ทำไมตลาดถึงแกว่งตัวในกรอบกว้าง ?

“แกว่งตัวในกรอบกว้าง” กลายเป็นคำอธิบายตลาดที่ผมใช้มากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา

นั่นเป็นเพราะเรื่องราวในตลาดเงินตลาดทุน ไม่ได้มีเพียงข่าวดี หรือข่าวร้าย แต่ยังมีหลายเรื่องที่ต้องตีความ และหลายมุมมองของผู้กำหนดนโยบายหรือผู้เล่นในตลาดที่เปลี่ยนแปลงให้เราได้สับสนกันไม่เว้นวัน

กลยุทธ์ที่ดีที่สุดเมื่อตลาดวิ่งเป็นกรอบคือ “ขึ้นขายลงซื้อ” ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ค้านอารมณ์ของนักลงทุนมากที่สุด

แต่ถ้าเราคิดในมุมกลับและไม่ได้หวังว่าต้องชนะตลาดเสมอ การทำความเข้าใจว่าอะไรทำให้เกิดกรอบการซื้อขาย และหาสินทรัพย์ที่สามารถฉีกตัวเองออกนอกกรอบได้ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจในปีนี้

ผมมองว่ากรอบกว้างรอบนี้เกิดจากปัจจัยสามอย่าง

หนึ่ง คือสัญญาณเตือนความเสี่ยงยัง “ดัง” อยู่ในหลายประเทศทั่วโลก

ปัญหาที่ตลาดการเงินกำลังเผชิญอยู่คือการเมืองที่ร้อนระอุ ดัชนี Economic Policy Uncertainty อยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติในปี 1998

สงครามการค้าก็ไม่มีบทสรุป แม้โดนัล ทรัมป์อยากทำข้อตกลงกับจีนในปีนี้ แต่ความไว้เนื้อเชื่อใจที่ต่ำ สามารถปลุกให้สงครามการค้าฟื้นขึ้นมาได้ทุกเมื่อ

นอกจากนี้ ทั่วโลกก็กำลังเผชิญการเลือกตั้งมากมาย ระยะสั้นทุกอย่างคงมีผลลัพธ์ แต่แนวโน้มโลกาภิวัตน์ที่เสื่อมถอยกับประชานิยมที่เบ่งบาน ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า ปัญหาการเมืองจะไม่ลดลงในอนาคต

สอง คือการเติบโตของเศรษฐกิจโลกถูก “หั่น” หมดแล้ว

ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะเมื่อต้นปี 2018 เศรษฐกิจโลกดูดีผิดปรกติ นักวิเคราะห์ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจขึ้นไปก่อน พอเศรษฐกิจจริงแย่ จึงต้องทยอยปรับมุมมองเชิงบวกลง

มองโลกในแง่ดี เหตุการณ์นี้อาจหมายความว่ามูลค่าแท้จริงของเศรษฐกิจ (Value factor) ไม่ได้แย่ลงมาก แต่เป็นช่วงที่ตลาดถูกพลิกจากสูงมาต่ำในทันที ทุกอย่างจึงดูน่ากลัวผิดปรกติ

ถึงอย่างนั้น การที่จีดีพีโลกถูกทุกสำนักรุมหั่น ก็ไม่สามารถมองเป็นเรื่องดีได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทุกคนเห็นพ้องกันว่า ปัญหาอยู่ที่“การเติบโต” โอกาสที่จะเห็นการขยายตัว (Growth factor) กลับมาเป็นผู้นำตลาดเหมือนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็ดูจะเกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน

ปัจจัยที่สาม คือนโยบายการเงินเป็นแนวรับเมื่อเศรษฐกิจแย่ แต่พร้อมเป็นแนวต้านทันทีที่เศรษฐกิจฟื้น

ประเด็นนี้ทำให้การลงทุนปี 2019 แตกต่างจากช่วงปลายปี 2018

เพราะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่เราได้เห็นธนาคารกลางแทบจะ “ทุกที่” พลิกมุมมองเตรียมผ่อนคลายนโยบายหนุนตลาดการเงินและเศรษฐกิจ

ถ้าตลาดแย่ เราอาจเห็นหลายที่ออกโรงกระตุ้นด้วยการลดดอกเบี้ยหรือออกมาตราการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงกลับเข้าพอร์ต

แต่นักลงทุนก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วย เพราะเป้าหมายของธนาคารกลางครั้งนี้คือการพยุงไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อไหร่ที่ตลาดสามารถยืนได้เอง นโยบายการเงินก็พร้อมที่จะกลับมาเข้มงวด

เมื่อเข้าใจว่าอะไรคือกรอบของตลาดการเงิน สินทรัพย์ที่จะ “ฉีกจากกรอบ” ก็ต้องเป็น สินทรัพย์ที่ดีในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ก็ต้องได้รับแรงหนุนจากนโยบายการเงิน

แน่นอนว่า “บอนด์” ดูจะเป็นคำตอบในสถานการณ์ที่นโยบายการเงินผ่อนคลาย

แต่บอนด์แบบไหนกันแน่ที่ดีในช่วงตลาดแกว่งตัวกว้าง ก็ต้องย้อนกลับไปดูความสัมพันธ์ในอดีต

ในอดีต 20 ปี พบว่ามีทั้งหมด 6 ปีที่ตลาดแกว่งตัวกว้างคือ 2001-2003 2008-2009 และปี 2011 ปีเหล่านี้ บอนด์ทั่วโลกให้ยีลด์เฉลี่ย 8.2% ขณะที่ S&P500 มักขาดทุน

ผลตอบแทนดีที่สุดคือกลุ่ม Global High Yield 

มีค่าเฉลี่ย 11.6% แต่ความผันผวนจะอยู่ในระดับสูงใกล้หุ้น ต้องระวังไม่ให้เจอประเทศหรือบริษัทที่เครดิตอาจถูกปรับลดตามภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ผลตอบแทนต่อความเสี่ยงดีที่สุดคือ US Treasury 

กลุ่มนี้มีความผันผวนน้อยและส่วนใหญ่จะมีผลตอบแทนเป็นบวก แต่ยีลด์ก็จะต่ำเพราะเป็นสินทรัพย์ที่มักแพงเสมอ

พอดีที่สุดอาจเป็นกลุ่ม Investment Grade 

ที่ให้ยีลด์ราว 8.2% แต่ก็ต้องระวังว่าถ้าสุดท้ายกรอบกว้างนี้เปลี่ยนไปเป็นวิกฤติการเงิน ก็ต้องรีบหลบให้ทัน

ตลาดที่ “แกว่งตัวในกรอบกว้าง” ไม่ใช่ภาวะนักลงทุนชอบ แต่ไม่ชอบแล้วไม่เปลี่ยนแปลงก็ไม่มีประโยชน์

การศึกษา ทำความเข้าใจตลาด จึงเป็นสอ่งสำคัญเพราะจะทำให้เรามีมุมมองที่นอกกรอบ เช่นครั้งนี้ ก็ดูจะมีอะไรที่ฉีกกรอบให้ทำบ้างแล้ว

ทำไมตลาดถึงแกว่งตัวในกรอบกว้าง ?

ผลตอบแทน (%pa) ของสินทรัพย์ต่างๆในปีที่ตลาดแกว่งตัวในกรอบกว้าง
ที่มา: Bloomberg and Krungthai Global Markets

TSF2024