Libra กับ 10 คำถามที่ตลาดการเงินต้องรู้คำตอบ

1. Libra คืออะไร?

คำนิยามที่ผมคิดได้คือ “เงินคริปโต” แบบหนึ่งที่ Facebook นำมาเปิดตัวและคาดว่าจะเริ่มใช้ในปี 2020 โดยมีองค์กรอิสระที่ชื่อว่า Libra Association เป็นผู้ดูแล ลักษณะเป็นเงินในโลกดิจิตอล มีกลุ่มเป้าหมายเริ่มต้นเป็นผู้ใช้บริการต่างๆ ของ Facebook และตั้งเป้าที่จะเป็นสกุลเงินที่ทั่วโลกได้เข้าถึงธุรกรรมการเงิน

2. เพราะเป็น Facebook จึงเกิด หรือเพราะเป็น Facebook จึงไม่เกิด?

ส่วนตัว มองว่าไม่ใช่แค่ Facebook แต่กลุ่มเทคโนโลยีทั้งหมดไม่ได้มีภาพลักษณ์ดีด้านความน่าเชื่อถือ การจะข้ามมาธุรกิจการเงิน คนปรกติก็คงคิดหนัก ยิ่งถ้าสินค้าหรือบริการสามารถใช้สกุลเงินหลักซื้อได้ โอกาส “ไม่เกิด” ก็มีมาก แต่ด้วยจำนวนผู้ใช้ Social Network อันดับหนึ่งของโลกจาก Facebook ถ้าเราเปรียบเทียบกับเงินคริปโตอื่นๆ Libra จะ “เกิด” กว่าอย่างโดดเด่นแน่นอน

3. มูลค่า Libra จะ “คงที่” ไม่เหมือน Bitcoin หรือ?

ไม่เหมือน เพราะ Libra จะมี Utility Value ที่ Bitcoin ไม่มีเลย จุดนี้ต้องติดตามต่อไปว่า Libra ทำให้เราเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากน้อยแค่ไหน แต่ในทางกลับกันเมื่อ Libra ถูกบริหารด้วยการมีสินทรัพย์ปลอดภัยเป็นหลักประกัน Speculative Value ก็จะถูกอิงไปกับสินทรัพย์ที่ถือครอง ความผันผวนจึงจะต่ำ ตัวอย่างอาจคล้ายสกุล SDR ของ IMF ที่มีความผันผวนต่อปีประมาณ 2-3% ต่างกับ Bitcoin ที่วิ่งขึ้นลงได้เป็น 20-50% ได้ในไม่กี่วัน

4. ถ้าอย่างนั้น Libra และเงินคริปโตที่ความผันผวนต่ำจะเข้ามาแทนที่เงินปรกติได้หรือยัง?

ผมเชื่อว่า Libra จะเป็นเพียง “ตัวเลือก” เพราะปัจจุบันเริ่มจากการเป็นเงินในโลกดิจิตอล ประเทศที่ไม่สามารถออนไลน์ได้ตลอด จึงยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินแบบเดิมๆ ในทางกลับกันเมื่อเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพเพียงพอ เงินปรกติของเราก็จะผันตัวไปเป็นเงินคริปโตได้ด้วย จึงอาจไม่ได้หมายความว่าสกุลเงินใดจะถูกทดแทนกันไปทั้งหมด

5. สิ่งนี้จะส่งผลอย่างไรกับตลาดการเงิน?

มองในแง่การบริหารจัดการ การซื้อ Libra อาจไม่ต่างอะไรกับการซื้อกลุ่มสินทรัพย์หรือสกุลเงินปลอดภัย เมื่อมี Libra เข้ามาเป็นเหมือนสกุลเงินใหม่ ตลาดเงินต้องปรับสัดส่วนการถือครองสกุลเงินต่างๆใหม่หมด แต่ไม่น่าที่จะส่งผลกระทบถึงสินทรัพย์อื่นๆ ในตลาดทุน เพราะเป็นคนละกลุ่มเป้าหมายชัดเจน

6. ถ้าอย่างนั้นสกุลเงินแบบไหนมีโอกาสได้รับผลกระทบ?

มองการเลือก “ถือครอง” เงินเป็นหลัก ถ้าไม่ติดเรื่องการใช้นอกโลกดิจิตอลหรือค่าธรรมเนียม ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกถือเงินที่สามารถ “รักษาอำนาจซื้อ” หรือความมั่งคั่งได้ ดังนั้นสกุลเงินที่ผันผวนสูง ความน่าเชื่อถือต่ำ จะเสียความนิยมไปทันทีและต้องมีดอกเบี้ยหรือนโยบายการเงินมาคุ้มกันมากขึ้น

ในทางกลับกับ เมื่อ Libra บอกทุกคนว่าจะมีสินทรัพย์ที่ความน่าเชื่อถือเป็นหลักประกัน ถ้าความต้องการ Libra สูงก็จะส่งผลให้ความต้องการสกุลเงินปลอดภัยสูงตามไปด้วย และถ้ามองในแง่การบริหารสกุลเงินแบบตะกร้า ถ้า Libra ถูกซื้อขายในสกุลเงินไหนมาก ทีมบริหารก็ควรถือสกุลเงินนั้นไว้เพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของตัว Libra เอง ซึ่งทำให้ สกุลที่มีการซื้อขายในโลกดิจิตอลเยอะมีโอกาสได้รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย

7. นโยบายการเงินและการกำกับดูแลของธนาคารกลางจะต้องเปลี่ยนไปทางไหน?

เรื่องการกำกับ คนโลกสวยอย่างผม มองว่าช่วยกันดีกว่าแยกกันทำ เพราะแย่ที่สุดก็คือมีเรื่องการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาในการกำหนดนโยบาย Libra (ซึ่งก็คงไม่ต่างกับปัจจุบันเท่าไหร่) ส่วนนโยบายการเงิน ผมมองว่าทุกธนาคารกลางจะไม่ได้จะหายไป แต่แน่นอนว่าอิสระจะลดลงอย่างมาก ถ้าอยากรักษาสกุลเงินตัวเอง ก็ต้องรวดเร็ว มีเครื่องมือหลากหลาย จะมาใช้ดอกเบี้ยตัวเดียวตั้งทิ้งไว้เฉยๆ แบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป

8. ธนาคารพาณิชย์จะอยู่ตรงไหนของเศรษฐกิจ?

ในแง่ความสะดวกสบายในระยะยาวที่ทุกธุรกรรมมีโอกาสกลายเป็นดิจิตอล ฝั่งเทคโนโลยีจะค่อนข้างได้เปรียบฝั่งการเงิน แต่สำหรับผมยังมอง “ความเชื่อใจ” เป็นสิ่งที่ธนาคารทำได้ดีกว่าเกือบทุกธุรกิจ ดังนั้นแบงก์ก็ยังสามารถผันตัวไปเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน หรือผู้ประเมินราคาสินทรัพย์ได้

9. สรุปแล้ว Libra เป็นความเสี่ยงหรือโอกาสมากกว่ากัน?

ผมเชื่อว่าการที่ Libra และ Facebook เข้ามา เป็นโอกาส ตลาดการเงินจะน่าสนใจขึ้นแน่นอน แม้ระยะสั้นอาจต้องปรับตัวและต้องใช้เวลากับการบริหารเงินของตัวเองมากขึ้น แต่ในที่สุดเราก็จะเข้าใจว่าความมั่งคั่งหรือเสถียรภาพทางการเงินอขงเรา ควรอยู่ในมือของเรามากกว่าให้คนอื่นดูแล และถ้าเรายังรู้สึกขาดความรู้ความเข้าใจ ก็ยิ่งควรใช้โอกาสในการพัฒนาความรู้ด้านการเงินให้สูงขึ้น

10. ด้วยคุณสมบัติปัจจุบันถ้า Libra มา ควรซื้อหรือไม่?

ผมเชื่อว่าในท้ายที่สุดคุณสมบัติของ Libra จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่จบลงแค่นี้แน่นอน แต่เมื่อมีความพยายามเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ความเสี่ยงก็ไม่ควรสูง จะลองซื้อดูเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของก้าวใหม่ในตลาดการเงินก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่น่ากลัว

เพราะต่อให้ Libra ถูกสกัดดาวรุ่ง อนาคตโลกการเงินก็จะไม่หยุดอยู่แค่นี้ และในที่สุดเราก็ต้องถามตัวเองอยู่ดีว่าพร้อมหรือยังกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนี้ของโลกการเงิน

ที่มา : คอลัมน์ รู้ทันโลกการเงิน กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

TSF2024