สิ่งสำคัญที่สุดของนโยบายการเงินสหรัฐ 2019

ผมเชื่อว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐหรือ FOMC ครั้งที่ผ่านมาเป็นวาระที่ตลาด “ให้ความสนใจน้อยที่สุด” ตั้งแต่ นายเจอโรม พาวเวลล์ เข้ามารับตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ด้วยหลายเหตุผล

ไม่ใช่แค่เพราะการเมืองสหรัฐกำลังร้อนแรงน่าติดตามมากกว่า แต่การประชุมเฟดครั้งนี้แทบไม่มีอะไรผิดโผ และต่อให้เฟดปรับ “ดอกเบี้ยขึ้น” ไปที่กรอบ 2.25 – 2.50% ในปลายปีนี้ ตลาดทั่วโลกก็ “รับข่าว” ทุกอย่างหมดแล้ว นโยบายการเงินสหรัฐจึงไม่ต่างกับคลื่นลมที่สงบ และถูกพยากรณ์ไว้แล้ว

แต่นี่จะเป็นเพียง ความสงบก่อนพายุโหมกระหน่ำหรือไม่ ก็ต้องวัดกันที่ปี 2019 ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันอยู่ไม่น้อย

อย่างแรกคือการพยากรณ์จะทำได้ยากขึ้น เมื่อกลุ่มผู้กำหนดนโยบายเองยังเห็นไม่ตรงกัน

ปีหน้าจะเป็นปีที่ FOMC เต็มไปด้วยความเห็นต่าง กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปีหน้า ถูกวางไว้กว้างถึง 2.25-3.75% หมายความว่าแม้แต่ FOMC เองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะ “ขึ้น” หรือ “ลด” หรือทำอะไรกับดอกเบี้ยในปีหน้ากันแน่

สิ่งสำคัญที่สุดของนโยบายการเงินสหรัฐ 2019

FOMC Member projections for Fed fund rate
Source: Federal Reserves and Bloomberg

ไม่เพียงเท่านั้น ตั้งแต่มกราคมเป็นต้นไป เฟดจะมีการเปิดโต๊ะแถลงข่าวทุกครั้งหลังการประชุมด้วย

ประเด็นนี้ถือเป็นการปรับแนวโน้มไปทาง “อยากสื่อสารมากขึ้น” เมื่อเทียบกับอดีตที่เฟดเริ่มออกรายงานการประชุมตั้งแต่ปี 1994 และเริ่มมีการเปิดโต๊ะแถลงข่าวทุกไตรมาสตั้งแต่ปี 2011 แต่ความพยายามครั้งนี้ของเฟดอาจเพิ่มความผันผวนขึ้น

ไม่ใช่แค่เพียง ดอกเบี้ยมีโอกาสปรับเปลี่ยนในจังหวะที่ไม่ซ้ำเดิม แต่ประเด็นที่ถูกนำเสนออาจผูกติดกับคำถามของสื่อ ซึ่งมักอิงตามสถานการณ์ช่วงสั้นมากขึ้น

เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อเฟดใช้ “การบริหารความเสี่ยง” ในการกำหนดนโยบายการเงิน การขึ้นดอกเบี้ยแบบอัตโนมัติ ก็จะจบลงในปีนี้เช่นกัน

จุดนี้เป็นสิ่งที่ตลาดสังเกตจากการให้สัมภาษณ์ของนายพาวเวลล์ ที่มักเน้นว่า การขึ้นดอกเบี้ยตามตัวเลขเศรษฐกิจ (Data Dependence) โดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง เคยก่อให้เกิดวิกฤติการเงินมาแล้ว และสร้างกระแสวิจารณ์เชิงลบกับเฟดในอดีต ซึ่งนายพาวเวลล์พูดเสมอว่าจะไม่ทำซ้ำ แต่จะดูจังหวะและความเสี่ยงในปัจจุบันไปพร้อมกัน

เมื่อเปลี่ยนจาก Data Dependence มาเป็น Risk Management ทำให้คาดเดายากไปอีกแบบ

เพราะเฟดต้องนำเหตุการณ์หรือข้อมูลที่ไม่เป็นตัวเลขมาคิดรวมในการกำหนดดอกเบี้ยด้วย ซึ่งช่วงปี 2000 นายอลัน กรีนแสปนเคยใช้การบริหารเช่นนี้ ผลที่ตามมาคือดอกเบี้ยสหรัฐตกอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องหรือที่เรียกว่า “Lower for Longer” จนเป็นหนึ่งในพื้นฐานที่ทำให้เกิดวิกฤติการเงินในปี 2008

สรุปว่านโยบายการเงินของเฟดในปีหน้ามีข้อดีคือเป็นการบริหารแบบสื่อสารบ่อยและระวังตัวสูง แต่ข้อเสียคือ ความผันผวนระยะสั้นจะสำคัญมากขึ้น ขณะที่โครงสร้างราคาสินทรัพย์ทางการเงินที่ผิดเพี้ยนก็ยากที่จะถูกแก้ไขในอนาคต

สำหรับตลาดการเงิน รู้ขนาดนี้ยังไม่พอที่จะตัดสินได้ว่านโยบายการเงินปี 2019 จะเป็น “ลมหนุน” หรือ “ลมต้าน เพราะตัวแปรที่กำหนดทิศทางทุกอย่าง มีเพียงหนึ่งเดียว นั่นก็คือ “เงินเฟ้อ”

เพราะไม่ว่าใครจะมองแบบไหน เงินเฟ้อและดอกเบี้ยก็เป็นสิ่งที่เกิดมาคู่กัน และสร้างความหมายให้กันและกัน ทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐจึงเป็นสิ่งเดียวที่จะชี้อนาคต

แม้ในระยะยาว นักวิเคราะห์ทั่วโลกจะเห็นพ้องกันว่า เงินเฟ้อมีโอกาสตกต่ำต่อเนื่องจาก ภาวะหนี้สูง การเติบโตของเทคโนโลยี และสังคมผู้สูงอายุ แต่ในระยะสั้น เงินเฟ้อมีแรงหนุนจากกำแพงภาษีของสหรัฐ ค่าแรงที่สูงขึ้น และการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ ความน่ากลัวก็อยู่ที่การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ด้วย ซึ่งหากเกิดขึ้น จะพาให้เงินเฟ้อสูงขึ้นได้อีก ทั้งเงินเฟ้อและค่าเงินเป็นสิ่งที่ “มีปัญหาแล้วหยุดยาก” และจะยิ่งยากขึ้นในช่วงที่ประเทศมีปัญหาการเมือง

และเมื่อผสมเรื่อง นโยบายการเงินของเฟดกับเงินเฟ้อในปีหน้า เข้าด้วยกัน จะพบว่าความไม่แน่นอนคงจะเกิดขึ้นตั้งแต่การประชุมครั้งแรกในเดือนมกราคมไปจนจบปลายปีแน่นอน

ในมุมมองของผม ถ้าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ปี 2019 จะเป็นปีที่เราไม่ต้องกลัวดอกเบี้ยสหรัฐหรือยิลด์ที่สูง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ตลาดการเงินหรือเศรษฐกิจมีปัญหา เฟดก็ดูจะพร้อมเป็น “ลมหนุน” ด้วยการหยุดขึ้นหรือลดดอกเบี้ย เพื่อรับมือกับวิกฤติแน่นอน

แต่ในทางกลับกัน ถ้าเงินเฟ้อในสหรัฐยังคงเร่งตัวขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเฟด ดอกเบี้ย และยิลด์ ก็อาจพลิกมาเป็น “ลมต้าน” ในทะเลการเงินทันที และหากเป็นเช่นนั้นจริง เราคงต้องเตรียมรับมือกับ สถานการณ์ “ไร้ที่ปลอดภัยในตลาดการเงิน” อีกครั้ง

สิ่งสำคัญที่สุดของนโยบายการเงินสหรัฐ 2019

U.S. Core PCE Inflation (Orange) and Fed fund rate (White)
Source: Bloomberg

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645953