
เคยสงสัยไหมว่าผลตอบแทนจาก “หุ้นกู้” ต้องเสียภาษีอย่างไร? มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่เราต้องรู้? และมีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยให้เราวางแผนภาษีได้อย่างเหมาะสม? หากคุณเป็นนักลงทุนที่กำลังสนใจหรือลงทุนในหุ้นกู้อยู่แล้ว เรื่องของ “ภาษีหุ้นกู้” ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่คุณไม่ควรมองข้าม!
บทความนี้ขอพาคุณไปไข 10 ข้อสงสัยเกี่ยวกับ “ภาษีหุ้นกู้” ที่นักลงทุนทุกคนต้อง “เคลียร์ชัด” เพื่อให้นักลงทุนได้เข้าใจทุกแง่มุม
10 คำถาม “ภาษีหุ้นกู้” ที่นักลงทุนต้องรู้
Q1.) รายได้จากการลงทุนในหุ้นกู้ จัดอยู่ในประเภทเงินได้ใดสำหรับการยื่นภาษี และสามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้หรือไม่?
A: เป็นเงินได้ประเภทที่ 4 หรือ เงินได้ตามมาตรา 40(4) คือรายได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล และผลประโยชน์จากการลงทุนต่าง ๆ และไม่สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้
Q2.) หากเลือกยื่นภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(4) จะต้องรวมเงินได้จากเงินปันผลหุ้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้ทั้งหมดเพื่อยื่นภาษีใช่หรือไม่?
A: สามารถเลือกได้ 4 วิธี ดังนี้
- เลือกนำเฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) มาคำนวณภาษี โดยไม่นำเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข) มารวมคำนวณด้วยก็ได้
- เลือกนำเฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข) มาคำนวณภาษี โดยไม่นำเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) มารวมคำนวณด้วยก็ได้
- เลือกนำเงินได้ทั้งตามมาตรา 40(4)(ก) และ 40(4)(ข) มารวมคำนวณภาษีทั้งหมดก็ได้
- เลือกที่จะไม่นำเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) และ 40(4)(ข) มารวมคำนวณภาษีเลยก็ได้
Q3.) หากเกษียณอายุแล้ว หรือซื้อหุ้นกู้ให้บุตรที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ จะต้องยื่นภาษีจากรายได้หุ้นกู้หรือไม่?
A: เมื่อเกษียณอายุและมีการลงทุนในหุ้นกู้ ดอกเบี้ยที่ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำไปยื่นภาษีเงินได้ และในกรณีที่บิดามารดาซื้อหุ้นกู้ให้บุตร ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นถือเป็นเงินได้ของบุตร ซึ่งบุตรมีหน้าที่ต้องนำไปยื่นภาษีด้วยตนเอง
Q4.) ปัจจุบันมีรายได้จากหุ้นกู้อย่างเดียว จึงยื่นภาษีเพื่อขอคืน หากในอนาคตมีเงินได้ประเภทอื่นเพิ่มเติม และไม่ประสงค์จะยื่นภาษีสำหรับเงินได้จากหุ้นกู้อีกต่อไป สามารถทำได้หรือไม่? จะมีผลกระทบต่อการประเมินภาษีย้อนหลังหรือไม่? และสามารถเลือกยื่นภาษีเฉพาะบางส่วนของหุ้นกู้ได้หรือไม่?
A: สามารถทำได้ หากยื่นภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วน จะไม่มีผลต่อการประเมินภาษีย้อนหลัง อย่างไรก็ตาม จะไม่สามารถเลือกยื่นภาษีเฉพาะส่วนของดอกเบี้ยหุ้นกู้ได้ หากประสงค์จะยื่นภาษีสำหรับรายได้ประเภทนี้ จะต้องนำดอกเบี้ยหุ้นกู้ทั้งหมดมายื่น
Q5.) หากรวบรวมข้อมูลเงินได้จากดอกเบี้ยหุ้นกู้ในรูปแบบไฟล์ Excel ทางสรรพากรจะไม่เรียกหนังสือ 50 ทวิ จริงหรือไม่? หรือมีวิธีการใดที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องรวบรวมหนังสือรับรองดังกล่าว?
A: กรมสรรพากรมีระบบ “D My Tax” ซึ่งเป็นระบบที่รวบรวมข้อมูลรายได้ของผู้เสียภาษี เช่น เงินเดือน และเงินปันผล อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในระบบอาจยังไม่ครบถ้วนในบางครั้ง ดังนั้นเพื่อความถูกต้องและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ผู้มีเงินได้จึงควรเก็บรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด
Q6.) เอกสารหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องเก็บไว้กี่ปี?
A: 5 ปี
Q7.) ในกรณีสมรสโดยจดทะเบียน ควรบริหารจัดการเงินได้จากหุ้นกู้อย่างไร?
A: ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสถานการณ์เฉพาะของแต่ละคู่ โดยทั่วไปแล้ว อาจพิจารณาเปรียบเทียบผลประโยชน์ทางภาษีระหว่างการยื่นภาษีแบบแยกกันกับแบบรวมกัน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนทางภาษีที่เหมาะสมที่สุด
Q8.) สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียน การยื่นภาษีเงินได้จากหุ้นกู้แบบรวมหรือแยกยื่น มีความแตกต่างในด้านความคุ้มค่าทางภาษีหรือไม่?
A: ควรลองคำนวณภาษีทั้งแบบยื่นรวมและยื่นแยก เพื่อเปรียบเทียบว่าแบบใดให้ผลลัพธ์ด้านภาษีที่ดีกว่า
Q9.) หากในการยื่นภาษี ได้มีการแบ่งเงินได้ดอกเบี้ยให้คู่สมรสครึ่งหนึ่ง และตัวเองยื่นภาษีเพียงส่วนที่เหลือ กฎหมายกำหนดให้คู่สมรสต้องนำเงินได้ส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวไปรวมยื่นภาษีกับเงินได้ประเภทอื่นด้วยหรือไม่ หรือสามารถเลือกที่จะไม่ยื่นภาษีสำหรับเงินได้ส่วนนี้ได้?
A: สามารถแบ่งเงินได้จากดอกเบี้ยให้คู่สมรสและต่างฝ่ายต่างยื่นภาษีเฉพาะส่วนของตัวเองได้ โดยกฎหมายมิได้มีบทบัญญัติบังคับให้คู่สมรสต้องนำเงินได้จากดอกเบี้ยส่วนที่ได้รับไปรวมยื่นภาษี
Q10.) หากตัวเองมีเงินเดือนมากกว่าสามีซึ่งประกอบอาชีพค้าขาย สามารถนำหุ้นกู้และหุ้นของตัวเองให้สามียื่นภาษีแทนได้หรือไม่? และจะทำให้เสียภาษีน้อยลงหรือไม่?
A: สามารถทำได้ กฎหมายมิได้มีข้อห้ามในกรณีที่เป็นคู่สมรสจดทะเบียนสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย หากคำนวณแล้วว่าจะทำให้เสียภาษีน้อยลง
📌 สนใจรับคำแนะนำหุ้นกู้ สามารถติดต่อที่ผู้แนะนำการลงทุนของท่านได้แล้ววันนี้ หรือสามารถกรอกแบบฟอร์มรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับได้ที่ https://www.finnomena.com/bond/
“ชมรมหุ้นกู้” รายการที่จะพาผู้เชี่ยวชาญมาพูดคุยถึงข่าวในวงการหุ้นกู้ หุ้นกู้ออกใหม่ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นกู้ พร้อมคลีนิกหุ้นกู้ ให้นักลงทุนได้สอบถามความเห็นที่เป็นกลางตามหลักสากล และวิธีลงทุนในหุ้นกู้ได้อย่างถูกต้อง!
🔔 พบกันทุกวันอังคาร เวลา 19.00 น. ที่ Facebook และ Youtube ของ Finnomena
📌 Facebook Group ชมรมหุ้นกู้ https://www.facebook.com/groups/889975809457489/
🔴 รายการ ชมรมหุ้นกู้ ย้อนหลัง 👉 https://www.youtube.com/playlist?list=PLhZeb_wAvs-flbwxWxZGl0nY14jVSeDSG