คำทำนายดัชนีหุ้นปีหน้า
ช่วงเวลาใกล้สิ้นปี กิจกรรมอย่างหนึ่งของนักวิเคราะห์หุ้นซึ่งก็รวมถึงนักลงทุนที่ให้ความเห็นต่อสาธารณะเป็นปกติอย่างผมต้องทำก็คือ การทำนายว่าตลาดหุ้นปีหน้าจะดีหรือไม่? นี่เป็นสิ่งที่นักลงทุนในตลาดหุ้นอยากจะรู้ เพื่อที่จะได้ “มีกำลังใจ” ที่จะลงทุนต่อไป ดังนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงมักจะบอกว่า “ปีหน้าน่าจะดี” สมควรที่จะลงทุน ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เท่าที่จะนึกได้ ผมเองก็แทบไม่เคยได้ยินนักวิเคราะห์บอกว่า “ปีหน้าแย่มาก” และไม่ควรลงทุนเลย เพราะเอาเข้าจริง ๆ ผลประโยชน์ของคนที่พูดส่วนใหญ่หรือทั้งหมดต่างก็ขึ้นอยู่กับการชักชวนให้คนรู้สึกดี มีความหวัง และอยากลงทุน ดังนั้น “ความลำเอียง” ทางด้านบวกก็มักจะเกิดขึ้น

ในฐานะที่เป็น VI ผมเองก็ไม่มั่นใจว่าผมหรือใครจะสามารถทำนายดัชนีตลาดหุ้นได้ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอจนสามารถนำไปใช้ลงทุนและทำกำไรได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ส่วนใหญ่พอทำนายผิดก็มักจะไม่พูดอะไรหรือถ้าพูดก็จะเป็นการอธิบายว่าทำไมหรือเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้ดัชนีไม่เป็นไปตามที่คาด ดังนั้น ผมจึงไม่ได้สนใจกับคำทำนายมากนักโดยเฉพาะในระยะสั้น ๆ เพียงปีเดียวอย่างที่กำลังพูดถึง อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังคงต้องทำนายอยู่ดี และพอทำบ่อย ๆ เข้า ผมก็มีวิธีทำนายที่ใช้วิธีมองย้อนหลังดูประวัติศาสตร์ว่า ดัชนีหุ้นปีหน้าจะดีหรือแย่นั้น มักจะขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง และต่อไปนี้ก็คือคำทำนายของผมสำหรับตลาดหุ้นไทยปีหน้า

ปัจจัยแรก ที่มักส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นก็คือ การเจริญเติบโตของ GDP ของประเทศ ซึ่งปี 2566 นั้น ได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะโตดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเศรษฐกิจโตประมาณ 2.2% ในปี 2562 ติดลบ -6.2% ในปี 2563 1.6% กว่าในปี 2564 และคาดว่าจะบวกในระดับ 3.4 ในปี 2565 ส่วนปี 2566 นั้นคาดการณ์ว่าจะโตขึ้นประมาณ 3.6 แม้ว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะถดถอยลง

GDP ในปี 2566 ที่ประมาณ 3.6% นั้น ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ระยะยาวในยุค “ประเทศไทยรุ่งเรือง” ก็ต้องถือว่าการเติบโตของ GDP ต่ำมาก และน่าจะเป็นด้านลบต่อดัชนีตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากช่วง 4 ปีที่ผ่านมาก็ต้องถือว่าดีมาก และน่าจะเป็นผลบวกที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นดีขึ้น เพราะปีหน้านั้น น่าจะเป็นช่วงของการ “ฟื้นตัว” ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะจากโควิด-19 เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่เขาฟื้นตัวไปก่อนหน้านานมากแล้ว ดังนั้น ผมจึงคิดว่าปัจจัยด้าน GDP ของไทยในปีหน้าจะเป็นบวกในระดับกลาง ๆ ต่อดัชนีหุ้น

ปัจจัยตัวที่ 2 คือเรื่องของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของไทยที่บางส่วนก็ต้องขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะของสหรัฐ ปีหน้านั้นสหรัฐคงจะยังขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกจนถึงประมาณ 5-5.25% ในปีหน้า และนี่เป็นผลลบต่อดัชนีหุ้นอย่างชัดเจนและลดสภาพคล่องทางการเงินในระบบอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยของไทยกลับเพิ่มขึ้นน้อยกว่ามากและอยู่ที่ 1-1.25% และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าถ้ามีการปรับอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐ ก็จะยังคงต่ำมากอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยไทยก็ไม่เคยอยู่ในระดับสูงเกิน 2% ดังนั้น สำหรับผมแล้ว อัตราดอกเบี้ยของไทยอาจจะไม่เป็นบวกหรือลบต่อดัชนีตลาดหุ้นมากนัก

ปัจจัยที่ 3 คือเรื่องของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดซึ่งก็เป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนราคาหุ้นในอดีตมาก กล่าวคือ ถ้ากำไรของปีหน้าเพิ่มขึ้นมาก ดัชนีหุ้นก็มักจะปรับตัวสูงขึ้นตาม ถ้ากำไรลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้น ดัชนีหุ้นก็ขึ้นยาก ประเด็นก็คือ ปี 2565 กำไรรวมของบริษัทจดทะเบียนน่าจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1,100,000 บาท และใกล้เคียงกับปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ผลประกอบการเติบโตดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงโควิดระบาดหนักในปี 2563 ดังนั้น ผมเองคาดว่าปี 2566 เมื่อราคาพลังงานลดลงสู่สภาพปกติมากขึ้นแล้ว กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีน้ำหนักอยู่ที่หุ้นพลังงานค่อนข้างมาก ก็อาจจะไม่เติบโตขึ้น ซึ่งก็จะกลายเป็นปัจจัยลบต่อดัชนีหุ้นได้

ปัจจัยที่ 4 คือ เรื่องของความถูก-แพงของตลาดหุ้นในตอนสิ้นปี 2565 ซึ่งวัดจากค่า PE โดยที่ถ้าหุ้นเริ่มต้นปี 2566 ที่ราคาถูกมาก โอกาสที่หุ้นในปีนั้นจะขึ้นก็มีสูง ตรงกันข้าม ถ้าเริ่มต้นจากหุ้นที่แพง ค่า PE สูง โอกาสก็คือ หุ้นในปีนั้นไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้มากหรืออาจจะตกลงไปก็ได้ ในกรณีของตลาดหุ้นไทย ค่า PE ของตลาดในช่วงปลายปี 2565 อยู่ที่ 17-18 เท่า ซึ่งทำให้ EP หรือผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดอยู่ที่ประมาณ 5.7% ต่อปี ก็น่าจะถือว่าตลาดหุ้นไม่ถูกหรือแพง และอาจจะถือว่าเป็นราคายุติธรรมสำหรับตลาดการเงินของไทยที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ดังนั้น ปัจจัยเรื่องค่า PE จึงเป็นกลาง ไม่ดีหรือร้ายต่อดัชนีหุ้นปีหน้า

ปัจจัยที่ 5 ที่มีผลต่อผลตอบแทนของดัชนีตลาดหุ้นในปีหน้าก็คือ ผลตอบแทนของตลาดหุ้นในปีนี้ นั่นก็คือ ถ้าปีนี้ตลาดหุ้นดีมาก ปีหน้าหุ้นก็มักจะไม่ค่อยดี และตรงกันข้าม ถ้าปีนี้แย่ ปีหน้าหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้น ยิ่งถ้าหุ้นให้ผลตอบแทนดีมากสองปีซ้อน ปีต่อไปหุ้นก็มักจะตกลงมามากกว่าปกติ และก็เช่นเดียวกัน ถ้าหุ้นแย่มาแล้ว 2 ปี หุ้นปีหน้าก็มักจะดีค่อนข้างแน่ นี่อาจจะดูเหมือนว่าไม่ได้อิงกับพื้นฐานของกิจการแนว VI แต่ตลาดหุ้นก็เป็นเช่นนั้น คือมีความผันผวนแบบลูกคลื่นมายาวนาน ถ้าหุ้นดีมานานก็ต้องเตรียมใจว่ามันมีโอกาสตกลงมาแรง และตรงกันข้าม ถ้าหุ้นแย่มานานจนแทบหมดกำลังใจเลิกเล่น เราก็จะพลาดโอกาส “เอาคืน” ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเสมอ

ปี 2563 ตลาดหุ้นตกลงมา -8.3% ปีต่อมาคือ 2564 หุ้นขึ้นมา 14.4% ปี นี้ใกล้สิ้นปีแล้ว ดัชนีหุ้นยังทรง ๆ ก็คือ ไม่ดี ดังนั้น ปี 2566 ดัชนีตลาดหุ้นจึงน่าจะดีขึ้นถ้าคิดจากปัจจัยเรื่องผลตอบแทนของปีก่อน

สุดท้ายซึ่งก็อาจจะเรียกว่าปัจจัยที่ 6 ที่อาจจะเปลี่ยนหรือเพิ่มหรือลดพลังของปัจจัยอื่น ๆ ที่กล่าวถึงได้ และเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิด เช่น การเกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพในปี 2554 หรือการเกิดรัฐประหารที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 10 ปีต่อครั้ง หรือการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั้งจากในหรือต่างประเทศที่มักจะเกิดแบบ 10 ปีต่อครั้งเหมือนกัน ในบางกรณีก็อาจจะคาดได้ว่าจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นแต่ผลกระทบนั้นอาจจะคาดการณ์ยาก ตัวอย่างเช่น เรื่องทางการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในประเทศไทยต้นปีหน้า ที่อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญตามมา ทั้งทางดีหรือทางไม่ดีที่อาจจะกระทบถึงตลาดหุ้นได้ ทั้งหมดนั้น บางทีก็เอาไว้เป็น “ข้อแก้ตัว” เวลาที่การคาดการณ์ผิดพลาด

ปัจจัยทั้งหมดที่พูดถึงนั้น คงบอกไม่ได้ว่าโดยรวมจะเป็นบวกหรือลบต่อตลาดหุ้นทางด้านใดและมากน้อยแค่ไหน ถ้าปัจจัยส่วนใหญ่เป็นบวกและบวกมาก เช่น เศรษฐกิจร้อนแรง อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว บริษัทจดทะเบียนกำไรเพิ่มสูงมาก และค่า PE ของตลาดอยู่ในระดับต่ำ ดัชนีตลาดหุ้นย่ำแย่ อย่างที่มักจะเป็นในสถานการณ์ตลาดหุ้นที่วิกฤติ การลงทุนในช่วงเวลานั้นก็จะอาจจะกลายเป็น “โอกาสทอง” และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวใน “ปีหน้า” ดัชนีตลาดหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นให้ผลตอบแทนอย่างโดดเด่น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ส่วนใหญ่นั้นมักจะผสมผสาน บางปัจจัยก็ดี บางปัจจัยก็ไม่ดี อย่างตลาดหุ้นไทยในปีนี้ ปีหน้าเราก็อาจจะหวังว่าหุ้นจะดีเลิศก็น่าจะยาก แต่ก็ดูเหมือนว่าโดยรวมก็ไม่น่าจะเลวร้ายนัก การลงทุนเพื่อหวังผลสัก 10% ในเวลา 1 ปีต่อจากนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ และถ้าเป็นแบบนั้นก็ต้องถือว่าดีทีเดียวในยามที่ประเทศไทยโตช้ามาหลายปีและแทบจะไม่มีโอกาสกลับมาโตเร็วอีกต่อไปเมื่อคำนึงถึงศักยภาพของประเทศที่คนแก่ตัวลงมากและระบบการปกครองและเศรษฐกิจของประเทศ “ติดหล่ม” มานาน

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

TSF2024