ปี 2024 เป็นอีกปีที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้ต่อเนื่อง จนแทบไม่มีใครพูดถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่หลายบริษัทกำลังวิ่งไปหาวัฏจักรเศรษฐกิจรอบใหม่อย่าง AI แล้ว
ฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐก็ทำผลงานเด่นไม่แพ้กัน เพียงไตรมาสแรกดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นถึง 11% เป็นไตรมาสแรกที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019 แถมครั้งนี้ เป็นการปรับตัวขึ้นพร้อมกับบอนด์ยีลด์สหรัฐทั้งระยะสั้นและยาวเสียด้วย เศรษฐกิจสหรัฐมีดีอย่างไร และตลาดหุ้นสหรัฐจะไปต่อไหม จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องรู้ให้ทัน
ในมุมมองของผม การที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วนั้นเกิดจากพื้นฐานที่มีความเป็นผู้ประกอบการสูง กล้ารื้อสร้างใหม่ และสิ่งที่สร้างใหม่ มักได้รับแรงสนับหนุน และดีกว่าสิ่งเก่า
แม้เราจะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวและเติบโตต่อเนื่อง แต่เชื่อหรือไม่ว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มากกว่า 50% ของบริษัทใน Fortune 500 ล้มละลายหรือถูกซื้อกิจการไปแล้ว นอกจากนี้บริษัทในรายชื่อตั้งต้นของ 500 บริษัทในปี 1955 ปัจจุบันเหลือแค่หนึ่งในสิบ
ถ้าเป็นเศรษฐกิจปรกติ สถิตินี้อาจทำให้นักลงทุกหลายท่านมองว่าใกล้ล่มสลาย แต่ไม่ใช่สำหรับสหรัฐ เพราะด้วยกฎหมายล้มละลาย แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ และการสนับสนุนของรัฐ ทำให้การสร้างใหม่ดีกว่าเดิม
เห็นได้ชัดจากตลาดหุ้น ย้อนกลับไปที่ปี 2000 10 บริษัทใหญ่ของสหรัฐ มีเพียง Microsoft เท่านั้นที่ยังอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แต่บริษัทใหม่ก็ดีกว่าเก่าผิดหูผิดตา ไม่ว่าจะเป็น Apple Amazon และ Alphabet หรือบริษัทเล็ก ๆ Market cap. แค่ 3 พันล้านดอลลาร์ในตอนนั้นอย่าง Nvdia ก็มีช่องว่างให้เติบโต สร้างธีมใหม่ และกลายเป็นบริษัทขนาด 2 ล้านล้านดอลลาร์ได้
ดังที่ Henry Ford เคยกล่าวว่า “Failure is the only opportunity to begin again more intelligently”
สิ่งที่สองที่ทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐทำได้ดีกว่าที่อื่น ต้องยกให้เรื่อง การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
ย้อนกลับไปช่วงหลังการทลายกำแพงเบอร์ลินปี 1989 ถึงทศวรรษ 2000 สหรัฐกล้าริเริ่มธุรกิจใหม่ กล้าให้ดอลลาร์ได้เป็นสกุลเงินสำรองของประเทศอื่น ความสำเร็จของนโนบายเศรษฐกิจทำให้ความผันผวนของตลาดลดลงอย่างมีนัย
สำหรับตลาดหุ้น American Outperform เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่หลัง Great Financial Crisis ความกล้าเปลี่ยนด้วยการใช้นโยบายการเงินนอกตำราอย่าง QE ความสำเร็จทำให้เศรษฐกิจ และตลาดหุ้นฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนด้านการคลัง วิกฤติโควิดเป็นจังหวะที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่าสหรัฐกล้าที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างมหาศาล จนบริษัทต่างๆ กล้าที่จะพัฒนาต่อไม่ต้องรอเศรษฐกิจฟื้น
การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐที่มีประชากรณ์เพียง 340 ล้านคนหรือคิดเป็นแค่ 4.2% ของโลก สามารถรักษาขนาดเศรษฐกิจระดับ 28 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 25% ของโลกและมีขนาดตลาดหุ้นคิดเป็นกว่า 64% ของมูลค่าตลาดหุ้นโลก
เทียบกับประเทศที่หันมาเน้นความมั่นคง ควบคุมได้อย่างจีน แม้จะมีประชากรณ์ถึง 1.4 พันล้านคน (17.7% ของโลก) แต่ขนาดเศรษฐกิจและตลาดทุนก็หยุดเพียงราว 17% และ 14% ของโลกตามลำดับ
แล้วอะไรจะทำให้เรื่องราวเปลี่ยนเป็น American Underperform ผมมองว่ามีด้วยกันสามสัญญาณ
การลดการใช้ดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศหรือ De-Dollarization คือสัญญาณแรก
ผมเชื่อว่าเหตุผลที่จะต้องถือเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินสำรองหลักนั้นลดลงมาก เพราะการอัดฉีดนโยบายมหาศาล เริ่มส่งผลกระทบให้กับต้นทุนทางการเงิน พร้อมกับระดับหนี้สาธารณะที่สูงเป็นประวัติกาล ถ้าประเทศไหนเริ่มการเปลี่ยนแปลงด้านทุนสำรองอย่างมีนัย (5-10%) อาจถึงเวลาต้องกลับมาวิเคราะห์ความแข็งแกร่งของพื้นฐานเศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐกันใหม่
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหรือ Rise of World Economy คือสิ่งที่ต้องจับตาอย่างที่สอง
ตลาดหุ้นเป็นเครื่องสะท้อนได้ดีที่สุด เพราะปัจจุบันไม่มีตลาดไหนจะมีหุ้นเทคโนโลยีใหญ่และเติบโตสูงได้มากเท่าสหรัฐ เป็นที่มาของผลตอบแทนที่ชนะทั้งโลก แต่ในอนาคต ผมเชื่อว่าจะเป็นเวลาของ Adaptor หรือผู้ที่นำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ถ้าเริ่มมีเศรษฐกิจนอกสหรัฐทำได้มากขึ้น American Outperform ก็จะลดลงตามลำดับ
ท้ายที่สุดคือ Policy และ Politics จับตาการเลือกตั้งช่วงปลายปีนี้
ผมเชื่อว่าที่เศรษฐกิจสหรัฐและตลาดหุ้นไม่กังวลกับการเลือกตั้งปี 2024 ส่วนหนึ่งมาจากการที่ตัวแทนผู้สมัครทั้งสองท่านเคยเป็นประธานาธิบดีมาแล้ว และความขัดแย้งก็สูงเสียจนอาจไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้
แต่จากนโยบายหาเสียงของทั้งสองท่านปัจจุบัน ถ้ามีฝั่งใดฝั่งหนึ่งที่ชนะเด็ดขาดทั้งประธานาธิบดี สภาสูง และสภาล่าง ผมเชื่อว่า American Outperform จะต้องถูกทดสอบแน่นอน
ส่วนตัวผมมองว่า เศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐ Outperform อย่างมีพื้นฐาน ลงทุนได้ แค่ต้องจับตาว่าพื้นฐานที่ดีกว่าโลกนั้น เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ครับ
รายชื่อบริษัทใหญ่ของของสหรัฐสิบอันดับแรกปี 2000 และปี 2024
ที่มา: Bloomberg
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์