ปีนักษัตรนั้นสำคัญกับการใช้ชีวิตของคนเอเชียมายาวนานกว่าสามพันปี
บางคนก็ใช้ในการวิเคราะห์บุคลิกเบื้องต้นของคนรอบข้าง บางคนก็ใช้เป็นคำถามสุภาพในการเช็คอายุคู่สนทนา และช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวเอเชียก็ใช้ปีนักษัตรเป็นส่วนหนึ่งในวางแผนธุรกิจและการลงทุนด้วย
ส่วนตัวแล้ว ผมก็มองว่า ปีนักษัตร มีความสัมพันธ์กับตลาดการเงินในหลายๆ แง่มุมด้วยกัน
ที่คิดถึงได้ง่ายที่สุด คือช่วงปีไหนที่เป็นปีเกิดนักษัตรของนักลงทุนกลุ่มไหน ก็จะส่งผลต่อบุคลิกของตลาดในปีนั้นๆ เช่นเดียวกับปีที่จัดตั้งบริษัทก็จะส่งผลต่อภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจในปีนั้นๆ ด้วย นอกจากนี้ ปีที่คนเอเชียเชื่อว่าเป็นปีที่ให้โชคมากกว่าปีอื่นๆ นักลงทุนก็จะมีความกล้าสูงผิดปกติ
ดังนั้น เมื่อถึงช่วงที่เราจะต้องเปลี่ยนปีปฏิทินใหม่ เราก็ควรรู้ไว้บ้างว่า ปีนักษัตรนี้ในอดีตมีลักษณะอย่างไร
ในส่วนของตลาดเงินและความผันผวน ผมได้ลองนำข้อมูลย้อนหลังของตลาดนับตั้งแต่ปี 1988 มาวิเคราะห์ ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ หลายอย่างตามคาด
อย่างแรกคือ ค่าเงินดอลลาร์ ไม่ได้มีวัฏจักรที่ชัดเจนแต่มักแข็งค่าในปีชวด มะโรง วอก และระกา
นั่นก็หมายความว่า ถ้าเปรียบเทียบเงินเหมือนมนุษย์คนหนึ่ง ดอลลาร์จะคล้ายกับผู้นำที่ฉลาด มีอิทธิพล มักตกเป็นเป้าสนใจ และเป็นคนที่ได้เงินมาและใช้ทันที ในช่วงปีเหล่านี้ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าราว 5% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ ซึ่งเทียบเป็นการแข็งค่ากว่าปรกติราว 0.5% ต่อปี (ปรับเป็น z-score) ส่วนมากมักเกิดซ้อนกับช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ หรือช่วงเริ่มต้นของ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ
ส่วนในมุมความผันผวน ช่วงปีวอกถึงปีกุน จะมีความผันผวนต่ำกว่าปกติ แต่หลังจากนั้นความผันผวนจะเร่งตัวขึ้นในช่วงปีชวดถึงเถาะ
ตีความได้ว่าช่วงที่ความผันผวนต่ำ มักจะเกิดขึ้นในปีที่ “ไม่โดดเด่น” ในบรรดาสิบสองนักษัตร ความผันผวนของตลาดทุนทั่วโลกเฉลี่ยในปีเหล่านี้จะลดต่ำลง เหลือเพียง 8-12% จากค่ากลางที่ราว 15% หลังจากนั้น ความผันผวนจะเพิ่มขึ้นเป็นวัฏจักร ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากการแข่งขันที่สูงในภาคธุรกิจและความคาดหวังของตลาด เพราะปีชวดและเถาะหมายถึงความฉลาด ฉลูหมายถึงความอดทน ไปจนถึงขาลและมะโรงที่หมายถึงโชคลาภและอำนาจ ความผันผวนของตลาดทุนทั่วโลกในปีเหล่านี้โดยเฉลี่ยจะพุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 18-20% ต่อปีเลยทีเดียว
และเรื่องที่ต้องรู้มากที่สุด แน่นอนคือเรื่องผลตอบแทน มุมนี้สองซีกโลกดูจะมีความต่างกัน ดีที่สุดในฝั่งตะวันตกคือปีฉลู ส่วนฝั่งตะวันออกคือปีระกา ขณะที่หุ้นไทยดีที่สุดในช่วงปีมะแม
โดยในฝั่งตะวันตก ปีฉลูสองครั้งล่าสุด เป็นปีแห่งการกลับตัวแรง ทั้งปี 1997 และปี 2009 หุ้นสหรัฐและหุ้นยุโรปปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 25% ซึ่งถือว่าดีกว่าปกติ ในเชิงสัญลักษณ์อาจตีความได้ว่าตลาดฝั่งตะวันตกจะปรับตัวขึ้นได้ดี ในปีที่นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อมั่นใน ความแม่นยำของการวิเคราะห์
ขณะที่ฝั่งเอเชีย ปีที่ดีที่สุดจะต้องเป็นปีที่ตลาดทุนอู้ฟู่
ซึ่งในห้ารอบหลังสุดของปีระกา ทั้งหุ้นญี่ปุ่นและหุ้นฮ่องกง ปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 34% ในฝั่งไทยเองในปีนักษัตรนี้สร้างผลตอบแทนได้ดีมากเช่นกัน แต่ที่ดีที่สุดในอดีตคือช่วงปีมะแม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2003 ที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นถึงกว่า 120% ชี้ว่าตลาดทุนไทยมักมีความเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ดี และการเมืองที่มั่นคง อันจะเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง
ในปีหน้านี้ ปีกุน คนเกิดปีนี้มักเป็น คนที่จริงใจ ผ่อนปรน และให้ความสำคัญกับมารยาท ในอดีต เงินบาทแข็งค่าเฉลี่ยราว 6% แต่ตลาดปีกุนก็มักเป็น “จุดเริ่มต้น ของความผันผวนขาขึ้น” รอบล่าสุดของปีกุนคือปี 2007 เป็นช่วงที่ตลาดการเงินแกว่งตัวกว้างก่อนเกิดวิกฤติการเงินสหรัฐ
หากมองทั้งวัฏจักรตามปีนักษัตร ถ้ามองว่าตลาดจะกลับตัว หุ้นญี่ปุ่นและเงินเยนดูจะมีประวัติดีที่สุด แต่ถ้ากลัวว่าตลาดจะลงต่อก็อาจต้องหนีเข้าหุ้นสหรัฐและเงินดอลลาร์ซึ่งเหมาะจะเป็นหลุมหลบภัย
เตรียมใจไว้บ้างก็ดีครับ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2561