โอกาสลงทุนท่ามกลางสงครามไปกับ “ธีมอากาศยานและการป้องกันประเทศ”

สงครามระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล นอกจากจะสร้างความปั่นป่วนในตลาดการเงินแล้ว ก็เปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วโลกได้เห็นถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีในการรบและธีมป้องกันประเทศ

ความเสี่ยงสงครามที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านการทหารเพิ่มเป็นโอกาสของการลงทุนขั้นต้น สำหรับ Thematic Investor Sector ลงทุนที่ตรงกับการทหารมากที่สุดคือ Aerospace and Defense หรือกลุ่มอากาศยานและการป้องกันประเทศ อย่างไรก็ดี เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ก็ต้องมีโอกาสของ Disruptor หรือ Innovator เพิ่มขึ้นอีก เราจึงควรทำความเข้าใจเหตุผลและความคาดหวังของธีมป้องกันประเทศกันอีกครั้ง

ประเด็นแรก แม้จะเป็นธีม Defense แต่ไม่ใช่การป้องกันความเสี่ยงสงครามหรือตลาดหุ้นปรับฐานโดยตรง

เหตุผลหลักมาจากความสัมพันธ์กับตลาดและแนวโน้มเศรษฐกิจ

แม้การลงทุนกลุ่ม Defense จะได้รับแรงหนุนด้านรายได้จากสงคราม แต่ทั้งหมดยังเป็นหุ้นจึงมีความสัมพันธ์ทางบวกกับตลาดแม้จะต่ำกว่า Sector อื่นๆ นอกจากนี้ธีม Defense ประกอบด้วยหุ้นกลุ่มการใช้จ่ายเป็นหลัก แม้ในช่วงสงครามสัดส่วนการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศอาจสูงขึ้น แต่ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงคราม การใช้จ่ายโดยรวมก็จะลดลงอยู่ดี

ประเด็นที่สองคือการเติบโตที่ “สูงขึ้น” แต่อาจไม่สูงถึงขั้นเรียกว่าเป็นหุ้นเติบโตสูง

Stockholm International Peace Research Institute ประเมินว่าค่าใช้จ่ายทางกรทหารทั่วโลกจะเติบโตราว 4% ต่อปีในทศวรรษนี้ หรือแค่ใกล้เคียงกับ World Nominal GDP

เหตุผลหลักเป็นเพราะประเทศที่เกี่ยวข้อง เพิ่มค่าใช้จ่ายทางการทหารไปก่อนแล้ว เช่น สหรัฐที่มีการใช้จ่ายด้านการทหารมากที่สุดในโลก ปัจจุบันมีปริมาณการใช้จ่ายสูงเกิดกว่า 3.5%/GDP ขณะเดียวกันงบประมาณก็ต้องแบ่งเป็นหลายส่วน ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีหรือ R&D ทางการป้องกันอย่างเดียว

นักลงทุนหลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้อาจมองว่าธีม Defense ไม่ตื่นเต้นอย่างที่คิด

ในมุมมองของผม สงครามไม่ใช่แรงกระตุ้นของการลงทุนโดยตรง แต่เป็นพัฒนาการของสงครามต่างหากที่จะหนุนธีมนี้ได้

จุดแข็งของธีม Defense คือ ส่วนแบ่งการตลาดใหญ่ ความเฉพาะตัวสูง และโอกาสการเติบโตที่มากกว่าสงครามกายภาพ

เช่นห้ายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่าง Lockheed Martin, Raytheon Technologies, Boeing, Northrop Grumman, หรือ BAE Systems บริษัทเหล่านี้ครองส่วนแบ่งการตลาดในผลิตภัณฑ์ด้านการป้องกันประเทศที่ตัวเองถนัดในสัดส่วนที่สูงกว่า 30% ทั้งหมด

นอกจากนั้นก็มีบริษัทอย่าง Norinco Group (CNIG) ของจีนหรือ Israel Aerospace Industries (ARSP) ที่รับหน้าที่ผลิตอาวุธและเครื่องป้องกันรายประเทศ ส่วนแบ่งการตลาดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในประเทศ มีโอกาสน้อยที่จะถูกต่างชิตแย่งไปได้

ส่วนการเติบโตที่คาดว่าจะเป็นตัวเร่งใหม่คือการป้องกันภัยด้าน Cyber

แม้สงครามในปัจจุบันเป็นเพียงทางกายภาพ ผมมองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะทรัพย์ยากรณ์ในตะวันออกกลางอย่างน้ำมันยังคงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมาก แต่ในอนาคตยิ่งโลกเข้าสู่สังคม Digital มากขึ้นเท่าไร ข้อมูลข่าวสาร หรือการติดต่อระดับสูงจะกลางเป็นอีกหนึ่งสนามรบที่ต้องลงทุนป้องกันอย่างมาก

เช่นข้อมูลจาก Statista ที่ชี้ว่าค่าใช้จ่ายด้าน Cyber security ทั่วโลกมีการเติบโตต่อเนื่องมากกว่า 50% ต่อปีมาตั้งแต่ปี 2016 ถึงปัจจุบันและคาดว่าจะเติบโตสูงต่อไป

นอกจากนั้น โอกาสลงทุนจะเพิ่มขึ้นมหาศาล ถ้าสามารถนำเทคโนโลยีด้านการทหารนี้ไปประยุกต์ใช้กับภาคเอกชน

ย้อนกลับไปในอดีต หลากหลายเทคโนโลยีมีจุดเริ่มต้นมาจากการทหาร ก่อนที่จะกลายไปเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกในปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็น เรดาร์ คอมพิวเตอร์ ที่พัฒนาขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ไปจนถึง Internet และ GPS ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันก็มีการพัฒนาขึ้นช่วงสงครามเย็น

สงครามครั้งนี้เทคโนโลยีที่มีบทบาทมากที่สุดมีทั้ง Orbital Aerospace อย่างจรวด และ Suborbital Aerospace อย่าง Drones มีโอกาสนำไปสู่ธีมลงทุนแห่งอนาคตหลายประเภท

ตัวอย่างเช่น Electric Vertical Take-off and Landing หรือ eVTOL จากการพัฒนา Drone ที่บรรทุกนำหนักได้มากขึ้น ระบบนำทางที่แม่นยำ Bank of America มองว่า แค่เปลี่ยนจากขนระเบิดไปเป็นขนสินค้า ขนาดตลาด 4พันล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน อาจขยายไปได้ถึง 2.4 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2035

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือจรวดความเร็วสูงหรือ Hypersonic Missile ที่ถล่มกลุ่มฮามาส สามารถพัฒนาต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเดินทาง มีโอกาสร่นระยะเวลาการเดินทางไกลได้ถึง 3 เท่า โดย ARK Invest ประเมินว่าจะสร้างตลาดใหม่ด้านการบินที่มาขนาดถึงกว่า 3.5 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2030

โดยสรุป ผมมองว่าธีม Aerospace and Defense เป็นธีมสาย Defensive ที่แข็งแกร่งอันดับต้น ๆ ระยะสั้นได้แรงหนุนจากสงคราม ส่วนในระยะยาวโอกาสอยู่ที่การพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์

สำหรับนักลงทุนที่สนใจในธีมนี้ ผมขอแนะนำให้รู้จัก 3 US ETF โดดเด่นมีความเฉพาะตัวสูง อย่าง ITA, SHLD, และ ARKX

iShares U.S. Aerospace & Defense ETF ตัวย่อ ITA เป็น ETF หลักของธีมป้องกันประเทศ ขนาด AUM ที่ใหญ่ที่สุดกว่า 6.1 พันล้านดอลลาร์ ประกอบไปด้วยหุ้นสหรัฐทั้งหมด 39 บริษัท เช่น RTX Corp (RTX) Boeing (BA) และ Lockheed Martin Corp (LMT) เป็น ETF ที่มี Beta ต่ำเพียงราว 0.4 เป็นเจ้าตลาดปัจจุบัน และ P/E ไม่แพง 28x จุดอ่อนคือมีการเติบโตของยอดขายเพียงราว 3.8%

Global X Defense Tech ETF ตัวย่อ SHLD เป็น ETF ธีมป้องกันประเทศที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในปีนี้ ความแตกต่างที่ชัดเจนคือเป็น ETF ที่ลงทุนทั่วโลกมีสัดส่วนสหรัฐเพียง 60% และมีกลุ่มเทคโนโลยีนอกสหรัฐเข้ามาผสม เช่น BAE Systems (BA.LN) Rheinmetall AG (RHM.GR) และ Elbit System (ESLT.IT) ทั้งหมดมีส่วนร่วมในสงครามครั้งนี้มากกว่าบริษัทในฝั่งสหรัฐ และเมื่อมาจากประเทศนอกสหรัฐเป็นหลัก P/E ก็ถูกลงเหลือเพียง 20x จุดอ่อนสำคัญ คือความผันผวนที่สูงกว่า ETF อื่น ๆ นั่นเอง

ARK Space Exploration & Innovation ETF ตัวย่อ ARKX หนึ่งใน ETF ที้แม้จะทำผลงานไม่ดีในปีนี้ แต่ก็รวมการลงทุนสายจรวดไว้มากที่สุด

ARKX ประกอบด้วยหุ้นที่มีความแตกต่างจากดัชนีมากที่สุด เช่น Kratos Defense and Security Solutions (KTOS) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐ AeroVironment (AVAV) ผู้ผลิตเครื่องบินไร้คนขับ หรือบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสำหรับการสำรวจ Trimble (TRMB) โดยมีสัดส่วนการลงทุนในสหรัฐสูงกว่า 80% แต่ P/E ปัจจุบันไม่แพงมากที่ 26x ความเสี่ยงสำคัญคือส่วนผสมของหุ้นเล็กที่สูง จึงมี Beta ถึง 1.5 เมื่อเทียบกับดัชนี S&P 500

แม้ส่วนตัวแล้ว ผมไม่ได้สนับสนุนสงครามในทุกรูปแบบ แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางครั้งการพัฒนาก็เกิดขึ้นในจุดที่เราไม่ได้คาดคิด

ทั้ง 3 ETF มีความแตกต่างกันอย่างเด่นชัด นักลงทุนที่ต้องการลงทุนรับประโยชน์จากภาวะสงครามช่วงนี้ SHLD ตอบโจทย์มากที่สุด แต่ถ้าต้องการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำหลบสงคราม ITA ถือเป็นหนึ่งการลงทุนที่น่าสนใจ ส่วนใครที่มองหา Innovation จากสงคราม และบริษัทแห่งอนาคต ARKX เป็น ETF ที่ตอบโจทย์ได้ครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

TSF2024