เล็กๆไม่ ใหญ่ๆโดน! เมื่อ FAANG โดนกฎหมาย Antitrust เล่นงาน

“ยิ่งใหญ่ ยิ่งได้เปรียบ”

อาจเป็นความจริงในหลายธุรกิจ แต่ไม่ใช่สำหรับกลุ่มเทคโนโลยีตัวท็อปของสหรัฐฯ

เพราะต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตลาดถูกบังคับให้สนใจกับ “กฏหมายป้องกันการผูกขาด” หรือ Antitrust หลังกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DoJ) และคณะกรรมาธิการการค้า (FCT) พุ่งเป้าการตรวจสอบไปที่ดาวเด่นกลุ่มเทคโนโลยีทั้ง Google Facebook Apple และ Amazon ส่งผลให้หุ้นทุกตัวในกลุ่มนี้ ร่วงลงเฉลี่ย 5% ภายในวันที่มีข่าว กดดันให้ NSADAQ ปรับตัวลง 3% ไปด้วย

สำหรับนักลงทุนที่ไม่คุ้นชินกับ Antitrust ผมสรุปให้ว่าเป็นกฏหมายป้องกันไม่ให้บริษัทใหญ่ แสวงหากำไรด้วยการกีดกันคู่แข่งหรือผูกขาดตลาด โดยผู้ที่ถูกตัดสินว่าผูกขาด จะต้องจ่ายค่าปรับและแก้ไขปัญหา

ครั้งนี้เมื่อเป้าหมายของ DoJ และ FCT คือพระเอกของตลาดการเงินโลก ผมเชื่อว่านักลงทุนทุกคน คงอยากรู้ว่าจะมองประเด็น Antitrust ครั้งนี้เป็นความเสี่ยงที่ต้องหลีก หรือโอกาสที่ต้องซื้อ

การจะตอบคำถามนี้ได้เราต้องเข้าใจทั้งอดีตปัจจุบัน และเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียเทียบกับสินทรัพย์อื่นให้ได้

เริ่มแรก เมื่อเราย้อนไปศึกษากรณี Antitrust ในอดีตจะพบว่าความเสี่ยงไม่ได้อยู่ที่ค่าปรับ หรือความผันผวนระยะสั้น แต่เป็นทิศทางธุรกิจที่จะชะลอตัวลงจากการต่อสู้ที่ยาวนาน

IBM เคยเจอกับข้อกล่าวหานี้ในช่วงปี 1969 เพราะมีสัดส่วนการตลาด Mainframe 70% บริษัทต้องต่อสู้ในประเด็นกฏหมายถึง 13 ปี แม้สุดท้ายจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่การเติบโตของยอดขาย Hardware ก็ลดลงจาก 20% เหลือไม่ถึง 10% ในช่วง 10 ปีหลังจากนั้น

AT&T คืออีกหนึ่งบริษัทที่โดนกฏหมาย Antitrust เล่นงานในปี 1974 เนื่องจากส่วนแบ่งการตลาด 70% ในธุรกิจสื่อสาร ศาลตัดสินให้แตกบริษัทออกในปี 1984 สุดท้ายการเติบโตของยอดก็ขายลดลงจาก 10% ในช่วงก่อนหน้าเหลือเพียง 4% ในอีกสิบปีถัดมา

ใกล้เคียงที่สุดคือ Microsoft คุมตลาด OS 97% ในช่วงปี 2000 พบกับคำสั่งให้แยกบริษัทและห้ามขาย Software การต่อสู้ในเชิงกฏหมายเกิดขึ้นยาวนานถึงปี 2012 ท้ายที่สุดบริษัทก็ล้มลุกคลุกคลานหลังช่วงวิกฤติดอทคอม และถูกซื้อขายที่ P/E เพียง 0.6 เท่าของช่วงก่อนที่จะเจอปัญหา

สรุปได้ว่า สิ่งที่นักลงทุนกำลังจะต้องระวัง คือการขยายตัวของธุรกิจที่เสียศูนย์

เปรียบเทียบรอบนี้ Facebook และ Google คือสองบริษัทที่จะถูกกดดันมากที่สุด

แม้ทุกบริษัทใน FAANG จะมีความเหมือนกันที่ส่วนแบ่งการตลาดสูง แต่ธุรกิจของ Amazon ก็กระจัดกระจายและไม่ได้มีกำไรมาก ขณะที่ Apple ปัจจุบันก็มีคู่แข่งด้าน Hardware เพิ่มขึ้นมากจากหลายประเทศ

ที่เข้าข่าย Antitrust ชัดเจนคือ Google ซึ่งล่าสุดจ่ายค่าปรับลักษณะนี้ในยุโรปไปแล้วกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ Facebook ถูกมองว่าเป็นธุรกิจ Social Network ที่ผูกขาดแถมยังเคยปล่อยข้อมูลลูกค้าให้รั่วไหล อย่างไรก็ดี บริษัทดูจะรู้ตัว และนับตั้งแต่ต้นปี ก็ตั้งสำรองค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบของ FCT ไว้แล้วถึง 3 พันล้านดอลลาร์เช่นกัน

แต่ท้ายที่สุด ผมยังมองว่าการลงทุนในสหรัฐฯ หาอะไรมาแทนที่ได้ยาก แม้จะนับรวมความเสี่ยงนี้เข้าไปแล้ว ก็ยังเป็นการลงทุนที่ดีกว่าที่อื่นในโลก เช่นถ้าเราทำการปรับเอาหุ้นในกลุ่ม FAANG ออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ สิ่งที่ได้คืออัตราส่วนการทำกำไรที่ลดลงราว 1% ยอดขายก็จะเติบโตน้อยลงราว 2%

เมื่อนำค่านี้ไปปรับเข้ากับค่าเฉลี่ยคาดการณ์ธุรกิจในอนาคต ของนักวิเคราะห์ใน Bloomberg หุ้นสหรัฐฯ ที่มีปัญหา Antitrust รุมเร้าจะเหลือรายได้ที่เติบโตเฉลี่ย 9% และยอดขายโตเฉลี่ยเพียง 3% โดยเฉลี่ยในอนาคต

แม้จากมุมมองนักลงทุนเอเชียอย่างเรา อาจเห็นว่าการเติบโตระดับนี้ สู้ตลาดเกิดใหม่ไม่ได้ แต่มองในมุมตลาดพัฒนาแล้ว ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตดังกล่าว ก็ยังถือว่าสูงกว่าทั้งยุโรปหรือญี่ปุ่นอยู่ดี

สรุปได้ว่า บริษัทในฝั่งสหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจกว่าหลายที่ของโลก และคงจะไม่ผิดที่จะมองความเสี่ยงเชิงกฏหมายครั้งนี้เป็นโอกาส ที่แลกมาด้วยความผันผวนในระยะสั้น

ท้ายที่สุด แม้อนาคตข้างหน้าของกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯ จะไม่ได้สดใส และการเปลี่ยนแปลงทางกฏหมายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุกาณ์ที่จะผ่านมาวุ่นวายแล้วก็ผ่านไป

หุ้น Microsoft เป็นตัวอย่างในอดีตที่เห็นได้ชัดที่สุด หลังจากปัญหาจบในปี 2012 หุ้นก็สามารถปรับตัวขึ้นจาก 25 เหรียญ มาเป็น 130 เหรียญในปัจจุบันได้ คิดเป็นผลตอบแทน 26% ต่อปีต่อเนื่องถึงเกือบสิบปี ย้ำกับเราอีกครั้งว่า ความสามารถของบริษัท และพฤติกรรมของผู้บริโภค คือตัวกำหนดอนาคตของสินทรัพย์ในตลาดการเงินที่แท้จริง

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

TSF2024