ผมเชื่อว่า สุดยอดคุณสมบัติของหุ้นที่ทุกคนปรารถนาอยากได้มาอยู่ในพอร์ท คือ หุ้นที่ราคาขึ้นเร็ว และปรับตัวลงช้า เชื่อไหมครับว่า มีเทคนิคในการหาหุ้นที่มีลักษณะแบบนี้อยู่จริงครับ บทความนี้ผมจะมาแนะนำวิธีที่นักวิเคราะห์ทางเทคนิคใช้หาหุ้นที่ราคาขึ้นเร็วแต่ลงช้า ลำดับแรกเรามารู้จักความหมายกันก่อนว่า “ขึ้นเร็วลงช้า” มันคืออะไร
ขึ้นเร็ว ลงช้า คืออะไร
มาทำความเข้าใจกันก่อนครับว่า ความหมายของคำว่า “ขึ้นเร็ว” กับ “ลงช้า” ในบทความนี้จะหมายถึง ความเร็วในการขึ้นลงของราคาหุ้นในเชิงสัมพัทธ์ โดยเปรียบเทียบการขึ้นหรือลงของราคาหุ้น กับ การขึ้นหรือลงของตลาดรวม (ในประเทศไทยตลาดรวมที่เอาไว้ใช้อ้างอิง คือ ดัชนี SET)
หุ้นที่ขึ้นเร็วแต่ลงช้า เลยหมายถึง หุ้นที่เวลาดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้น หุ้นตัวนึ้ราคาจะเพิ่มขึ้นด้วยเปอร์เซนต์ที่สูงกว่าดัชนี SET แต่ถ้าดัชนี SET ปรับตัวลดลง หุ้นตัวนี้จะปรับตัวลดลงเป็นเปอร์เซนต์ที่น้อยกว่า SET (ไม่ได้หมายความว่าหุ้นตัวนี้ราคาจะขึ้นอย่างเดียวไม่มีลงนะครับ)
มีคำศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกหุ้นที่มีลักษณะแบบนี้ว่า หุ้นที่มีความแข็งแกร่งสัมพัทธ์ (Relative Strength) หรือหุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาด ส่วนหุ้นที่ราคาขึ้นช้ากว่าตลาดและปรับตัวลงดลงเร็วกว่าตลาด ซึ่งเป็นหุ้นที่ไม่มีใครชอบ เราจะเรียกว่าเป็นหุ้นที่มีความอ่อนแอสัมพัน์ (Relative Weakness) หรือหุ้นที่อ่อนแอกว่าตลาด
Relative Strength
มีสมมุติฐานในการวิเคราะห์ทางเทคนิคข้อหนึ่งบอกว่า ราคาและปริมาณการซื้อขาย สะท้อนถึงความต้องการซื้อและความต้องการขาย (Demand&Supply) ของคนในตลาด ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยทุกอย่างที่มากระทบกับหุ้นตัวนั้น ๆ เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหุ้นที่มี relative Strength ราคาขึ้นเร็วกว่าตลาด และราคาปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาด แสดงว่า มีคนอยากซื้อหุ้นตัวนี้มาก (Demand สูง) และ มีคนอยากขายหุ้นตัวนี้น้อย (Supply ต่ำ) นั่นเอง
มีการทดลองเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคจำนวนมาก ที่ได้ข้อสรุปออกมา ว่า หุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาดก็มักจะมีแนวโน้มที่จะคงความแข็งแกร่งนั้นไปเรื่อย ๆ ส่วนหุ้นอ่อนแอกว่าตลาดก็มีแนวโน้มที่จะอ่อนแออยู่อย่างนั้น จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยพฤติกรรมของผู้ซื้อผู้ขายจะแสดงให้เราเห็นเองผ่านราคาที่ซื้อขายกันในตลาด
ในสถานะการณ์จริงที่พบเห็นได้บ่อยสำหรับนักลงทุนมือใหม่ คือ เวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น หลายคนที่ตกรถซื้อหุ้นไม่ทัน มักจะมองหาซื้อหุ้นที่ราคายังไม่ปรับตัวขึ้น หรือราคาปรับตัวขึ้นช้ากว่าต้วอื่น โดยหวังว่าหุ้นที่ราคายังไม่ปรับตัวขึ้นเหล่านั้นจะขยับขึ้นตามหุ้นที่ราคาขึ้นไปเร็วกว่า แต่ก็มักจะผิดหวัง เพราะหุ้นที่ราคาไม่ยอมขึ้น หรือราคาขึ้นช้ากว่าหุ้นตัวอื่น ๆ เมื่อซื้อไปแล้ว ราคาก็ยังไม่ยอมขึ้นอยู่อย่างนั้น ส่วนหุ้นตัวที่ราคาขึ้นไปเร็วกว่า กลับมีราคาเพิ่มสูงเร็วขึ้นไปอีก
หรือในสถาณการณ์ที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง หลายคนก็มักจะมองหาซื้อหุ้นที่มีราคาปรับตัวลดลงมากกว่าตัวอื่น ๆ เพราะเชื่อว่าหุ้นที่ปรับตัวลดลงมาก เวลาที่ตลาดหุ้นเริ่มกลับตัวเป็นขาขึ้น น่าจะปรับตัวขึ้นได้มากกว่าตัวอื่นๆ ซึ่งผลที่ออกมาส่วนใหญ่ หุ้นที่ลงไปเยอะ เวลาตลาดหุ้นเริ่มกลับตัวเป็นขาขึ้น กลับไม่ยอมปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้น หรือปรับตัวขึ้นก็ขึ้นช้ากว่าตลาด ส่วนหุ้นที่ปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาด เวลาที่ตลาดเริ่มกลับตัว หุ้นเหล่านี้ส่วนมากจะปรับตัวขึ้นได้เร็วกว่า
นักเทคนิคไม่รู้หรอกว่าทำไมหุ้นถึงขึ้นเร็ว และลงช้า แต่รู้ว่ามันต้องมีเหตุผลอะไรสักอย่างที่ทำให้มันมีลักษณะแบบนั้น โดยลักษณะของหุ้นที่ขึ้นเร็วลงช้า คือ หุ้นที่มีคนอยากซื้อมาก และมีคนอยากขายน้อย นั่นเอง
ผลสรุปของการทดลองเกี่ยวกับ Relative Strength จำนวนมากจึงมีข้อแนะนำว่า หุ้นที่น่าสนใจซื้อ คือ หุ้นที่แกร่งกว่าตลาด เพราะให้เราซื้อและถือหุ้นที่มีคนอยากซื้อมาก และมีคนขายน้อย และควรหลีกเลี่ยงหุ้นที่อ่อนแอกว่าตลาด
หมายเหตุ : Relative Strength ไม่ใช่ RSI หรือ Relative Strength Index ที่เป็น Indicator ตัวหนึ่งในการวิเคราะห์ Momentum นะครับ
การทดลองเกี่ยวกับ Relative Strength
ผมได้ทำการทดลองแบบง่าย ๆโดยเปรียบเทียบมูลค่าของพอร์ท 3 ประเภทระหว่าง
- พอร์ทที่ซื้อหุ้นแข็งแกร่งกว่าตลาด
- พอร์ทที่ซื้อหุ้นอ่อนแอกว่าตลาด
- พอร์ทที่ถือหุ้นทุกตัวในตลาด (ในการทดลองนี้ ใช้หุ้นในกลุ่ม SET50 เป็นตลาดรวม)
1.) พอร์ทที่ซื้อหุ้นแข็งแกร่งกว่าตลาด 10 ตัว
ใช้เงินเริ่มต้นที่ 1,000,000 บาท จะซื้อหุ้นทั้งหมด 10 ตัว จากหุ้นในกลุ่ม SET 50 จำนวน 50 ตัว โดยการซื้อหุ้นตอนต้นเดือน และถือเอาไว้เป็นระยะเวลา 1 เดือน เมื่อถึงสิ้นเดือนจะขายหุ้นทุกตัวในพอร์ทออกไป
พอขึ้นวันแรกของเดือนใหม่ จะซื้อหุ้นเข้ามาใหม่ 10 ตัว โดยดูว่าในเดือนที่แล้วหุ้นตัวไหนที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุด วัดจาก % การเปลี่ยนแปลงของราคาโดยซื้อหุ้นที่ราคาขึ้นมากที่สุด 10 อันดับแรกของเดือนที่ผ่านมา แล้วถือต่ออีก 1 เดือน
ทำการทดลองแบบนี้ซ้ำ ๆ โดยเริ่มตั้งแต่ เดือนมกราคม 2009 ไปสิ้นสุด เดือนธันวาคม 2014 (ระยะเวลา 6 ปี)
ผลการทดลองเมื่อสิ้นสุดปีที่ 6 พบว่า พอร์ที่ถือหุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาด 10 ตัว มีมูลค่าของพอร์ทรวมสูงกว่า พอร์ทที่ถือหุ้นทุกต้วใน SET 50
2.) พอร์ทที่ซื้อหุ้นแข็งแกร่งกว่าตลาด 5 ตัว
ใช้เงินเริ่มต้นที่ 1,000,000 บาท จะซื้อหุ้นทั้งหมด 5 ตัว จากหุ้นในกลุ่ม SET 50 จำนวน 50 ตัว โดยการซื้อหุ้นตอนต้นเดือน และถือเอาไว้เป็นระยะเวลา 1 เดือน เมื่อถึงสิ้นเดือนจะขายหุ้นทุกตัวในพอร์ทออกไป
พอขึ้นวันแรกของเดือนใหม่ จะซื้อหุ้นเข้ามาใหม่ 5 ตัว โดยดูว่าในเดือนที่แล้วหุ้นตัวไหนที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุด วัดจาก % การเปลี่ยนแปลงของราคาโดยซื้อหุ้นที่ราคาขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรกของเดือนที่ผ่านมา แล้วถือต่ออีก 1 เดือน
ทำการทดลองแบบนี้ซ้ำ ๆ โดยเริ่มตั้งแต่ เดือนมกราคม 2009 ไปสิ้นสุด เดือนธันวาคม 2014 (ระยะเวลา 6 ปี)
ผลการทดลองเมื่อสิ้นสุดปีที่ 6 พบว่า พอร์ที่ถือหุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาด 5 ตัว มีมูลค่าของพอร์ทรวมไม่แตกต่างจากพอร์ทที่ถือหุ้นทุกต้วใน SET 50
3.) พอร์ทที่ซื้อหุ้นอ่อนแอกว่าตลาด 5 ตัว
ใช้เงินเริ่มต้นที่ 1,000,000 บาท จะซื้อหุ้นทั้งหมด 5 ตัว จากหุ้นในกลุ่ม SET 50 จำนวน 50 ตัว โดยการซื้อหุ้นตอนต้นเดือน และถือเอาไว้เป็นระยะเวลา 1 เดือน เมื่อถึงสิ้นเดือนจะขายหุ้นทุกตัวในพอร์ทออกไป
พอขึ้นวันแรกของเดือนใหม่ จะซื้อหุ้นเข้ามาใหม่ 5 ตัว โดยดูว่าในเดือนที่แล้วหุ้นตัวไหนที่มีความอ่อนแอมากที่สุดหรือปรับตัวลดลงมากที่สุด 5 อันดับแรก และถือไว้ 1 เดือน
ทำการทดลองแบบนี้ซ้ำ ๆ โดยเริ่มตั้งแต่ เดือนมกราคม 2009 ไปสิ้นสุด เดือนธันวาคม 2014 (ระยะเวลา 6 ปี)
ผลการทดลองเมื่อสิ้นสุดปีที่ 6 พบว่า พอร์ที่ถือหุ้นที่อ่อนแอกว่าตลาด 5 ตัว มีมูลค่าของพอร์ทรวมต่ำกว่า พอร์ทที่ถือหุ้นทุกต้วใน SET 50
สรุปผลการทดลอง
จากการทดลองที่ผมกำหนดวิธีซื้อขายหุ้นอย่างง่าย ๆ เพื่อจะทดสอบไอเดียเกี่ยวกับ Relative Strength ครั้งนี้ ได้ผลออกมาว่าการซื้อและถือหุ้นที่มีความแข็งแกร่งให้ผลตอบแทนที่ได้ออกมาดี ส่วนการซื้อและถือหุ้นที่มีความอ่อนแอให้ผลตอบแทนที่ได้ออกมาไม่ดี หรือสรุปง่าย ๆ ว่าหุ้นที่ราคาขึ้นมีความน่าสนใจมากกว่าหุ้นที่ราคาลงนั่นเอง
คำเตือน : การทดลองครั้งนี้เป็นการทดลองอย่างง่ายเพื่อให้มุมองกี่ยวกับ Relative Strength เท่านั้น ไม่เหมาะสำหรับนำไปใช้ซื้อขายจริง หากต้องการซื้อขายหุ้นด้วยวิธีนี้ ควรต้องทดสอบเพิ่มเติมเพื่อหาค่าที่เหมาะสมที่สุดของปัจจัยต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อผลตอบแทน ยกตัวอย่างเช่น จำนวนหุ้นที่ถืออยู่พอร์ท ระยะเวลาย้อนหลังที่ใช้จัดลำดับความแข็งแกร่ง ระยะเวลาในการถือหุ้น ฯลฯ เป็นต้น
เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ Relative Strength
เครื่องมือที่นิยมในการใช้วิเคราะห์ Relative Strength มีอยู่ หลายตัวครับ เช่น Price Ratio , Comparative Relative Strength , % Change , Rate of Change
ในบทความนี้ผมจะแนะนำให้รู้จักกับเครื่องมือ 2 ชนิดได้แก่
- Price Ratio และ
- Comparative Relative Strength
พร้อมทั้งวิธีการวิเคราะห์ของเครื่องมือทั้งสองชนิดนี้ครับ
Price Ratio
Price Ratio เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งในการวิเคราะห์ Relative Strength โดยการเอาราคาหุ้นที่เราสนใจหารด้วยดัชนีที่ใช้อ้างอิง ซึ่งถ้าเราจะวัดความแข็งแกร่งของหุ้นไทยก็จะใช้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เป็นตัวอ้างอิง ดังนั้นเวลาคำนวณ Price Ratio ของหุ้นไทยจะใช้สูตร
Price Ratio = ราคาหุ้น / ดัชนีตลาดหลักทรัพย์
ค่า Price Ratio เพียงค่าเดียวไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ การใช้การ Price Ratio เราจะดูการเปลี่ยนแปลงของค่า Price Ratio เมื่อเทียบกับค่าของ Price Ratio ในอดีต
ลองมาดูตัวอย่างตารางด้านล่างกันครับผมได้ทดลองคำนวณ Price Ratio ของหุ้น INTUCH และ หาค่าการเปลี่ยนแปลงของ Price Ratio เมื่อเทียบกับ Price Ratio ของเมื่อวานด้วย (วันที่เริ่มต้นอยู่ด้านล่างของตามรางคือวันที่ 25 ธันวา 2014 ) ซึ่งได้ข้อมูลดังต่อไปนี้ครับ
จากตารางจะเห็นได้ว่าในวันที่
- INTUCH ราคาขึ้นมากกว่า SET
- INTUCH ราคาลงน้อยกว่า SET และ
- INTUCH ราคาขึ้น แต่ SET ปรับตัวลง
ซึ่งแปลความหมายได้ว่าเป็นว้นที่ INTUCH มีความแข็งแกร่งมากกว่า SET จะทำให้ค่าของ Price Ratio ที่คำนวณได้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก Price Ratio ของวันก่อนหน้า
แต่ในวันที่
- INTUCH ราคาขึ้นน้อยกว่า SET
- INTUCH ราคาลงมากกว่า SET และ
- INTUCH ราคาลง แต่ SET ปรับตัวขึ้น
ซึ่งแปลความหมายได้ว่าเป็นวันที่ INTUCH มีความแข็งแกร่งน้อยกว่า SET จะทำให้ค่าของ Price Ratio ที่คำนวณได้ปรับตัวลดลงจาก Price Ratio ของวันก่อนหน้า
ข้อสังเกตจากตารางอีกอย่างหนึ่ง คือ Price Ratio มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงแบบสุ่ม สลับกันไปในแต่ละวัน ซึ่งแปลความหมายได้ว่า บางวัน INTUCH ก็แข็งแกร่งกว่า SET บางวัน INTUCH ก็อ่อนแอกว่า SET ทำให้การวิเคราะห์ Price Ratio แบบวันต่อวันไม่สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณา Relative Strength แนวทางในการแก้ไขปัญหาจึงใช้วิธีวิเคราะห์ทิศทางแนวโน้มของกราฟ Price Ratio แทน เพื่อให้มองเห็นภาพของ Relative Strength ในระยะที่ยาวขึ้น
รูปตัวอย่างแสดงกราฟ Price Ratio ของหุ้น INTUCH (ที่มา Aspen for Windows)
การวิเคราะห์ Relative Strength จากกราฟ Price Ratio
การวิเคราะห์กราฟ Price Ratio สิ่งที่เราจะให้ความสำคัญ คือ ทิศทางแนวโน้มของกราฟ Price Ratio ซึ่งมีสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจอันดับแรกก่อน คือ ทิศทางแนวโน้มของกราฟ Price Ratio ไม่ได้บอกถึงทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้น ส่วนแนวทางในการแปลความหมายของกราฟ Price Ratio มีวิธีดังต่อไปนี้ครับ
- ทิศทางแนวโน้มของ Price Ratio เป็นขาขึ้น แปลความหมายได้ว่า หุ้นตัวนั้น เวลาที่ราคาขึ้น จะขึ้นเร็วกว่าตลาด และเวลาที่ราคาปรับตัวลดลง จะลงช้ากว่าตลาด ซึ่งเป็นลักษณะของหุ้นที่มี Relative Strength
- ทิศทางแนวโน้มของ Price Ratio เป็นขาลง แปลความหมายได้ว่า หุ้นตัวนั้น เวลาที่ราคาขึ้น จะขึ้นช้ากว่าตลาด และเวลาที่ราคาปรับตัวลดลง จะลงเร็วกว่าตลาด ซึ่งเป็นลักษณะของหุ้นที่มี Relative Weakness
- ทิศทางแนวโน้มของ Price Ratio เป็น Sideways หรือเป็นแนวราบ แปลความหมายได้ว่า หุ้นตัวนั้น เวลาที่ราคาขึ้นหรือลงจะขึ้นลงใกล้เคียงกับตลาด
รูปตัวอย่างแสดงหุ้น BH ที่มีทิศทางแนวโน้มของกราฟ Price Ratio เป็นขาขึ้น (ที่มา Aspen for Windows)
รูปตัวอย่างแสดงกราฟหุ้น TCAP ที่มีทิศทางแนวโน้มของกราฟ Price Ratio เป็นขาลง (ที่มา Aspen for Windows)
อย่างก็ตามมีสิ่งสำคัญที่ผมอยากจะเน้นเกี่ยวกับการวิเคราะห์ Price Ratio คือ การวิเคราะห์ทิศทางแนวโน้มของกราฟ Price Ratrio เป็นกระบวนการเพื่อใช้ในการเลือกหุ้นที่น่าสนใจเท่านั้น ไม่สามารถให้จังหวะในการซื้อขายได้ ดังนั้นต้องวิเคราะห์กราฟราคาทางเทคนิคของหุ้นตัวนั้น ๆ ก่อนลงมือซื้อขายทุกครั้ง
เทคนิคในการวิเคราะห์กราฟ Price Ratio
จากทิศทางแนวโน้มของกราฟ Price Ratio ที่สามารถเป็นไปได้ทั้งหมด ทั้ง 3 แบบ คือ ทิศทางขาขึ้น ขาลง หรือ Sidewaysถ้าเราต้องการเลือกซื้อหุ้นที่มี Relative Strength เราควรจะเลือกหุ้นที่มีทิศทางแนวโน้มของกราฟ Price Ratio เป็นขาขึ้น และหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีทิศทางแนวโน้มของกราฟ Price Ratio เป็นขาลง
นอกจากนั้นยังมีเทคนิคเพิ่มเติมสำหรับการสร้างความมั่นใจว่า หุ้นที่สนใจมีแนวโน้มราคาอยู่ในทิศทางแนวโน้มขาขึ้นที่แข็งแกร่ง โดยดูได้จากขณะที่ราคาหุ้นมีการปรับฐาน แต่กราฟของ Price Ratio ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อ ซึ่งแปลว่า ขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง แต่หุ้นตัวนี้ปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาด แสดงให้เห็นว่าหุ้นตัวนี้ไม่ค่อยมีแรงขาย ดังนั้นจึงแนะนำให้สามารถหาจังหวะซื้อหุ้นตัวนี้ขณะที่ราคาปรับตัวลดลง โดยเชื่อว่าการลดลงของราคาเป็นแค่การปรับฐาน ไม่ใช่การเปลี่ยนทิศทางของแนวโน้มจากขาขึ้นเป็นขาลง
รูปตัวอย่างแสดงกราฟหุ้น INTUCH โดยช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลง แต่ Price Ratio ยังปรับตัวขึ้นต่อ (ที่มา Aspen for Windows)
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้งาน Price Ratio
ข้อควรระวังในการใช้งานซื้อหุ้นที่มี Relative Strength คือ หุ้นที่แข็งแกร่ง ที่ราคามีการปรับตัวขึ้นมานาน เนื่องจากการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นมีลักษณะเป็นวัฏจักรขึ้นและลงสลับกันไป ไม่มีหุ้นตัวไหนที่ราคาขึ้นตลอดโดยไม่มีวันลง ดังนั้น ควรระมัดระวังในการซื้อหุ้นที่มี Relative Strength แต่อยู่ในช่วงปลายของวัฏจักรขาขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว
คำถามคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าราคาหุ้นน่าจะอยู่ใกล้ช่วงปลายของวัฏจักรขาขึ้นแล้ว ผมมีไอเดียที่จะแนะนำ คือ ให้ลองปรับกราฟราคาหุ้นเป็นกราฟรายสัปดาห์ (แท่งเทียน 1 แท่งแทนการเคลื่อนที่ของราคาใน 1 สัปดาห์) แล้วสังเกตุ RSI (Relative Stength Index) ซึ่งเป็น Indicator ที่ใช้วัด Momentum ถ้ามีค่าประมาณ 70 หรือสูงกว่า ก็ให้ซื้อหรือถือหุ้นตัวนั้นด้วยความระมัดระวัง เพราะน่าจะกำลังอยู่ในช่วงปลายของวัฏจักรขาขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตามวิธีที่แนะนำนี้เป็นเพียงแนวทางในการหาระดับที่ใช้เพื่อเตือนให้ระมัดระวังในการเทรด และติดตามกราฟการเคลื่อนที่ของราคาให้ใกล้ชิดมากขึ้นเท่านั้น ไม่ได้การันตี หรือบอกว่าเมื่อค่า RSI ของกราฟรายสัปดาห์ มีค่าประมาณ 70 แล้วจะเป็นการสิ้นสุดวัฏจักรขาขึ้น
ข้อจำกัดของ Price Ratio คือ เปรียบเทียบระหว่างหุ้นไม่ได้
เนื่องจากการคำนวณ Price Ratio เป็นการเอาราคาหุ้นหารด้วยดัชนีอ้างอิง หุ้นที่มีราคาสูงจะทำให้คำนวณค่า Price Ratio ออกมาได้มากกกว่าหุ้นที่มีราคาต่ำ (เราสนใจทิศทางแนวโน้มของ Price Ratio ไม่ใช่ค่าของ Price Ratio) เวลาที่เราเห็นค่าของ Price Ratio ของหุ้นตัวหนึ่งมากกว่าอีกตัวหนึ่งห้ามสรุปเด็ดขาดว่าหุ้นที่มี Price Ratio สูงกว่ามีความแข็งแกร่งมากกว่า ดังนั้นข้อจำกัดของ Price Ratio คือ ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันระหว่างหุ้นได้
รูปตัวอย่างแสดงกราฟ Price Ratio ของหุ้น PTT กับ INTUCH (Not to Scale) ที่มา Aspen for Windows
จากรูปจะเห็นได้ว่ากราฟ Price Ratio ของหุ้น PTT มีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลง ซึ่งแปลความหมายได้ว่าราคาหุ้น PTT อ่อนแอกว่าตลาด ส่วนกราฟ Price Ratio ของหุ้น INTUCH มีทิทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น ซึ่งแปลความหมายได้ว่าราคาหุ้น INTUCH แข็งแกร่งกว่าตลาด
แต่ถ้าพิจรณาค่า Price Ratio ของ PTT ซึ่งมีค่าเท่ากับ 0.211392 กับ Price Ratio ของ INTUCH ที่ 0.052680 จะเห็นได้ว่าค่า Price Ratio ที่มากกว่า ไม่ได้บอกว่าหุ้นนั้นมีความแข็งแกร่งมากว่า
ดังนั้นจึงขอสรุปว่าค่าของ Price Ratio ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันระหว่างหุ้นได้
Comparative Relative Strength
Comparative Relative Strength (CRS) หรือบางคนเรียกว่า Relative Strength Comparison (RSC) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ความแข็งแกร่งของหุ้นเมื่อเทียบกับตลาด และยังเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างหุ้นได้ด้วย
การคำนวณ CRS จะคำนวณจากเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือสัดส่วน โดยสูตรการคำนวณคือ ราคาหุ้นปัจจุบัน หาร ราคาหุ้นวันที่เริ่มต้นคิด CSR แล้วหารด้วย ดัชนีอ้างอิงปัจจุบัน หาร ด้วยดัชนีอ้างอิงวันที่เริ่มต้นคิด CSR
ตัวอย่างตารางด้านล่างแสดงให้เห็นวิธีการคำนวณ CSR ของ INTUCH และ PTT ซึ่งแสดงค่าของ CSR ไว้ที่ สองช่องสุดท้าย โดยมีวันที่เริ่มต้นคิด CSR คือ วันที่ 25 ธันวาคม 2014 ยกตัวอย่างเช่น CSR ของ INTUCH วันที่ 30 ธ้ันวาคม 2014 เกิดจาก (78.75 / 78.25) / (1,479.67 / 1,504.89 ) = 1.01124
การแปลความหมาย CSR
การแปลความหมายของค่า CSR สามารถอธิบายได้ ดังนี้
- ค่า CSR ที่มากกว่า 1 แปลความหมายได้ว่า ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมากกว่าดัชนี หรือราคาหุ้นปรับตัวลดลงน้อยกว่าดัชนี หรือราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น แต่ดัชนีปรับตัวลดลง ซึ่ง แปลว่าหุ้นตัวนั้น มีความแข็งแกร่งกว่าตลาด หรือเป็นหุ้นที่มี Relative Strength
- ค่า CSR ที่น้อยกว่า 1 แปลความหมายได้ว่า ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นน้อยกว่าดัชนี หรือราคาหุ้นปรับตัวลดลงมากกว่าดัชนี หรือราคาหุ้นปรับตัวลดลง แต่ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น ซึ่ง แปลว่าหุ้นตัวนั้น มีความอ่อนแอกว่าตลาด หรือเป็นหุ้นที่มี Relative Weakness
- ค่า CSR สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ระหว่างหุ้น โดยหุ้นตัวไหนที่มีค่า CSR มากกว่า หมายความว่า หุ้นตัวนั้นมีความแข็งแกร่งมากกว่า โดยนับจากวันเริ่มต้นจนถึงวันปัจจุบัน (ระหว่างจุด 2 จุดเท่านั้น ไม่ได้พิจราณาการเปลี่ยนแปลงของราคาระหว่างทาง)
กราฟ CSR และกราฟ Price Ratio
เมื่อลองเอากราฟ CSR และกราฟ Price Ratio มาวาดเป็นกราฟต่อเนื่องเปรียบเทียบกัน พบว่า กราฟจะมีหน้าตาเหมือนกัน แต่กราฟของ CSR มีข้อดีคือ สามารถนำค่ามาเปรียบเทียบเพื่อดูความแข็งแกร่งระหว่างหุ้นได้ด้วย
เนื่องจากค่า CSR เพียง 1 ค่า เป็นการคำนวณความแข็งแกร่งของหุ้นด้วยจุดเพียง 2 จุด คือ จากจุดเริ่มต้นการคำนวณ CSR ไปยังจุดปัจจุบัน โดยไม่ได้คำนึงการเปลี่ยนแปลงระหว่างทางว่าเป็นอย่างไร
ผมจึงมีข้อแนะนำการนำ CSR มาใช้งาน คือ เวลาที่เปรียบเทียบค่า CSR ของหุ้น 2 ตัว ถึงแม้เราจะบอกว่าหุ้น A มีความแข็งแกร่งมากกว่า หุ้น B เนื่องจากมีค่า CSR ที่มากกว่า แต่……หุ้น A อาจจะมีความน่าสนใจน้อยกว่า หุ้น B ก็เป็นไปได้ หากทิศทางแนวโน้มของกราฟ CSR ของหุ้น A มีทิศทางเป็นขาลง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่า หุ้น A ที่เคยมีความแข็งแกร่งมาก ๆ เริ่มมีความแข็งแกร่งลดน้อยลง ดังนั้นเราจะไม่พิจารณาแค่ตัวเลข CSR เพียงอย่างเดียว แต่เราจะพิจารณาเส้นทางของกราฟ CSR และทิศทางของแนวโน้มกราฟ CSR ร่วมด้วย
เทคนิคการเทรดด้วย CSR
เนื่องจากค่า CSR สามารถนำมาเปรียบเทียบระหว่างหุ้น และเปรียบเทียบระหว่างหุ้นตัวนั้น ๆ กับดลาดได้ ค่า CSR จึงนิยมนำมาจัดลำดับเพื่อเปรียบเทียบกัน และแสกนดูว่าหุ้นตัวไหน หรือหุ้นกลุ่มไหนที่ราคามีความแข็งแกร่งมากกว่ากัน และน่าสนใจเข้าไปซื้อ
1.) ใช้หากลุ่มของรายชื่อหุ้นที่น่าสนใจ
เทคนิคที่พบเห็นได้บ่อย คือ ให้เริ่มต้นหาเปรียบเทียบ CSR ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อเลือกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งในลำดับต้น ๆ ยกตัวอย่างประเภทกลุ่มอุตสหรกรรมในตลาดไทย เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มสื่อสาร กลุ่มบันเทิง กลุ่มท่องเที่ยง กลุ่มหลักทรัยพ์ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มวัสดุก่อนสร้าง กลุ่มโรงพยาบาล เป็นต้น
เมื่อเราได้กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งลำดับต้น ๆ แล้ว จากนั้นก็เลือกหุ้นที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุดในกลุ่มน้ั้น ๆ แต่……..หลังจากได้รายชื่อหุ้นที่น่าสนใจมาแล้วเราจะไม่ซื้อหุ้นนั้นทันที เพราะรายชื่อหุ้นที่ได้จะเป็นกลุ่มที่น่าสนใจซื้อขายเท่านั้น เราจะต้องติดตามกราฟหุ้นและหาจังหวะซื้อขายต่อไป
2.) ใช้เป็นเงื่อนไขในการแสกนหุ้น
ในบางกรณี นักเทคนิคจะมีวิธีการแสกนหาหุ้นและจังหวะในการซื้อหุ้นที่น่าสนใจ ด้วยเงื่อนไขทางเทคนิคของเครื่องมือชนิดอื่น ๆ อยู่แล้ว ก็ยังสามารถเพิ่มเติมเงื่อนไขของ CSR เพื่อจัดลำดับความน่าสนใจ หรือเพื่อกรองหุ้นที่ไม่น่าสนใจออกไปได้อีกด้วย
ตัวอย่างการหาจังหวะซื้อหุ้นที่ดี สำหรับ Swing Trade (หาหุ้นที่กลับปรับฐานในแนวโน้มขาขึ้น)
เงื่อนไขที่ 1 หาหุ้นที่เป็นขาขึ้น โดยใช้ค่า Moving Average
กราฟรายวัน EMA(10) มากกว่า EMA(30) , กราฟรายสัปดาห์ EMA(10) มากกว่า EMA(30) ,
เงื่อนไขที่ 2 ทิศทางของแนวโน้มขาขึ้นต้องแข็งแกร่ง :
กราฟรายวัน ADX(14) มากกว่า 20
เงื่อนไขที่ 3 หาหุ้นที่กำลังปรับฐาน :
กราฟรายวัน High น้อยกว่า Yesterday’s Daily High , Yesterday’s Daily High น้อยกว่า 2 Days Ago Daily High
กราฟรายวัน ราคาปิด มากกว่า EMA(30) แต่ น้อยกว่า EMA(10)
เงื่อนไขที่ 4 เป็นหุ้นที่มีสภาพคล่อง
ค่าเฉลี่ยปริมาณการซื้อขาย 20 วัน ต้องมากกว่า 20 ล้านบาท
เงื่อนไขที่ 5 ต้องเป็นหุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาด ****
ค่าCRS 1เดือนย้อนหลัง 3เดือนย้อนหลัง 6เดือนย้อนหลัง ต้องมากกว่า 1
หุ้นตัวไหนที่เข้าเงื่อนไขทั้ง 5 ชนิดนี้ ก็จะเป็นหุ้นที่น่าสนใจเก็บไว้ใน Watch List เพื่อหาจังหวะซื้อขายต่อไป
หมายเหตุ : หากเราต้องการพิจรณาแค่ค่า CSR เพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงระหว่างทาง หรือแนวโน้มทิศทางของ กราฟ CSR จะมีเครื่องมืออื่นที่ใช้ในการวิเคราะห์แทน CSR ได้เหมือนกัน เช่น % Change หรือ Rate of Change (ROC) เนื่องจากเป็นการคำนวณการเปลี่ยนแปลงโดยคิดจากจุด 2 จุดเหมือนกัน
สรุป
Price Ratio ไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างหุ้นได้ว่าหุ้นต้วไหนมีความแข็งแกร่งมากกว่ากัน ส่วน Comparative Relative Strength (CSR) สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างหุ้นได้ และยังสามารถเปรียบเทียบกับตลาดได้อีกด้วย โดย ค่า CSR มากกว่า1 แปลว่า หุ้นตัวนั้นแข็งแกร่งกว่าตลาด ค่า CSR น้อยกว่า 1 แปลว่าแข็งแกร่งน้อยกว่าตลาด ถ้าหุ้นตัวไหนมีค่า CSR มากกว่า จะแปลความหมายได้ว่าหุ้นตัวนั้นมีความแข็งแกร่งกว่า อย่างไรก็ตามเมื่อเราวาดกราฟ Price Ratio กับ CSR ควบคู่กัน จะเห็นได้ว่ากราฟทั้งสองตัวมีหน้าตาเหมือนกัน การวิเคราะห์ CSR ไม่ควรดูแต่เพียงตัวเลขของ CSR เพียงอย่างเดียว แต่ควรดูการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา และทิศทางของแนวโน้มกราฟ CSR ควบคู่ไปด้วย สำหรับเทคนิคที่ใช้ในการเทรดด้วย CSR มี 2 วิธีที่ได้รับความนิยม คือ การใช้ CSR เพื่อหากลุ่มรายชื่อของหุ้นที่น่าสนใจ และการใช้ CSR เพื่อเป็นเงื่อนไขในการแสกนหุ้น
ส่งท้าย
ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ที่เขามาอ่าน และให้ลองศึกษาเพิ่มเติม เพื่อนำไปใช้งานจริง เพราะส่วนตัวผมชื่นชอบวิธีการเลือกหุ้นด้วยวิธีการวิเคราะห์ Relative Stength เป็นอย่างมาก แล้วก็นำไปใช้งานได้ผลดีอีกด้วย ถ้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถโพสต์ถามที่บทความได้เลยนะครับ หรือถ้าอ่านจบแล้วชอบไม่ชอบอย่างไร แนะนำ ติชม กันได้ บ๊ายบายครับ…
บทความโดย : Daddy Trader