วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ไม่ว่าด้วยสาเหตุไหน วิกฤติจะทำให้สินทรัพย์ในตลาดการเงินเผชิญกับความผันผวนสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่วิกฤตหรือไม่” สำหรับตลาดการเงินไทยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อให้เรารู้เท่าทันตลาด ผมจึงสำรวจสถานการณ์ในตลาดหุ้น บอนด์ และอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อประเมินว่าตลาดใด หรือสินทรัพย์ไหน กำลังส่งสัญญาณเตือนว่าวิกฤติเศรษฐกิจไทยก่อตัวขึ้นหรือไม่
ไล่เรียงจากตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดไปสู่เสี่ยงสูงที่สุด
“ตลาดบอนด์ไทย” ความเสี่ยงวิกฤติต่ำ จุดที่ต้องระวังมีเพียงหุ้นกู้ภาคเอกชน
สถานการณ์ปัจจุบันของตลาดบอนด์ คือดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 2.50% ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทย 2 ปี 10 ปี อยู่ที่ระดับ 2.1% และ 2.5% ตามลำดับ หนี้สาธารณะคงค้าง 11ล้านล. คิดเป็นราว 61%/GDP ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดรวมตราสารหนี้ออกใหม่ในปีนี้ คาดว่ามีมูลค่ารวมราว 2.7 ล้านล. เป็นหุ้นกู้ภาคเอกชนราว 8.9แสนล.และ 10% เป็น Non-Rate
ระดับยีลด์พันธบัตรสะท้อนสภาพคล่องที่สูง มีความหวังว่าธปท.จะลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ส่วนระดับหนี้สาธารณะ แม้จะสูงขึ้นกว่าก่อนโควิด แต่ไม่ได้อยู่ในระดับวิกฤติ ไม่ว่าจะเทียบกับค่าเฉลี่ยของ EM Asia ที่ 75%/GDP หรือเฉลี่ยทั่วโลกที่ 97%/GDP
โดยรวม ผมมองว่าบอนด์ไทยเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยไม่ได้อยู่ในข่ายวิกฤติ สิ่งที่ควรจับตามีเพียงหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงเครดิตสูง แต่มองจากขนาดต่อสภาพคล่องในระบบแล้ว ถ้าเตรียมพร้อมและควบคุมให้ดี ไม่ควรลุกลามเป็นปัญหาระดับวิกฤติการเงินได้
“เงินบาท” เป็นสินทรัพย์ที่ใกล้กับระดับวิกฤติมากที่สุด แม้พื้นฐานยังไม่มีปัญหาใหญ่ แต่อนาคตต้องรักษาความเชื่อมั่นให้ได้
ช่วงนี้เงินบาทแกว่งตัวอยู่ในระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ ห่างแค่ 6% จากระดับอ่อนค่าที่สุดตอนวิกฤติโควิดที่ราว 38 บาท/ดอลลาร์ ระดับพื้นฐานอย่าง BIS NEER ร่วงลงมาที่ 96 เทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่นถือว่าอยู่ระดับกลาง ๆ ขณะที่ธปท.มีทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 2.2 แสนล.ดอลลาร์ สูงสุดเป็นอันดับ 16 ของโลก ในอาเซียนเป็นรองแค่สิงคโปร์ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดฟื้นตัวแล้ว และคาดว่าจะเกินดุลในปีนี้
อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นเงินบาทมีความเสี่ยงอ่อนค่ามากกว่าแข็ง เพราะมีทั้งดอกเบี้ยที่คาดว่าจะลดลงเร็ว สวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐที่อาจคงดอกเบี้ย ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระยะ 3 เดือนของสหรัฐและไทยอยู่ในระดับสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ถึงกว่า 3.1% ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า การเมืองไม่นิ่ง โอกาสเห็นเงินทุนไหลออกจนเงินบาททะลุระดับวิกฤติก็มีอยู่
ด้วยความผันผวนต่อปีราว 10% ผมมองว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าขึ้นไปแตะระดับวิกฤติ 38-40 บาท/ดอลลาร์ ถ้าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา จนธปท.ต้องลดดอกเบี้ยแรง พร้อมกับตลาดทุนปิดรับความเสี่ยง การจะป้องกันได้ สิ่งสำคัญคือต้องคุมความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่าให้เกิดความกังวลว่าจะมีวิกฤติ เพราะจะสร้างความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้ายทันที
“หุ้นไทย” เป็นตลาดที่ความเสี่ยงสูงที่สุด อนาคตไม่สดใส ดีที่ไม่ได้อยู่ในระดับมูลค่าที่แพงมาก
ระดับดัชนี SET Index ที่ราว 1400 จุด เป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2020 แม้จะห่างจากระดับต่ำสุดช่วงโควิดที่ 1125 จุด แต่ก็ไม่ใกล้เคียงระดับ 1600-1700 จุดช่วงก่อนโควิด ด้านรายได้ ช่วง 4ไตรมาสหลังสุดหดตัวถึง 12% และเป็นการลดลงทั้งยอดขายและ Margin เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ Long-term P/E ลงมาซื้อขายที่ระดับ 14x ต่ำกว่าเฉลี่ย 18x ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาราว 22%
อนาคตตลาดหุ้นไทยก็ไม่ได้ฟื้นตัวทั่วถึง ล่าสุดนักวิเคราะห์มองว่ารายได้ของดัชนี SET ในปีนี้จะเติบโตราว 10% ด้วยแรงหนุนหลักจากกลุ่มท่องเที่ยวและค้าปลีก ขณะที่กลุ่มใหญ่อย่าง พลังงาน ธนาคาร และบริการสุขภาพ คาดว่าจะมีการเติบโตของกำไรเพียง 3-5%
ถ้ามองว่าวิกฤติเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้คือการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพต่อเนื่อง ตลาดหุ้นไทยคือจุดที่ส่งสัญญาณวิกฤตมากที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย วิกฤตินี้จะขยายวงกว้างไปสู่ตลาดเงินและตลาดบอนด์ได้ ถ้ารายได้ไม่กลับตัว นำไปสู่การไหลออกของเงินทุน จนนักลงทุนในประเทศเสียความเชื่อมั่นไปด้วย
อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจเป็นแค่ภาพของการเติบโตต่ำแต่ไม่ได้ถึงกับถดถอย วิกฤตินี้จะไม่เป็นความเสี่ยงฉับพลันเหมือนตลาดอื่น และด้วย Valuation ของตลาดไม่แพงมาก เมื่อไหร่ที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ตลาดหุ้นก็จะสามารถออกจากวิกฤติได้ก่อนเพื่อน
ดังนั้น เมื่อมองผ่านมุมของตลาดการเงินไทย ก็ต้องสรุปว่าตอนนี้ เศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤติเฉียบพลัน แต่ถ้าปล่อยให้เติบโตต่ำต่อเนื่องแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะสะสมความเสี่ยงในตลาดเงินและตลาดบอนด์มากขึ้นนั่นเอง
หลังจากนี้ผมเชื่อว่านักลงทุนต้องวางกลยุทธ์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสองกรณีหลักเป็นอย่างน้อย
กรณีฐาน คือเศรษฐกิจไทยเข้าสู่โหมด ลงจอดแบบราบรื่น (Soft Landing)
แม้จะไม่เร่งตัวขึ้นก็ไม่เป็นไร แต่อย่าให้ถึงขั้นเกิดวิกฤติการเงิน กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีเสถียรภาพของตลาดเงินที่ดี การส่งออกต้องฟื้นตัว และนักท่องเที่ยวต้องกลับมา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีนโยบายลดความเสี่ยงของตลาดบอนด์ลง ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ย หรือทำให้เอกชนเข้าถึงสภาพคล่องได้มากขึ้น
ข้อเสียของกรณีนี้ คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่เติบโตช้าจะไม่ได้รับการแก้ไข กลยุทธ์การลงทุนจึงทำได้เพียงพักเงินที่ตลาดบอนด์ รอทุนทั่วโลกไหลกลับ เงินบาทแข็ง ค่อยซื้อหุ้นไทยเป็นลำดับสุดท้าย
กรณีเลวร้าย คือปล่อยให้เกิดวิกฤติก่อน (Hard Landing) แล้วค่อยกระตุ้นให้ฟื้นตัว
เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้ถ้า ไม่มีนโยบายช่วยประคองเศรษฐกิจเลยในระยะสั้น จนเอกชนขาดสภาพคล่อง นำไปสู่วิกฤติในตลาดบอนด์ ลามไปทำให้เงินบาทอ่อนค่า แล้วค่อยใช้นโยบายเศรษฐกิจกระตุ้นให้ฟื้นตัวกลับ
แม้จะดูรุนแรงแต่อาจแก้ปัญหาได้พร้อมกันสองจุดคือเคลียร์ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ที่ค้างอยู่และปรับฐานการเติบโตให้กับบริษัทที่เหลือรอด กลยุทธ์การลงทุนคือถือพันธบัตรระยะสั้นและดอลลาร์ รอตลาดปรับฐาน และเข้าซื้อหุ้นที่พื้นฐานแข็งแกร่ง
ในมุมมองของคนไทย ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครที่อยากให้เกิดกรณีเร็วร้าย และช่วยกันได้ด้วยการทำงานของเราให้ดีที่สุด บนความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ แต่ในมุมมองของการลงทุน ต้องไม่ลืมที่จะเตรียมกลยุทธ์รับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันไว้เสมอครับ
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์