การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 (Communist Party Congress หรือ CPC) ในวันที่ 16 ต.ค. เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทั่วทั้งตลาดการเงินกำลังให้ความสนใจ
ส่วนใหญ่คิดจะใช้การประชุมครั้งนี้เป็นจังหวะ “กลับเข้าลงทุนในหุ้นจีน” เพราะคาดว่าประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะได้อยู่ในอำนาจต่อไปอย่างน้อยถึงปี 2027 สร้างความต่อเนื่องเชิงนโยบาย
แต่นักลงทุนบางกลุ่มตั้งคำถามว่าการประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่ทางออกของวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ การเมืองระหว่างประเทศ หรือนโยบายคุมเศรษฐกิจ ได้หรือไม่ เพราะถ้าไม่มีจุดเปลี่ยน ก็ยากที่ตลาดจะกลับเป็นขาขึ้นได้อย่างแท้จริง
ผมจึงรวบรวมข้อมูลและแชร์มุมมอง ว่าเราควรคาดหวังอะไร และวางกลยุทธ์การลงทุนแบบไหน สำหรับการประชุม CPC ครั้งที่ 20 ที่กำลังมาถึง
ประเด็นแรกคือการประชุม CPC ในอดีต มักเป็นบวกก่อนการประชุม แต่การ “เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน” ผู้นำ อาจไม่มีผลต่อตลาดมากนัก
ถ้าเรามอง MSCI China ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1997 โดยเฉลี่ยหุ้นจีนจะปรับตัวขึ้นราว 12% ในช่วง 3 เดือนก่อนการประชุม หลังจากนั้น 3-6 เดือนมักทรงตัวบวกลบไม่เกิน 3%
ส่วนปธน.จะอยู่ต่อหรือหรือไม่ แท้จริงแล้วในอดีตสองปีที่เปลี่ยนผู้นำคือ 2002 และ 2012 ให้ผลตอบแทนหลังการประชุม “ดีกว่า” ปีที่ไม่มีการเปลี่ยนผู้นำ (1997, 2007 และ 2017) อย่างไรก็ดี เหตุผลหลักดูจะมาจากประเด็นแวดล้อม เช่นวิกฤติการเงิน หรือวัฏจักรเศรษฐกิจโลก มากกว่าที่จะมาจากการเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนผู้นำของประเทศจีน
เรื่องที่สองคือมุมมองด้านนโยบาย สิ่งที่ตลาดควรคาดหวังคือการผสมผสานระหว่าง “ความต่อเนื่อง” กับ “ความเปลี่ยนแปลง”
แม้ว่านักลงทุนอยากเห็นจุดกลับตัวของหุ้นจีนอย่างมาก แต่ต้องยอมรับว่าการที่ผู้นำเลือก “อยู่ต่อ” เป็นสัญญาณของความต่อเนื่องมากกว่าการเปลี่ยนแปลง
นโยบายหลักอย่าง Dynamic Zero-Covid ยังคงติดที่การฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและการให้ใบอนุญาติกับวัคซีน mRNA
แม้นโยบายนี้อาจไม่ดีกับตลาด แต่เมื่อปธน.สีอยู่ต่อ และยังไม่สามารถหาจุดเปลี่ยนให้โควิดได้ การประคองเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินและนโยบายการคลังไปพร้อมกับ Lockdown จะเป็นสิ่งที่ไม่เหนือความคาดหมายไปอย่างน้อยถึงไตรมาสที่สองปี 2023
ถ้าจะมีจุดเปลี่ยนจากการประชุม CPC อาจเป็นปัญหาระยะสั้นเฉพาะด้าน เช่นมีการเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีหรือผู้นำองค์กรระดับกลางหรือไม่ เพราะอาจนำไปสู่จุดกลับตัวบางอย่างได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์อาจมีการส่งสัญญาณช่วยเหลือหรือลดการควบคุมเฉพาะจุด
ด้านกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจเทคโนโลยีก็คาดว่าจะทยอยมีความชัดเจนหรือเปลี่ยนลำดับการควบคุมถ้ามีการเปลี่ยนตัวกำหนดนโยบาย
อย่างไรก็ดี ด้วยความผสมผสานระหว่างนโยบายกับผู้นำสูงสุด แนวคิดด้านการลงทุนในหุ้นจีนหลัง CPC จึงควรเป็นการหาโอกาสจากความต่อเนื่อง
ถ้าไม่มีการเปลี่ยนเทรนด์ใหญ่ กลยุทธ์การลงทุนก็ควร “มองแยกไม่มองรวม”
แม้ปัจจุบันตลาด CSI 300 มี Long-term P/E เพียง 19เท่า ต่ำกว่า MSCI All World Index ที่ 23เท่า และต่ำกว่าจุดสูงสุดเดิมที่ 26 เท่าถึงราว 17-26%
แต่ที่ตลาดถูกระดับนี้ สาเหตุหลักมาจากภาคการเงิน วัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมที่ P/E ต่ำเพียง 5-10เท่า ขณะที่กลุ่มเติบโตสูงยังมี LT P/E 30-50เท่า
ดังนั้น ถ้านโยบาย Lockdown ยังคงอยู่ นักลงทุนก็ยังควรเลือกลงทุนอย่างระมัดระวัง ไม่มองระดับราคาของตลาดเป็นโอกาสจนเกินไป และเลือกลงทุนเฉพาะกลุ่มหรือธีมที่สนใจ
กลยุทธ์ถัดมาคือ “ใช้ความต่อเนื่องให้เป็น”
หมายคือการเลือกลงทุนในกิจกรรมที่ภาครัฐกำลังสนับสนุนและคาดว่าจะสนับสนุนต่อไป
(1) กลุ่มการบริโภค – เน้นไปที่การลงทุนธีมกั๋วฉาว หรือ “China Chic” สินค้าฟุ่มเฟือยที่สะท้อนความภูมิใจในวัฒนธรรมประเพณีจีน ตัวอย่าง ETF ที่น่าสนใจเช่น KBUY หรือ KraneShares CICC China Consumer Leaders Index
(2) ด้านอุตสาหกรรม – ใช้ความต่อเนื่องจะสร้างโอกาสให้การลงทุนธีม “Little Giant” ประกอบด้วยบริษัทอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็กในจีนแผ่นดินใหญ่ หาได้ใน ETF อย่าง KraneShares CICC China 5G & Semiconductor ETF ตัวย่อ KFVG
(3) พลังงานสะอาด – เป็นอีกหนึ่งธีมที่ภาครัฐให้การสนับสนุนและมี Valuation ยังไม่แพงมากเช่น KGRN หรือ KraneShares MSCI China Clean Technology Index คือ ETF ที่คัดเลือกธุรกิจจีนด้านพลังงานทางเลือกและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมารวมกัน
และ (4) ธีมปฏิรูปภาครัฐ – เพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรให้ทัดเทียมเอกชน นักลงทุนอาจมองไปที่ธุรกิจขนส่งหรือพลังงาน ที่มีบทบาทกับสังคมด้านการเดินทางและสาธารณูปโภค คาดว่าจะได้เห็นความร่วมมือระหว่าง SOE กับเอกชนมากขึ้น โดยมี ETF ที่น่าสนใจอย่าง CHIE หรือ MSCI China Energy ETF ที่มีองค์ประกอบในพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับผม แม้การประชุม CPC อาจไม่สามารถเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ที่ทำให้หุ้นจีนพลิกตัวกลับเป็นขาขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ความต่อเนื่องในแบบจีนจากการประชุมครั้งนี้ ก็คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่เข้าใจและกล้าปรับกลยุทธ์การลงทุนได้ไม่น้อยครับ
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์