5 ธีมลงทุนทั่วโลกรับปี 2025 งูเล็กไซส์บอลลูน

ปี 2024 กำลังจะผ่านพ้นไป ได้เวลาที่ Thematic Investor ต้องทบทวนบทเรียนจากการลงทุน เพื่อมองไปข้างหน้า

สำหรับผม วิธีทำความเข้าใจธีมลงทุนของตลาดที่ดีและเร็วที่สุด คือการมองย้อนกลับไปในอดีต จากดัชนีธีมการลงทุนกว่า 200 กลุ่มที่ผมติดตามอยู่ Magnificent 7, Semiconductors, Machine Learning, Thai Tech และ Blockchain คือหัวตารางผลงานโดดเด่น ส่วนธีมที่ทำผลงานย่ำแย่ประกอบด้วย Solar, Clean Tech, China Healthcare, Lithium, และ Thai Healthcare

ประเด็นที่ทำให้ผมแปลกใจ ไม่ได้เกิดขึ้นจากธีมไหนทำผลงานได้ดีหรือแย่เกินคาด แต่กลับเป็นธีมที่ดี ดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ธีมลงทุนที่แย่ ก็แย่ลงไปอีก ทำให้ตลาดยิ่งกระจุกตัว

บทเรียนจากปี 2024 จึงเหมือนกับปี 2023 คือ (1) ถ้าใครไม่มีหุ้นใหญ่สหรัฐผลตอบแทนจะแพ้ตลาดแน่นอน และ (2) ฟองสบู่ทางการเงินสามารถอยู่ได้นานกว่าที่หลายคนคาด

ส่วนบทเรียนที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ผมมองว่าเป็น (3) แม้ตลาดจะกระจุกตัว แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเกิดขึ้น การกระจุกตัวจะไม่หายไป บริษัทใหญ่บางบริษัท อาจมีความสำคัญมากกว่าเศรษฐกิจบางประเทศก็เป็นได้

สำหรับปี 2025 ตลาดคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะทรงตัว เงินเฟ้อลดลง ธนาคารกลางลดเบี้ย ความกระจุกตัวทำให้ Valuation แพงผิดปกติ แต่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างกำลังจะเกิดขึ้นจากประธานาธิบดี Donald Trump ในอีก 4 ปีข้างหน้า

5 ธีมลงทุนในปี 2025 ของผมจึงประกอบด้วยธีมเก่าอย่าง Magnificent 7 และ AI ผสมกับธีมปรับใหม่อย่าง Power Demand, Deregulated Finances และ China Recovery ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงรอบนี้

ธีมหนึ่ง Magnificent 7 เป็นธีมที่ทำผลงานดีสม่ำเสมอ มีโอกาสไปต่อ อย่างน้อยจนกว่ากำไรของ S&P 493 จะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด

ตั้งแต่ต้นปีถึงปลายเดือนพฤศจิกายน Bloomberg Magnificent 7 Index ให้ผลตอบแทนถึง 42% จุดแข็งของหุ้นในกลุ่มนี้ คือกำไรที่เติบโตสูงกว่าตลาดอย่างเห็นได้ชัด

แม้ในปี 2025 ตลาดจะเริ่มมองว่า S&P 493 หรือหุ้นสหรัฐนอก Magnificent 7 จะฟื้นตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหุ้นใหญ่จะต้องถูกขายทันที

ผมเชื่อว่าหุ้นใหญ่เหล่านี้จะทำผลตอบแทนไม่แพ้ตลาด อย่างน้อยจนกว่าจะมีนโยบายเศรษฐกิจที่กดดันหุ้นในกลุ่มโดยตรง เช่น กฎหมายป้องกันการผูกขาด (Antitrust)

ธีมสอง AI ต้องมีติดพอร์ตไว้ต่อตลอดทศวรรษ ปี 2025 เป็นอีกปีที่เราต้องลุ้นว่าจะได้เห็นผู้นำ AI ถือกำเนิดขึ้นในตลาดหุ้นหรือไม่

แม้ปี 2024 จะไม่ใช่ปีที่หุ้นกลุ่ม AI ขึ้นนำตลาด แต่ Indexx Artificial Intelligence Index ก็สามารถทำผลตอบแทนถึง 22% เกาะไปกับดัชนี S&P 500

ผมคงมุมมองเดิมว่า AI เป็นนวัตกรรมที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมในอนาคตได้ ธีมนี้จะมีโอกาส Outperform ตลาดไปอย่างน้อยจนกว่าเราจะเห็นผู้นำที่แท้จริงในธีม AI ถือกำเนิดขึ้น

ปี 2025 ควรเป็นปีที่ตลาดควรเห็นการนำเทคโนโลยีไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริงมากขึ้น อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือ สื่อสาร ซอฟต์แวร์ ค้าปลีก การเงิน และการขนส่ง

สำหรับใครที่สนใจลงทุน AIQ หรือ Global X Artificial Intelligence & Technology ETF เป็นตัวเลือกที่กระจายลงทุนในผู้นำกลุ่ม AI ได้อย่างดี

อย่างไรก็ดี บทเรียนในปี 2024 สอนว่าถ้าเราต้องรอผู้นำการเติบโตของธีม AI ที่เกิดขึ้นช้า ระหว่างทางควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไว้ก่อน

ธีมลงทุนที่น่าสนใจเมื่อพูดถึงโครงสร้างพื้นฐาน AI คือการลงทุนใน Data Center และโรงไฟฟ้า

ด้วยความตื่นตัวของ AI ทำให้เกิดการลงทุนใน Data Center มากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปพร้อนกัน ดัชนี Solactive Data Center REITs & Digital Infrastrcuture Index ทำผลตอบแทนได้ 20% พร้อมกับ MSCI World Utilities ที่ปรับตัวขึ้น 11%

Goldman Sachs คาดว่า Data Center ในสหรัฐจะมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นราว 8% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้ารวมในปี 2030 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียงราว 3% คิดเป็นการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นราว 2.4% ต่อปีจากที่ไม่เติบโตเลยมากว่า 2 ทศวรรษ

แม้จะเป็นการเติบโตที่ไม่สูงมาก แต่เชื่อว่ามีความยั่งยืนและสามารถยืดหยุ่นไปกับกระแส AI ที่กำลังมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วยความผันผวนที่ต่ำกว่าหุ้น Tech ใหญ่ โดยมี ETF ที่น่าสนใจเป็น VPN หรือ Global X Data Center & Digital Infrastructure ETF

ธีมที่สี่เป็นกลุ่มธุรกิจปรกติที่คาดว่าจะมีนโยบายหนุนอย่าง Deregulated Finances

ผมมองว่ากลุ่มการเงินเป็น Sector ที่คาดว่าจะได้รับแรงหนุนทั้งในภาคการเงินดั้งเดิมและการเงินสมัยใหม่

ข้อเสนอยกเลิกกฎ Basel III Endgame จะช่วยลดข้อจำกัดด้านเงินทุนที่ธนาคารขนาดใหญ่เรื่องการตั้งสำรอง เพิ่มอิสระให้ธนาคารขนาดเล็กในกิจกรรมควบรวมกิจการ (M&A) และการลงทุน คาดว่าจะหนุนให้ทั้งธุรกิจการเงินและสินเชื่อกลับมาเติบโต

นอกจากนี้ ผมเชื่อว่าการเพิ่มความชัดเจนในกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ Crypto จะทำให้แพลตฟอร์มทางการเงินปัจจุบันมีโอกาสขยายการเข้าถึงลูกค้าและบริการใหม่ๆ เราสามารถเลือกลงทุนหาโอกาสหรือป้องกับความเสี่ยงไปพร้อมกันได้

ธีมการเงินสายเติบโตผมเลือก ARKF หรือ ARK Fintech Innovation ETF ที่มีการผสมผสาน e-commerce เข้าไปด้วย ส่วนสายป้องกัน ผมเลือก Amplify Cybersecurity (HACK) เนื่องจากเป็น ETF ที่เน้นการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการบริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์

ธีมสุดท้ายสินค้าฟุ่มเฟือยฝั่งยุโรป (EU Consumer Discretionary) ลุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากนโยบายกระตุ้นภาครัฐ

สินค้าฟุ่มเฟือยในยุโรปเป็นธีมลงทุนสายกลับตัว (Turnaround) ธีมเดียวที่ผมเลือกในปีนี้ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัว และ Luxury Goods เป็นออุตสาหกรรมที่มักได้รับแรงหนุนมากเป็นพิเศษ

ขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าปี 2025 เป็นปีที่เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวช้า สนับสนุนการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายจาก ECB กดให้ EUR มีแนวโน้มอ่อนค่า เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าหรูยุโรป

ตัวเลือกที่น่าสนใจมีตั้งแต่หุ้นใหญ่ในยุโรปอย่าง LVMH, Hermès, Kering, หรือ Richemont ส่วนถ้าใครอยากลงทุนเป็นธีม ก็สามารถเลือกลงทุน CD9 หรือ Amundi MSCI Europe Consumer Discretionary ETF และ Amundi S&P Global Luxury UCIT ETF (GLUX) ที่จดทะเบียนในตลาดฝรั่งเศสได้ทั้งคู่

ถึงตรงนี้ผมเชื่อว่า Thematic Investor คงมองเห็นโอกาสสำหรับการลงทุนในปีงูเล็ก 2025 บ้างแล้ว

ในมุมมองของผม ไม่ว่าพอร์ตปัจจุบันของเราจะเป็นแบบไหน เราสามารถสอดแทรกส่วนประกอบของธีมลงทุนเหล่านี้เข้าไปในพอร์ตได้ สิ่งที่สำคัญคือต้องเรียนรู้ที่จะผสมผสานให้มีทั้งธีมเติบโต ตั้งรับ และธีมกลับตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง แบ่งสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสม ตามความเสี่ยงที่รับได้

ผมเชื่อว่าธีมเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจตลาด และประสบความสำเร็จในการลงทุนปี 2025 ครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์