Stagflation Asset Allocation

Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวสวนทางกับเงินเฟ้อสูง เป็นความท้าทายใหม่ที่นักลงทุนต้องเตรียมพร้อมรับมือ

ไม่ใช่แค่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง “เงินสด” ที่เสี่ยงจะแพ้เงินเฟ้อ

“บอนด์” จะถูกดอกเบี้ยขาขึ้นกดดันราคา

ส่วน “หุ้น” จะต้องเผชิญกับความผันผวน ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน และมุมมองของนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป

เราจึงควรมองหาธีมการลงทุนและสินทรัพย์ที่เหมาะสมไว้ให้พร้อม ก่อนจะสายเกินแก้

ล่าสุดทีมวิเคราะห์ของ Goldman Sachs (GS) นำโดย Cristian Mueller-Glissmann เปรียบเทียบผลตอบแทนหลังหักเงินเฟื้อ และความผันผวนของสินทรัพย์ต่าง ๆ ย้อนกลับไปตั้งปี 1950 โดยใช้สภาพคล่อง การกู้ยืม จังหวะลงทุน ไปจนถึงการกระจายและบริหารความเสี่ยงเป็นตัวแปรตัดสิน พบว่าในอดีตมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับภาวะ Stagflation 5 รูปแบบ

(1) ลงทุนสินทรัพย์จริง

การลงทุนที่เด่นในช่วง Stagflation ในอดีตไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน

เนื่องจากสินทรัพย์จริง ตอบเงินเฟ้อได้หลายโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ตอบ Demand Pull สินค้าโภคภัณฑ์ก็ถือไว้แก้ปัญหา Cost Push เช่นเดียวกับทองคำและ Digital Asset ก็ใช้หลบเงินเฟ้อจาก Currency Debasement

สัดส่วนการลงทุนในภาวะ Stagflation ที่ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในอดีตคือ 30% สินค้าโภคภัณฑ์ 30% ทองและ 40% อสังหาริมทรัพย์

(2) เปลี่ยนสไตล์เป็น Value

ข้อมูลในอดีตชี้ว่าสัดส่วน 100% หุ้นมูลค่า (Value) เป็นไปได้

ช่วงเวลาที่น่าสนใจที่สุดคือทศวรรษ 1970 ที่โมเดลวิเคราะห์สัดส่วนการลงทุนเหมาะสมของ GS ลดการถือหุ้นเติบโต (Growth) ลงเหลือ 0% ติดต่อกัน 20 ปี เหตุผลหลักคือหุ้น Growth มีความเสี่ยงในช่วงยีลด์ขาขึ้น ขณะที่ความผันผวนของรายได้ก็เพิ่มขึ้นพร้อมกัน ทำให้ผลตอบแทนไม่คุ้มกับความเสี่ยง

(3) กระจายการลงทุนสู่หลายภูมิภาค

ช่วงที่น่าสนใจคือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงนั้นต้องลงทุน 30% บอนด์ 5% ยุโรป 8% อังกฤษ 19% ญี่ปุ่น 15% ตลาดเกิดใหม่ (EM) และ 23% สหรัฐ เหตุผลหลักคือภาวะเงินเฟ้อมักแตกต่างกันของในแต่ละประเทศ ยิ่งต่างมากเท่าไหร่ การกระจายความเสี่ยงก็จะยิ่งมีประโยชน์

อย่างไรก็ดี สัดส่วนนี้จะไม่เหมือนกันในแต่ละยุคสมัย สำหรับปัจจุบัน GS มองสัดส่วนการลงทุนที่คุ้มที่สุดบน Real Risk/Reward คือ 70% หุ้นญี่ปุ่นและ 30% EM

(4) หุ้นเหมือนบอนด์ บอนด์เหมือนหุ้น

การลงทุนกลุ่มนี้ประกอบด้วยสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น แลกกับโอกาสกำไรจากราคาที่ลดลงเช่น High Yield Credit, AT1, CLO ไปจนถึงหุ้นที่ธุรกิจไม่เติบโตแต่ให้ปันผลสูง

สัดส่วนการลงทุนเหมาะสมเฉลี่ยตั้งแต่ปี 1987 อยู่ที่ราว 30% ของพอร์ต สิ่งที่ต้องระวังสำหรับการลงทุน Hybrid เหล่านี้คือกับดักมูลค่า (Value Trap) เพราะตอบแทนที่สูง มักเกิดจากสินทรัพย์นี้ความเสี่ยงบางอย่างมากกว่าการลงทุนปรกติ

(5) ผลตอบแทนนอกตลาด

การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดคือการยอมเสียสละสภาพคล่องและความโปร่งใสของการประเมินมูลค่า แลกกับผลตอบแทนที่สูงและราคาที่ไม่ตามตลาด

GS มองว่า Private Asset เป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนระยะยาวสามารถใช้แทนกลุ่ม Small-Cap Value ได้ทันที อย่างไรก็ดี สินทรัพย์นี้จะมีความเฉพาะตัวสูงไม่มี Benchmark ผลตอบแทนกว้างตั้งแต่ 5% ไปถึง 20%ต่อปี สัดส่วนที่เหมาะสมจึงอาจแตกต่างกันไป ตามสินทรัพย์ที่ลงทุนและระดับความเสี่ยงเป้าหมาย

สำหรับนักลงทุนไทย สามารถปรับกลยุทธ์บางส่วนมาใช้ได้ แต่ต้องเข้าใจว่า Stagflation รอบนี้ อาจไม่เหมือนในอดีตไปทั้งหมด

ทำได้ทันทีคือปรับสินทรัพย์

ผมเชื่อว่าทั่วโลกต้องหาสินทรัพย์สร้างรายได้ (Income) ใหม่ ที่ไม่ใช่บอนด์ และไม่ถูกเงินเฟ้อหรือดอกเบี้ยกดดัน

Real Asset และ Private Asset สามารถเป็นคำตอบได้ แต่การลงทุนอสังหาริมทรัพย์โดยตรงในประเทศไทยยังถือว่ามีความเสี่ยงสูง ทั้งจาก Supply ที่ล้น สวนทางกับกำลังซื้อของคนไทยที่ชะลอตัว ขณะที่การลงทุนในบริษัทนอกตลาดในไทย ยิ่งเสี่ยงในภาวะ Global Stagflation

ดังนั้น นักลงทุนไทยที่อยากลงทุนสินทรัพย์จริงหรือสินทรัพย์นอกตลาด ก็ควรมองหาสินทรัพย์เหล่านี้จากทั่วโลกจะดีกว่า

ต่อมาคือธีม Growth แม้ข้อมูลในอดีตดูจะไม่สนับสนุนเลย แต่ผมเชื่อว่าครั้งนี้กลับมีโอกาสสะสม

เพราะสงครามที่เป็น Cost Push ระยะสั้น ถ้ามีบทสรุปเร็ว ราคาสินค้าพลังงานอาจปรับตัวลง Growth จะมีจังหวะพื้นตัว

สอง ดอกเบี้ยสหรัฐเริ่มต้นต่ำ จาก 0% ต่อให้ขึ้นไปถึง 3% ก็อาจไม่ใช่ระดับที่สูงจนทำให้ธุรกิจต้องล้มหายตายจาก

และสาม ด้วยระดับเทคโนโลยีปัจจุบัน วัฏจักรเศรษฐกิจอาจไม่ยาวนานเหมือนในอดีต โอกาสที่การลงทุนกลุ่ม Growth จะกลับมาภายใน 2-3 ปี ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินจินตนาการ 

สำหรับผมจึงอาจสะสมธีม Growth บ้างถ้าปรับฐานลงอีกครั้ง

ท้ายที่สุด คือมุมมองบนหุ้นไทยที่เป็นสไตล์ Defensive Value เหมาะกับ Stagflation อย่างไม่ตั้งใจ

นั่นคือเหตุผลที่ตั้งแต่ต้นปีมีเงินทุนไหลเข้าในหุ้นไทยแล้วถึงเกือบแสนล้านบาท

ในมุมมองของผม ใครที่ยังไม่มีการลงทุนในกลุ่ม Value ไม่ต้องมองไกล แค่มีการลงทุนในประเทศ ก็อาจมีสัดส่วนที่เหมาะสมทันที และถ้าอยากให้พอร์ตตั้งรับกับภาวะ Stagflation ได้ดีขึ้นไปอีก ก็สามารถเพิ่มสัดส่วนหุ้นปันผลหรือกองทุนอสังหา ฯ ได้

แม้ Stagflation จะน่ากลัวสำหรับตลาดการเงินมาก แต่ถ้าตั้งใจวางกลยุทธ์ให้ดี ก็มีทางหนีทีไล่เสมอครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์