หลายท่านคงติดตามเรื่องการแข่งขันระหว่างสหรัฐและจีนใน CHIP WAR หรือสงครามการแย่งชิงเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรม Semiconductor กันมาบ้าง
สำหรับนักลงทุนอย่างเราคำถามสำคัญอาจไม่ใช่แค่เทคโนโลยีไหนหรือประเทศใดจะชนะ แต่เราควรลงทุนหรือไม่อย่างไรเป็นสิ่งที่น่าคิด และหาคำตอบไปพร้อมกัน
สำหรับผม ประเด็นที่ทำให้ Chip War มีความสำคัญกับการลงทุนช่วงนี้มากอยู่ที่
ขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี ต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐ และเป็นช่วงนี้เองที่ภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญมากที่สุด
อุตสาหกรรมชิปไม่ใช่อุตสาหกรรมใหม่ การผลิตชิปเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1958 ขณะที่ขีดความสามารถด้านการพัฒนา อย่าง Moore’s Law ที่คาดการณ์ว่า “ปริมาณของชิปบนแผงวงจรจะเพิ่มเป็นเท่าตัวทุกสองปี” ก็ถูกค้นพบตั้งแต่ปี 1965
แต่ปัญหาที่ทำให้ธุรกิจนี้ไม่โดดเด่น เป็นเพราะธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนตั้งต้นสูงมาก แต่ผลผลิตไม่แน่นอน และเป้าหมายทางธุรกิจก็ไม่ชัดเจน
ในอดีตมักเริ่มการพัฒนาโดยภาครัฐ บนเทคโนโลยีอวกาศหรือทางการทหาร
จนมาถึงในช่วงต้นของทศวรรษ 2000s ที่รัฐฝั่งเอเชียอยากมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองบ้าง จึงมีการสนับสนุนจนเกิดเป็นบริษัทผลิตชิปใหญ่อย่าง Samsung TSMC และ SMIC
การแข่งขันร้อนแรงอีกครั้งในปัจจุบัน เมื่อสหรัฐมองว่าอุตสาหกรรมชิปเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวกับความมั่นคง จึงต้องมีการสนับสนุนแข่งกันผ่าน CHIPS and Science Act ในปี 2022
เมื่อทั้งสองประเทศมหาอำนาจให้ความสำคัญและทุ่มไม่อั้น ก็มีโอกาสสูงที่ CHIP WAR จะเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่กระทบกับการลงทุนในอนาคต
เรื่องต่อมาที่เราต้องรู้คือ กิจกรรมทางธุรกิจที่สำคัญ ของอุตสาหกรรมนี้จะแบ่งเป็นสามประเภท คือการออกแบบ ประดิษฐ์ และการประกอบ
ทั้งสามอย่างนี้มีความสำคัญที่แตกต่างกันแต่จะขาดกันไม่ได้
บริษัทในฝั่งสหรัฐและยุโรปเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการออกแบบ (Design) ชิปได้ดีที่สุดในปัจจุบัน งานวิจัยของ Semiconductor Industry Association ชี้ว่าการออกแบบมีส่วนราว 1/3 ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม
หลังจากออกแบบแล้วก็ถึงขั้นตอนการประดิษฐ์ (Manufacturing) ประเทศที่ทำได้ดีที่สุดตอนนี้คือไต้หวัน การประดิษฐ์เป็นกิจกรรมที่มีมูลค่ากว่าครึ่งของมูลค่ารวมธุรกิจชิปทั้งโลก
แต่แม้จะออกแบบและประดิษฐ์แล้ว ก็ต้องประกอบและทดสอบ (Assembly and Testing) ปัจจุบันผู้นำในกิจกรรมนี้คือจีน
จะเห็นว่าทุกประเทศจะมีจุดแข็งจุดอ่อน ที่มีมูลค่าแตกต่างกัน การประดิษฐ์และประกอบชิปทั้งหมดในสหรัฐจะทำให้ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ถ้าไม่มีการออกแบบที่เหมาะสม อุตสาหกรรมชิปในฝั่งของเอเชียก็จะพัฒนาช้าหรือไม่พัฒนาเช่นกัน
เมื่อเข้าใจความสำคัญและโครงสร้างแล้ว ก็มาคิดกันต่อว่า CHIP WAR จะดำเนินไปทางไหน
ในระยะสั้น ประเด็นที่ต้องระวังคือการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด สหรัฐเสียเปรียบ
เหตุผลไม่ใช่แค่เพราะต้นทุนการผลิตในฝั่งสหรัฐมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นมากใน กรณีที่ CHIP WAR ทวีความรุนแรง แต่ในปัจจุบันข้อมูลของ Techinsights ระบุว่าส่วนแบ่งการตลาดชิปของสหรัฐสูงถึงกว่า 50% จึงเป็นไปได้มากว่าประเทศคู่แข่งจะฉวยโอกาสนี้แย่งส่วนแบ่งการตลาดได้
ในระยะกลาง สหรัฐยังได้เปรียบเนื่องจากคุมทั้งการออกแบบและซอฟต์แวร์
เพราะการพัฒนาในอุตสาหกรรมนี้ ไม่ได้อยู่แค่ว่าใครผลิตได้มากกว่า แต่อยู่ที่ใครสามารถนำเอาศักยภาพของชิปออกมาได้มากที่สุด ในปัจจุบันฝั่งเอเชียยังต้องใช้เวลาพัฒนาจุดนี้อยู่ และถ้าสหรัฐไม่แชร์ทรัพยากรหรือความรู้ ก็ไม่ง่ายที่ฝั่งเอเชียจะพัฒนาตามทัน
แต่สุดท้ายบทสรุปของ CHIP WAR อยู่ที่ว่าอุตสาหกรรมนี้ จะพัฒนาไปได้ไกลเกินจินตนาการอีกนานแค่ไหน
แม้เราจะเห็นอุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อเนื่องมากว่าหกทศวรรษ แต่ Moore’s Law ก็เป็นแค่เพียงการคาดการณ์ไม่ได้เป็นกฎที่ตายตัว ขณะที่ใน ปัจจุบันการพัฒนาก็มาถึงจุดที่ เทคโนโลยีมีขีดจำกัด เช่นขนาดชิปที่อาจไม่สามารถเล็กไปกว่านี้ได้มาก หรือการสนับสนุนของภาครัฐที่อาจหยุดลงด้วยเหตุผลอื่น เช่นในอดีต สหภาพโซเวียตก็เคยพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมนี้แข่งกับสหรัฐ แต่ก็ต้องล้มเลิกไปเนื่องจากมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ CHIP WAR จึงถือว่าเป็นหนึ่งในสมรภูมิที่ต้องติดตามต่ออย่างใกล้ชิด
สำหรับนักลงทุนผมมองว่ามี 3 ETF ที่มีความโดดเด่นในมุมที่ต่างกัน
SMH US หรือ VanEck Semiconductor ETF เป็นการลงทุนที่เราจะได้บริษัทชิปทั่วโลกนำโดยอเมริกาและไต้หวัน อาจมีราคาสูงไปบ้าง แต่ก็จะได้บริษัทที่คุณภาพดีที่สุด
3191 HK หรือ Global X China Semiconductor เป็น ETF ที่มีเฉพาะกลุ่มชิปจีน สำหรับนักลงทุนที่อยากลุ้นกับการพัฒนาคุณภาพของบริษัทจีนเพื่อให้ทัดเทียบกับบริษัทระดับโลก
และสุดท้ายคือ 3119 HK หรือ Global X Asia Semiconductor ETF ที่จะประกอบไปด้วยบริษัทชิปในเกาหลี ญี่ปุ่น ไปจนถึงไต้หวัน แม้จะไม่ได้อยู่ในสมรภูมิโดยตรง แต่ทั้งหมดนี้คือผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมที่ธุรกิจแข็งแกร่ง และมูลค่าเหมาะสม
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์