Definit Quant Call (DQC) เป็นระบบแจ้งสัญญาณการลงทุน ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะสั้นถึงกลาง โดยอาศัยปัจจัยทางเทคนิคมากำหนดจุดซื้อและจุดขาย เพื่อสร้างเป็นกลยุทธ์การลงทุนอย่างเป็นระบบขึ้นมา โดยกลยุทธ์ทั้งหมดได้รับการทดสอบย้อนหลัง (backtesting) กับดัชนีที่ทาง Definit วิจัยและค้นคว้า จนได้ตัวชี้วัดของกลยุทธ์ (strategy) ที่สูงเพียงพอต่อการนำไปใช้จริง โดยทีม Definit จะให้ความสนใจกับตัวชี้วัดสองตัวเป็นหลัก
ตัวชี้วัดแรกคืออัตราการเทรดชนะ (win rate) ซึ่งคำนวณจากจำนวนครั้งที่เทรดแล้วได้กำไร หารด้วยจำนวนการเทรดทั้งหมด และตัวชี้วัดที่สอง คืออัตราส่วนกำไรต่อขาดทุน (profit factor) ซึ่งคำนวณจากผลกำไรทั้งหมด หารด้วยผลขาดทุนทั้งหมด ในระหว่างการทดสอบ backtesting โดยได้ใส่สมมติฐานค่าธรรมเนียมการซื้อและขายเข้าไปแล้ว เพื่อให้ win rate และ profit factor สะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด
ในปัจจุบันสินทรัพย์เป้าหมายของการทำระบบแจ้งเตือนสัญญาณดังกล่าว จะอยู่ในรูปแบบของดัชนี ที่มีกองทุนรวมในไทยนำเงินไปลงทุนหรือมีความเคลื่อนไหว (correlation) ใกล้เคียงกัน เพื่อให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมในแอปพลิเคชัน FINNOMENA ได้แก่
- ดัชนี: S&P 500, Russell 2000, Euro STOXX 50, NIKKEI 225, BSE SENSEX, SET50
- ETF: Invesco China Technology (CQQQ), Global X Cybersecurity (BUG), VanEck Digital Transformation (DAPP)
และทีมงาน Definit ยังคงพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ๆ บนดัชนี และสินทรัพย์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุนให้กับนักลงทุนของ Finnomena Funds โดยนักลงทุนของ Finnomena Funds จะได้รับการแจ้งเตือนเมื่อเกิดสัญญาณตามระบบที่ทดสอบไว้ ทั้งในจังหวะซื้อและจังหวะขายอย่างทันท่วงที
ตัวอย่างกลยุทธ์การลงทุนที่ถูกทดสอบแล้วว่าใช้งานได้จริงกับสินทรัพย์เป้าหมาย
Market Breadth
เป็นอินดิเคเตอร์สำหรับดัชนีที่ใช้ดูภาพรวมทั้งหมดของตลาดที่สนใจ หลักการของ market breadth คือการดูการเคลื่อนไหวของหุ้นในตลาดหรือตะกร้าดัชนีทั้งหมด เพื่อใช้เป็นอินดิเคเตอร์ในการบ่งบอกแนวโน้มการเคลื่อนไหว โดยไม่สนใจมูลค่าตลาดของหุ้นแต่ละตัว (ให้น้ำหนักหุ้นในตะกร้าดัชนีเท่ากันหมด ไม่ว่าจะตัวใหญ่หรือตัวเล็ก) วิธีการวัดค่า market breadth สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น
- นับจำนวนหุ้นที่ราคาปิดสูงกว่าราคาเปิดในวันนั้น ๆ เทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดในตะกร้า
- รวมมูลค่าซื้อขายของหุ้นที่ราคาปิดสูงกว่าราคาเปิดในวันนั้น ๆ เทียบกับมูลค่าซื้อขายรวม
- นับจำนวนหุ้นที่ราคาปิดอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย (MA) เทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมดในตะกร้า
Definit ใช้หลักการของ market breadth ช่วยจับจังหวะการเข้าซื้อในตลาดที่มีแนวโน้มระยะยาวเป็นขาขึ้น โดยใช้แนวคิด “A short-term downtrend in a long-term uptrend” นั่นคือเมื่อในระยะสั้น ภาพรวมของหุ้นในตะกร้าดัชนีมีการเคลื่อนไหวเป็นขาลง แต่ในภาพระยะยาวยังดูเป็นขาขึ้นอยู่ จะใช้จังหวะดังกล่าวเป็นการเข้าซื้อ ตัวอย่างตลาดที่สามารถใช้ market breadth เป็นอินดิเคเตอร์ได้เป็นอย่างดี คือตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งแนวโน้มระยะยาวเป็นขาขึ้นสม่ำเสมอ
Hull Moving Average
Hull Moving Average (HMA) คือรูปแบบหนึ่งของการทำเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ที่ถูกคิดขึ้นในปี 2005 โดย Alan Hull เพื่อลดความล่าช้าที่เกิดขึ้นในการคำนวณค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบปกติ โดยทีม Definit ใช้อินดิเคเตอร์ดังกล่าวในการกำหนดจุดเข้าซื้อและขายออก โดยพิจารณาการเคลื่อนไหวของเส้น HMA ว่าเป็นขาขึ้นหรือขาลง จากนั้นกำหนดจุดเข้าซื้อตามการปรับตัวเป็นขาขึ้นของเส้นค่าเฉลี่ย และกำหนดจุดขายออกตามการปรับตัวเป็นขาลงของเส้นค่าเฉลี่ย
RSI
เป็นวิธีการเทรดที่ทุก ๆ คนน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ทีม Definit ทำการทดสอบด้วยการใช้เส้น oversold เป็นจุดเข้าซื้อ และใช้เส้น overbought เป็นจุดขายออก โดยมีการปรับค่าพารามิเตอร์ของ RSI และปรับระดับ overbought-oversold ให้เหมาะสมกับแต่ละสินทรัพย์ แล้วสร้างเป็นกลยุทธ์การเทรดออกมา
WVF Reversion
Williams’ VIX Fix หรือ WVF เป็นอินดิเคเตอร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจำลองการเคลื่อนไหวของดัชนี VIX Index โดยใช้ข้อมูลกราฟราคาเพียงอย่างเดียว ทำให้สามารถสร้างอินดิเคเตอร์ที่ใช้ทดแทน VIX Index ได้ในทุก ๆ สินทรัพย์ (โดยปกติการใช้ VIX เป็นอินดิเคเตอร์ในการเทรด จะทำได้เพียงตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง S&P500 เท่านั้น)
PCADX
เป็นการผสมอินดิเคเตอร์สองตัว ได้แค่ Price Channel (PC) หรือกรอบราคาสูงสุด-ต่ำสุดเคลื่อนที่ กับ Average Directional Index (ADX) ซึ่งเป็นอินดิเคเตอร์ที่แสดงถึงความแข็งแรงของแนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคา ทีม Definit ใช้จุดที่ราคาทะลุกรอบ PC ด้านบน พร้อมกับ ADX ที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นจุดเข้าซื้อ เพราะเชื่อว่ากรอบราคากำลังจะเปลี่ยนจากกรอบแนวข้าง (sideway) เป็นกรอบขาขึ้น (uptrend) และใช้จุดที่ราคาทะลุกรอบ PC ด้านล่าง พร้อมกับ ADX ที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นจุดขายออก เพราะเชื่อว่ากรอบราคากำลังจะเปลี่ยนจากกรอบแนวข้างเป็นกรอบขาลง (downtrend)
CABB
หรือ Custom-Averaged Bollinger Band เป็นการสร้างกรอบการเทรดบน-ล่าง ด้วย Bollinger Band ซึ่งกรอบบน-ล่าง จะเกิดจากการคำนวณเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (moving average) แล้วบวกหรือลบด้วยค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของราคาสินทรัพย์ ทีม Definit ได้ทำการทดสอบ เพื่อหาวิธีการสร้างกรอบบน-ล่างที่เหมาะสม ทั้งปรับสมการการคำนวณค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ และปรับค่าคงที่ซึ่งเป็นตัวคูณของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อหากลยุทธ์การเทรดที่เหมาะสมของแต่ละสินทรัพย์ออกมา
CAKE
หรือ Custom-Averaged Keltner Channel เป็นการสร้างกรอบการเทรดบน-ล่าง ด้วย Keltner Channel ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ Bollinger Band ในมุมของการใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เป็นเส้นกลาง แต่ Keltner Channel จะทำการสร้างกรอบบน-ล่างด้วยค่า Average True Range (ATR) ซึ่งแตกต่างจาก Bollinger Band ที่ใช้ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยทีม Definit ได้ทำการทดสอบในรูปแบบเดียวกันกับสัญญาณ CABB เพื่อหากลยุทธ์การเทรดที่เหมาะสมสำหรับสินทรัพย์แต่ละตัว
โดยตัวอย่างผลการทดสอบ backtest ย้อนหลัง 10 ปี หรือตั้งแต่มีการเปิดเทรด ETF จะถูกแสดงในตารางด้านล่าง พร้อมกับคำอธิบายถึงหลักการแบบกระชับ
จะเห็นว่าแต่ละกลยุทธ์จะเหมาะสมกับสินทรัพย์ที่แตกต่างกันไป ด้วยธรรมชาติของการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์แต่ละชนิด ที่ตอบสนองกับปัจจัยต่าง ๆ ในระดับที่ไม่เท่ากัน ทีม Definit ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ เพื่อดูว่าสินทรัพย์แต่ละชนิดเหมาะสมกับกลยุทธ์การเทรดแบบไหน โดยวัดจากกลยุทธ์นั้น ๆ จะต้องสร้างจำนวนการเทรดที่มากพอในระยะเวลา backtest และสร้างกำไรให้กับนักลงทุนได้
จัดทำโดย บลป.เดฟินิท เพื่อบลน.ฟินโนมีนา จำกัด
สามารถเข้าถึงข้อมูลกองทุนและ Fund Fact Sheet ได้จาก Link บนชื่อกองทุน
คำเตือน
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผลตอบแทนในอดีตจากการ Backtest ไม่สามารถเป็นการันตีถึงผลตอบแทนในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | กองทุนรวมนี้ลงทุนกระจุกตัวในผู้ออกตราสารหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของ พอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | คำแนะนำการลงทุนนี้เป็นไปตามกรอบการพิจารณาของ FINNOMENA FUNDS ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนในกรอบระยะเวลาตามวัตถุประสงค์การลงทุนที่แตกต่างกันตามคำแนะนำ | บริษัทมิได้การันตีถึงผลตอบแทนที่จะได้จากคำแนะนำการลงทุนดังกล่าว มีความเสี่ยงที่ผลตอบแทนอาจไม่เป็นไปตามคาดหวัง หรือมีผลขาดทุนได้ | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299″