แก้เกมการลงทุน ครึ่งหลังของปี 2021
ถ้าปลายปี 2020 มีคนบอกเราว่า “ไวรัสจะกลายพันธุ์” จนวัคซีนเอาไม่อยู่
“เงินเฟ้อจะปรับตัวสูง” จนธนาคารกลางสหรัฐต้องเตรียมลดการผ่อนคลายทางการเงินลง
ส่วนนโยบายการคลังของไบเดนก็จะถูก “ต่อรอง” จนเหลือขนาดเพียงไม่ถึงครึ่ง
คงไม่มีใครกล้าเดาว่าดัชนี S&P 500 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จะทำจุดสูงสุดใหม่ เหนือปิดสิ้นปีที่แล้วถึง 15% ได้ในปัจจุบัน
เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่าเหตุการณ์เหนือความคาดหมายเกิดขึ้นในตลาดอยู่เสมอ
ย้อนกลับไปเทียบสิ่งที่ผมคาดการณ์ไว้ปลายปี 2020 กับปัจจุบัน
ทิศทางของดอลลาร์กลายเป็นเรื่องที่ผมผิดทางที่สุด ส่วนหุ้น แม้จะถูกทิศ แต่เหตุผลกลับเป็นคนละเรื่อง มีเพียงบอนด์ยีลด์ที่พยากรณ์ได้ใกล้เคียงกว่าตลาด
โดยช่วงปลายปีที่แล้ว สิ่งที่ตลาดเชื่อคือ “เศรษฐกิจฟื้นตัว เงินเฟ้อไม่สูง ดอลลาร์จะอ่อน และหุ้น Emerging Market (EM) นำโดยจีนจะได้ไปต่อ”
ส่วนผมแม้จะมองต่างในประเด็นเงินเฟ้อคาดว่าจะหนุนให้ยีลด์ปรับสูงขึ้น แต่ก็เผลอเชื่อเหมือนกันว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าหนุนตลาด EM ให้ฟื้นมากกว่า Developed Market (DM)
สิ่งที่ทำให้ปากกาเซียนทั่วโลกหักมีสาม Peaks
หนึ่ง คือ Peak Emotion ในเดือนกุมภาพันธ์ ความผันผวนไปรวมตัวกันอยู่แต่ในจุดที่พื้นฐานไม่แข็งแกร่งอย่างกลุ่ม hyper growth, bitcoin, และ meme stocks จนในที่สุดก็ปรับฐาน
สอง คือการกลายพันธ์ของไวรัสระหว่างทาง แม้ตลาดจะเดาถูกว่าการเรียนรู้เพื่ออยู่กับไวรัสเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น แต่ความเสี่ยงกลับกลายเป็น Peak Expectation หรือความล่าช้าของวัคซีนใน EM ที่ไม่ทันตามความคาดหวัง ดอลลาร์จึงแข็งค่าจากการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยขึ้นมาทันที
สาม คือ Peak Inflation จากฐานที่ต่ำและการเปิดเมือง แม้การที่ตลาดเปลี่ยนกลุ่มจากGrowth ไป Value พร้อมกับเฟดที่ยืนยันว่าจะไม่ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดควรเป็นบวกกับEM แต่นักลงทุนก็ยังเลือกที่จะลุ้นกับตลาดสหรัฐและยุโรปที่ฉีดวัคซีนแล้ว มากกว่าฝั่งเอเชีย
รู้แบบนี้ เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีนักลงทุนจึงยิ่งต้องไม่ประมาท และไม่มองว่าตลาดจะเดาง่ายอย่างที่คิดไปทั้งหมด ผมจึงใช้จังหวะนี้คิดกลยุทธ์การลงทุนใหม่ เพื่อไม่ให้ผิดซ้ำซ้อน และนำมาแชร์เพื่อเป็นอีกหนึ่งมุมมองให้นักลงทุนนำไปประยุกต์ปรับพอร์ตรับความผันผวนที่กำลังมาถึง
เริ่มต้นด้วยการประเมินมุมมองของตลาด (ที่ครึ่งแรกผิดทั้งหมด) ก่อน
ตอนนี้นักลงทุนกำลังเชื่อว่า “เศรษฐกิจจะฟื้นตัวถาวร เงินเฟ้อเกิดขึ้นชั่วคราว เฟดเข้มงวดปีหน้าทำให้การลงทุนรวมอยู่ที่สินค้าโภคภัณฑ์และหุ้นในกลุ่มวัฏจักร”
มองผ่าน “Triple B” ที่ขับเคลื่อนอารมณ์ตลาดอยู่ขณะนี้ ที่ต้องระวังมากที่สุดคือนโยบายเศรษฐกิจของทั่วโลก เห็นได้ชัดว่าปีนี้ไม่ง่ายเหมือนปี 2020
ถ้าวัคซีนไม่สามารถควบคุมอาการป่วย หรือการแพร่ระบาดได้ แต่ภาครัฐกลับพอปัญหาการเมืองจนต้องหยุดสนับสนุน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างประเทศก็จะฟื้นตัวช้าจนอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ดีอย่างที่คาด
ต่อมาคือเรื่องนโยบายการเงินและเงินเฟ้อ
แม้ผมจะเชื่อเหมือนตลาดว่า มีโอกาสน้อยที่จะได้เห็นนโยบายที่เข้มงวด แต่ในทางกลับกัน ก็หมายความว่าห้ามมองข้ามโอกาสที่เงินเฟ้อระดับสูงจะอยู่กับตลาดนานกว่าที่คิดด้วย
ยิ่งในจังหวะที่แรงงานยังไม่กลับมาในระบบ การปรับเพิ่มค่าจ้างอาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเปิดเมือง
ส่วนนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ต้องการแก้ปัญหา Climate Change หรือนโยบายการต่างประเทศที่เอียงไปทาง De-globalization ก็อาจตามมาด้วยต้นทุนการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้น
สำหรับตลาดการเงิน ภาวะเงินเฟ้อสูงกดดันความสามารถในการทำกำไรในอนาคตได้ไม่ต่างกับดอกเบี้ย นอกจากนี้ก็มักสร้างความกังวล ทำให้ตลาดไม่สามารถซื้อขายในระดับ Multiple ที่สูงเหมือนช่วง Deflation ได้
ประเด็นสุดท้ายคือมุมมองต่อความเสี่ยงของสินทรัพย์ต่าง ๆ
ถ้าเศรษฐกิจโลกกลายเป็น Stagflation หรือไม่โตแต่เงินเฟ้อสูง หุ้นกลุ่มวัฏจักรก็อาจไม่ใช่คำตอบของการลงทุนในครึ่งหลัง
แม้จะไม่มีใครสามารถประเมินได้ว่าตลาดจะปรับฐานหรือไม่ เพราะอะไร แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันส่วนใหญ่ว่าหุ้นในปัจจุบัน “ไม่ถูก” ดังนั้น ถ้าการขยายตัวของกำไรไม่มาตามนัด ตลาดก็จะทยอยเข้าสู่โหมดระมัดระวังตัว เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคายังไม่ได้ปรับตัวขึ้นมาก(Laggard) และกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ทางเลือกที่มีความผันผวนต่ำเช่นทองคำมากกว่าคริปโต
โดยสรุป สิ่งที่ผมจะทำคือเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนช่วงครึ่งปีหลังตั้งแต่ต้น เพราะมองว่า
“เศรษฐกิจจะฟื้นชั่วคราว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะลดลง เงินเฟ้อจะอยู่กับเรานานกว่าที่คิดแต่ควรได้เวลาที่หุ้น Laggard ในเอเชียและ EM จะกลับตัวขึ้นมาบ้าง”
ทั้งหมด แม้จะเป็นการปรับกลยุทธ์ที่ต่างกับนักลงทุนส่วนใหญ่ แต่สำหรับผม การที่เราตามตลาดไปเรื่อย ๆ ในปีนี้ ไม่ต่างกับทีมตามหลัง 3:0 แต่กลับมองโลกในแง่ดีว่าครึ่งหลังจะพลิกกลับมาชนะได้เพราะตัวผู้เล่นเหนือกว่า
ตลาดเดาทางยากแบบนี้ ยิ่งคิดกลยุทธ์ไว้รับหลายสถานการณ์ยิ่งได้เปรียบ แก้เกมให้ดี จะได้ไม่ต้องเซอร์ไพรส์มากในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 นี้ครับ
ดร. จิติพล พฤกษาเมธานันท์