daddy trader

บทความนี้ผมขอเริ่มด้วยการแสดงข้อมูลที่น่าสนใจให้ดูก่อนเป็นลำดับแรก หากผู้อ่านสนใจการสรุปผลและรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลสามารถอ่านต่อได้จากเนื้อหาในลำดับถัดไป

โดยบทความนี้ผมมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงมุมมองเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแสดงผลตอบแทนจากการลงทุนบนดัชนี SET เปรียบเทียบกับระยะเวลาในการลงทุนซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทรัพย์สินอื่น ๆ ได้ และผมเชื่อว่ามุมมองนี้จะช่วยให้ผู้อ่านปรับแต่งความคาดหวังเกี่ยวกับผลตอบแทนที่ควรจะได้รับจากการลงทุนได้ดีขึ้น

หมายเหตุ: ข้อมูลที่ใช้เป็นตัวแทนหุ้นไทย ใช้ข้อมูล SET TRI ในช่วงเวลาเริ่มต้นวันที่ 16/08/2011 ถึง 17/9/2024 จาก www.investing.com กรณีลงทุนหุ้นเป็นรายตัว หรือเลือกใช้ช่วงของข้อมูลที่แตกต่างจากบทความนี้ จะทำให้ผลลัพท์ที่ได้แตกต่างออกไป

ถือยาวน่าจะปิดประตูขาดทุน ถือสั้น ๆ คาดเดาผลตอบแทนได้ยาก

คนที่ลงทุนดัชนีหุ้นไทยแบบสุ่มวันเริ่มต้นซื้อแล้วถือนาน 10 ปี แทบทุกคนไม่น่าจะขาดทุน

คนที่ซื้อดัชนีหุ้นไทยในวันที่ 22/05/2013 แล้วถือนาน 10 ปี จะเป็นจังหวะที่โชคร้ายที่สุด โดยจะได้รับผลตอบแทน 1.4% ต่อปี แบบทบต้น

คนที่ซื้อดัชนีหุ้นไทยในวันที่ 04/10/2011 แล้วถือนาน 10 จะเป็นจังหวะที่โชคดีที่สุด โดยจะได้รับผลตอบแทน 10.4% ต่อปี แบบทบต้น

ค่าเฉลี่ยของข้อมูลผลตอบแทนแบบทบต้นจากการลงทุนดัชนีหุ้นไทยแล้ว ถือนาน 10 ปี อยู่ที่ 5.2% ต่อปี

คนที่ลงทุนดัชนีหุ้นไทยแบบสุ่มวันเริ่มต้นซื้อแล้วถือนาน 5 ปี ยังมีโอกาสขาดทุนได้ โดยมีความน่าจะเป็นที่ผลการลงทุนจะออกมาเป็นขาดทุนประมาณ 12% และมีความน่าจะเป็นที่ผลการลงทุนออกมาเป็นกำไรประมาณ 88% (สุ่มวันเริ่มต้นลงทุนมา 100 วัน น่าจะเจอกรณีที่ขาดทุน 12 ตัวอย่าง และกรณีที่กำไร 88 ตัวอย่าง)

คนที่ซื้อดัชนีหุ้นไทยในวันที่ 25/11/2014 แล้วถือนาน 5 ปี จะเป็นจังหวะที่โชคร้ายที่สุด โดยจะได้รับผลขาดทุน -5.3% ต่อปี แบบทบต้น

คนที่ซื้อดัชนีหุ้นไทยในวันที่ 04/10/2011 แล้วถือนาน 5 จะเป็นจังหวะที่โชคดีที่สุด โดยจะได้รับผลตอบแทน 17.1% ต่อปี แบบทบต้น

ค่าเฉลี่ยของข้อมูลผลตอบแทนแบบทบต้นจากการลงทุนดัชนีหุ้นไทยแล้ว ถือนาน 5 ปี อยู่ที่ 4.9% ต่อปี

คนที่ลงทุนดัชนีหุ้นไทยแบบสุ่มวันเริ่มต้นซื้อแล้วถือเพียง 2 ปี มีโอกาสขาดทุนสูง โดยมีความน่าจะเป็นที่ผลการลงทุนจะออกมาเป็นขาดทุนประมาณ 27% และมีความน่าจะเป็นที่ผลการลงทุนออกมาเป็นกำไรประมาณ 73% (สุ่มวันเริ่มต้นลงทุนมา 100 วัน น่าจะเจอกรณีที่ขาดทุน 27 ตัวอย่าง และกรณีที่กำไร 73 ตัวอย่าง)

คนที่ซื้อดัชนีหุ้นไทยในวันที่ 01/02/2018 แล้วถือเพียง 2 ปี จะเป็นจังหวะที่โชคร้ายที่สุด โดยจะได้รับผลขาดทุน -22.1% ต่อปี แบบทบต้น

คนที่ซื้อดัชนีหุ้นไทยในวันที่ 04/10/2011 แล้วถือเพียง 2 ปีจะเป็นจังหวะที่โชคดีที่สุด โดยจะได้รับผลตอบแทน 33.2% ต่อปี แบบทบต้น

ค่าเฉลี่ยของข้อมูลผลตอบแทนแบบทบต้นจากการลงทุนดัชนีหุ้นไทยแล้ว ถือนาน 2 ปี อยู่ที่ 5.5% ต่อปี

คนที่ลงทุนดัชนีหุ้นไทยแบบสุ่มวันเริ่มต้นซื้อแล้วถือเพียง 1 ปี  มีโอกาสขาดทุนสูง มีความน่าจะเป็นที่ผลการลงทุนจะออกมาเป็นขาดทุนประมาณ 34% และมีความน่าจะเป็นที่ผลการลงทุนออกมาเป็นกำไรประมาณ 66% (สุ่มวันเริ่มต้นลงทุนมา 100 วัน น่าจะเจอกรณีที่ขาดทุน 34 ตัวอย่าง และกรณีที่กำไร 66 ตัวอย่าง)

คนที่ซื้อดัชนีหุ้นไทยในวันที่ 25/02/2019 แล้วถือเพียง 1 ปี จะเป็นจังหวะที่โชคร้ายที่สุด โดยจะได้รับผลขาดทุน -35.5 % ต่อปี แบบทบต้น

คนที่ซื้อดัชนีหุ้นไทยในวันที่ 04/10/2011 แล้วถือเพียง 1 ปีจะเป็นจังหวะที่โชคดีที่สุด โดยจะได้รับผลตอบแทน 59.3% ต่อปี แบบทบต้น

ค่าเฉลี่ยของข้อมูลผลตอบแทนแบบทบต้นจากการลงทุนดัชนีหุ้นไทยแล้ว ถือนาน 1 ปี อยู่ที่ 6.76% ต่อปี

สรุปสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลการวิเคราะห์ข้อมูล คือ

1. ถ้าเราลงทุนได้นานพอในหุ้นไทย (จากตัวอย่าง คือ 10 ปี ขึ้นไป) พอมั่นใจได้ว่าโอกาสขาดทุนน่าจะน้อยมาก ๆ  ดังนั้นคำแนะนำที่บอกว่าซื้อหุ้นควรถือยาวเป็นคำแนะนำที่มีความน่าเชื่อถือได้ในมุมมองด้านความเสี่ยง

2. ถ้าระยะเวลาในการลงทุนยิ่งน้อยโอกาสที่ผลของการลงทุนจะออกมาเป็นขาดทุน จะยิ่งมีมากขึ้น เรื่อย ๆ เช่น ถือ 1 ปี, 2 ปี, 5ปี, 10ปี  โอกาสที่ผลการลงทุนจะออกมาเป็นขาดทุน คือ 34%, 27%, 12% และ 0% ตามลำดับ แปลว่ากรณีที่เราลงทุนในดัชนีหุ้นไทยแล้วประสบกับผลขาดทุน เป็นเหตุการณ์ที่ปกติสามารถเกิดขึ้นได้

3. การเริ่มลงทุนในจังหวะเวลาที่ต่างกัน และระยะเวลาในการลงทุนที่ต่างกัน ส่งผลให้ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้น ผู้ที่ลงทุนในทรัพย์สินเดียวกันแต่ได้ผลตอบแทนที่ต่างกันจึงเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเสมอ ๆ  จึงขอเสนอข้อแนะนำเพิ่มเติม คือ ก่อนที่จะใช้ตัวเลขผลตอบแทนจากแหล่งใดก็ตามในการอ้างอิง เพื่อตั้งความคาดหวังของผลตอบแทนจากการลงทุนของตนในอนาคต เราควรทำความเข้าใจถึงสมมติฐานของการได้มาซึ่งตัวเลขผลตอบแทนเหล่านี้ก่อน

สมมติฐานและวิธีในการวิเคราะห์ข้อมูล

1. ทดลองดึงข้อมูล SET TRI จากเว็บไซต์ investing.com จากตัวอย่างวันเริ่มต้นคือวันที่ 16/08/2011จนถึงวันที่ 17/09/2024 (ประมาณ13 ปี ย้อนหลัง)

2. เนื่องจากจังหวะในการเริ่มลงทุนและกลยุทธ์ของผู้ลงทุนแต่ละคนแตกต่างกัน จึงคาดเดาได้ยากว่าผู้ลงทุนแต่ละคนจะมีการลงทุนในวันไดบ้าง จึงทดลองหาข้อมูลผลตอบแทนจากการลงทุนจากวันเริ่มลงทุนที่แตกต่างกันที่จะเป็นไปได้ทั้งหมด

3. กำหนดวันทำการระยะเวลา 1 ปี คือ 260 วัน

4. นำราคาในอีก 260 วันข้างหน้า มาเปรียบเทียบ เพื่อหาผลตอบแทน 1 ปี

จะเห็นได้ว่า ถ้าเริ่มต้นวันที่ 16/08/2011 ผ่านไป 260 วันทำการ จะเป็นวันที่ 03/09/2012 เป็นข้อมูลตัวที่ 1
ถ้าเริ่มต้นวันที่ 17/08/2011 ผ่านไป 260 วันทำการ จะเป็นวันที่ 04/09/2012 เป็นข้อมูลตัวที่ 2
ถ้าเริ่มต้นวันที่ 18/08/2011 ผ่านไป 260 วันทำการ จะเป็นวันที่ 05/09/2012 เป็นข้อมูลตัวที่ 3

จากข้อมูลชุดที่ดาวน์โหลดเริ่มต้นวันที่ 26/08/2011 จนถึง 17/09/2024 ถ้าต้องการเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการถือครอง 1 ปี จะได้ตัวเลขข้อมูลผลตอบแทน 2,934 ตัว

5. กรณีต้องการระยะเวลาการถือครอง 2 ปี 5 ปี 10 ปี เลือกใช้วันทำการเท่ากับ 520 วัน 1,300 วัน และ 2,600 วันตามลำดับเพื่อจับคู่ตามขั้นตอนในข้อที่ 3 และคำนวณผลตอบแทนด้วยสูตรคำนวณผลตอบแทนรายปีแบบทบต้น

6. นำข้อมูลผลตอบแทนที่ได้มาคำนวณ ค่าทางสถิติตามมุมมองที่สนใจ

7. ทดลองวาดกราฟการแจกแจงความถื่ แล้วพบว่า ข้อมูลผลตอบแทนจากระยะเวลาถือคอรง 1 ปี และ2 ปี ที่มีจำนวนข้อมูลมาก กราฟแสดงความถี่ มีรูปร่างคล้าย ๆ มีการกระจายตัวแบบ Normal Distribution แต่กกราฟแจกแจงความถี่ของข้อมูลผลตอบแทนระยะเวลาถือครอง 5 ปี และ 10 ปี มีจำนวนน้อย รูปร่างของกราฟยังไม่ชัดเจนมากนัก

8. จากข้อมูลข้อ 6 จึงตั้งสมมติฐานว่าข้อมูลผลตอบแทนมีการกระจายตัวแบบ Normal Distribution โดยเชื่อว่าถ้าข้อมูลมากพอข้อมูลผลตอบแทนระยะเวลาการถือครอง 5 ปี และ 10 ปี มีมากพอ ก็น่าจะมีการกระจายตัวแบบ Normal Distribution ด้วยเช่นเดียวกัน จากนั้นลองวาดกราฟการกระจายตัวด้วยโปรแกรม Excel ได้ตามรูป

9. ตัวเลขผลตอบแทนที่คำนวณได้แต่ละตัว เป็นผลตอบแทนจากการลงมือซื้อเพียงครั้งเดียว จากวันเริ่มต้นลงทุนและสิ้นสุด ณ วันที่ครบกำหนดถือครอง เท่านั้น

ที่มาในการทดลองวิเคราะห์ข้อมูลด้วยมุมมองตามบทความ

การทดลองวิเคราะห์ข้อมูลด้วยมุมมองตามบทความนี้ มาจากการที่ผมพบว่ามีผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อยประสบกับเหตุการณ์ได้รับผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือไม่เป็นไปตามตัวเลขผลตอบแทนที่ตนเองนำมาใช้อ้างอิง หรือนำผลตอบแทนของตนเองไปเทียบกับบุคคลอื่นแล้วเกิดผลที่แตกต่างกันมาก ส่งผลต่อความมั่นใจในการลงทุน

ผมจึงลองตั้งสมมติฐานว่า ปัจจัยด้านกลยุทธ์ที่ผู้ลงทุนเลือกที่แตกต่างกัน ระยะเวลาเริ่มลงทุนแตกต่างกัน และระยะเวลาในการถือครองที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่แตกต่างกันของผู้ลงทุนแต่ละคน จะส่งผลหรือไม่อย่างไรต่อผลตอบแทนที่จะได้รับ ภายหลังการทดสอบข้อมูลด้วยมุมมองนี้ ช่วยสนับสนุนให้ผมสามารถอธิบายความแตกต่างของผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนแต่ละคนได้รับได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนไอเดียของประโยชน์จากการลงทุนตราสารทุนระยะยาวที่มากพอ ในด้านการลดความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม การทดลองครั้งนี้ผมมีข้อสังเกตที่สำคัญ คือ ผลการทดลองในครั้งนี้เป็นการนำข้อมูลในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ มาทดสอบ การเลือกช่วงข้อมูลที่ยาวขึ้น หรือสั้นลง หรือช่วงของข้อมูลที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลให้ผลการทดลองแตกต่างกัน และข้อมูลของผลตอบแทนจากการลงทุนโดยใช้ข้อมูลดัชนีซึ่งเป็นตัวแทนของตลาดรวม ไม่น่าจะนำมาใช้ประโยขน์ในการอ้างอิงไปยังผลตอบแทนจากการลงทุนของหุ้นรายตัว

Daddy Trader


ที่มาของข้อมูล: คลิกดาวน์โหลดไฟล์เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่