มนต์ขลังของโดนัลด์ ทรัมป์ที่หนุนดอลลาร์มาตลอดหลังเลือกตั้งดูจะเริ่มหมดแรงเสียแล้ว เพียงไม่ถึงเดือนจากช่วงปีใหม่ ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักเช่นเยนและยูโรแล้วราว 2% และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท 1% สร้างคำถามให้คนทั้งตลาดว่า “เทรนด์ดอลลาร์แข็ง” ที่มองกันไว้ตั้งแต่สิ้นปีจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ในปีนี้
เหตุผลที่ดอลลาร์อ่อนค่าส่วนหนึ่งเกิดจากความคาดหวังของตลาดที่อยากเห็น “Stimulus Trump” ออกมายิงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับเจอ “Fake News Trump” ที่เสียเวลาไปกับการโต้ตอบกับนักข่าวแบบเผ็ดมัน แท้จริงอาจไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมายนักและอาจเป็นตลาดการเงินเองที่ “คาดหวัง” กับโดนัลด์ ทรัมป์มากเกินไปตั้งแต่ต้น จนต้องกลับมาพักและรอดูกันยาวๆ ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเป็นอย่างไรกันแน่
100 วันแรกของการเข้ารับตำแหน่งถือเป็นจุดที่น่าสนใจว่าทรัมป์จะสามารถ “ทำตามสัญญา” ได้มากน้อยเพียงไหน
ผมกลับมาอ่าน Contact with American Voters ที่โดนัลด์ ทรัมป์เคยเขียนไว้แบบตั้งใจอีกครั้ง พบว่าที่ประธานาธิปดีคนใหม่ของสหรัฐฯให้สัญญาเรื่องการเมือง 15 ข้อ การต่างประเทศ 8 ข้อ มากกว่าเรื่องเศรษฐกิจที่มีเพียง 6 ข้อ สรุปขั้นต้นได้ว่า “เศรษฐกิจน่าจะมาหลังการเมือง”
ส่วนว่าจะทำทำอะไรในช่วง 100 วันแรก และมองผลอย่างไรบ้าง ผมแบ่งเป็นประเด็นดังนี้ครับ
ในด้านภาษี การลดภาษีบริษัทและบุคคลธรรมดาอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ในระยะยาวก็ไม่สามารถมองเป็นนโยบายที่ยั่งยืนได้ เนื่องจากงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯยังคงขาดดุลอยู่ตลอด
ซ้ำร้ายไปกว่านั้นการปรับภาษีด้วยการลดขั้นการจัดเก็บจาก 7 ขั้นลงเหลือ 3 ขึ้นนั้นเทียบได้กับการลดภาษีให้คนรวยที่สุดในสหรัฐฯ ซึ่งถ้ามองในมุมการบริโภคถือว่าไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุดเนื่องจากกลุ่มคนรวยมักจะออมเงินเมื่อได้ผลประโยชน์ด้านภาษี (Tax Policy Center สหรัฐฯเคยประเมินว่ากลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด 20% แรกของสหรัฐฯจะใช้จ่ายเพิ่มเพียง 48 เซ็นต์จากทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯที่ได้จากการลดภาษี ขณะที่กลุ่มคนที่จนที่สุดจะใช้จ่ายถึง 86 เซ็นต์/ดอลลาร์สหรัฐฯ) และบริษัทก็มักจะซื้อหุ้นคืนแทนที่จะลงทุนเมื่อได้รับการลดภาษีเช่นกัน
ด้านการจ้างงานก็เป็นอีกด้านที่ยังคงคลุมเครือ ผมยังมองไม่ออกว่าการส่งกลับแรงงานที่ไม่มีเอกสารการทำงานถูกต้อง (ที่มีถึงราว 5% ของแรงงานทั้งหมด) กลับประเทศจะสามารถทดแทนได้ด้วยคนสหรัฐฯได้เร็ว บวกกับสัญญาว่าจะเพิ่มตำแหน่งงานอีก 25 ล้านตำแหน่ง (ปัจจุบันก็มีอยู่แล้ว 5.5 ล้านตำแหน่ง) ขณะกระทรวงแรงงานสหรัฐฯแจ้งว่ามีคนว่างงานในสหรัฐฯเพียง 7.5 ล้านคน ถือว่าสร้างความมึนงงให้กับตลาด
เช่นเดียวกับในด้านการค้าที่ทรัมป์ขึ้นบัญชีว่า “จีนและเม็กซิโก” เป็นเด็กดื้อที่ต้องโดนจัดการ ถ้าตั้งกำแพงภาษี (หรือกำแพงจริง) สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯได้ประเมินไว้แล้วว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นราว 15% ทำให้เงินเฟ้อในสหรัฐดีดตัวขึ้นมาถึง 3% กดดันการบริโภค ในกรณีเลวร้ายกว่านั้นถ้าประเทศอื่นๆ กังวลกับการนโยบายการค้าที่ไม่นิ่งของสหรัฐฯมากขึ้นจนหันไป “รวมกลุ่มใหม่” กันเองน่าหรือ “ตั้งกำแพงภาษีกลับ” ใส่สหรัฐฯ บ้างจะส่งผลลบอย่างใหญ่หลวงกลับมาสู่เศรษฐกิจสหรัฐฯในอนาคต
และถ้านั่นคือประเด็นหลักทางเศรษฐกิจที่ทรัมป์บอกว่าจะทำใน 100 วันแรก ก็ไม่น่าแปลกใจที่ตลาดค่อยๆ ผิดหวังเมื่อคงไม่เห็น “ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน” หรือ “ขึ้นดอกเบี้ย” อยู่ในนั้น
และถ้าสุดท้ายถ้าทรัมป์ยังเสียเวลาไปกับการทะเลาะกับสื่อและนักการเมือง จนไม่มีนโยบายการเงินและการคลังใดๆ ออกมาก็มีความเป็นไปได้สูงที่เงินทุนจะไหลกลับมาฝั่งเอเชียในท้ายที่สุด
เจอแบบนี้เชื่อว่านโยบายการเงินของไทยที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการกำกับดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย อัตราแลกเปลี่ยน และดอกเบี้ยนโยบาย
ถ้ามองว่า 100 วันข้างหน้า เศรษฐกิจสหรัฐฯยังไม่น่าจะมีข่าวดีและดอกเบี้ยสหรัฐฯยังคงไม่สามารถปรับขึ้นได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ ธปท.ควรต้องต้องเข้ามาดูแล และเริ่มส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการรู้ถึงทิศทางค่าเงินและดอกเบี้ยที่ควรจะเป็นตามภาพรวมเศรษฐกิจโลกและไทย ยิ่งถ้าปีนี้เศรษฐกิจไทยตั้งเป้าจะโต 4% ดุลการค้ายังเป็นบวก การเมืองนิ่ง และจะมีเลือกตั้ง ก็ไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดกระแสเงินลงทุนไหลเข้าไทยอีกครั้งเร็วๆ นี้
เราควรหาแนวทางรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ไว้แต่เนิ่นๆ ครับ เพราะทั้งการเงิน การค้า และเศรษฐกิจโลก มันไม่ง่ายเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เราจะสามารถฉกฉวยโอกาสจากแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าในช่วงนี้ได้หรือสุดท้ายก็ต้องภาวนาให้เงินบาทให้อ่อนค่าเพื่อช่วยส่งออกในภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัว มันก็แล้วแต่เราครับ
ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐยังออกมาให้ความเห็นว่า “ไม่กลัว” ที่จะเห็นดอลลาร์แข็งถ้ามันเกิดจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ดีขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องรอดูว่าธปท. และรัฐบาลจะมีความเห็นเกี่ยวกับเงินบาทอย่างไร ต้องจับตาและเอาใจช่วยเศรษฐกิจไทยไปด้วยกันครับ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3228 วันที่ 19 – 21 มกราคม 2560