“ความเชื่อทั่วไปมักเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยาก แต่ความเชื่อในตลาดการเงินมักเปลี่ยนแปลงไปเสมอ”
ปี 2022 เป็นปีที่ยืนยันคำกล่าวนี้ได้อย่างดี
นอกจากเราจะเห็นการลงทุนที่เคยดี กลับแย่ลงอย่างเฉียบพลัน ความสัมพันธ์ของการเมือง นโยบายและเศรษฐกิจ ก็ดูจะไม่เป็นไปตามที่เคยเกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดเปลี่ยนมุมมองจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม
สำหรับนักลงทุนอย่างเรา ไม่ว่าความเชื่อเหล่านี้จะคงอยู่หรือเปลี่ยนไป ก็ควรรู้ให้ทันกับทุกเรื่องราว ซึ่งผมรวบรวม 10 ความเชื่อของตลาดในปัจจุบันได้ดังต่อไปนี้
1. เงินเฟ้อสหรัฐจะสูงไปทั้งปี
จุดสูงสุดของเงินเฟ้อคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในครึ่งแรกของปี 2022 เหตุมาจากแรงส่งของนโยบายการคลังช่วงโควิด ตลาดแรงงานตึงตัว และล่าสุดก็มีประเด็นสงครามเข้ามาหนุนราคาอาหารและพลังงานให้สูงขึ้น
2. ธนาคารกลางสหรัฐจะเข้มงวดไม่สนใจตลาดทุน
นักลงทุนต้องหาทางบริหารจัดการราคาสินทรัพย์การเงินที่แพงและมีโอกาสปรับฐานกันเอง เพราะสำหรับเฟด ผลกระทบด้าน Wealth Effect กับเศรษฐกิจและการเมืองในระยะยาว มีค่าน้อยกว่าความเสี่ยงหลักอย่าง “เงินเฟ้อเสียการควบคุม” เสมอ
3. การจับจ่ายใช้สอยจะชะลอตัวลง
เป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่มากเท่าช่วงวิกฤติโควิด สวนทางกับเงินเฟ้อที่สูงพร้อมกับนโยบายการเงินที่เข้มงวด อำนาจการจับจ่ายใช้สอยจะลดลง สวนทางกับต้นทุนการกู้ยืมที่จะเพิ่มขึ้น
4. เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวจากการควบคุมของภาครัฐ
ปี 2022 มีโอกาสเห็น GDP จีนเติบโตต่ำกว่า 5% บริษัทเทคโนโลยีใหญ่จะถูกกฎเกณฑ์ใหม่บีบให้ปรับโครงสร้าง การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จะชะลอตัว ส่วนการผ่อนคลายทางการเงินเป็นเพียงภาพสะท้อนของเศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตช้า
5. ปัญหา Supply Chain จะคลี่คลาย
ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางจะปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับเดียวกับต้นปี 2021ในไม่ช้า พอดีกับครึ่งหลังของปีที่มีนโยบายเปิดการเดินทางเข้ามาสนับสนุน
6. บริษัททั่วโลกจะต้องพัฒนาด้าน ESG
เงินลงทุนจะไหลเข้าในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ESG ก็จะเข้าไปอยู่ใน Investment Guideline ของทุกอุตสาหกรรม ธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมจะมีต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้นอย่างมาก
7. เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่วัฏจักการลงทุนรอบใหม่
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ Build Back Better Plan จะเร่งให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ พร้อมกับประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนจะหนุนให้หลายอุตสาหกรรมจำเป็นจะต้องย้ายฐานกลับมาลงทุนในอเมริกา
8. สหรัฐยังคงเหนือกว่าทั่วโลก
ด้วยจุดเด่น 3 อย่าง คือสามารถใช้นโยบายการคลังขนาดใหญ่ได้โดยที่ดอลลาร์ไม่อ่อนค่า การพึ่งพาต่างประเทศต่ำจึงได้รับแรงต้านจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวน้อยกว่าทั่วโลก และในปัจจุบันมีสถานะเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จึงไม่มีปัญหาเรื่องพลังงานในระยะยาว
9. หุ้น Value จะชนะตลาด
มี 5 เหตุผลสนับสนุน ตั้งแต่ระดับ Valuation ที่ถูกกว่า Growth แรงส่งจากการเปิดประเทศ นักลงทุนไม่ได้มีการลงทุนอยู่ก่อนนี้ การขึ้นดอกเบี้ยเป็นบวกต่อกลุ่มการเงิน และมีสินค้าคงเหลือที่ราคาสามารถปรับตัวขึ้นได้ตามวัฏจักรเศรษฐกิจ
10. สินทรัพย์ Digital จะกลายเป็นส่วนเสริมของโลกการเงิน
แม้จะปรับตัวลงจากจุดสูงสุดอย่างหนัก แต่เทคโนโลยีอยู่ในขั้นเริ่มต้น มีโอกาสสำหรับการพัฒนาต่อได้อีกไกล นอกจากนั้นก็เป็นไปได้ที่จะมีการตอบรับจากธนาคารกลางมากกว่ากีดกันเพิ่ม ส่งผลให้นักลงทุนสถาบันเข้าลงทุนได้ในอนาคต
นักลงทุนหลายท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ คงมีข้อที่เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง และสงสัยบ้าง แตกต่างกันตามมุมมอง ความรู้ และประสบการณ์
แต่ก่อนที่จะปรับกลยุทธ์การลงทุน ในฐานะนักกลยุทธ์การเงิน ผมมีคติประจำใจ “สามข้อ” ที่อยากแชร์ให้เราได้คิดไปพร้อมกันก่อน
หนึ่ง อย่าขวางทางตลาดถ้าเราไม่ได้มีข้อมูลหรือเงินมากกว่าตลาด
แม้เราจะไม่เชื่อหรือเห็นต่าง วิธีที่ดีที่สุดไม่ใช่การสวนตลาด แต่ควรหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจให้มากขึ้น จำไว้ว่า “ตลาดไม่มีเหตุผลได้นานกว่าที่เงินในพอร์ตเราจะหมดลงเสมอ”
สอง พร้อมที่จะเปลี่ยนความเชื่ออยู่เสมอ
จำไว้ว่าตลาดไม่มีทางถูกหรือผิดทั้งหมด
สำหรับผม เรื่องที่มีตัวเลขเศรษฐกิจเป็นส่วนประกอบ มักสร้างความประหลาดใจได้มากที่สุด
เหตุการณ์ที่มีการตัดสินใจของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง มักเปลี่ยนแปลงได้ง่ายที่สุด
และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระยะยาว มักทำให้ตลาดตื่นเต้นผิดปรกติที่สุดในระยะสั้น
และสาม สำคัญกว่าความเชื่อคือสัดส่วนการลงทุน
สิ่งที่เราทุกคนควรทำคือย้อนกลับไปอ่านทั้ง 10 ความเชื่ออีกครั้ง และตอบตัวเองให้ได้ว่าพอร์ตเรามีสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมบนความเชื่อเหล่านี้แล้วหรือยัง
เพราะไม่ว่าความเชื่อของตลาดจะเป็นจริงหรือไม่ เราจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยถ้าเราไม่มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง
แน่นอนผมเองก็ไม่ได้เชื่อไปทั้งหมด ส่วนการลงทุนก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าความเชื่อของใครถูกหรือผิด
สิ่งที่สำคัญที่สุดของการลงทุนคือต้องรู้ว่าตลาดเชื่ออะไร วางกลยุทธ์รับมือความเชื่อเหล่านั้นให้เหมาะสม และไม่ลืมที่จะเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงให้พร้อมครับ
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์