สี่ประชุมบอสใหญ่ของจีนที่นักลงทุนต้องจับตา

ในทศวรรษนี้การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและตลาดการเงินจีนมีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนทั่วโลก

หนึ่งเดือนที่ผ่านมา การปรับตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็วของหุ้นจีนจากการเปลี่ยนทิศนโยบายเศรษฐกิจ เป็นเรื่องตอกย้ำว่านักลงทุนควรเข้าใจนโยบายเศรษฐกิจจีนให้มากยิ่งขึ้น ผมจึงสรุป 4 การประชุมใหญ่ระหว่างปีที่สำคัญ มาแชร์ให้ทุกท่านได้ติดตามไปพร้อมกัน

(1) การประชุมคณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo Meeting)

การประชุมกรมการเมืองของจีนเป็นการประชุมระดับสูงสุดด้านการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการเมือง มีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นผู้ดำเนินการประชุม จัดขึ้นทุกไตรมาสในเดือน ม.ค. เม.ย. ก.ค. และ ก.ย. หรือ ธ.ค.

Politburo Meeting เน้นไปที่การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ก่อนที่จะประกาศนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

การประชุมครั้งที่โดดเด่นในอดีต เช่นการออกมาตรการรับมือวิกฤตตลาดหุ้นจีน

ในเดือนกรกฎาคมปี 2015 ตอบสนองต่อวิกฤตตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงอย่างรุนแรง  มีการประกาศมาตรการฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน เช่น การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดและควบคุมการขายหุ้น ช่วยให้ตลาดหุ้นจีนประคองตัวได้

หรือ เดือนกรกฎาคมปี 2020 Politburo Meeting ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการระบาดของ COVID-19 ช่วยให้จีนฟื้นตัวจากวิกฤตการระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

และเป็นการประชุมครั้งล่าสุดเดือนกันยายนปี 2024 นั่นเองที่มีการเสนอเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจและการปรับปรุงตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยความหวังของการกระตุ้นจากภาครัฐ 

(2) การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress – NPC)

การประชุม NPC เป็นการประชุมระดับชาติ จัดขึ้นในเดือนมี.ค. ของทุกปี โดยมุ่งเน้นการกำหนดงบประมาณ ออกกฎหมาย และการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว การประชุมนี้เป็นเวทีของการอนุมัติงบประมาณ ทุกนโยบายที่มีตัวเลขจึงมักต้องผ่านการประชุมนี้

NPC ครั้งสำคัญในอดีตเช่นปี 2013 เรื่องการประกาศวิสัยทัศน์ “Chinese Dream” ปธน. สี จิ้นผิง ใช้เวที NPC ในการประกาศแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจและความแข็งแกร่งทางสังคม ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้จีนเป็นประเทศที่มั่นคงทางเศรษฐกิจ

หรือ NPC ปี 2021 มีการเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (Five-Year Plan) ฉบับที่ 14 เน้นเรื่องการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจจีนไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ยั่งยืน การลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียว

ในปี 2024 การประชุม NPC ครั้งล่าสุด รัฐบาลจีนได้อนุมัติการออกพันธบัตรพิเศษจำนวน 2.3 ล้านล้านหยวน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการกู้ยืมเพื่อส่งเสริมการซื้อบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อบ้านเป็นครั้งแรก และออกมาตรการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงิน

สำหรับ NPC 2025 คาดว่าจะเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 15 (2025-2030) การปฏิรูปภาคการเงิน การจัดการหนี้สิน และการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เป็นหลัก

(3) การประชุมคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission -NDRC)

NDRC มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมการเติบโตในภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี NDRC ไม่มีตารางประชุมประจำ แต่จะมีการจัดเมื่อมีการพิจารณาโครงการสำคัญ มักจัดประชุมในช่วงเดือนตุลาคมหรือต้นพฤศจิกายน เพื่อประกาศโครงการลงทุนในปีถัดไป

ตัวอย่างการประชุม NDRC ครั้งสำคัญเช่นปี 2013 NDRC ได้ประกาศแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ Digital และโครงสร้างพื้นฐาน นำไปสู่การสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ

หรือปี 2017 ที่มีการประกาศโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (Belt and Road Initiative – BRI) เชื่อมต่อประเทศจีนกับภูมิภาคต่าง ๆ นำไปสู่การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับนานาประเทศในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

NDRC เป็นคณะที่มีหน้าที่หลักในการวางแผนและกำกับดูแลเศรษฐกิจให้เป็นไปตามแผน NDRC 2024 ล่าสุดในวันที่ 8 ต.ค. แม้จะมีแถลงการเกี่ยวกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่ 5% แต่เนื่องจากไม่ได้มีการระบุวงเงินการกระตุ้นใหม่ หรือนโยบายที่ชัดเจน จึงเป็นเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับฐานในเวลาต่อมา 

(4) การประชุมธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China – PBOC Meeting)

ธนาคารกลางจีน (PBOC) เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายการเงิน การประชุม PBOC จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องอัตราดอกเบี้ย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจัดการสภาพคล่องในระบบการเงิน และการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน

PBOC กำหนดการประชุมประจำไตรมาส (4 ครั้งต่อปี) มักเกิดขึ้นในช่วงท้ายไตรมาสหรือต้นไตรมาสใหม่

การประชุม PBOC ครั้งสำคัญในอดีต เช่นในเดือนธันวาคม 2021 PBOC ได้ตัดสินใจเพิ่มวงเงินปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยลดข้อกำหนดในการปล่อยสินเชื่อ และเพิ่มการสนับสนุนภาคธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาหลังการฟื้นตัวจากโควิด

และในเดือนสิงหาคม 2022 PBOC ประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาหลังจากเกิดวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์และปัญหาการกู้ยืมที่เกินตัวในบางพื้นที่ ทำให้ตลาดคลายความกังวลเรื่องวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ในจีนลง

ล่าสุดในการประชุม PBOC เดือนกันยายน 2024 ได้มีการประกาศมาตรการที่สำคัญเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ประกอบด้วย การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การลดอัตราสำรองตามกฎหมาย Reserve Requirement Ratio (RRR) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง (Mortgage Rate) และกระตุ้นตลาดหุ้นด้วยมาตราการสนับสนุนสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารให้สามารถกู้ยืมเงินโดยตรงจากธนาคารกลางได้ภายใต้หลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงการสนับสนุนการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน

นอกจากการประชุมปรกติแล้ว PBOC มีกำหนดการประกาศดอกเบี้ยรายเดือนที่เรียกว่า Loan Prime Rate (LPR) เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เกิดจากการสำรวจธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 18 แห่งในจีน สะท้อนถึงต้นทุนการกู้ยืมระหว่างธนาคาร ซึ่งนำไปใช้ในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจและผู้บริโภค

ส่วน PBOC นั้นจะกำหนด Medium-term Lending Facility (MLF) ปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่าง ๆ ระยะเวลาการกู้ราว 1 ปี เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม ส่วนในระยะสั้นจะใช้ Repo 7 (7-day Reverse Repo Rate) เป็นดอกเบี้ยที่ใช้ปรับสภาพคล่อง

เมื่อรู้จักการประชุมระหว่างปีที่สำคัญทั้ง 4 กลุ่มของจีนก็มาถึงคำถามสำคัญว่า

เรื่องไหนสำคัญที่สุดในการติดตามเศรษฐกิจจีน?

ในมุมมองของผม การประชุมที่สำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจต้องพุ่งเป้าไปที่การกระตุ้นการเติบโตผ่านการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น Politburo Meeting และ NPC จึงสำคัญที่สุด ส่วนด้านต่างประเทศที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย การติดตามการประชุม NDRC และการประกาศนโยบายการลงทุนของจีนเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน แต่ถ้าจะติดตามตลาดหุ้น PBOC เป็นการประชุมที่ต้องติดตามมากกว่าเรื่องอื่น

นักลงทุนหลายท่านอาจรู้สึกผิดหวังว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของจีนนั้นช่างขาดตอน ให้จำไว้ว่าทุกนโยบายมีเงื่อนไขและลำดับของมัน การรีบเร่งเกินไปมักไม่สำเร็จ สิ่งใดที่ต้องการผลลัพธ์ที่ดี จำเป็นต้องมีลำดับ และทำอย่างรอบคอบครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

TSF2024