากแล้ว

คงยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังเข้าไป “ช้อนซื้อ” หุ้นที่ตกลงมามาก  เช่น  ตกลงมาครึ่งหนึ่งแล้วจาก “ยอดดอย”  พวกเขาคิดว่ากิจการของบริษัทเป็นกิจการที่ดีหรือดีมาก  ยังไงก็จะต้อง  “เด้ง”  หลายคนก็ไม่ได้ขายหุ้นเพราะยังเชื่อมั่นใน  “พื้นฐาน” ของกิจการที่ “ดีเยี่ยม”  เหนือสิ่งใด  หุ้นที่ตกลงมานั้น  “ตัวบริษัทไม่ได้เป็นอะไรมาก”  ทั้งหมดนั้นผมเชื่อว่าเป็นเพราะนักลงทุนยังติดอยู่กับเรื่องเดิมหรือสตอรี่เดิมของบริษัทที่ถูกปล่อยออกมาพร้อม ๆ  กับราคาหุ้นที่ขึ้นแรงจนเขาเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริงทั้งหมดและลืมคิดถึงราคาหุ้นที่สุดจะแพงเนื่องจากกระแสหุ้นเติบโตกำลังมาแรงในช่วงนั้น  และในแนวคิดของ Growth Investment หรือการลงทุนในหุ้นเติบโตนั้น  ราคาไม่ใช่ประเด็นของการซื้อหรือขายหุ้น พวกเขาคิดว่า  หุ้นแพง PE สูง  “เดี๋ยวกำไรก็โตทันและทำให้ค่า PE ลดลงมาเอง”

ผมไม่รู้ว่าอนาคตของ “หุ้นแก๊งนางฟ้า” จากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป  สิ่งที่ผมคิดว่านักลงทุนจะต้องคิดก็คือ  ลืมเรื่องทั้งหมดที่เราเคยรับรู้ในช่วงที่มันกลายเป็นหุ้นนางฟ้า  ลองคิดใหม่และกลับไปดูความเป็นจริงที่ผ่านมาว่ามันโดดเด่นแค่ไหนจริง ๆ และโอกาสที่มันจะเติบโตได้มากน้อยแค่ไหนโดยที่อย่าจินตนาการโดยมองโลกในแง่ดีเกินไป   เสร็จแล้วลองเปรียบเทียบกับราคาหุ้นในปัจจุบันว่าคุ้มค่าที่จะซื้อไหม  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ถ้าค่า PE ก็ยังเกิน 40-50 เท่าอยู่ดีก็จะต้องคิดหนักมากว่าควรซื้อหรือไม่โดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นไม่ใช่  “สวรรค์”  อย่างที่เคยเป็น

ที่มาบทความ: thaivi.org

TSF2024