20 มหาเศรษฐีหลังโควิด19

สัปดาห์ก่อนมีข่าวว่ารัฐบาลได้ส่งจดหมายถึง 20 เศรษฐีไทยที่รวยที่สุดในประเทศเพื่อขอคำแนะนำทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤติโควิด19 รวมถึงความช่วยเหลือที่เศรษฐีเหล่านั้นจะมอบให้แก่ประชาชนที่ประสบปัญหาในทุก ๆ ด้าน รายชื่อเศรษฐีเหล่านั้น แน่นอนว่าเป็นที่น่าสนใจสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่สำหรับผมแล้ว รายชื่อที่จะน่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ภายหลังวิกฤติแล้ว ใครจะเป็นคนที่รวยที่สุด 20 อันดับ เหตุผลก็คือ หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้ง มหาเศรษฐีเดิมจำนวนไม่น้อยมักจะเสียหายอย่างหนักจนตกอันดับหรือหายไปจากสาระบบของเศรษฐีใหญ่ รายชื่อมหาเศรษฐีใหม่จะปรากฏขึ้น รายชื่อใหม่เหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นรายชื่อเศรษฐีธรรมดาในตลาดหุ้นอยู่แล้ว แต่บางครั้งก็เป็นเศรษฐีที่เกิดขึ้นใหม่และเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่ง การที่เรารู้ว่าใครจะเป็นมหาเศรษฐีใหม่นั้น จะทำให้เราสามารถเลือกหุ้นลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีและช่วยพาให้เรารวยไปด้วยได้ ลองมาดูประวัติคร่าว ๆ ของการเกิดเศรษฐีใหม่หลังวิกฤติครั้งใหญ่ที่ผ่านมาในอดีตย้อนหลังไปถึงปี 2540 ดู

ก่อนปี 2540 นั้น รายชื่อมหาเศรษฐี 20 อันดับของไทยนั้นส่วนใหญ่ก็คือเจ้าของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทผู้ผลิตอาหารขนาดใหญ่ทั้งที่บริโภคในประเทศและส่งออก และผู้จัดสรรบ้านและที่ดินขนาดใหญ่ที่เริ่มจะบูมอานิสงค์จากคนยุคเบบี้บูมและคนเจน X ที่เริ่มจะร่ำรวยขึ้นและซื้อบ้านใหม่แยกจากพ่อแม่ แต่เมื่อเกิดวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ขึ้น ธนาคารและธุรกิจขนาดใหญ่ที่มักกู้เงินมหาศาลโดยเฉพาะจากต่างประเทศต่างก็แทบจะล้มละลาย ธนาคารส่วนใหญ่กลายเป็นของนักลงทุนต่างชาติ ความมั่งคั่งของเจ้าของลดลงมหาศาล คนรวย 20 อันดับแรกจำนวนมากกลายเป็น “เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์” คนที่จะรวย 1 ใน 20 อันดับเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่

หลังวิกฤติ หุ้นของบริษัทให้บริการโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งจะเริ่มดำเนินการมาไม่นานและยังมีผู้ใช้ไม่มากนักต่างก็เจ็บตัวอย่างหนักและต้องทำการปรับโครงสร้างทางการเงินไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้าผู้ใช้ก็เพิ่มขึ้นมากตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีซึ่งทำให้ต้นทุนของการให้บริการลดลงมากและค่าใช้โทรศัพท์ของประชาชนก็ลดลงมากเช่นกัน นั่นทำให้รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หุ้นของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเติบโตขึ้นมหาศาล เจ้าของบริษัทกลายเป็นคนรวยที่สุดในประเทศในชั่วเวลา “ข้ามคืน”

ในเวลาใกล้เคียงกัน ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่เป็นเครือข่ายซึ่งเริ่มเข้ามาในประเทศก่อนหน้าวิกฤติเล็กน้อยนั้น หลังจากวิกฤติผ่านพ้นไปก็เริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากไม่กี่สาขาและขยายตัวอย่างช้า ๆ ก็เริ่มเติบโตอย่างรวดเร็วตามการเติบโตของ GDP ที่เริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอานิสงส์จากการเติบโตของการลงทุนจากต่างประเทศที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบเพราะค่าแรงที่ถูกและค่าเงินบาทที่ค่อนข้างอ่อนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ในเวลานั้น ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตที่ไม่แพ้ใครแม้แต่จีน ไม่ต้องพูดถึงเวียตนามหรือประเทศ “ชายขอบ” ทั้งหลาย

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วนั้นส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ความต้องการที่อยู่อาศัยทำให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในทุกด้าน คนที่ทำห้างร้านให้เช่า คนทำบ้านขาย และแม้แต่คนทำนิคมอุตสาหกรรมต่างก็เข้าไปอยู่ในรายชื่อของคนรวยที่สุดในประเทศ เช่นเดียวกัน ประชาชนที่ร่ำรวยขึ้นก็ส่งผลให้มีการบริโภคความบันเทิงต่าง ๆ มากขึ้นเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการบริโภคสื่อเช่น การดูทีวีและชมภาพยนตร์มากขึ้น ดังนั้น คนที่รวยที่สุดในยุคนี้จึงรวมถึงเจ้าของสื่อต่าง ๆ ที่มีลักษณะ “กึ่งผูกขาด” ทั้งหลายด้วย

เวลาผ่านไปประมาณ 10 ปี จนถึงปี 2551 วิกฤติซับไพร์มก็เกิดขึ้น วิกฤติครั้งนั้นไม่ได้รุนแรงและทำลายความมั่งคั่งของเศรษฐีไทยเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม เวลาที่ผ่านไปจากวิกฤติปี 40 โลกได้เห็นการเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลของจีน เวียตนาม และประเทศที่เคย “ปิด” ทั้งหลาย เปิดประตูต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศและเข้ามาร่วมในระบบการค้าของโลกอย่างเต็มที่ และนั่นทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยในด้านการผลิตเพื่อส่งออกด้อยลง เพราะประเทศใหม่ ๆ เหล่านั้นมีต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าและมีแรงงานจำนวนมากรวมถึงมีตลาดในประเทศที่ใหญ่และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนั้นทำให้การลงทุนของไทยลดลงเช่นเดียวกับการส่งออกที่โตช้าลงมาก ผลก็คือการเติบโตของ GDP ของไทยตั้งแต่หลังวิกฤติปี 2551 ลดลงอย่างต่อเนื่องจากที่โตเร็วที่สุดในอาเซียนเป็นโตช้าที่สุด ทั้งหมดนั้น ส่วนหนึ่งคงเป็นผลจากความวุ่นวายทางการเมืองของไทยเองด้วย

โชคยังดีที่โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่อิงกับการลงทุนและการส่งออกมาเป็นการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ผลก็คือ ธุรกิจเกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศเติบโตดี ยอดขายรถ บ้านและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนโดเติบโตขึ้นมากเช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนที่ทุกคนต้องมีเพื่อที่จะรับกับสื่อทางอินเตอร์เน็ตแบบใหม่ที่กำลังเข้ามา Disrupt สื่อแบบเก่าและเรื่องอื่น ๆ อีกมากที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก การบริโภคทั้งหมดนั้นทำได้เนื่องจากการลดลงของดอกเบี้ยสู่จุดต่ำสุดและสภาพคล่องทางการเงินที่ล้นเหลือซึ่งทำให้ผู้บริโภคสามารถกู้เงินได้จำนวนมาก อัตราการเป็นหนี้ของบุคคลธรรมดาของไทยสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง GDP ดังกล่าวนั้นก่อให้เกิด 20 เศรษฐีใหม่ ที่มักเป็นเจ้าของธุรกิจที่ตอบสนองการบริโภคของประชาชนและการท่องเที่ยว เจ้าของธุรกิจปล่อยเงินกู้ให้แก่ประชาชนเพื่อการบริโภคหลายคนเข้ามาอยู่ใน List ผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภค เจ้าของสายการบิน โรงแรมและร้านอาหาร เช่นเดียวกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ยังอยู่ในรายชื่อคนร่ำรวยของประเทศ ไม่ต้องพูดถึงห้างร้านสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งหลายที่เน้นการบริโภคของประชาชน แม้แต่โรงพยาบาลที่ให้บริการแก่ชาวต่างชาติก็เติบโตและทำกำไรสูงมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานั้น “กระแสใหม่” ของการเติบโตของ “เศรษฐกิจดิจิตอล” กำลัง “ถาโถม” เข้ามาอย่างรุนแรง และนั่นได้ทำให้ธุรกิจหลายอย่างเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสื่อเช่น ทีวี แทบจะล้มหายตายจากไปและเจ้าของตกจากรายชื่อของมหาเศรษฐีอย่างสิ้นเชิง

ก่อนวิกฤติโควิด19 นั้น ยังมีมหาเศรษฐีใหม่อีกกลุ่มหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นอย่าง “งง ๆ” เพราะดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องของภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจของไทยก็คือกลุ่มที่ทำธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐานโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า รถไฟฟ้า ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อานิสงค์จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและสภาพคล่องทางการเงินที่สูงของระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้สามารถเข้าไปประมูลแข่งขันให้บริการทั่วโลก

คำถามก็คือ หลังวิกฤติโควิด19 แล้ว ใครจะเข้ามาอยู่ในบัญชีรายชื่อเศรษฐีใหม่ของไทย ถ้าดูจากวิวัฒนาการในช่วงเร็ว ๆ นี้ ในเศรษฐกิจหรือตลาดของอเมริกานั้น ดูเหมือนจะ “ฟันธง” ได้เลยว่าคงเป็นบริษัทและเจ้าของที่ทำธุรกิจดิจิตอลหรือไฮเท็คทั้งหลาย เพราะแม้ในขณะนี้ที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ตกกันหลายสิบเปอร์เซ็นต์ แต่หุ้นอย่างอะมาซอนและเน็ตฟลิกกลับปรับตัวขึ้นเป็น “All Time High” ตลาดรับรู้แล้วว่าหลังจากโควิด19 โลกก็จะยังอยู่ เศรษฐกิจก็จะยังเติบโตต่อไป แต่คนที่จะยิ่งใหญ่เป็นผู้ให้บริการแก่คนทั้งโลกมากขึ้นไปอีกก็คือบริษัทเหล่านี้

แต่สำหรับประเทศไทยเองนั้น ผมก็ยังไม่เห็นคนที่จะมา “รับไม้ต่อ” เป็นผู้นำเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไป เป็นไปได้ว่าอาจจะไม่มี ซึ่งนั่นก็อาจจะหมายความว่า บริษัทเดิม ๆ ที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้ก็ยังจะกลับมาทำงานเหมือนเดิม มูลค่าหุ้นก็อาจจะปรับตัวขึ้นมาเท่ากับก่อนโควิด19 แต่จะให้โตต่อไปก็อาจจะยาก เพราะโลกในยุคหน้านั้น คนจะใช้สินค้าที่ไฮเท็คหรือก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งสินค้าพวกนั้นอาจจะมาจากต่างประเทศ นี่ก็ไม่เหมือนวิกฤติสมัยก่อนที่เราพอจะเห็นบริษัทที่จะมารับไม้ต่อหลังวิกฤติ เพราะบริษัทเหล่านั้นต่างก็เริ่มก้าวเดินมาก่อนวิกฤติแล้ว หลังวิกฤติพวกเขาก็แค่เติบโตเร็วขึ้นจนแซงบริษัทเดิม ๆ ที่ตกต่ำลงเพราะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ได้ ผมคงต้องเฝ้ารอต่อไป รอว่าเมื่อไรไทยจะมี “ยูนิคอร์น” ตัวแรก

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ที่มาบทความ: https://portal.settrade.com/blog/nivate/2020/04/27/2313

TSF2024