ในการวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิคเพื่อการซื้อขายหุ้นนั้น ระดับราคาที่เป็นแนวรับ-แนวต้านเป็นข้อมูลจากกราฟที่มีความสำคัญอย่างมากในการหาจังหวะเทรดหุ้นที่ดี ผมเชื่อว่าแทบทุกคนต้องเคยได้ยินคำว่า “แนวรับ-แนวต้าน” มาก่อนอย่างแน่นอน แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าแนวรับ-แนวต้านที่นักเทคนิคพูดกัน
1 คืออะไร
2 เกิดขึ้นได้อย่างไร
3 มีหน้าตากราฟเป็นแบบไหน
4 จะนำแนวรับ-แนวต้านไปใช้งานเพื่อซื้อขายหุ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร
เนื้อหาในตอนนี้เขียนขึ้นมาเพื่อแนะนำให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจที่มาของการเกิดแนวรับ-แนวต้าน สามารถวิเคราะห์ระดับราคาที่เป็นแนวรับ-แนวต้านได้ด้วยตัวเอง และทำความเข้าใจวิธีการใช้งานเครื่องมือชนิดนี้ได้อย่างถูกต้อง
แนวรับ-แนวต้านในมุมมองด้านเทคนิค
จากสมมติฐานการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น สาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นมีการเคลื่อนไหวขึ้นหรือลง เกิดจากความแตกต่างระหว่างความต้องการซื้อหุ้นและความต้องการขายหุ้นของคนใจตลาด ถ้าช่วงใดความต้องการซื้อหุ้นของคนในตลาดมากกว่าความต้องการขายหุ้นจะส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น แต่ถ้าช่วงใดมีความต้องการขายของคนในตลาดมากว่าความต้องการซื้อราคาหุ้นก็จะปรับตัวลง
แนวรับ=ระดับราคาที่มีความต้องการซื้อมาก
คำนิยามของแนวรับ คือ ระดับราคาที่ต่ำกว่าราคาในปัจจุบัน ที่คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการซื้อเข้ามาอย่างมากหรือมีคนสนใจซื้อเป็นจำนวนมาก ถ้าความต้องการซื้อมีเข้ามาที่ระดับราคาที่เป็นแนวรับจำนวนมากพอ ก็จะสามารถหยุดไม่ให้ราคาปรับตัวลดต่ำลงไปกว่าระดับราคาแนวรับ และ“อาจจะ”ทำให้ราคาที่กำลังปรับตัวลดลงเกิดการกลับตัวจากขาลงเป็นขาขึ้น โดยการหาแนวรับนิยมหาตอนที่ราคากำลังปรับตัวลดลง
รูปตัวอย่างอธิบายนิยามของแนวรับเป็นระดับราคาที่มีคนต้องการซื้อหุ้นเป็นจำนวนมาก
แนวรับเป็นความหมายในเชิงจิตวิทยา
ลองจิตนาการตามตัวอย่างนี้ดูครับ….
มีหุ้นตัวหนึ่งกำลังปรับตัวลดลง และเรากำลังจด ๆ จ้อง ๆ สนใจอยากซื้อหุ้นตัวนี้ ปรากฎว่าหุ้นตัวนี้ปรับตัวลดลงมาต่ำสุดที่ราคา 8 บาท แล้วราคากลับดีดตัวสูงขึ้น โดยที่เรายังไม่ทันได้ซื้อหุ้นตัวนั้นเลย และราคาก็ยังปรับตัวสูงขึ้นไปอีกจนทำใจซื้อไม่ลง สมมุติว่าเวลาต่อมาราคาหุ้นกลับปรับตัวลดลงมาแถว ๆ 8 บาทอีกครั้ง สิ่งที่คุณอยากจะทำคืออะไร ?
จากตัวอย่างข้างต้นคนส่วนใหญ่มักจะตอบว่า เมื่อราคาหุ้นตัวนี้ปรับตัวลดลงมาใกล้ ๆ กับ 8 บาทอีกครั้ง ก็จะมีความรู้สึกอยากซื้อหุ้นตัวนี้ เนื่องจากครั้งที่แล้วเราพลาดโอกาสซื้อหุ้นตัวนี้ไป แถมราคานี้ก็เป็นราคาที่ต่ำที่สุดก่อนหน้านี้อีกด้วย จึงไม่อยากจะพลาดโอกาสในการซื้ออีกเป็นครั้งที่ 2
ดังนั้นถ้าราคาหุ้นกลับลดต่ำลงมาที่ 8 บาทจริง ก็จะมี “ความต้องการซื้อ” เป็นจำนวนมากเหมือนกับมีกำแพงหนา ๆ ที่มากั้นไม่ให้ระดับราคาลดต่ำลงไปกว่านี้ ในเชิงจิตวิทยานักเทคนิคจึงสรุปว่าที่ระดับราคาประมาณ 8 บาทเป็นระดับราคาที่เราเรียกว่า แนวรับ
ความจริงแล้วไม่ใช่มีคนกลุ่มเดียวที่พลาดการซื้อหุ้นที่ราคา 8 บาทในครั้งก่อน แต่ยังมีอีกกลุ่มคนหนึ่งคือ พวกที่ขายหุ้นไปราคากแถว ๆ 8 บาทในครั้งที่แล้ว เมื่อขายหุ้นออกไปแล้วราคากลับปรับตัวสูงขึ้น คนกลุ่มนี้ก็จะมีความรู้สึกว่าต้วเองขายหุ้นราคาถูกเกินไป เมื่อราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงมาที่บริเวณใกล้ 8 บาทอีกครั้ง ก็จะเป็นระดับราคาที่กลุ่มนี้มีโอกาสได้ซื้อหุ้นคืน
ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มคนที่ยังไม่เคยสนใจ หรือไม่เคยซื้อขายหุ้นตัวนี้มาก่อน แต่เพิ่งเริ่มเข้ามาสนใจหุ้นตัวนี้ในเวลาต่อมา ก็จะใช้ข้อมูลของราคาหุ้นในอดีต คือ ระดับราคาใกล้ ๆ บริเวณ 8 บาท เป็นราคาที่น่าสนใจเข้าซื้อหุ้นได้อีก
แนวต้าน=ระดับราคาที่มีคนต้องการขายมาก
แนวต้านในมุมมองของการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะมีความหมายกลับกันกับแนวรับ ซึ่งคำนิยามของแนวต้าน คือ ระดับราคาที่สูงกว่าราคาปัจจุบัน ที่คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการขายเข้ามาอย่างมาก หรือมีคนสนใจขายเป็นจำนวนมาก ถ้าความต้องการขายมีเข้ามาจำนวนมากพอจะสามารถหยุดไม่ให้ราคาเพิ่มขึ้นไปมากกว่าระดับราคาที่เป็นแนวต้าน และ“อาจจะ”ทำให้ราคาที่กำลังปรับตัวสูงขึ้นกลับตัวจากขาขึ้นเป็นขาลง โดยการหาแนวต้านนิยมหาตอนที่ราคากลับปรับตัวสูงขึ้น
รูปตัวอย่างอธิบายนิยามของแนวต้านเป็นระดับราคาที่มีคนต้องการขายเป็นจำนวนมาก
แนวต้านก็เป็นความหมายเชิงจิตวิทยา
ลองจินตนาการกันอีกสักรอบ…
ถ้าเราถือซื้อหุ้นตัวหนึ่งได้ในราคา 10 บาท หลังจากนั้นราคาขยับปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ จนหยุดที่ราคา 15 บาท แล้วราคาก็กลับตัวลดต่ำลง โดยที่เรายังไม่ได้ขายหุ้นออกไป สมมติว่าถ้าหุ้นมีการปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ไปถึงบริเวณใกล้ ๆ 15 บาท สิ่งที่คุณอยากจะทำคืออะไร?
จากคำถามข้างต้นคำตอบของคนส่วนใหญ่ คือ ขายหุ้นออกไปที่ระดับราคา 15 บาทหรือต่ำกว่า 15 บาทเล็กน้อยก็ยังอยากขายอยู่ เพราะเราเคยพลาดโอกาสในการขายหุ้นตอนที่ขึ้นไปที่ 15 บาทในครั้งแรก
ดังนั้นก็จะมีคนจำนวนมากจะแห่กันออกมาเทขายหุ้นที่ระดับราคานี้ ทำให้เกิด “ความต้องการขาย”เป็นจำนวนมาก ซึ่งเปรียบเสมือนกับเป็นกำแพงหนา ๆ ที่พยายามกั้นไม่ไห้ราคาสูงขึ้นไปกว่าระดับราคานี้เราจึงสรุปว่าที่ระดับราคาประมาณ 15 บาทเป็นระดับราคาที่เราเรียกว่า แนวต้าน
ความจริงแล้วไม่ใช่มีคนกลุ่มเดียวที่พลาดการขายหุ้นที่ราคา 15 บาทในครั้งก่อน แต่ยังมีอีกกลุ่มคนหนึ่งคือ พวกที่ซื้อหุ้นไปในราคากแถว ๆ 15 บาทในครั้งก่อนหน้า เมื่อซื้อหุ้นแล้วราคากลับปรับตัวลดลง คนกลุ่มนี้ก็จะมีความรู้สึกว่าต้วเองซื้อหุ้นแพง หรือติดดอยนั่นเอง เมื่อราคาหุ้นมีการปรับตัวขึ้นมาที่บริเวณใกล้ 15 บาทอีกครั้ง ก็จะเป็นระดับราคาที่กลุ่มคนเหล่านี้อยากจะขายหุ้นทิ้ง เพราะเป็นราคาที่ไม่ขาดทุนแล้ว
แนวรับ-แนวต้าน มีหน้าตากราฟเป็นยังไง ?
1 จุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดก่อนหน้า (Previous High & Previous Low)
2 เส้นแนวโน้ม เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Trend Line, Moving Average)
3 ระดับราคาที่มีการเคลื่อนที่ในแนวราบ (Horizontal Consolidation Region)
4 ตัวเลขกลม ๆ (Round Number)
5 สัดส่วน Fibonacci (Fibonacci Ratio)
รูปแสดงกราฟ 5 แบบที่นักเทคนิคพิจราณาให้เป็นแนวรับ-แนวต้าน
1. จุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดก่อนหน้า (PREVIOUS HIGH & PREVIOUS LOW)
จุดสูงสุดก่อนหน้า Previous High และจุดต่ำสุดก่อนหน้า Previous Low (L) คือ ระดับราคาที่เป็นราคาสูงสุด หรือระดับราคาที่เป็นราคาต่ำสุดที่อยู่ในกราฟจากการเคลื่อนที่ของราคาในอดีต ทั้งสองระดับราคาซึ่งเป็นจุดสำคัญที่เราจะพิจารณาเป็นแนวรับหรือแนวต้าน
ลองจินตนาการการเคลื่อนที่ของราคาในหัวข้อที่แล้วอีกครั้ง จะเห็นได้ว่าเมื่อราคากลับขึ้นไปใกล้บริเวณจุดสูงสุดเดิมก่อนหน้าอีกครั้ง ในครั้งนี้คนส่วนใหญ่ก็จะเกิดความคิดว่าราคาจะปรับตัวลดลงไปอีกเหมือนครั้งที่แล้วจึงมีแรงเทขายหุ้นออกมาเป็นจำนวนมากที่ระดับราคานี้ ทำให้จุดสูงสุดก่อนหน้าจะเป็นระดับราคาที่เราจะพิจารณาให้เป็นแนวต้าน
แต่ถ้าเมื่อราคาปรับตัวลงมาถึงจุดต่ำสุดก่อนหน้านี้จะมีหลายคนในตลาดจะคิดว่าเป็นราคาถูกแล้ว และคิดว่าราคาจะกลับขึ้นไปอีกครั้ง ก็น่าจะมีแรงซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากที่ระดับราคานี้ ทำให้จุดต่ำสุดก่อนหน้าจะเป็นระดับราคาที่เราพิจารณาให้เป็นแนวรับ
รูปอธิบายเหตุผลที่จุดสูงสุดเดิมทำหน้าที่เป็นแนวต้าน และจุดต่ำสุดเดิมทำหน้าที่เป็นแนวรับ
รูปตัวอย่างจุดต่ำสุดก่อนหน้าทำหน้าที่เป็นแนวรับ ความต้องการซื้อที่เข้ามามากที่แนวรับสามารถทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น
รูปตัวอย่างจุดสูงสุดก่อนหน้าทำหน้าที่เป็นแนวต้าน ความต้องการขายที่เข้ามามากที่แนวต้านสามารถทำให้ราคาปรับตัวลดลง
2. เส้นแนวโน้ม (TREND LINE)
เหตุผลในการพิจารณาเส้นแนวโน้มเป็นแนวรับหรือแนวต้าน เนื่องจากเมื่อเราลากเส้นแนวโน้มขึ้นมาได้ 1 เส้นไม่ว่าจะเป็นเส้นแนวโน้มขาขึ้น หรือเส้นแนวโน้มขาลงก็ตาม ตลอดช่วงที่ลากเส้นแนวโน้มขึ้นมาได้จะไม่มีช่วงไหนเลย หรือ”แทบ”จะไม่มีช่วงไหนเลยที่ราคาข้ามเส้นแนวโน้ม
แปลความหมายได้ว่าเส้นแนวโน้มที่ลากขึ้นมาได้ทำการแบ่งพื้นที่กราฟออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน คือส่วนที่มีกราฟราคาถูกวาดอยู่ กับส่วนที่ไม่มีกราฟราคา เราจึงเชื่อว่าถ้าแนวโน้มจะยังคงทิศทางขาขึ้นหรือขาลงแบบเดิมอยู่ ราคาไม่ควรจะตัดข้ามเส้นแนวโน้ม และถ้าราคาถูกตัดข้ามผ่านเส้นแนวโน้มไปได้ ก็เป็นสัญญาเตือนว่าทิศทางของราคาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากทิศทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
หากสนใจรายละเอียดวิธีการลากเส้นแนวโน้น แนะนำให้กลับไปอ่านบทความ “Trend Line ที่ลากกันอยู่ ถูกหรือไม่”
ดังนั้นในช่วงแนวโน้มมีทิศทางขาขึ้นเมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลงมากใกล้ ๆ บริเวณเส้นแนวโน้มขาขึ้น หากทิศทางของราคาหุ้นยังยังคงทิศทางเป็นขาขึ้นเหมือนเดิม ก็ควรจะเป็นระดับราคาที่หลายคนให้ความสนใจอยากจะซื้อหุ้น
ในทางกลับกันในช่วงแนวโน้มมีทิศทางขาลงเมื่อราคาหุ้นมีการขยับตัวสูงขั้นเข้าใกล้บริเวณเส้นแนวโน้มขาลง หากทิศทางของราคาหุ้นยังคงทิศทางเป็นขาลงเหมือนเดิม ก็ควรจะมีคนให้ความสนใจอยากขายหุ้นตัวนั้นเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน
ในมุมมองของนักเทคนิค เมื่อราคาอยู่ในทิศทางแนวโน้มขาขึ้น จะพิจารณาระดับราคาบริเวณใกล้ ๆ กับเส้นแนวโน้มขาขึ้นเป็นแนวรับ ถ้าราคามีการปรับตัวลงมาใกล้บริเวณเส้นแนวโน้มขาขึ้น ก็จะเริ่มหาจังหวะในการลงมือซื้อหุ้น โดยการดูมีสัญญาณทางเทคนิคอื่น ๆ ประกอบเพิ่มเติม เพื่อสรุปว่ามีแรงซื้อเข้ามาและจะทำให้ราคากลับตัวขึ้นได้หรือไม่
ในทางตรงกันข้าม เมื่อราคาอยู่ในทิศทางแนวโน้มขาลง ระดับราคาบริเวณเส้นแนวโน้มขาลงก็จะถูกพิจารณให้เป็นแนวต้านเพื่อหาจังหวะในการลงมือขายหุ้น
รูปที่ตัวอย่างที่เส้นแนวโน้มขาขึ้นทำหน้าที่เป็นแนวรับ
รูปตัวอย่างที่เส้นแนวโน้มขาลงทำหน้าที่เป็นแนวต้าน
เส้นแนวโน้มไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นตรงแต่เพียงอย่างเดียว เราอาจวาดเส้นแนวโน้มที่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งก็ได้ โดยใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัด (Indicators) ประเภทหนึ่ง โดยจะเห็นได้ว่าถ้าเราเลือกค่าตัวแปรที่เหมาะสมของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่สำหรับหุ้นแต่ละตัว เมื่อราคาเคลื่อนที่เข้ามาใกล้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่นั้น ๆ จะสามารถพิจารณาให้เป็นแนวรับหรือแนวต้านได้
รูปที่อย่างการใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ EMA 50 วัน เป็นเส้นแนวโน้มแบบโค้ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นแนวรับในช่วงแนวโน้มขาขึ้น
รูปตัวอย่างการใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ EMA 25 วัน เป็นเส้นแนวโน้มแบบโค้ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นแนวต้านในช่วงแนวโน้มขาลง
3. ระดับราคาที่มีการเคลื่อนที่ในแนวราบ (HORIZONTAL CONSOLIDATION REGION : HCR)
การที่กราฟแสดงเป็นรูปแบบของระดับราคาที่มีการเคลื่อนที่ในแนวราบ (Horizontal Consolidation Region : HCR) จะเป็นกราฟที่มีการซื้อขายกันในช่วงราคาแคบ ๆ แต่กินระยะเวลานาน สามารถแปลความหมายจากกราฟได้ว่า ในอดีตน่าจะมีคนจำนวนมากที่เคยซื้อ หรือเคยขายหุ้นในราคานี้เป็นจำนวนมาก
ถ้าราคาในอดีตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับราคาที่ทำกราฟเป็นรูปแบบ HCR จะต้องมีคนจำนวนไม่น้อยที่เคยขายหุ้นตัวนี้ไปในช่วงที่ราคาเคลื่อนที่ในกรอบแคบ ๆ ที่กินระยะเวลานานนั้น แล้วมีความรู้สึกเสียดาย เพราะว่าตัวเองขายหุ้นไปในราคาถูก คิดว่าตัวเองน่าจะถือหุ้นตัวนั้นไว้
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนในตลาดกลุ่มอื่นอีก เช่น กลุ่มคนที่เคยซื้อหุ้นได้ที่ระดับราคานี้อาจจะมีความรู้สึกว่าครั้งที่แล้วหุ้นตัวนี้จำนวนน้อยเกินไป กลุ่มคนที่ไม่ได้ซื้อหรือขายหุ้นตัวนี้ และไม่มีหุ้นอยู่ในมือ แต่กำลังจด ๆ จ้อง ๆ ต้องการซื้อหุ้นตัวนี้ แต่ยังไม่ทันได้ซื้อ ราคาหุ้นกลับปรับตัวขึ้นไปเสียก่อน จะได้ข้อมูลว่าระดับราคาบริเวณ HCR เป็นราคาที่น่าสนใจเข้าซื้อ
ดังนั้นหลังจากที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นไปจาก HCR และหลังจากนั้นมีการปรับตัวลดลงมาใกล้ๆบริเวณ HCR ในอดีตอีกครั้ง ก็จะมีกลุ่มคนที่ยกตัวอย่างข้างต้นให้ความสนใจซื้อหุ้นเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการพิจารณา HCR เป็นแนวรับถ้าในอดีตราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นจาก HCR
รูปตัวอย่างที่ HCR ทำหน้าที่เป็นแนวรับ
ในทางตรงข้ามกรณีที่พิจารณา HCR เป็นแนวต้าน ถ้าราคาในอดีตมีการปรับตัวลดลงจาก HCR จะต้องมีคนจำนวนไม่น้อยที่ซื้อหุ้นตัวนี้ไปในช่วงที่ราคาเคลื่อนที่ในกรอบแคบๆ เป็นเวลานาน กลุ่มคนเหล่านี้จะขาดทุนจากการซื้อหุ้น และจะมีความรู้สึกว่าตัวเองซื้อหุ้นผิดจังหวะในราคาที่แพงเกินไป และก็ยังมีกลุ่มคนอื่น ๆ อีกในตลาดด้วย เช่น กลุ่มคนที่เคยขายหุ้นได้ที่ระดับราคานี้บางส่วนแต่ยังขายไม่หมดก็จะมีความรู้สึกว่าครั้งที่แล้วขายหุ้นจำนวนน้อยเกินไป
ดังนั้นหลังจากที่ราคาปรับตัวลดลงจาก HCR และหลังจากนั้นมีการปรับตัวขึ้นมาใกล้ ๆ บริเวณ HCR ในอดีตอีกครั้ง ก็จะมีกลุ่มคนที่ยกตัวอย่างข้างต้นให้ความสนใจเข้ามาขายหุ้นเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการพิจารณา HCR เป็นแนวต้านถ้าในอดีตราคามีการปรับตัวลดลงจาก HCR
รูปตัวอย่างที่ HCR ทำหน้าที่เป็นแนวต้าน
4. ตัวเลขกลม ๆ (ROUND NUMBER)
คำถาม : เวลาคุณต้องการซื้อหุ้นหรือเวลาที่คุณต้องการขายหุ้น คุณจะตั้งราคาไว้ที่ราคาใดต่อไปนี้ ระหว่าง 70 บาท หรือ 69.75 บาท หรือ 70.25 บาท
คำตอบ : คนส่วนใหญ่มักจะตั้งราคาที่อยากจะซื้อ หรือ ราคาที่อยากจะขายไว้ที่ตัวเลขกลม ๆ คือ 70 บาท ด้วยกันทั้งนั้น
ราคาเป็นตัวเลขกลม ๆ ที่ลงท้ายด้วย 0 เป็นจุดที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจอยากลงมือซื้อหุ้นหรือขายหุ้น ทำให้ระดับราคาบริเวณตัวเลขกลม ๆ มีนัยสำคัญใช้พิจารณาเป็นแนวรับ-แนวต้านเชิงจิตวิทยาด้วยเช่นกัน
รูปตัวอย่างกราฟหุ้นที่ราคามีการกลับทิศทางที่ตัวเลขกลม ๆ
5. สัดส่วนฟิโบนาชี่ (FIBONACCI RATIO)
การวิเคราะห์ Fibonacci Ratio มีวัตถุประสงค์เพื่อหาระดับราคาที่เป็นแนวรับ-แนวต้าน เป็นเครื่องมือที่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ตามหลักจิตวิทยา ว่าทำไมระยะการเคลื่อนที่ขึ้นลงของกราฟราคาหุ้นจึงสามารถวัดเป็นสัดส่วน Fibonacci ได้ (แต่บางสำนักก็บอกว่าพอมีการสร้างเครื่องมือ Fibonacci Ratio ขึ้นมาให้ใช้ในการวิเคระาห์กราฟ แล้วพอมีคนนำไปใช้กันเยอะ ก็เลยเป็นระดับราคาที่มีคนจำนวนมากให้ความสนใจนั่นเอง)
จากการสังเกตพบว่า บ่อยครั้งเวลาที่ราคามีพักฐานในช่วงแนวโน้มขาขึ้นหรือ Rebound ในช่วงแนวโน้มขาลง มักจะจบการพักฐาน หรือจบการ Rebound ที่สัดส่วน Fibonacci สัดส่วนใดสัดส่วนหนึ่งได้แก่
0
0.382 (38.2%)
0.500 (50%)
0.618 (61.8%)
0.764 หรือ 0.786 (76.4% หรือ 78.6%)
1.000 (100%)
นักเทคนิคจึงมีการนำ Fibonacci Ratio มาใช้หาระดับราคาที่เป็นแนวรับ-แนวต้าน นั่นเอง
ในหัวข้อนี้ผมจะแนะนำการวัด Fibonacci Ratio ด้วยวิธี Retracement (การปรับฐาน) ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในการหาแนวรับตอนตลาดพักฐานในช่วงแนวโน้มขาขึ้น และหาแนวต้านตอนตลาด Rebound ในช่วงแนวโน้มขาลง
ตัวอย่างภาพแสดงกรณีที่กราฟหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาขึ้น เมื่อราคาหุ้นสิ้นสุดการปรับฐานระยะทางมักจะเป็นสัดส่วน Fibonacci ของระยะทางขาขึ้นก่อนหน้า สัดส่วนใดสัดส่วนหนึ่ง ระหว่าง 38.2% , 50% , 61.8% หรือ 76.4%
ตัวอย่างภาพแสดงกรณีที่กราฟหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาลง เมื่อราคาหุ้นสิ้นสุดการ Rebound ระยะทางมักจะเป็นสัดส่วน Fibonacci ของระยะทางขาลงก่อนหน้า สัดส่วนใดสัดส่วนหนึ่ง ระหว่าง 38.2% , 50% , 61.8% หรือ 76.4%
รูปตัวอย่างแสดงกราฟหุ้นที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้น จะเห็นได้ว่าช่วงที่ราคาหุ้นลดลงเป็นการปรับฐาน (สีขาว) จะมีส่วนสูงหรือระยะทางคิดเป็น 0.500 (50%) ของช่วงที่ราคาหุ้นมีการปรับตัวสูงชึ้นก่อนหน้า (สีเขียว) ซึ่งคิดเป็นส่วนสูงหรือระยะทาง 1.000 (100%)
หมายเหตุ : สัดส่วน Fibonacci ทุก ๆ ค่าไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นแนวรับ-แนวต้านเสมอไป เช่น เมื่อราคาปรับฐานลงมาถึงสัดส่วน 0.382 ที่ระดับราคานี้ไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นแนวรับก็ได้ หรือเมื่อราคาปรับฐานลงมาถึงสัดส่วน 0.500 ที่ระดับราคานี้ก็ไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นแนวรับอีกเช่นเดียวกัน หรือเมื่อราคาปรับฐานลงมาถึงสัดส่วน 0.618 ที่ระดับราคานี้ก็ไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็น แนวรับอีกเช่นเดียวกัน
แต่ว่าที่ระดับราคาที่เป็นสัดส่วน Fibonacci มักเป็นจุดที่การปรับฐานของราคาสิ้นสุดลง และราคามีการเคลื่อนที่ไปต่อในทิศทางเดิม ดังนั้นเวลาใช้งานเครื่องมือ Fibonacci Retarcement จะใช้เมื่อราคาเริ่มมีการปรับฐาน หรือมีการ Rebound โดยนักเทคนิคจะวาดเส้นแนวนอนที่เป็นสัดส่วน Fibonacci ทิ้งไว้ล่วงหน้า เมื่อราคาปรับตัวลดลงมาถึงระดับราคาที่เป็นแต่ละสัดส่วนของ Fibonacci เราก็จะติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ที่ระดับราคานั้น ๆ มีแรงซื้อเข้ามามากหรือไม่
อย่าซื้อหุ้น(ทันที)ที่แนวรับ และอย่าขายหุ้น(ทันที)ที่แนวต้าน
คำแนะนำที่บอกว่า “ให้ซื้อหุ้นที่แนวรับ” และ “ให้ขายหุ้นที่แนวต้าน” เป็นคำแนะนำในการใช้งานแนวรับ-แนวต้านที่ผิด!!!!วิธีครับ
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ราคาหุ้นปรับตัวเด้งขึ้นจากแนวรับ “ และ “ราคาหุ้นปรับตัวลงทะลุแนวรับ” ซึ่งก็แปลว่าเมื่อหุ้นปรับตัวลงมาที่บริเวณระดับราคาที่เป็นแนวรับมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ได้ 2 กรณี คือ
1) ถ้าแรงขายที่แนวรับมีมากกว่าแรงซื้อ ราคาจะปรับตัวลดลงต่อ
2) ถ้าแรงซื้อที่แนวรับมีมากกว่าแรงขาย ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น
รูปแสดงตัวอย่าง 2 กรณีที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อราคาปรับตัวลดลงมาที่แนวรับ
และสำหรับแนวต้าน หลายคนก็คงเคยได้ยินคำว่า “ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไม่ผ่านแนวต้าน” และ “ราคาหุ้นทะลุแนวต้านขึ้นไป” ซึ่งก็แปลว่าเมื่อหุ้นปรับตัวลงมาที่แนวต้านมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ได้ 2 กรณีด้วยเช่นเดียวกัน คือ
1) ถ้าแรงขายที่แนวต้านมีมากกว่าแรงซื้อ ราคาจะปรับตัวลดลง
2) แรงซื้อที่แนวต้านมีมากกว่าแรงขาย ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นต่อ
รูปแสดงตัวอย่าง 2 กรณีที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่แนวต้าน
ราคามาถึงแนวรับหรือแนวต้านควรทำอย่างไร ?
จากคำนิยาม
แนวรับ คือ ระดับราคาที่คาดว่าจะมีความต้องการซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าแรงซื้อจำนวนมากที่แนวรับ จะทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น
แนวต้าน คือ ระดับราคาที่คาดว่าจะมีความต้องการขายเข้ามาเป็นจำนวนมาก และก็ไม่มีอะไรการันตีได้อีกเช่นเดียวกันว่าแรงขายจำนวนมากที่แนวต้าน จะทำให้ราคาปรับตัวลดลง
เมื่อราคาปรับตัวลงมาที่ระดับราคาแนวรับ หรือราคาเพิ่มสูงขึ้นไปที่ระดับราคาแนวต้าน จะเป็นบริเวณที่แรงซื้อกับแรงขายยกพวกจำนวนมากมาต่อสู้กัน สิ่งที่ควรทำเมื่อราคามาถึงที่แนวรับ หรือแนวต้าน คือ เราควรจะอยู่เฉย ๆ อย่าเพิ่งรีบร้อนลงมือซื้อขาย
ทำไมควรอยู่เฉย ๆ ?
ในเชิงกลยุทธ์หริอการสร้างความได้เปรียบในการเทรด เมื่อราคาหุ้นมีการเคลื่อนที่เข้ามาใกล้กับระดับราคาที่เป็นแนวรับ-แนวต้านเราควรอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องรีบร้อนลงมือซื้อขายหุ้นทันที เนื่องจาก
1 เราไม่รู้ว่าเหตุการณ์ในอนาคตจะออกมาทางไหน
2 เราไม่ควรเข้าไปร่วมกับการต่อสู้ระหว่างแรงซื้อกับแรงขายทันทีในขณะที่กำลังต่อสู้กัน เพราะมันเหมือนกับการแทงสูงต่ำ โอกาสแทงถูก 50-50
3 ควรรอให้รู้ผลการต่อสู้ระหว่างแรงซื้อกับแรงขายว่าฝั่งไหนเป็นฝั่งชนะก่อนดีกว่า แล้วผมค่อยเข้าไปร่วมอยู่ฝั่งเดียวกับฝั่งชนะ
รูปตัวอย่างแสดงวิธีให้เห็นข้อดีของการไม่รีบลงมือซื้อหุ้นทันทีเมื่อราคาลดลงมาที่แนวรับ
รูปตัวอย่างแสดงวิธีให้เห็นข้อดีของการไม่รีบลงมือขายหุ้นทันทีเมื่อราคาปรับตัวขึ้นไปมาที่แนวต้าน
สิ่งที่จะได้และสิ่งที่ต้องยอมรับ
สิ่งที่จะได้จากการรอดูการต่อสู้กันระหว่างแรงซื้อกับแรงขายแล้วค่อยลงมือหลังจากที่รู้ผลแล้ว คือ ความน่าจะเป็นที่จะตัดสินใจได้ถูกมากยิ่งขึ้น หรือ ต้องการ High Winning Probability นั่นเอง
สิ่งที่ต้องยอมรับคือ จะไม่ได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำที่สุด เพราะเราต้องรอให้ราคาปรับตัวเพิ่มจากแนวรับจนถึงจุดที่มั่นใจว่าแรงซื้อชนะแรงขายแล้ว จึงค่อยซื้อหุ้น และจะไม่ได้ขายหุ้นในราคาที่สูงที่สุดเพราะต้องราให้ราคาปรับตัวลดลงจากแนวต้านจนถึงจุดที่มั่นใจว่าแรงขายชนะแรงซื้อด้วยเช่นเดียวกัน
รูปตัวอย่างการซื้อหุ้นเมื่อราคาปรับตัวขึ้นจากแนวรับ ซึ่งจะไม่สามารถซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำที่สุด แต่จะได้โอกาสในการตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น
รูปตัวอย่างการขายหุ้นเมื่อราคาปรับตัวลดลงจากแนวต้าน ซึ่งจะไม่สามารถซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำที่สุด แต่จะได้โอกาสในการตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น
รูปแสดงแนวคิดการใช้งานแนวรับ-แนวต้านที่ถูกต้อง
เทคนิคเพิ่มเติมในการใช้งาน แนวรับ-แนวต้าน
สิ่งสำคัญที่ต้องยึดเป็นหลักของกลยุทธ์การซื้อขายหุ้นตามแนวโน้มการเคลื่อนที่ของราคา (Trend Following) คือ ทิศทางของแนวโน้ม การใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ ทางเทคนิคทุกประเภท จะให้ดีต้องใช้งานให้สอดคล้องกับทิศทางของแนวโน้ม
แนวรับ-แนวต้าน เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งทางเทคนิค ที่ใช้ในการหาจังหวะซื้อหรือจังหวะขายที่ดี ดังนั้นการใช้งานแนวรับ-แนวต้าน จะใช้งานได้ดี จำเป็นต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับทิศทางของแนวโน้มด้วย
ถ้าราคาหุ้นมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น แนวรับจะต้องรับอยู่เสมอ ส่วนแนวต้านจะต้องโดนเบรกเสมอ ไม่เช่นนั้น กราฟจะไม่เป็นทิศทางขาขึ้น ทำให้ในทิศทางแนวโน้มขาขึ้น แนวรับจะมีความสำคัญมากกว่าแนวต้าน
ทางกลับกันถ้าราคาหุ้นมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลง แนวต้านจะต้องต้านอยู่เสมอ ส่วนแนวรับจะต้องโดนเบรกเสมอ ไม่เช่นนั้น กราฟก็จะไม่เป็นทิศทางขาลง ทำให้ในทิศทางแนวโน้มขาลง แนวต้านจะมีความสำคัญมากกว่าแนวรับ
สรุป
ในมุมมองทางเทคนิคการวิเคราะห์หาแนวรับ-แนวต้านมีวัตถุประสงค์เพื่อบอกระดับราคาที่น่าสนใจในการหาจังหวะเทรดหุ้น โดยไอเดียหลัก ๆ จะใช้วิธีการหาระดับราคาในเชิงจิตวิทยาที่จะมีคนจำนวนมากในตลาดสนใจซื้อ(แนวรับ) หรือสนใจขาย(แนวต้าน) ซึ่งรูปร่างหน้าตาของกราฟราคาที่น่าสนใจพิจารณาเป็นแนวรับ-แนวต้าน ได้แก่ จุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดก่อนหน้า (Previous High & Previous Low) เส้นแนวโน้ม เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Trend Line, Moving Average) ระดับราคาที่มีการเคลื่อนที่ในแนวราบ (Horizontal Consolidation Region) ตัวเลขกลม ๆ (Round Number) สัดส่วน Fibonacci (Fibonacci Ratio)
เมื่อราคามีการเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ระดับราคาที่เป็นแนวรับ-แนวต้าน มีข้อแนะนำ คือ ให้รอดูผลการต่อสู้ระหว่างแรงซื้อกับแรงขายให้เสร็จก่อนแล้วค่อยลงมือตามทิศทางที่เป็นฝ่ายชนะ เพื่อเพิ่มโอกาสในการตััดสินใจที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะทำให้เราไม่สามารถซื้อหุ้นในราคาที่ถูกที่สุด หรือไม่ได้ขายหุ้นในราคาที่แพงที่สุด และสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไรมากขึ้น เราควรใช้งานเครื่องมือให้สอดคล้องกับทิศทางของแนวโน้มด้วย โดยการให้ความสำคัญกับแนวรับมากกว่าเมื่อทิศทางราคาเป็นขาขึ้น และให้ความสำคัญกับแนวต้านมากกว่าเมื่อทิศทางราคาเป็นขาลง
ที่มาบทความ: http://daddytrader.guru/sars/