ปรับกลยุทธ์การลงทุนให้มีโอกาสชนะตลาด

ช่วงที่ตลาดการเงินเปลี่ยนทิศ มักเป็นช่วงที่นักลงทุนมีความลังเลที่จะปรับกลยุทธ์การลงทุนที่สุด 

เพราะทุกการกลับตัว มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงมากมาย เช่นแนวโน้มเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน หรือความเสี่ยงการเมือง และต่อให้เรารู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผลกระทบกับตลาดก็ผสมไปด้วยอารมณ์และ Market Position ที่คาดเดาได้ยาก

สำหรับนักลงทุนระยะยาว ทางเลือกที่ตรงที่สุดคือ “อยู่กับตลาด” หรือ Stay Invested ให้ได้ก่อน ด้วยการลงทุนเท่ากับดัชนี อย่างน้อยก็จะทำให้เราได้ผลตอบแทนเท่ากับค่าเฉลี่ย 

แต่ถ้าอยาก “ชนะตลาด” ก็ต้องไม่ลังเลที่จะปรับกลยุทธ์ในช่วงที่ตลาดการเงินกำลังเปลี่ยนทิศ

สำหรับผมมี 3 แนวทางที่นักลงทุนต้องคิดถึงและตัดสินใจ ถ้าต้องการสร้างผลตอบแทนที่ฉีกออกจากค่าเฉลี่ย

หนึ่งคือ Asset Allocation เลือก Overweight หรือ Underweight สินทรัพย์ลงทุนให้ถูกต้อง

ไม่ต้องมองไกลถึงสินทรัพย์ทุกชนิดในโลก เราสามารถเริ่มได้เลยแค่ออกจากเงินสดไปที่หุ้น 60% บอนด์ 40% เพื่อเกาะผลตอบแทนเท่าเฉลี่ยให้ได้ก่อน

หลังจากนั้น เลือก “ปรับเพิ่ม” สัดส่วนสินทรัพย์ที่คิดว่าจะให้ผลตอบแทนดี พร้อมกับ “ปรับลด” สัดส่วนสินทรัพย์ที่คิดว่าจะให้ผลตอบแทนแย่ ในกรอบ 10-30% ของพอร์ต

ต่อด้วยการสร้างความแตกต่างจาก Thematic Investing ที่ถูกต้อง

เพราะคำถามที่สำคัญไม่แพ้สัดส่วนการลงทุนคือ Diversify or Concentrate หรือควร “กระจาย” หรือ “กระจุก” ที่จุดไหน

ถ้าเรายังไม่มีมุมมองเฉพาะเจาะจง ง่ายที่สุดคือกระจายการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนใกล้ดัชนีที่สุด

หลังจากนั้นค่อย ๆ ศึกษา เลือก 3-5 ธีมลงทุนที่คาดว่ามีโอกาสสร้างผลตอบแทนเหนือตลาดได้ และแบ่งสินทรัพย์หลักมาลงทุนในแต่ละธีม 5-15% ของพอร์ต

กลยุทธ์สุดท้ายคือ Optimization เลือกที่จะ “ถือต่อ” หรือ “ขอเปลี่ยน” การลงทุนให้ถูก

คำตอบว่าจะ Holding หรือ Switching เกิดจากการเปรียบเทียบ Expected Returns และ Risks ของแต่ละการลงทุนในพอร์ตกับทางเลือกกับตลาด ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

ขั้นตอนนี้มักเป็นการปรับเปลี่ยนส่วนที่มีความเสี่ยงต่ำเช่นบอนด์ไปเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ให้พอร์ตโดยรวมสมดุล หรือลดความเสี่ยงบน Risk Scenario บางอย่างเช่นเศรษฐกิจถดถอย หรือตลาดปรับฐานระยะสั้น

อ่านมาถึงตรงนี้ นักลงทุนหลายท่านมักมีคำถามขึ้นในใจว่า

ถ้ากลยุทธ์มีแค่นี้ ทำไมนักลงทุนส่วนใหญ่ถึงเอาชนะตลาดไม่ได้

สำหรับผม กลยุทธ์ที่จะทำให้เรามีโอกาสชนะไม่ได้ซับซ้อน แต่ต้องถูกต้อง และมีวินัย 

เช่น ช่วงก่อนหน้านี้ที่ตลาดปรับฐาน หลายท่านเลือกถือเงินสดซึ่งถือว่าถูกต้อง แต่ส่วนใหญ่กลับถือเงินสดนานเกินไป ไม่มีวินัยที่จะกลับมาลงทุน จึงมักแพ้ตลาดในระยะยาว

นั่นคือเหตุผลว่าเราควร Stay Invest, Diversify และ Holding ด้วยสัดส่วนปรกติให้ได้ เพื่อให้เราไม่หลุดจนเสียวินัย หลังจากนั้นจึงค่อยหาจังหวะเอาชนะในเวลาที่เหมาะสม

กลยุทธ์ไหนควรใช้เมื่อไร

คำตอบสำหรับผม แต่ละกลยุทธ์มีเวลาในการตัดสินใจ และจุดเปลี่ยนที่ต่างกัน

Asset Allocation เป็นมุมมองระยะยาว จะเปลี่ยนเมื่อผลตอบแทนคาดหวังหรือ Expected Returns ของสินทรัพย์เปลี่ยนไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ โครงสร้างตลาดการเงิน หรือนโยบายเศรษฐกิจ

Thematic Investing สะท้อนมุมมองระยะกลาง การเปลี่ยนธีมจะเกิดจากการเปรียบเทียบ ว่ามีธีมลงทุนอื่นที่น่าสนใจกว่าหรือไม่ในแต่ละช่วงเวลาลงทุน

ขณะที่ Optimization คือการรับมือกับความเสี่ยงระยะสั้นที่มักมี Noise มากกว่า Signal ใช้ควบคู่ไปกับ Scenario Analysis

แต่ละกลยุทธ์ในปัจจุบันมีจุดอ่อนอย่างไร และตอนนี้ควรปรับกลยุทธ์แบบไหน

สำหรับ Asset Allocator สิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือ Regime Shift หรือการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและมุมมองของตลาด 

ปัจจุบันการที่ตลาดมองว่าเงินเฟ้อจะอยู่สูงไปนาน อาจทำให้ Expected Returns ของทั้งหุ้นและบอนด์ไม่นิ่ง คาดการณ์ได้ยาก ถ้าไม่แน่ใจ อาจคงสัดส่วนการส่งทุนเท่าตลาดไว้ก่อน

ส่วน Thematic Investing สำหรับผม จุดอ่อนหลักคือ Over-Diversify เนื่องจากทุกธีมมักมีจุดเด่นแตกต่าง เปรียบเทียบลำบาก แต่ยิ่งกระจายมาก ค่าใช้จ่ายและค่าเสียโอกาสจะยิ่งสูง จุดอ่อนนี้แก้ไขด้วยการเปรียบเทียบ Probability of Positive Returns แทนที่ Expected Returns

ในกรณี Optimization ความยากในปัจจุบันคือมักมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงคราม หรือความขัดแย้งทางการเมือง ผลกระทบกับตลาดการเงินยิ่งคาดเดายาก 

จุดอ่อนนี้ควรเน้นไปที่การเตรียมพร้อม ด้วยการมองหาการลงทุนที่เคลื่อนไหวสวนทางพอร์ตหลักของเราไว้เสมอ เมื่อภัยมาอย่างน้อยจะรู้ทันทีว่าควรหลบไปลงทุนที่ไหน  

สุดท้ายนักลงทุนมักถามว่า กลยุทธ์ไหนดีที่สุด และอะไรจะทำให้เราชนะตลาดได้สม่ำเสมอ

สำหรับผมจะใช้ Multi-Strategy หรือใช้ทั้งหมดไปพร้อมกัน เพราะแต่ละกลยุทธ์สร้างมาด้วยเหตุผลและเป้าหมายที่แตกต่าง ทุกกลยุทธ์จึงใช้ได้หรือไม่ได้ในจังหวะของตลาดที่แตกต่างกันไป ไม่มีกลยุทธ์ลงทุนแบบไหนจะทำกำไรเหนือตลาดได้ตลอดเวลา 

และท้ายที่สุด การจะชนะตลาดได้สม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่ “มีกลยุทธ์ที่ดี” แต่เราต้อง “เป็นนักลงทุนที่ดี” ด้วย เมื่อกำหนดกลยุทธ์ลงทุนของเราเองแล้ว ต้องลงมือทำอย่างมีวินัย และไม่หยุดที่จะเรียนรู้ครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์