นอกจากการเมืองสหรัฐที่กำลังเผ็ดร้อนจากประธานาธิบดีคนใหม่ การเมืองฝั่งยุโรปก็ถือว่าเดือดไม่แพ้กัน และในปีนี้มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่ควรจับตาเยอะทีเดียวครับ
ปีก่อนเราเจอ Brexit สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินทั่วโลก ปีนี้จะมีทั้งการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาลี ที่ทุกประเทศมีนักการเมืองที่ชูนโยบายต่อต้านยุโรปและมีโอกาสที่จะนำไปสู่การ “Exit” หรือออกจากยุโรปได้ทั้งนั้น
ที่น่าสนใจคือประเทศไหนมีความเสี่ยงอย่างไรและจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งถ้าเราจับจังหวะได้น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อยสำหรับการวางแผนจะลงทุนหรือซื้อเงินยูโรในปีนี้
ในฝั่งตลาดการเงิน ถ้าอยากรู้ว่าความเสี่ยงที่ไหนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ให้ลองจับตาการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ครับ โดยยีลด์ที่สูงขึ้นมักเกิดพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น มองย้อนกลับไปดูตั้งแต่ต้นปีจะพบว่าความเสี่ยงในแต่ละประเทศแทบจะเพิ่มลดตามความกังวลกับปัญหาการเมืองทีเดียว ไล่เรียงจากประเทศที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นน้อยไปมากดังนี้ครับ
“แกร่งที่สุดยกให้เยอรมัน”
ที่ตั้งแต่ต้นปีบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นเพียง 0.12% มาอยู่ที่ 0.32% ถือว่าเป็นหลุมหลบภัยให้กับนักลงทุนยุโรป แม้ว่าความนิยมของอังเกลา แมร์เคิล และพรรค CDU จะลดลงมากจนอาจไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่โชคยังเข้าข้างที่พรรค AfD ที่ชูนโยบายต่อต้านผู้อพยพก็ไม่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น กลับเป็นพรรคอันดับ 2 อย่าง SPD นำโดยมาร์ติน ชูลซ์ประธานรัฐสภายุโรปคนปัจจุบันที่มีคะแนนดีขึ้นมา ซึ่งถ้า SPD และ CDU จับมือกันได้คาดว่ามีคะแนนเสียงรวมกันถึง 70% การ “เปลี่ยนมือกันเป็นผู้นำ” จะไม่สร้างความเสี่ยงให้กับสหภาพพยุโรป
ที่มา: Bloomberg
อย่างไรก็ตาม “ความกังวลจะเริ่มเพิ่มมากขึ้นในการเลือกตั้งที่เนเธอร์แลนด์” สะท้อนจากบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวขึ้น 0.25% มาอยู่ที่ 0.60% ชี้ให้เห็นว่าความเสี่ยงยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับโพลล่าสุดที่ชี้ว่าพรรค PVV นำโดยกีรต์ ไวลเดอร์ส เจ้าของนโยบายต่อต้านผู้อพยพ มีโอกาสที่จะได้รับคะแนนเสียงสูงที่สุดถึง 25% แต่ด้วยการเมืองเนเธอร์แลนด์ที่ไม่มีพรรคใหญ่ ขณะทีพรรคอื่น (มากกว่า 10 พรรค) ที่คาดว่าจะมีเสียงรวมกันเกิน 60% ที่ประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลกับ PVV ส่งผลให้โอกาสที่การเมืองเนเธอร์แลนด์จะยุ่งเหยิงบานปลายไปถึงการทำประชามติออกจากยุโรปแท้จริงนั้นเกิดขึ้นได้ยาก
ที่มา: Bloomberg
“ระดับสี่กะโหลกอยู่ที่ฝรั่งเศส”
ที่ มารีน เลอ เพน (Marine Le Pen) ผู้นำพรรค FN ชูนโนบายชาตินิยมมีคะแนนนำคู่แข่งในโพลเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมีขึ้นรอบแรกในวันที่ 23 เม.ย. จึงไม่น่าแปลกใจที่บอนด์ยีลด์ฝรั่งเศษปรับตัวขึ้น 0.27% มาอยู่ที่ 0.97% กรณีฝรั่งเศสถือว่าน่ากลัว เพราะระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เอาผู้ที่มีคะแนนสูงสุดสองท่านเข้าไปชิงชัยต่อรอบสองในวันที่ 7 พ.ค. แทบจะเปิดประตูให้เลอ เพนที่ปัจจุบันมีคะแนนนิยมเกือบ 40% เข้าไปนอนรอ และถ้าเกิดชนะการเลือกตั้งขึ้นมา ปราการด่านสุดท้ายของฝรั่งเศษจะเหลือเพียงการเลือกตั้งสส.ที่จะมีต่อทันทีในเดือน มิ.ย. และการแก้รัฐธรรมนูญ หมายความว่าความเสี่ยงจะคงอยู่อย่างน้อยในช่วงครึ่งปีแรกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่มา: Bloomberg
“ระดับห้ากะโหลกยกให้กับอิตาลี”
ที่อดีตนายกมัตเตโอ เรนซี พึ่งลาออกไปและยังไม่มีการกำหนดการเลือกตั้งใหม่ที่แน่นอน แต่ความพ่ายแพ้ของฝั่งรัฐบาลในการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าสุด (41% ต่อ 59%) ชี้ชัดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การเมืองอิตาลีจะเอียงข้างไปฝั่งสนับสนุนการเลิกใช้เงินยูโรที่นำโดยพรรค Five Star Movement ไม่น่าแปลกใจที่จะบอนด์ยีลด์ของอิตาลีปรับตัวขึ้นต่อถึง 0.46% มาอยู่ที่ 2.16% สูงที่สุดในกลุ่มประเทศใหญ่ที่มีปัญหาการเมืองในยุโรป
ที่มา: Bloomberg
อย่างไรก็ตามผมยังหลับตามองอย่างเป็นกลางว่า การเมืองยุโรปปีนี้น่าจะเป็นโอกาสมากกว่าความเสี่ยง เรียงตามกำหนดการเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์จะมาก่อนในเดือน มี.ค. ซึ่งถ้าผ่านไปได้ ความกัลวลก็จะลดลงไป แม้สถานะการณ์จะกลับน่ากลัวอีกครั้งในเดือนเมษายนที่เป็นการเลือกตั้งฝรั่งเศส และจะคงความตึงเครียดไปจนถึงเดือนพฤษภาคม แต่ถ้าผ่านสองประเทศนี้ไปได้ ยุโรปก็น่าจะกลับมาสดใส เหลือเพียงแต่อิตาลีที่ต้องช่วยกันลุ้นให้การเลือกตั้งอย่าเกิดขึ้นเร็วนักนะครับ
ในทางกลับกันถ้าตั้งแต่ในเนเธอร์แลนด์เริ่มส่งสัญญาณว่าคนในยุโรปสนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรปมากขึ้นหรือบอนด์ยีลด์เยอรมันยังปรับตัวลงสวนทางกับประเทศอื่นๆในยุโรปก็ขอให้นักลงทุนเตรียมรับกับมรสุมที่อาจเกิดขึ้นในยุโรปและค่าเงินยูโรที่จะอ่อนค่าต่อในปีนี้ครับ