บทเรียนการลงทุนจากปี 2561

ในสงครามนั้นมีคำพูดสำคัญข้อหนึ่งก็คือ  “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร”  เรื่องหุ้นเองนั้น  บ่อยครั้งก็มีการเปรียบเทียบกับสงครามเนื่องจากการลงทุนนั้นเป็น “กิจกรรมแห่งการต่อสู้” ที่รุนแรงคล้าย ๆ  กับสงคราม  ดังนั้น  ในแวดวงหุ้นเองคนก็มักจะพูดว่า  ตราบใดที่คุณยังลงทุนอยู่  เช่นยังถือพอร์ตลงทุนหุ้นจำนวนมากไว้หรือถือหุ้นบางตัวไว้  ก็จงอย่าคิดว่าคุณประสบความสำเร็จทำเงินมากมายแล้ว  เหตุผลก็เพราะว่า   พอร์ตและ/หรือหุ้นที่มีกำไรมหาศาลนั้น  อาจจะตกลงมาอย่างแรงจนกำไรหดหายหรือกลายเป็นขาดทุนได้  ดังนั้น  จงอย่าชะล่าใจและเปิดตัวเองให้อยู่ในความเสี่ยงที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น  การลงทุนในหุ้นนั้น  เราควรที่จะ  “ถ่อมตน”  อยู่เสมอตราบที่เรายังคงลงทุนอยู่  และนี่ก็คือบทเรียนแรกที่ผมคิดว่าเราน่าจะได้จากการลงทุนในช่วงปี 2561 ที่ VI จำนวนมากรวมถึง  “เซียนหุ้น”  ขาดทุนหรือมูลค่าพอร์ตลดลงมามากแทบจะเป็น  “หายนะ”

ในการลงทุนนั้น  ผมคิดว่ามันเป็นกิจกรรมระยะยาวหรือแม้แต่ตลอดชีวิต  แม้แต่คนที่  “เล่นสั้น” ซื้อขายหุ้นรายวัน  แต่ถ้าเขาก็ทำแบบนั้นเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานหรือ “ตลอดชีวิต”  มันก็คือเกมระยะยาวเช่นเดียวกัน  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  หากเราเป็นคนที่มีเงินเหลือเก็บจากการทำงานใช้แรงงาน  เงินที่เหลือเก็บนั้นโดยนิยามก็คือเงิน “ลงทุน”  เพราะคงไม่มีใครเก็บเป็นเงินสดที่เป็นธนบัตร  มันจะต้องถูกนำไปฝากธนาคารหรือซื้อตราสารทางการเงินหรือนำไปซื้อทรัพย์สินเพื่อการลงทุนซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์  ดังนั้น  โดยนิยามแล้ว  ทุกคนที่มีเงินเหลือเก็บก็เป็นคนที่ต้องลงทุนหรือเป็นนักลงทุนและเป็นนักลงทุนระยะยาวตลอดชีวิต  ผลตอบแทนที่เราได้รับจากการลงทุนนั้น  ในบางช่วงก็ดีเลิศหรือดี  บางช่วงก็แย่หรือแย่มาก  ถ้า “บังเอิญ” ว่าเราทำผลตอบแทนได้ดีเยี่ยมมายาวอาจจะเป็น 10 ปี  ก็จงอย่าคิดว่าเรา “เก่งมาก” หรือเป็น “เซียน”  แม้ว่าจะมีคนอื่นยกย่องชื่นชมเรา  เพราะเป็นไปได้ว่าวันหนึ่ง  เช่นในปี 2561 เราอาจจะ “แพ้”  กำไรที่เคยทำมาได้หายหมดหรือลดลงมากจนทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นนั้น  ไม่ได้สูงกว่าปกติเท่าไรนัก  และนี่ก็คือสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นตลอดเวลาและเกิดขึ้นกับ “เซียน” ระดับโลกด้วย

ปี 2561 นั้น  ผมคิดว่ามันเป็นปีที่  “หมดรอบ” ในหลาย ๆ  เรื่อง  ความหมายก็คือ  สิ่งต่าง ๆ  ที่มักเคลื่อนไหวเป็นวัฏจักร ดี-ร้ายนั้น  หมุนมา “ครบรอบ” เช่น  แรงเก็งกำไรในหุ้นแบบต่าง ๆ  ที่ทำให้หุ้นขึ้นไปแรงมากเป็นเวลาหลายปี  พอถึงปี 2561 มันก็ถึงจุดสุดยอดและก็เริ่มปรับตัวลงแรงและดูจะไม่สามารถดีดตัวขึ้นในระยะสั้นอย่างที่เคยเป็นอีก  ดังนั้น  ผมคิดว่ามันน่าจะ  “จบรอบ”  หรือ  “อวสาน”  และต้องรอเวลาอีกนานพอสมควรกว่าที่จะกลับมาเป็นขาขึ้นรอบใหม่  และการที่มันจบรอบหรือ  “สงครามสงบ” แม้ว่ามันจะเป็นเรื่อง “ชั่วคราว”  นี้เอง  ผมจึงคิดว่าเราน่าจะมาทบทวนดูว่าเราได้รับบทเรียนอะไรบ้าง

จากประสบการณ์ของผมเองนั้น  ผลงานการลงทุนที่ดีนั้นมักจะเกิดขึ้นเพราะหุ้นบางตัวที่มีขนาดใหญ่สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นต่อเนื่องยาวนานซึ่งนั่นช่วยทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตเติบโตหรือต้านทานภาวะเลวร้ายของตลาดได้  ถ้าจะพูดภาษาสงครามหน่อยก็อาจจะบอกว่า  เรามี “เรือธง” ที่ยิ่งใหญ่ที่คอยค้ำจุนหรือปกป้องน่านน้ำหรือเขตสงครามที่ทำให้กองทัพประสบความสำเร็จและยืนหยัดอยู่ได้  เรือธงนั้นเองก็ “ถูกถล่ม” เช่นเดียวกัน  แต่มันไม่จมและมันพร้อมที่จะกลับมาสู้รบอย่างห้าวหาญต่อไป  อย่างไรก็ตาม  มีโอกาสเสมอที่มันอาจจะถูกถล่มจนจมลงแบบเดียวกับที่เรือบิสมาร์กที่ยิ่งใหญ่ของเยอรมันถูกรุมล่าจนจมลงมาแล้วในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

บทเรียนที่ว่าเราต้องมีเรือธงหรือหุ้นที่ยิ่งใหญ่หรือหุ้นที่ในช่วงเวลายาวนานระดับหนึ่งสร้างผลงานที่น่าประทับใจจนทำให้ผลงานโดยรวมของเราดีต่อเนื่องยาวนานนี้  ผมคิดว่ามันเป็นบทเรียนที่ปีเตอร์ ลินช์พูดไว้ในหนังสือเรื่อง One Up On Wall Street ที่เขาเล่าว่าการเติบโตหรือผลตอบแทนของหุ้นจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ของเขานั้นก็ไม่ได้สูงผิดปกติอะไร  มัน “ธรรมดา” มาก  เหตุผลก็อาจจะเป็นว่าเขาถือหุ้นเป็นพันตัวซึ่งมันยากมากที่จะมีผลงานดีทุกตัว  แต่หุ้นที่ทำให้พอร์ตเขาดูดีมากก็คือหุ้นบางตัวที่เขาถือไว้จำนวนมากตั้งแต่ราคายังต่ำและบริษัทที่อาจจะเพิ่ง “Turnaround” หรือเติบโตนั้น  เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ  ทุกปีในอัตราที่สูงและกลายเป็น “หุ้น 10 เด้ง”  และนี่คือหุ้นที่เขาถือยาวนานติดต่อกันหลายปี  ผลก็คือ  ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีมากของเขาส่วนสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนในหุ้นแบบนี้

บทเรียนสำคัญต่อมาก็คือ  การ “หลีกเลี่ยงหายนะ” จากหุ้นที่เราลงทุน  นี่ก็คือจะต้องประเมินความเสี่ยงของหุ้นทุกตัวว่ามันเป็นอย่างไร  ความเสี่ยงสูงแค่ไหนและต้องเป็นความเสี่ยงทุกด้านรวมถึงความเสี่ยงที่เราใช้ Leverage หรือการกู้ยืมเงินมาลงทุนหรือการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการเพิ่มอัตราความเสี่ยงขึ้นไปสูงมากเช่น  การใช้บล็อกเทรดเป็นต้น  และนอกจากความเสี่ยงของตัวกิจการและตัวหลักทรัพย์เองแล้ว  เราก็ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิด Fraud หรือการโกงและการหลอกลวงในเรื่องต่าง ๆ  รวมถึงระบบบัญชีของบริษัทโดยเฉพาะเวลาที่เราดูแล้วมัน  “Too good to be true” หรือมันดูดีจนไม่น่าเป็นไปได้    ในช่วงปี 2561 และก่อนหน้านั้น 2-3 ปี ดูเหมือนว่าเราจะพบหุ้นประเภทนี้ค่อนข้างมาก

บทเรียนอีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะจดจำก็คือ  หุ้นที่มี “คนเชียร์กันอื้ออึง” นั้น  ก็เป็นไปตามที่บัฟเฟตต์เคยพูดไว้ว่า  เรามักจะต้องจ่ายเงินซื้อแพงเกินไปและทำให้เรา  “เสียเงิน”  ช่วงก่อนหน้านี้เราได้เห็นว่ามีหุ้นขนาดกลางและเล็กจำนวนไม่น้อยที่ถูกเชียร์กันอย่างกว้างขวางว่าจะเติบโตยิ่งใหญ่เหมือนอย่างหุ้นที่ยิ่งใหญ่ในต่างประเทศโดยนักลงทุน  นักวิเคราะห์  ผู้บริหารบริษัท  และสื่อต่าง ๆ  ซึ่งทำให้ราคาหุ้นถูกไล่ขึ้นไปสูงมาก  แต่แล้วเมื่อตัวเลขผลประกอบการที่ทยอยออกมาไม่รองรับ  ราคาหุ้นก็ปรับลดลงมาหนักมากซึ่งทำให้คนที่ตื่นเต้นกับเสียงเชียร์และเข้ามาซื้อหุ้นขาดทุนจำนวนมาก

อีกบทเรียนหนึ่งที่ปี 2561 ตอกย้ำก็คือ  การคาดการณ์ภาวะตลาดหุ้นนั้น  เป็นเรื่องที่มีประโยชน์น้อยในการลงทุน  ส่วนใหญ่แล้วโอกาสที่จะถูกหรือผิดนั้นเท่า ๆ  กันและบ่อยครั้งถึงคาดถูกก็ไม่มีประโยชน์เพราะเราเป็นนักลงทุนที่เลือกลงทุนเองไม่ใช่คนที่ซื้อกองทุนรวมอิงดัชนี   ปี 2561 นั้น  คนส่วนใหญ่น่าจะคาดในช่วงต้นปีว่าจะเป็นปีที่ดีเพราะดัชนีหุ้นก็เพิ่มขึ้น  อย่างไรก็ตาม  เมื่อหมดปี  ผลปรากฏว่าดัชนีก็ตกลงมา  “แรง”  คือประมาณ 11%  แต่ถ้ามองจากประวัติศาสตร์  การตกแค่นี้ก็ถือว่า  “ธรรมดา”  เป็นแค่  Correction หรือการ “ปรับตัว” ของตลาดหุ้น  อย่างไรก็ตาม  ถ้ามองในภาพเล็กลงมาและในสายตาของนักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากแล้ว  ปี 2561 น่าจะถือว่าเป็นปี  “วิกฤติ”  เพราะหุ้นตัวเล็กและกลางที่นักลงทุนส่วนบุคคลชอบลงทุนนั้นจำนวนไม่น้อยราคาตกลงมาน่าจะเกิน 30%

สุดท้ายสำหรับบทเรียนจากปี  “วิกฤติ”  รอบนี้ก็คือ หุ้นที่จะ “อยู่รอด”  หรือตกลงมาไม่มากและอาจจะพร้อมที่จะกลับขึ้นมาใหม่ก็คือหุ้นที่ความสามารถในการแข่งขันของกิจการยังแข็งแกร่ง  และ/หรือ บริษัทยังเติบโต  และ/หรือ ราคาหุ้นไม่แพงเกินไป  และนี่คือหุ้นที่สามารถ “ฝ่ามรสุม” ของตลาดหุ้นได้ดีที่สุดในทุกสถานการณ์

ที่มาบทความ: thaivi.org