การเมืองสหรัฐฯ เป็นประเด็นที่ตลาดให้ความสำคัญมากเสมอ
แต่ในปี 2024 ความผันผวนจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดแค่จากนโยบายเศรษฐกิจ แต่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายกว่าที่เราจะได้คู่แข่ง ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็น Kamala Harris กับ Donald Trump ก็ใกล้ถึงวันเลือกตั้ง 5 พ.ย. อย่างมาก ถึงเวลานี้ ผมเชื่อว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้ สมควรที่เราจะนำผลเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมาแชร์ และชวนให้นักลงทุนไทยได้คิดกลยุทธ์การลงทุนไปพร้อมกัน
เริ่มด้วยมองกรณีที่เป็นไปได้ก่อน ในมุมตลาดการเงิน ผมประเมินจากนโยบายในประเทศ ต่างประเทศ การค้า และแรงสะท้อนบนนโยบายการเงิน ผลการเลือกตั้งจะมี 3 รูปแบบที่น่าสนใจ ประกอบด้วย Trump กับ Republican ชนะทั้งหมด หรือ Trump กับ Divided Congress หรือ Harris ชนะ
การเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2024 จะแบ่งเป็นการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (House of Representatives) ทั้งหมด 435 ตำแหน่ง วุฒิสภา (Senate) 34 ตำแหน่ง และตำแหน่งประธานาธิบดี
กรณีแรก Trump กับ Republican เก็บชัยชนะได้ทั้งหมด เป็นกรณีที่เสี่ยงเห็นยีลด์สูงขึ้น และดอลลาร์แข็งค่ามากที่สุด
เพราะผมเชื่อว่าถ้า Republican กลับมาชนะได้ทั้งหมดจะมีความคล้ายกับผลเลือกตั้งปี 2016 มีความเป็นไปได้สูงที่ในช่วงหนึ่งถึงสองปีแรก จะดำเนินนโยบายในประเทศ เช่นการปรับนโยบายลดภาษีเดิม (Tax Cut and Job Act หรือ TCJA) ให้เป็นนโยบายถาวร หรือคุมเข้มผู้อพยพ
ส่วนนโยบายต่างประเทศ ผมมองว่าการหยุดสนับสนุนยูเครนและไต้หวันจะเป็นนโยบายถัดไป เพราะช่วยลดรายจ่ายการคลังได้
ส่วนนโยบายด้านการค้า หรือการตั้งกำแพงภาษี ไม่จำเป็นต้องรีบ และสามารถเก็บไว้เป็นนโยบายช่วง Midterm Election เช่นเดียวกับในช่วงปี 2018
ผลต่อเศรษฐกิจของกรณีนี้ เงินเฟ้อจะไม่ปรับตัวลงจากนโยบายการคลังที่ผ่อนคลาย มีโอกาสมากที่ Fed จะระวังการลดดอกเบี้ย ส่งผลให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปี กลับขึ้นไปเหนือ 5% และดอลลาร์แข็งค่า
กรณีที่สอง Trump กับ Divided Congress มีโอกาสที่ตลาดจะเข้าโหมด Risk Off มากที่สุด
เนื่องจากการผลักดันนโยบายด้านภาษีและผู้อพยพมีความเสี่ยงที่จะไม่ผ่านการอนุมัติจากสภาสูง แม้การขอต่ออายุมาตรการลดภาษี TCJA นั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะไม่สามารถปรับลดนโยบายการะตุ้นเศรษฐกิจสมัย Biden ลงได้เช่นกัน
คาดว่า Trump จะเน้นไปที่นโยบายการต่างประเทศเหมือนในช่วงปี 2018-20 กรณีนี้ ผมเรียกว่า Trump 2.0 เพราะจะมีความคล้ายคลึงกับภาพจำช่วงที่ Trump เป็นประธานาธิบดีสหรัฐมากที่สุด ต่างกันเพียงเปลี่ยนจากเกาหลีเหนือไปเน้นที่การเป็นตัวกลางตั้งโต๊ะเจรจาให้รัสเซียกับยูเครน หรือกดดันจีนให้เข้าสู่การเจรจาการค้ารอบใหม่กับสหรัฐฯ
เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในอดีต กรณีนี้จึงมีความเสี่ยงด้านความผันผวนสูงที่สุดไม่ต่างกับในช่วงสงครามการค้า แม้จะมีการกระตุ้นด้านนโยบายการคลังที่เบากว่ากรณีแรก แต่เงินเฟ้อสหรัฐมีโอกาสปรับตัวขึ้นจากภาษี Fed มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยน้อยลง แต่ด้วยความผันผวนที่สูงนักลงทุนอาจเลือกพักเงินที่บอนด์ ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี จะทรงตัวได้ในระดับ 4% และดอลลาร์เคลื่อนไหวประคองตัว
กรณีสุดท้ายคือ Harris ชนะและรักษาเก้าอี้ผู้นำสหรัฐของ Biden ไว้ได้
หลังจาก Joe Biden ถอนตัว ล่าสุด Kamala Harris สามารถทำคะแนนความนิยมกลับขึ้นมาเหนือ Trump ได้แล้ว
อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่ายังเร็วเกินไปที่จะชี้ขาดว่า Harris จะสามารถชนะได้หรือไม่ เพราะย้อนกลับไปในอดีตทั้ง Hillary Clinton ก็พลาดท่า และ Biden เกือบไม่ชนะ แม้จะนำ Trump ในโพลก่อนเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี กรณีที่ Harris ชนะ ผมมองว่าไม่ว่าจะเป็น Democrat ชนะทั้งสองสภาหรือสภาเดียวก็ไม่มีความแตกต่างมากนัก เนื่องจากนโยบายในประเทศที่ประกาศเป็นนโยบายการเงินสมดุล มีการเก็บภาษีนิติบุคคล และภาษีความมั่งคั่ง ถ้าตั้งใจเดินหน้าเชื่อว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากพรรค Republican
ส่วนในฝั่งการต่างประเทศ ผมเชื่อว่า Harris จะไม่เปลี่ยนมุมมองด้านการสนับสนุนยูเครนและไต้หวันส่วนความแตกต่างที่ชัดเจนของนโยบายการค้า จะเน้นให้สิทธิประโยชน์บริษัทสหรัฐฯ เพื่อกลับมาตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ มากกว่ากดดันคู่ค้าโดยตรง
ผลต่อเศรษฐกิจ ผมมองว่าอาจไม่ได้ช่วยหนุนมากเหมือนฝั่ง Trump จึงมีความเป็นไปได้มากกว่าที่ Fed จะลดดอกเบี้ยเร็วกว่าสองกรณีแรก บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี คาดว่าจะปรับตัวลงไปซื้อขายที่ระดับ 3.5-4.0% กดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่า
สำหรับการลงทุน ผมเห็นว่าการเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งนี้มีจุดหักมุม และความน่าสนใจหลายอย่างที่เราสามารถเรียนรู้ และประเมินผลกระทบกับตลาดได้ก่อน
เช่น จากการโต้วาทีครั้งแรก ไปจนถึงช่วงที่ Trump ถูกลอบสังหาร คะแนนความนิยมของ Republican President เพิ่มขึ้น หุ้นบวก ดอลลาร์แข็ง และยีลด์สูง
มองย้อนกลับไปในวันที่ 27 มิ.ย. และ 12-14 พ.ค. ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นในกรอบ 0.1-0.2% ทำโดยหุ้น Tech และหุ้นขนาดเล็ก ดอลลาร์แข็งค่า ทองปรับตัวลง และ ยีลด์ปรับตัวขึ้น 2.5-5.0bps สะท้อนตลาดที่มอง Trump เป็นบวกกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และธีม US Exceptionalism มาก
ขณะเดียวกัน Harris หุ้นก็บวกไม่น้อยหน้า
ผลตอบแทนช่วงวันที่ 19-21 พ.ค.หลังจากที่ Biden ยอมลงจากการเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี หุ้นสหรัฐฯ ก็บวกขึ้นถึง 0.2% โดยเป็นการบวกพร้อมกันแทบทุก Sector ไปจนถึงการลงทุนในฝั่ง Europe เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทองคำปรับตัวขึ้น และยีลด์สหรัฐฯ ทุกช่วงอายุปรับตัวลง 1-2bps สะท้อนว่าตลาดมอง Harris เป็นบวกกับเศรษฐกิจโลก ด้วยธีม Rate Cut และเศรษฐกิจฟื้นตัวพร้อมกันทั่วโลก
สิ่งสุดท้ายที่เราต้องระวังสำหรับการวิเคราะห์ผลจากการเลือกตั้ง คือ “จุดเริ่มต้น” ของเศรษฐกิจ มีผลกับนโยบาย และตลาดการเงินเสมอ
ต่อให้ Trump จะกลับมาใหม่หรือไม่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2016 กับปี 2024 ก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
เช่น “การขาดดุลการคลัง” ปี 2016 อยู่แค่ระดับ 3% ต่อ GDP ขณะที่ปี 2025 รัฐบาลสหรัฐจะเริ่มต้นที่การขาดดุลถึงกว่า 7% ต่อปีและระดับหนี้ภาครัฐก็สูงกว่า 100% ต่อ GPD ไปแล้ว ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้ง การใช้งบการคลังเพื่อฟื้นเศรษฐกิจจะไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายเหมือนสมัยก่อน
จุดเริ่มต้นที่สองคือ “เงินเฟ้อ” ที่ไม่เคยเป็นเรื่องที่ชาวสหรัฐฯ ต้องกังวล ก็กลายมาเป็นหัวข้อใหญ่ของทศวรรษแทนที่การเติบโตของเศรษฐกิจ การขึ้นภาษี หรือการควบคุมผู้อพยพ หรือนโยบายที่มีผลทำให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น อาจไม่ใช่เรื่องที่เดินหน้าได้ทันที
ด้านตลาดการเงินก็ไม่ง่าย ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร จุดเริ่มต้นของรัฐบาลใหม่ เป็นจุดที่ “หุ้นสหรัฐฯ แพงเกือบที่สุดในประวัติศาสตร์” มีการกระจุกตัวสูงที่สุดในรอบกว่า 3 ทศวรรษ ขณะที่แนวโน้มกำไรของหุ้นใหญ่กำลังเป็นขาลง
ความหวังว่าหุ้นจะเป็นขาขึ้นต่อเนื่องทันทีหลังเลือกตั้งนั้น จึงต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาทนะครับ
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์