“ดอลลาร์อ่อน” คลื่นใต้น้ำที่ต้องระวังมากกว่าทุกครั้ง

ถ้าเปรียบตลาดการเงินเป็นทะเล ช่วงนี้จะไม่ต่างกับเวลาที่เราพึ่งผ่านพายุใหญ่มารอบหนึ่ง แต่ถึงแม้ความเสี่ยงของพายุครั้งใหม่จะมีไม่มากแล้ว ท้องทะเลกลับไม่สงบอย่างน่าประหลาด

ความแปรปรวนของสินทรัพย์ในตลาดการเงินยังขึ้นลงแรงเหมือนระลอกคลื่นทั่วทั้งโลก ขณะที่การเปลี่ยนแปลงใต้ท้องทะเลก็ดูจะกลายเป็นปัญหาที่น่ากลัวมากขึ้น เพราะคลื่นใต้น้ำขนาดใหญ่อย่าง “เงินดอลลาร์” กำลังเริ่มตั้งเค้าความเคลื่อนไหวที่ผันผวน เห็นได้จากล่าสุดที่ดัชนีดอลลาร์ปรับตัวลงมาแตะระดับ 97 จุด ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤติโควิด หนุนให้เงินยูโรแข็งค่ากว่า 5% ในเดือนเดียว ส่วนเงินเอเชียก็ฟื้นตัวขึ้นมาแทบทุกสกุล

และนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วช่วงนี้ ทิศทางการ “อ่อนค่า” ของดอลลาร์ก็ดูจะต้องระวังมากกว่าที่คิด เพราะเหตุผลที่อยู่ใต้แนวโน้มดูจะมีน้ำหนักมากกว่าทุกครั้ง

เริ่มต้นด้วยปัญหาการเมืองในสหรัฐที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติไปอย่างไม่น่าเชื่อ

โดยกระแสการเมืองรอบนี้ สร้าง “แรงกระเพื่อม” สูงขึ้นเรื่อย ๆ

จากกระแสต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ลุกลามไปเป็นการประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวทั่วทั้งสหรัฐ ขณะที่การรับมือของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็กลับทำให้คะแนนความนิยมของเขาตกต่ำลง

ถ้าเราวัดความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนความนิยม (Real Clear Politics Trump Job Poll Average) กับดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) จะเห็นว่าทั้งสองอย่างไปในทิศทางเดียวกันอย่างน่ากังวล

และสำหรับเงินดอลลาร์ ช่วงที่เลวร้ายที่สุดของทรัมป์คือปลายปี 2017 ที่คะแนนความนิยมตกต่ำลงที่สุดเหลือเพียง 37% ในตอนนั้นดัชนีดอลลาร์ก็ดำดิ่งลงไปลึกที่สุดในช่วงการบริหารประเทศของทรัมป์ที่ 88 จุด

หมายความว่าการจะเห็นดอลลาร์อ่อนค่าเป็น 10% จากการเมืองครั้งนี้ ดูจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถมองข้ามได้

ประเด็นต่อมาคือจังหวะของการใช้นโยบายทั้งการเงินและการคลังเพื่อสู้วิกฤติ ซึ่งดอลลาร์มักเสียเปรียบเพราะเป็นสกุลเงินเริ่มต้น

จุดอ่อนนี้มาจากจุดแข็งของดอลลาร์เอง ซึ่งคือการเป็น “สกุลเงินหลัก” ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา หมายความว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีวิกฤติเกิดขึ้น ทุกคนจะมีความต้องการที่จะถือดอลลาร์สูงกว่าความเป็นจริงเสมอ

แต่เมื่อวิกฤติดำเนินต่อไป หลายประเทศจะเริ่มตั้งตัวได้ และใช้นโยบายการคลังของตนเอง ส่งผลให้ปริมาณความต้องการสกุลเงินท้องถิ่นเพิ่มขึ้นแทนที่ และในที่สุดธนาคารกลางในประเทศก็จะทยอยคืนดอลลาร์ที่ไม่จำเป็นกลับให้ธนาคารกลางสหรัฐเมื่อวิกฤติคลี่คลาย เช่นเดียวกับ “น้ำมีขึ้นก็ต้องมีลง”

เปรียบเทียบกับช่วงปี 2008-2009 การปล่อยกู้ตรงผ่านธนาคารกลางจะมีปริมาณความต้องการสูงมากในช่วงสองถึงสามเดือนแรก หลังจากนั้นก็จะเริ่มลดลงส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่ากลับถึงกว่า 15% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ

นอกเหนือจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่สหรัฐเคยนำหน้าทั่วโลกด้วยเทคโนโลยี ก็กำลังจะถูกท้าทายด้วยวัฏจักรเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังวิกฤติ

แนวโน้มของการฟื้นตัวลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งในช่วงหลังวิกฤติปี 2000 และ 2008 นำไปสู่กระแสการลงทุนทั่วโลก และนักลงทุนย้ายเงินจากสหรัฐไปลงทุนตามที่ต่าง ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูง เหมือน “กระแสน้ำที่เปลี่ยนทิศทาง”

ประเด็นอยู่ที่ว่าการฟื้นตัวรอบนี้จะเกิดขึ้นนานแค่ไหน เพราะถ้าย้อนกลับไปหาความสัมพันธ์ของตลาดทุนกับเงินดอลลาร์ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยใช้การเปลี่ยนแปลงของดัชนีหุ้นโลกไม่รวมสหรัฐ (MSCI World excluded U.S.) กับดัชนี S&P 500 จะพบว่าไตรมาสที่หุ้นสหรัฐบวกน้อยกว่าทั่วโลก ดอลลาร์ก็จะอ่อนค่าลงเฉลี่ยราว 2% ไปพร้อมกันด้วย

ดังนั้นยิ่งปัญหาโควิดในสหรัฐจบช้าเท่าไหร่ หรือการเมืองในประเทศลากยาวแค่ไหน เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่องนานเท่านั้น

โดยสรุป “การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์” ที่กำลังก่อตัวขึ้นทั้งจากแรงกระเพื่อมทางการเมือง ระดับความต้องการดอลลาร์ที่ลดลง และกระแสการลงทุนที่เปลี่ยนทิศ จึงควรเป็นประเด็นที่ทั้งภาคธุรกิจและนักลงทุนต้องจับตา

ส่วนในตลาดการเงิน ก็ยิ่งต้องระวังเป็นสองเท่า เพราะแนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลเงินหลักอย่างดอลลาร์ มักเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของระเบียบใหม่ในตลาดการเงินโลก

เช่นในอดีต แนวโน้มนี้เคยทำให้สหรัฐปราบญี่ปุ่นและเยอรมัน ผงาดขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกมาในทศวรรษ 1980s

ขณะเดียวกันก็เคยปลุกราคาน้ำมันดิบให้ฟื้นตัวขึ้นจากระดับ 20 กว่าดอลลาร์ ทะลุเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กระตุ้นให้เกิดการลงทุนทั่วโลกมาแล้วเช่นกันในช่วงปี 2000-2008

แม้ตอนนี้จะเป็นคลื่นใต้น้ำอยู่ แต่ด้วยเหตุผลทั้งหมด ชาวตลาดการเงินก็ควรรู้ให้ทันและเตรียมรับมือกับทิศทางการอ่อนค่าของดอลลาร์ครั้งนี้อย่างจริงจังได้แล้ว

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

TSF2024