จัดกลุ่มกองทุน Clean Energy + Climate Change + ESG มีเยอะแค่ไหนก็ไม่งง

กองทุนรักษ์โลก หรือกองทุนเพื่อโลกของเรามีออกมาให้เลือกกันมากมายเหลือเกิน (เป็นเรื่องที่ดี) จึงเกิดเป็นคำถามหลาย ๆ ครั้งว่ากองทุนแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร?

วันนี้ เด็กการเงิน ขออาสามาจัดกลุ่มกองทุน Clean Energy, กองทุน Climate Change และ กองทุน ESG ให้เข้าใจว่ามันแตกต่างกันอย่างไร พร้อมแล้วไปลุยกันเลย

จัดกลุ่มกองทุน Clean Energy + Climate Change + ESG มีเยอะแค่ไหนก็ไม่งง

1. กองทุน Clean Energy หรือ Energy Transition

ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์ฟาร์ม แบตเตอรี่ ไฮโดรเจน เป็นต้น

อันนี้ค่อนข้างตรงไปตรงมาสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในบริษัทที่ทำเรื่องพลังงานทดแทน หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการใช้พลังงานสะอาด บางกองจะมีผสม บริษัทที่ผลิตรถ EV หรือ Charger มาด้วย

2. กองทุน Climate Change หรือ Environment Impact

ลงทุนในหุ้นที่โดดเด่นเรื่องการลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมหรือสินค้า และบริการ ได้ประโยชน์จากเรื่องสิ่งแวดล้อม กองทุนประเภทนี้ค่อนข้างคล้ายกับกองทุนประเภท ESG แต่เน้นในเรื่องของ E-environment โดยหุ้นที่คัดเลือกเข้ามานั้นจะต้องมี 1 ใน 2 คุณสมบัติต่อไปนี้คือ 

  1. มีการสร้างสินค้าหรือบริการที่ได้ประโยชน์จากการลดการปลดปล่อย CO2 เช่น วัสดุทดแทน เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต Smart Building หรือ 
  2. ทำให้สินค้าและบริการของตัวเองได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น เช่น ลดการใช้วัสดุอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นผู้ที่ปรับตัวได้ดีในยุคที่ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3. กองทุน ESG (ย่อมาจาก Environment, Social และ Governance)

ลงทุนในหุ้นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน หรือหลัก ESG สนับสนุนในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และกำกับดูแลกิจการที่ดี 

บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน หรือกรอบ ESG มากขึ้น ซึ่งกำลังมีความสำคัญกับการเลือกหุ้นของนักลงทุนและผู้จัดการกองทุน ที่ต้องการเลือกหุ้นที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และผู้ถือหุ้น ดังนั้นบริษัทที่สามารถดำเนินการในเรื่อง ESG ได้ดี ย่อมทำให้นักลงทุนเชื่อใจที่จะลงทุนด้วยในระยะยาวมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ESG ในบางบริษัทถือว่าเป็น cost ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น บริษัทที่สามารถทำ ESG ได้ดีต้องเกิดจากผู้บริหารที่มีความสามารถ เอาใจใส่ให้ความสำคัญในเรื่อง ESG และการทำธุรกิจให้เติบโตควบคู่กันไปด้วย 

ตรงนี้ผู้จัดการกองทุนที่คัดหุ้น ESG เก่งก็จะวิเคราะห์หลายมิติประกอบกัน ว่าหุ้นที่จะถูกเลือกมีคุณภาพจริงหรือไม่

กองทุนทั้งสามประเภทมี Catalyst ที่คล้ายคลึงกันก็คือ

  1. การที่ประเทศทั่วโลกมาเน้นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รณรงค์ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดสภาวะโลกร้อน ประเทศในกลุ่มยุโรปเริ่มตั้งเป้า Carbon Neutrality (ปลดปล่อย CO2 เป็น 0) ในปี 2040 และตามมาด้วย USA และ Japan ในปี 2050 ยังมีหลายประเทศที่กำลังตั้งเป้าเช่นนี้ ซึ่งตัวแปรหลักตัวแปรหนึ่งก็คือการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล กับการเดินทางและอุตสาหกรรมในปริมาณที่มาก พลังงานทดแทนจึงมีความสำคัญมากขึ้นทดแทนเชื้อเพลิงดั้งเดิม
  1. นอกจากพลังงานสะอาดแล้ว หลายประเทศหันมารณรงค์ลดมลภาวะจากการผลิตสินค้า โดยสินค้าจะต้องมีลักษณะหมุนเวียนกลับสู่สิ่งแวดล้อมได้ไวขึ้น หรือใช้คำว่า Renewable Material (วัสดุหมุนเวียน) เช่นนี้จะทำให้วงจรชีวิต (Life Cycle) ของผลิตภัณฑ์สั้นลง กลับสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น โดยสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะมีการรับรอง และผู้บริโภคที่เอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อมจะเลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น หรือผู้บริโภคจะเลือกสินค้าและบริการที่ได้รับการรับรองว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นบ้าง เป็น customer value ที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคนี้ 

เมกะเทรนด์ Green เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าคนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างไรก็ตามหุ้นอาจจะมีการปรับตัวขึ้นลงแรงได้เนื่องจากนักลงทุนให้ความคาดหวังกับการเติบโตที่มาก ดังนั้นเราจึงแนะนำกองทุนประเภทต่าง ๆ ไว้แล้ว ว่าควรลงทุนเป็นส่วนเสริมของ Core (ลงทุนยาว ๆ หน่อย) หรือ Satellite (ใช้จังหวะการลงทุนเข้าช่วย) 

การสนับสนุนกองทุนประเภทนี้ก็มีส่วนช่วยให้บริษัทที่สร้างผลิตภัณฑ์รักษ์โลกออกมาให้มีออกมามากขึ้น ถือเป็นการสนับสนุนทางอ้อมนะ ให้เงินเติบโตไปกับโลกสีเขียวใบนี้

จัดกลุ่มกองทุน Clean Energy + Climate Change + ESG มีเยอะแค่ไหนก็ไม่งง

จัดกลุ่มกองทุน Clean Energy + Climate Change + ESG มีเยอะแค่ไหนก็ไม่งง

หวังว่าบทความนี้จะทำให้ใครหลายคนหายงงกับกองทุนรักษ์โลกประเภทต่าง ๆ 

อย่างไรก็ตามนี่เป็นการจัดกลุ่มกองทุนเบื้องต้นโดยเด็กการเงินเท่านั้น หากมีคำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะ สามารถบอกเราได้

เด็กการเงิน DekFinance

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/DekFinance101/posts/388301249854011


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | กองทุนอาจลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรมและประเทศที่ลงทุน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”

TSF2024