ช่วงที่หุ้นผันผวนสูง ดอลลาร์อ่อน และดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปรับตัวลง นักวิเคราะห์ทั้งตลาด คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเจอกับคำถามยอดฮิตว่า “ทองคำน่าสนใจไหม” และ “กำลังจะขึ้นใช่ไหม”
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะทองคำ ดูจะเป็นสินทรัพย์ที่ครองใจคนได้ทั่วทั้งโลก ยิ่งในช่วงที่ผ่านมา ข่าวในตลาดการเงินก็ดูจะเป็นใจกับทองคำไปเสียหมด เห็นได้จากราคาตลาดโลกที่พุ่งขึ้นจากต่ำสุดที่ 1,270 ไปสูงสุดที่ 1,440 ดอลลาร์/ออนซ์ ทะลุนิวไฮน์รอบห้าปี สร้างผลตอบแทนกว่า 13% ในเจ็ดเดือนโดดเด่นกว่าแทบทุกสินทรัพย์ จนต้องกลับมาวิเคราะห์อีกครั้งว่าอะไรคือ “ความเชื่อ” หรือ “ความจริง” ในตลาดการเงิน ที่กำลัง “หนุน” ให้ทองปรับตัวขึ้นต่อ และมีเหตุการณ์ไหนอาจ “หยุด” ความร้อนแรงไว้ได้
หนึ่งในเหตุผลที่นักลงทุนมักใช้ในการถือทอง คือ ทิศทางตลาดทุนกำลังชะลอตัว จึงต้องหาสินทรัพย์กระจายความเสี่ยงเข้ามาเสริม ซึ่งความคิดนี้ไม่ได้ถูกทั้งหมด
เพราะทองคำไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัย และไม่ได้มีความผันผวนสวนทางกับตลาดทุนโลก ความสัมพันธ์ (Correlation) กับเงินดอลลาร์ หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ และตราสารหนี้ กับทองเป็นบวกทั้งหมดราว 0.1-0.3 ยิ่งกว่านั้น ทองคำก็มักปรับตัวขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวมากกว่าหดตัวจากผลของความมั่งคั่ง (Wealth effect) ไม่ต่างจากสินทรัพย์การเงินอื่นๆ
หมายความว่าการถือทองคำในพอร์ต ไม่ได้ลดความเสี่ยงด้วยการกระจายตัวของสินทรัพย์ (Diversify) เหมือนกรณีถือสินทรัพย์ที่มี Correlation ติดลบ (เช่นบอนด์) กล่าวให้ถูกต้อง การซื้อทองควรเป็นการลดความเสี่ยงจากหุ้นที่ผันผวน และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรับความเสี่ยงบนสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไป (Concentration Risk)
เหตุผลถัดมาที่เรามักได้ยินเสมอคือ ราคาทองจะปรับตัวขึ้นลงสวนทางกับดอกเบี้ยแท้จริงในสหรัฐฯ ซึ่งไม่ผิด แต่ในอดีตและปัจจุบัน ความสัมพันธ์นี้เกิดจากคนละเหตุผล
ช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ทองคำจะมีความสัมพันธ์สวนทางกับดอกเบี้ยที่แท้จริง (ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยหักด้วยเงินเฟ้อ) ด้วยการเป็นตัวแทนของ “สินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ” ช่วงที่ทองโดดเด่นคือทศวรรต 1970 ที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำแต่เงินเฟ้อสูง ในช่วงนั้นราคาทองคำปรับตัวขึ้นถึง 21% เมื่อหักเงินเฟ้อ ชนะทั้งหุ้นและบอนด์ที่ขาดทุนและแพ้เงินเฟ้อทั้งหมด
ความสัมพันธ์ดังกล่าวดูจะหายไปหมดแล้วในปัจจุบัน เห็นได้จากการที่ทองคำแทบไม่มีความสัมพันธ์กับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆที่เป็นตัวแทนเงินเฟ้อเลย แต่ที่ความสัมพันธ์กับดอกเบี้ยแท้จริงกลับยังมีอยู่ เป็นเพราะทองสามารถปรับตัวขึ้นได้เมื่อนโยบายการเงินสหรัฐฯผ่อนคลาย ทั้งจากสภาพคล่องและความกังวลกับเศรษฐกิจที่ปรับตัวสูง หรือสรุปได้ว่าปัจจุบันทองคำถูกเปลี่ยนฐานะไปเป็น “สินทรัพย์ป้องกันดอกเบี้ยต่ำ” แทนที่
และความเชื่อสุดท้ายคือ ทองคำเป็นสิ่งทดแทนดอลลาร์เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯมีปัญหา แท้จริงเป็นเพียงแค่การคาดเดาที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น
ไม่ใช่เพราะดอลลาร์แข็งแกร่งมาก แต่ในอดีตสหรัฐฯและทั่วโลก วางตำแหน่งดอลลาร์ไว้เป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ เพื่อทดแทนทองคำตั้งแต่ปี 1944 แม้จะเลิกตรึงดอลลาร์กับทองในปี 1971 ก็ยังสามารถใช้ดอกเบี้ยประคับประคองมูลค่าของดอลลาร์ไว้ได้
นอกจากนี้ ความมั่งคั่งของโลกก็มักอยู่ฝั่งตะวันตก ในอดีตแม้เศรษฐกิจจะแย่ จึงไม่มีใครกล้าที่จะทิ้งดอลลาร์ลงจริงๆ แม้ในช่วง Great Depression ทศวรรต 1930 ที่บอนด์ปรับตัวขึ้นถึง 37% แต่ราคาทองคำกลับแพงขึ้นเพียง 8%
อย่างไรก็ดี เราก็ประมาทไม่ได้ เพราะความเชื่อนี้อาจเป็นจริงในอนาคต
ปัจจุบัน สถานการณ์ทุกอย่างกลับมาซับซ้อน สหรัฐฯใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ แต่กลับห้ามไม่ให้หลายประเทศถือดอลลาร์ด้วยเหตุผลทางการค้า ขณะเดียวกัน ความมั่งคั่งก็เพิ่มมากขึ้นในโลกตะวันออก จนเหตุผลทั้งหมดที่เคยทำให้ทองไม่สามารถแทนที่ดอลลาร์ได้นั้นอาจไม่มีอีกต่อไปในอนาคต
สรุปได้ว่า ในระยะสั้น แนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ คือเหตุผลหลักจะกำหนดทิศทางของทอง และในระยะยาว การปรับมุมมองความเสี่ยงของนักลงทุนคือสิ่งที่เราต้องจับตาไม่กระพริบ
ถึงตรงนี้ เชื่อว่าเราคงเข้าใจบทบาทของทองคำมากขึ้น และต่อจากนี้ ยิ่งเราได้ยินคำถามถึงทองบ่อยขึ้น ก็ยิ่งต้องให้ความสนใจกับเหตุผลของการซื้อทองคำมากกว่าทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนต้องไม่ลืมคือ “การซื้อทองเป็นการเก็งกำไรไม่ใช่การลงทุน” ไม่ว่าเราจะชอบคำนิยามนี้หรือไม่ ทองคำก็เป็นสินทรัพย์ที่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนด้วยตัวเองได้ และนักลงทุนจะได้รับเพียงกำไรหรือขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาเท่านั้น การถือทองมากเกินไปจึงไม่ใช่สิ่งที่ปลอดภัยแน่นอน
การมีสินทรัพย์ที่หลากหลาย ประกอบกับทองคำ 5-15% ของพอร์ต จึงดูจะเป็นทางเลือกที่น่าจะเหมาะสมที่สุดในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่กำลังจะมาถึง
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์