แชร์ไอเดียแบ่งเงิน DCA กองทุน SSF RMF ตั้งแต่ต้นปี (ด้วยสูตร 80:20)
เมื่อต้นปี เด็กการเงิน ได้แนะนำ Resolution หรือ 5 เป้าหมายการเงินที่เริ่มทำได้ง่าย ๆ ตั้งแต่ต้นปีมาฝากกันไปแล้ว วันนี้เราเลยขอนำ 1 ใน 5 เป้าหมาย มาแชร์ไอเดียให้เห็นว่าทำได้ง่าย และเริ่มทำเลยตั้งแต่ตอนนี้ได้จริง ๆ นั่นก็คือ เริ่ม DCA กองทุน SSF RMF ตั้งแต่ต้นปี
หลายคนจะเริ่มไปวางแผนลงทุน SSF RMF ช่วงปลายปี โดยลงเป็นเงินก้อน หรือแบ่งลงทุนได้เพียงไม่กี่ครั้ง แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราได้เริ่มเฉลี่ยต้นทุนตั้งแต่ต้นปีเลย
หลายคนบอกว่า อ้าว แล้วถ้ามีกองที่น่าสนใจมาช่วงปลายปีล่ะ จะทำอย่างไร? เราเข้าใจได้ เราเลยแนะนำว่าให้คำนวณออกมาเลยว่าปีนี้จะต้องซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีประมาณเท่าไร หลังจากนั้นให้แบ่งเงินเป็น 2 ก้อน โดยสัดส่วนแรก 80% และสัดส่วนที่สอง 20%
สัดส่วนแรก 80% นี่แหละที่เอามาหาร 12 เพื่อเฉลี่ยเป็นเงินลงทุนทุกเดือนไปเลย
ส่วน 20% นั้นเอาไว้ซื้อกองทุนที่น่าสนใจที่มาช่วงหลัง หรือเก็บไว้ซื้อช่วงที่ตลาดปรับตัวลงก็ได้
เมื่อคำนวณได้เเล้ว ก็อย่าลืมจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมด้วย ไม่หนักกอง growth หรือ thematic มากเกินไป เพื่อที่จะได้ไม่ตกใจ หากตลาดปรับตัวลงแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมานะ
วันนี้เราได้ทำตัวอย่างมาให้ดูด้วยว่าการลงทุน SSF RMF จะช่วยประหยัดภาษีได้อย่างไร
ตัวอย่าง มีรายได้ 4 เคส และสามารถหักลดหย่อนได้ตามนี้
  • หักค่าใช้จ่าย 100,000 บาท
  • หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 5% ของรายได้
  • ประกันสังคม 9,000 บาท

เคสที่ 1 เงินเดือน 40,000 บาท (รายได้ปีละ 480,000 บาท)

สมมติว่าซื้อ SSF ตามเกณฑ์ จะซื้อได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ นั่นก็คือ 144,000 บาท
นำเงิน 144,000 มาเเบ่งเป็น
  • 80% คิดเป็น 115,200 บาท นำไปลงทุน DCA จำนวน 12 เดือน สรุปแล้วจะ DCA เดือนละ 9,600 บาท
  • 20% คิดเป็น 28,000 บาท เก็บไว้ซื้อช่วงตลาดปรับตัวลง หรือซื้อกองทุน IPO ใหม่ที่สนใจ
ในส่วนของการประหยัดภาษี จากเดิมต้องจ่ายที่ 6,850 บาท หากซื้อกองทุนที่ 144,000 บาท จะลดภาษีไปได้ทั้งหมด นั่นก็คือไม่ต้องจ่ายเลย

เคสที่ 2 เงินเดือน 60,000 บาท (รายได้ปีละ 720,000 บาท)

สมมติว่าซื้อ SSF ตามเกณฑ์ จะซื้อได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ต้องไม่เกิน 200,00 บาท นั่นก็คือซื้อได้ที่ 200,000 บาท
นำเงิน 200,000 มาเเบ่งเป็น
  • 80% คิดเป็น 160,000 บาท นำไปลงทุน DCA จำนวน 12 เดือน สรุปแล้วจะ DCA เดือนละ 13,333 บาท
  • 20% คิดเป็น 40,000 บาท เก็บไว้ซื้อช่วงตลาดปรับตัวลง หรือซื้อกองทุน IPO ใหม่ที่สนใจ
ในส่วนของการประหยัดภาษี จากเดิมต้องจ่ายที่ 29,750 บาท หากซื้อกองทุนที่ 200,000 บาท จะเหลือภาษีที่ต้องจ่ายเพียง 9,000 บาท ประหยัดไปได้ 20,750 บาท

เคสที่ 3 เงินเดือน 80,000 บาท (รายได้ปีละ 960,000 บาท)

สมมติว่าซื้อ SSF RMF 400,000 บาท (โดยตามเกณฑ์จะซื้อได้อย่างละไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมิน: SSF เต็มที่ 200,000 บาท ส่วน RMF เต็มที่ 500,000 บาท รวมกับกองทุนสำรองเลี้ยชีพ และกองทุนบำนาญ ได้สูงสุด 500,000 บาท)
นำเงิน 400,000 มาเเบ่งเป็น
  • 80% คิดเป็น 320,000 บาท นำไปลงทุน DCA จำนวน 12 เดือน สรุปแล้วจะ DCA เดือนละ 26,667 บาท
  • 20% คิดเป็น 80,000 บาท เก็บไว้ซื้อช่วงตลาดปรับตัวลง หรือซื้อกองทุน IPO ใหม่ที่สนใจ
ในส่วนของการประหยัดภาษี จากเดิมต้องจ่ายที่ 63,950 บาท หากซื้อกองทุนที่ 400,000 บาท จะเหลือภาษีที่ต้องจ่ายเพียง 11,800 บาท ประหยัดไปได้ 52,150 บาท

เคสที่ 4 เงินเดือน 100,000 บาท (รายได้ปีละ 1,200,000 บาท)

สมมติว่าซื้อ SSF RMF 400,000 บาท (โดยตามเกณฑ์จะซื้อได้อย่างละไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมิน: SSF เต็มที่ 200,000 บาท ส่วน RMF เต็มที่ 500,000 บาท รวมกับกองทุนสำรองเลี้ยชีพ และกองทุนบำนาญ ได้สูงสุด 500,000 บาท)
นำเงิน 400,000 มาเเบ่งเป็น
  • 80% คิดเป็น 320,000 บาท นำไปลงทุน DCA จำนวน 12 เดือน สรุปแล้วจะ DCA เดือนละ 26,667 บาท
  • 20% คิดเป็น 80,000 บาท เก็บไว้ซื้อช่วงตลาดปรับตัวลง หรือซื้อกองทุน IPO ใหม่ที่สนใจ
ในส่วนของการประหยัดภาษี จากเดิมต้องจ่ายที่ 109,200 บาท หากซื้อกองทุนที่ 400,000 บาท จะเหลือภาษีที่ต้องจ่ายเพียง 38,150 บาท ประหยัดไปได้ 71,050 บาท
แชร์ไอเดียแบ่งเงิน DCA กองทุน SSF RMF ตั้งแต่ต้นปี (ด้วยสูตร 80:20)
ทั้งนี้การตัดสินใจที่จะลงทุนเท่าไรนั้น แต่ละคนก็ต้องพิจารณาถึงภาระของตัวเองด้วย ลงทุนเท่าที่เหมาะสม แต่ถ้าหากใครไม่มีภาระอะไร เราก็แนะนำให้ลงทุนให้ได้มากที่สุด และอย่าลืมว่านอกจาก SSF RMF แล้ว ก็สามารถลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เต็ม max ด้วย หลายบริษัทเปิดโอกาสให้เราเลือกหักเงินสะสมได้ตั้งแต่ 3%-15% เลย ถ้าใครไม่แน่ใจว่าของบริษัทตัวเองหักได้เท่าไหร่ ก็ลองสอบถาม HR ดูนะ

เด็กการเงิน DekFinance

ที่มาบทความ: https://www.facebook.com/DekFinance101/posts/337311931619610


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนในกองทุนรวมก่อนตัดสินใจลงทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”

TSF2024