เชื่อว่าหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนมือใหม่ หรือนักลงทุนที่ลงทุนเป็นแล้ว บางทีก็ต้องมีสับสนชื่อกองทุนกันบ้างแหละเพราะมีกองทุนหลายประเภท และมีหลายชนิดมาก วันนี้ เด็กการเงิน ขอนำเรื่อง Share Class ของกองทุนไทย มาให้ทุกคนรู้จักกัน ตัวขีดและตามด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษหลังชื่อกองทุนนั้นหมายถึงอะไร

Share Class หรือ ชนิดหน่วยลงทุน หลัก ๆ มี 6 ประเภท ได้แก่

A-Class หรือ Accumulation

เป็นกองทุนชนิดสะสมมูลค่า ไม่มีการจ่ายปันผล ถ้านักลงทุนอยากได้เงินคืน ก็ต้องทำการขายคืนเองปกติ ส่วนมากหลายกองทุนจะไม่มี -A และถ้าไม่เห็นตัวอื่น ๆ ก็ไม่ต้องเเปลกใจ ถือว่าเป็นกองทุนชนิดสะสมมูลค่าเช่นกัน (เพื่อป้องกันความสับสน ให้อ่านชื่อภาษาไทยประกอบจะเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นกองทุนชนิดใด)

กองทุนชนิดนี้เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการกระแสเงินสดจากการลงทุน และต้องการให้เงินลงทุนเติบโตแบบทบต้นมากขึ้นเรื่อย ๆ

D-Class หรือ Dividend

เป็นกองทุนจ่ายปันผลจากกำไรสะสม เมื่อปันผลแล้ว NAV จะลดลงประมาณเท่ากับปันผลที่จ่ายไป แต่จำนวนหน่วยที่นักลงทุนมีอยู่ยังเท่าเดิม

กองทุนชนิดนี้เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดจากการลงทุน แต่ต้องถูกหักภาษีเงินปันผล 10% แต่สามารถขอเคลมคืนได้ ถ้ามีฐานภาษีที่ไม่สูงนัก

R-Class หรือ Redemption หรือ Auto Redemption 

เป็นกองทุนชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติให้กับนักลงทุน ซึ่งจำนวนหน่วยของนักลงทุนจะลดลง แต่ไม่มีผลกับ NAV นอกจากนี้ยังไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากถือเป็นกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน ตัวอย่างเช่นกอง LHGROWTH-R, PRINCIPAL iPROP-R เป็นต้น

กองทุนชนิดนี้เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดจากการลงทุน และไม่ต้องการเสียภาษี ซึ่งมีความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่อย่าลืมนะว่าหน่วยลงทุนจะค่อย ๆ ลดลงจากการถูกทยอยขายออกทีละนิด ต้องเติมหน่วยลงทุนบ้างนะ

หมายเหตุ: บางกองทุนเช่น UGIS-A ถือเป็นชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ และ UGIS-N ถือเป็นชนิดชนิดขายคืนหน่วยลงทุนปกติ (สะสมมูลค่า)

(เพื่อป้องกันความสับสน ให้อ่านชื่อภาษาไทยของกองทุนประกอบจะเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นกองทุนชนิดใด)

E-Class หรือ Electronics

เป็นกองทุนที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมการจัดการและการขาย เช่น 23 กองทุนของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ที่หลายคนรู้จักนั่นเอง แต่ต้องซื้อผ่าน SCBAM Fund Click เท่านั้น E Class ยังสามารถเจอได้ใน บลจ. Land and House ก็ฟรีค่าธรรมเนียมเช่นกัน

P-Class หรือ Private Fund 

สำหรับหน่วยลงทุนชนิดนี้จะเป็นกองทุนสำหรับนักลงทุนกองทุนส่วนบุคคลเท่านั้น หรือซื้อได้โดยกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งอาจจะได้ส่วนลดค่าธรรมเนียมด้วย

I-Class หรือ Institutional Investor

สำหรับหน่วยลงทุนชนิดนี้จะเป็นกองทุนสำหรับนักลงทุนสถาบันเท่านั้น นักลงทุนรายย่อยอย่างเราไม่สามารถลงทุนได้

การเลือก Share Class จึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการลงทุนเป็นหลัก อย่างน้อยต้องรู้จักความแตกต่างของกองทุน ชนิด A, D และ R เพื่อที่เราจะได้เลือกลงทุนให้ถูก และลดการเสียภาษีโดยไม่จำเป็น 

เด็กการเงิน DekFinance

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/DekFinance101/posts/233025578714913 

TSF2024