กฎข้อแรกของตลาดการเงินคือ “อะไรที่ดูดีเกินจริง มักจะไม่ใช่เรื่องจริง”
แต่ในช่วงนี้ ถ้าไม่ลงทุนกับอะไรที่ดีผิดปรกติก็ดูจะอยู่ยาก
เพราะหันไปทางไหน ก็เห็นแต่หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐและหุ้นจีนที่ปรับตัวขึ้นได้เหนือแรงโน้มถ่วง นับตั้งแต่สิ้นปีที่แล้ว ดัชนี NASDAQ และ CSI 300 ปรับตัวบวกถึง 17% และ 12% สวนทางกับทิศของเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน
แต่ยิ่งเจอกับความเคลื่อนไหวแบบนี้ การตั้งคำถามว่าผลตอบแทนเป็นของจริงหรือไม่ ก็ดูจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
เริ่มที่กลุ่มเทคโนโลยี จุดเด่นครั้งนี้เกิดจากการ “อยู่บ้าน” และความเชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะ “ยุคสมัยใหม่”
แม้เศรษฐกิจจะถดถอย แต่นักวิเคราะห์ใน Bloomberg กลับมองว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของรายได้ต่อหน่วย (EPS) ของบริษัทบนดัชนี NASDAQ จะสูงขึ้นถึง 28% ต่อปีในช่วงสามปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทผู้นำเทคโนโลยีจะได้รับประโยชน์จากปรากฏการณ์ Work-from-Home ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่หยุด
เช่นในฝั่งสหรัฐ ที่ Goldman Sachs ประเมินว่าการใช้แอปพลิเคชั่นในการดำเนินชีวิตออนไลน์เพิ่มขึ้นไปแล้วกว่า 50-60% จากปีก่อน
พฤติกรรมเหล่านี้ ถ้ากลายเป็นยุคสมัยใหม่ขึ้นมาจริง ๆ ก็คงไม่ยากที่บริษัทที่มีขีดความสามารถในเชิงเทคโนโลยี จะก้าวขึ้นมาเติบโตได้โดดเด่น และราคาที่เราเห็นอยู่นี้ก็ยังถือว่ามี “โอกาส” อีกมหาศาล
ส่วนฝั่งจีน แม้จะใช้เรื่องราวความปรกติใหม่ขับเคลื่อนตลาด แต่แนวโน้มหลักกลับเอียงไปเป็นการ “เปิดทำการ” ภาคธุรกิจรอบใหม่มากกว่า
ความเหมือนคือนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกกับดัชนี CSI 300 เป็นอันดับสองรองแค่กลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐด้วยคาดการณ์การเติบโตของ EPS ถึง 14% ต่อปีในช่วงสามปีข้างหน้า
แต่มองลึกลงไปในการปรับตัวขึ้นของหุ้นจีนรอบนี้กลับมีเหตุผลหลักจากการควบคุมไวรัสได้ จึงเข้าสู่ช่วง Back-to-Work ก่อให้เกิดนการฟื้นตัวอย่างทั่วถึงแทบทุกอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน ระดับราคาต่อรายได้ (P/E) ของบริษัทในจีนโดยเฉลี่ยก็ไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดอื่น ๆ ถ้าวัคซีนสามารถพัฒนาได้สำเร็จ ประชาชนกล้าออกมาใช้ชีวิตนอกโลกออนไลน์ การปรับตัวขึ้นของตลาดก่อนเศรษฐกิจรอบนี้ ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและถือว่ามี “โอกาส” อีกมากมายเช่นกัน
แล้วทั้งสองตลาดนี้กำลังบอกอะไรกับเรา?
ผมมองโอกาสและความเสี่ยงจากหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐและหุ้นจีนเป็น “สามเรื่อง”
อย่างแรก เมื่อสองสินทรัพย์ซื้อขายด้วยเหตุผลที่ต่างกันก็จะสามารถ “กระจาย” ความเสี่ยงให้กันและกันได้
จากการคำนวณความสัมพันธ์ (OLS R-Square) ของทั้งสองดัชนีในช่วงปีนี้กลับมีความสัมพันธ์กันเพียง 10% ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับสินทรัพย์ที่ปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่หุ้นจีนก็มีความผันผวน (90-Day Volatility) เพียง 25% น้อยกว่าหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐที่ผันผวนถึง 50% จึงอาจลงทุนไปพร้อมกันได้
ประเด็นต่อมาก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงภาวะดีเกินจริงโดยอาจมององค์ประกอบของ “ฟองสบู่” ควบคู่ไปด้วย
แทนที่จะกลัวและเอาแต่หลีกเลี่ยงความผันผวน ทางที่ดีกว่าอาจเป็นการจับตา “ห้าสัญญาณเสี่ยง” ซึ่งคือ (1) ความเชื่อในเทคโนโลยีและ “ยุคสมัยใหม่” (2) การผ่อนคลายกฎระเบียบทางการเงินที่มากกว่าปรกติ (3) การขอเครดิตที่ง่ายและเงื่อนไขทางการเงินน้อยลง (4) การที่ตลาดหาเหตุผลใหม่ ๆ มาประเมินมูลค่า และ (5) เริ่มมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับความผิดปกติทางบัญชี ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดพร้อมกันในตลาดไหนก็ค่อยระวังให้มาก
แต่สุดท้าย ความจริงอาจมีได้เพียงหนึ่งเดียว และจังหวะเปลี่ยนผ่านคือจุดที่ต้องระวังมากที่สุด
เช่นประเด็นเรื่องการระบาดของไวรัส ถ้าสามารถคิดค้นวัคซีนได้แล้ว ในที่สุดเศรษฐกิจเก่าก็อาจสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมา จนกลายมาเป็นการลงทุนแบบฟื้นตัวที่ดีจริงได้
แต่ในทางกลับกัน เพียงแค่มีวัคซีนที่สามารถหยุดไวรัสได้ ก็อาจไม่สามารถยืนยันได้ว่าชาวโลกจะกลับมาใช้ชีวิตปรกติ เหมือนช่วงก่อนวิกฤติได้เต็ม 100%
ยิ่งเวลาเนิ่นนานเท่าไหร่ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมก็จะยิ่งกลายเป็น “ความปรกติใหม่” มากขึ้นเป็นเงาตามตัว หมายความว่า ท้ายที่สุดแม้โลกจะเข้าสู่โหมด Back-to-Work ก็อาจไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะกลับมาได้
ซึ่งความจริงว่าเศรษฐกิจหลังวิกฤติครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไหร่อย่างไรนั้น ตอนนี้คงไม่มีใครบอกเราชัด ๆ ได้ (รวมถึงผมเองด้วย)
แต่สำหรับโลกการเงินแล้ว หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐและหุ้นจีนที่ปรับตัวขึ้นอยู่นี้ กำลังสอนเราอีกครั้งว่า “กำไร” คือรางวัลของความ “กล้าเสี่ยง” กับเหตุการณ์ที่เรามองเห็นโอกาสเวลาที่ทุกคนมองไม่เห็น
แต่จะยิ่งดีไปกว่านั้น ถ้าเรารู้จักตั้งคำถามว่าผลตอบแทนเหล่านี้เป็นของจริงหรือไม่ เพื่อทำความเข้าใจและหลีกเลี่ยง “สินทรัพย์ที่ดีไม่จริง” ซึ่งในอนาคตอาจย้อนกลับมาทำร้ายพอร์ตการลงทุนของเราได้
ดัชนีหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐ NASDAQ หุ้นจีน CSI 300 และหุ้นไทย SET Index (สิ้นปี 2019 = 100)
ที่มา: Bloomberg และ SCB Securities
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์