ทุกคนรู้จัก “กัปตันอเมริกา” แต่จะมีกี่คนที่รู้จักสตีฟ โรเจอส์ ชายหนุ่มที่อยู่หลังหน้ากากสีธงชาติสหรัฐนี้บ้าง
ในตลาดการเงิน กัปตันอเมริกาก็ไม่ต่างกับ “เงินดอลลาร์” ที่ในช่วงอายุของเรา มักคุ้นเคยกับความแข็งแกร่ง แต่ล่าสุด หลังจากปรับตัวขึ้นในเดือนมีนาคม เงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าเทียบกับแทบทุกสกุล จนหลายคนเริ่มกังวลว่าการปรับตัวลงครั้งนี้จะไม่จบลงง่าย ๆ
นักวิเคราะห์หลายท่านตั้งข้อสังเกตว่าสิทธิพิเศษเหนือสกุลเงินอื่น (Exorbitant privilege) ของดอลลาร์ในการเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ กำลังจะหมดไปเรื่อย ๆ
ลามไปเป็นความกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะนำไปสู่ความโกลาหลในตลาดการเงินแค่ไหน เหมือนต้องจินตนาการถึงโลกที่มีแต่คนธรรมดาอย่างสตีฟ โรเจอส์ และจะไม่มีกัปตันอเมริกาที่เราคุ้นเคยอีกต่อไปแล้ว
ผมเองก็เห็นว่ามุมมองหลายอย่างของตลาดหลังวิกฤตครั้งนี้นั้นเปลี่ยนแปลงไปมากจริง ๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่างจะกระทบกับพลังและทิศทางของเงินดอลลาร์ไปเสียทั้งหมด ผมจึงวิเคราะห์ “สามประเด็น” ที่เราควรต้องรู้ มาแชร์ให้กัน
ประเด็นแรก คือเรื่อง “พื้นฐาน”
หลายคนกังวลว่าสหรัฐขาดดุลการคลังสูง แต่ประเด็นนี้อาจไม่ได้สร้างแรงกดดันให้เงินดอลลาร์มากในเชิงเปรียบเทียบ
กลุ่มคนที่กังวลมากที่สุดคือนักวิเคราะห์ฝั่งสหรัฐ เพราะหนี้สาธารณะหลังวิกฤติครั้งนี้เพิ่มขึ้นจาก 23.2 ล้านล้านดอลลาร์เป็น 27.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 18% ในปีเดียว ถ้ามองว่าเงินเหล่านี้จะทำให้ความเชื่อมั่นในการคลังสหรัฐลดลง ดอลลาร์ก็ควรอ่อนค่า
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับเป็นประเทศอื่น ๆ ที่เพิ่มหนี้ขึ้นพร้อมกันในรอบนี้ด้วย เช่นเยอรมันที่ IMF คาดว่าจะมีหนี้จากนโยบายประคองเศรษฐกิจทั้งหมดเพิ่มขึ้นถึง 40% ญี่ปุ่นที่ 35% หรืออังกฤษที่ 25% ต่อจีดีพี ดังนั้นแม้พื้นฐานของดอลลาร์จะแย่ลงแต่ก็ไม่ได้ถือว่าแย่กว่าที่อื่น ๆ ในเชิงเปรียบเทียบ
ประเด็นที่สอง คือ “บทบาท” ของดอลลาร์ในตลาดเงินโลก
ระยะยาวผมเชื่อว่าเราจะเห็นการย้ายสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศออกจากดอลลาร์จริง แต่ในเรื่องของการกู้ยืมหรือการค้าเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ยาก
เพราะตำแหน่งสกุลเงินตั้งต้นของการค้าในปัจจุบันไม่ได้ดีเหมือนแต่ก่อน โลกไม่ได้หมุนไปทาง globalization ด้านเดียว จึงไม่น่าจะมีประเทศไหนอยากเสนอตัวเข้ามาเป็นสกุลหลักด้านการค้าและการกู้ยืมแทนสหรัฐ
แต่ในเรื่องการเป็นสกุลเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่ IMF รายงานว่าธนาคารกลางทั่วโลกยังมีสินทรัพย์ที่เป็นดอลลาร์อยู่ถึง 62% คงต้องมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยความเร่งราว 1-2% ต่อปี เนื่องจากทุกประเทศต้องกระจายความเสี่ยงมากขึ้นถ้ามูลค่าของดอลลาร์มีแนวโน้มลดลงขณะที่ดอกเบี้ยของเฟดจะอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกนาน
สุดท้าย คือ “ทิศทาง” ของตลาดเงินตลาดทุน
ที่ต้องยอมรับว่าดอลลาร์เป็นสกุลเงินของนักลงทุนทั่วโลกจึงจะถูกกดดันถ้าตลาดเป็นขาขึ้นจริง
ถ้าเทียบกับสองประเด็นแรก เรื่องทิศทางเป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุด
เพราะความสัมพันธ์กับดัชนีหุ้นสหรัฐอย่าง S&P500 ดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) มี correlation ระดับติดลบ 10bps ยิ่งถ้าทั่วโลกที่ไม่นับรวมสหรัฐฟื้นตัวมากกว่าอเมริกาโอกาสที่เงินจะไหลออกจากดอลลาร์ก็จะสูงเป็นเงาตามตัว เห็นได้จากช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ที่ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของดัชนีดอลลาร์กับส่วนต่างระหว่าง MSCI All World ex.US อยู่ในระดับติดลบถึง 45bps ยืนยันได้ว่า “ถ้าหุ้นเข้าสู่ช่วงขาขึ้นต่อ เงินดอลลาร์ก็แข็งค่าได้ยาก”
ถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับดอลลาร์ช่วงนี้
ต่อจากนี้ก็ต้องเตรียมรับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงที่จะค่อย ๆ ส่งผลกระทบกับตลาดการเงินในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะย้อนมองกลับไปในอดีต ไม่มีการเปลี่ยนพื้นฐาน หรือบทบาทในตลาดเงินครั้งไหนที่จะไม่มีความผันผวน และส่วนใหญ่มักไม่ไหลย้อนกลับ เช่นการเปลี่ยนจากกิลเดอร์ดัตช์ (NLG) มาเป็นปอนด์อังกฤษ (GBP) ในช่วงศตวรรษที่ 19 หรือจากปอนด์อังกฤษมาเป็นดอลลาร์สหรัฐ (USD) หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
และต่อจากนี้ ผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นการแข่งขันแย่งชิงการเป็นสกุลเงินหลักในหลายสมรภูมิ ไม่ใช่แค่ดอลลาร์กับยูโร เยน หรือหยวน แต่รวมไปถึงสกุลเงินทั่วไปสู้กับสกุลเงินดิจิตอล และสกุลเงินที่ผ่านตัวกลางสู้กับสกุลเงินที่ใช้เทคโนโลยี Decentralized เช่น blockchain
แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ดอลลาร์เป็นหลักอย่างเราก็อย่าไปกลัวมากนัก
เพราะส่วนตัวผมมองว่าการอ่อนหรือแข็งของสกุลเงินก็ไม่ต่างกับการขึ้นหรือลงของสินทรัพย์ทางการเงินทั่วไปในระยะสั้น อาจหวือหวาและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมบ้าง แต่ในระยะยาวมักไม่ได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจประเทศโลกโดยตรง ขณะที่การแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีมักเป็นแรงหนุนให้กับเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าแรงต้าน
แม้เราอาจต้องเตรียมตัวกับอนาคตที่ไม่มีกัปตันอเมริกาอย่างเงินดอลลาร์ไว้บ้าง แต่ต่อให้เป็นเช่นนั้น ผมเชื่อว่าสุดท้ายก็จะมีสกุลเงินใหม่ที่ก้าวขึ้นมาเป็นซูเปอร์ฮีโร่ให้เราอุ่นใจในตลาดการเงินอีกแน่นอน
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์