การเลือกตั้งสหรัฐครั้งนี้ “เล่นใหญ่” จริง ๆ
แต่เชื่อว่าหลายท่านที่ติดตามคอลัมน์ “รู้ทันโลกการเงิน” มาตลอดคงไม่ประหลาดใจที่ “วัน” เลือกตั้งสหรัฐ เปลี่ยนไปเป็น “สัปดาห์” เลือกตั้ง หรืออาจจะเป็น “เดือน” เลือกตั้ง ถ้าผลยังไม่ชัดเจนว่าใครหรือพรรคไหนจะคว้าชัยในการเลือกตั้งอย่างไรบ้าง
แต่สำหรับตลาดการเงิน ทุกอย่างดูจะจบอย่างรวดเร็ว
ทุกสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นหุ้น บอนด์ ทอง ไปจนถึง บิทคอยน์ ตอบรับด้วยการปรับตัวขึ้นแทบทั้งหมด แปลง่าย ๆ ว่า นักลงทุน “ซื้อทุกอย่าง” ในตลาดและไม่ได้ให้ความสำคัญกับดราม่าการเมืองหลังเลือกตั้งครั้งนี้เท่าไหร่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นสหรัฐ ที่ดัชนี S&P 500 บวกติดกันแรงมากกว่า 1% แทบทุกวันต่อเนื่อง จนทำให้ช่วงห้าวันของการเลือกตั้ง กลายเป็นสัปดาห์ที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนอันดับ 13 นับตั้งแต่ช่วงปี 1990 แม้ผลการเลือกตั้งยังไม่มีข้อสรุป
อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรต้องรู้ให้ทันว่าผลการเลือกตั้งนั้น “ไม่สำคัญ” กับตลาดการเงิน อย่างที่ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ กำลังบอกเราหรือไม่ ซึ่งผมมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สำคัญกับตลาดการเงินด้วยสามเหตุผล
เหตุผลแรกที่ “ผลการเลือกตั้งไม่สำคัญ” เพราะไม่ว่าใครจะชนะ การกระตุ้นเศรษฐกิจก็กำลังรออยู่
เรื่องนี้เกิดจากตลาดเลือกมองแค่ “เรื่องราว” ที่ดีของทั้งสองผู้สมัครเพราะวิกฤติโคโรนาไวรัสทำให้ทุกคนเชื่อว่าไม่ว่าใครก็ไม่อยากเห็นเศรษฐกิจถดถอย
กรณีไบเดน ต่อให้ไม่มีวุฒิสภาก็ถือว่า “ดี” ที่ไม่มีการขึ้นภาษี แต่ถ้าคุมได้ทั้งสองสภาก็คือว่า “ดี” ที่การกระตุ้นเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นมหาศาล ส่วนถ้าเกิดพลิกกลับไปเป็นทรัมป์ แม้ตลาดผันผวนระยะสั้น ก็อาจ “ดี” ถ้าเฟดต้องหาทางใช้นโยบายเพื่อประคองตลาดเนื่องจากเป็นตัวช่วยสุดท้าย
ดังนั้นไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ตลาดก็คงไม่สนใจมาก
สอง “ผลการเลือกตั้งไม่สำคัญ” เพราะคงไม่สามารถเปลี่ยนนโยบายหลักส่วนใหญ่ได้
ผลเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจาก Blue Wave ของบารัค โอบามาในปี 2008 หรือ Red Wave ของโดนัลด์ ทรัมป์ในปี 2016 ที่ทุกคนต้องการ “การเปลี่ยนแปลง” ตรงที่ทั้งสองพรรคมีคะแนนที่ใกล้เคียงกันจากพรรคเดโมแครตเสียคะแนนในสภาล่าง หมายความว่า ครึ่งหนึ่งของคนสหรัฐยังไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งสองจิตสองใจ ว่าควรสนับสนุนการเปลี่ยนใหญ่อย่าง “การขึ้นภาษี” หรือไม่ และอาจแค่อยากเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
ในอนาคตจึงไม่น่าแปลกถ้าจะมีการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญกับเศรษฐกิจหรือการเมืองเกิดขึ้นให้เห็น และคงยากที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครคัดค้าน
ส่วนประเด็นสุดท้ายที่ทำให้ “ผลการเลือกตั้งไม่สำคัญ” ในมุมมองผมคงเป็นเพราะว่าไม่มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนไหนที่จะสามารถรวมคนสหรัฐให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันได้
เพราะพลังที่แท้จริงของสหรัฐ คือการยอมรับและหลอมรวมความแตกต่างเข้าด้วยกัน จนสมัยก่อนสามารถเรียกได้ว่าเป็น “ผู้นำแห่งโลกเสรี”
แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ กลับบอกเราว่าสหรัฐก็เป็นหนึ่งในประเทศที่แตกแยกทางความคิด และแม้ว่าทั้งไบเดนและทรัมป์จะสามารถทำให้คนสหรัฐตื่นตัวออกมาเลือกตั้งได้มากที่สุดในรอบกว่า 100 ปี แต่ก็เป็นแค่การแสดงออกว่าไม่ชอบอีกฝ่าย และสุดท้ายผลเลือกตั้งก็คงไม่ได้เปลี่ยนให้พื้นฐานด้านการเมืองสหรัฐดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ส่วนตัวผมอาจมองผลการเลือกตั้ง ต่างจากตลาดอยู่บ้างโดยมองว่าความสำคัญอยู่ที่การฟื้นความมั่นใจของนักลงทุนสหรัฐ
เพราะสิ่งที่รัฐบาลและประธานาธิบดีคนใหม่ กำลังจะต้องเจอคือ เศรษฐกิจที่กำลังเผชิญวิกฤติโคโรนาไวรัส บนระดับหนี้สาธารณะที่สูงกว่า 80% ต่อ GDP การว่างงานที่สูงกว่าก่อนวิกฤติเท่าตัว ความเหลื่อมล้ำที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และ P/E Ratio ของหุ้นสหรัฐหลังเลือกตั้งที่แพงที่สุดในรอบ 40ปี
ดังนั้นถ้าการเลือกตั้งไม่วุ่นวายและกลายเป็นเรื่องที่สามารถเรียกความมั่นใจของนักลงทุนให้กลับมาได้ ไม่ว่าจะเป็นจากวัคซีน พันธมิตรการค้าใหม่ หรือเทคโนโลยี ก็อาจเป็นหนึ่งในแสงสว่างของตลาดการเงินที่เรามองหา
และตอนนี้ แม้เราทุกคนอาจยังไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ที่สำคัญกับอนาคตของตลาดการเงิน
แต่อย่างน้อยเราก็รู้แล้วว่า “การเลือกตั้ง” ไม่ได้สำคัญกับตลาดการเงินมากอย่างที่หลายคนเชื่อ และเราไม่ควรเสียเวลาไปกับการเมืองสหรัฐมากนัก
ยิ่งสำหรับนักลงทุน ถ้าจะกังวล ก็ควรกังวลแค่ผลกระทบกับทิศทางของประเทศสหรัฐ แต่ควรเลิก เสียเวลากังวลกับผลกระทบบนพอร์ตลงทุนของเราได้แล้ว
จุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจและตลาดการเงินในแต่ละสมัยของประธานาธิบดีสหรัฐ
ที่มา: Census Bureau of Labor Statistics, World Inequality Database, Bloomberg
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์