คำตอบ : ไม่มี INDICATOR ตัวไหนที่แม่นที่สุด
ในบรรดาการเนื้อหาที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิค ผมเชื่อว่า Indicators เป็นหัวข้อหนึ่งที่มีคนสนใจมากที่สุด ถึงแม้ผมจะให้มุมมองเกี่ยวกับการวิเคราะห์ Indicators ไว้ในบทความก่อนหน้านี้ว่า การวิเคราะห์ Indicators มีความสำคัญน้อยกว่าการวิเคราะห์กราฟราคา แต่ก็ต้องยอมรับว่าการวิเคราะห์ Indicators มีประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว
ซึ่งคำถามเกี่ยวกับ Indicators ที่ผมมักจะถูกถามอยู่บ่อย ๆ คือ “Indicator ตัวไหนแม่นที่สุด?” เนื่องจากในโปรแกรมวิเคราะห์กราฟมี Indicators ให้เลือกใช้งานจำนวนมาก และ Indicators ที่ผู้ถามใช้งานอยู่บางทีก็ให้สัญญาณได้ถูกต้องเอาไปใช้ซื้อขายแล้วได้กำไร บางทีก็ให้สัญญาไม่ถูกต้องเอาไปใช้ซื้อขายแล้วขาดทุน จึงต้องการหา Indicators ที่ดี ๆ ให้สัญญาณซื้อขายได้แม่นยำมาใช้งาน
ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ INDICATORS
ในความเป็นจริงการตัดสินใจซื้อขายโดยใช้แนวทางการวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้วเกิดผลขาดทุน ไม่ใช่ประเด็นที่เป็นปัญหา แต่ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ต้องเจอโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสิ่งที่การวิเคราะห์ทางเทคนิคจะให้ได้เป็นเพียงโอกาสที่ผลของการซื้อขายในครั้งนั้น ๆ จะมีผลออกมาเป็นกำไรมากกว่าขาดทุน ไม่ได้การันตีว่าผลที่ได้จะต้องออกมาเป็นกำไรทุกครั้ง
ประเด็นแรกที่จะนำเสนอผมจึงมีความเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน Indicators แล้วให้สัญญาณซื้อขายที่ไม่แม่นยำ ตัวปัญหาไม่ได้อยู่ที่ Indicators ที่ถูกเลือกนำมาใช้งานใช้งานได้ไม่ดี แต่น่าจะเป็นเรื่องความคาดหวังของผู้ใช้งาน Indicators ที่มีความคาดหวังต่อผลลัพธ์ที่สูงเกินไป
INDICATORS แต่ละตัวถูกออกแบบให้ใช้งานต่างวัตถุประสงค์กัน
ประเด็นที่สองที่อยากจะให้ข้อมูลเพิ่มเติม คือ Indicator แต่ละตัวนั้น ถูกออกแบบมาให้ใช้งานต่างวัตถุประสงค์กัน ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Indicator ตัวที่เรากำลังเลือกใช้งานอยู่นั้นถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ใด หากนำไปใช้งานผิดวัตถุประสงค์ ก็อาจทำให้ไม่สามารถดึงประสิทธิภาพของ Indicator ตัวนั้น ๆ ออกมาได้
ถ้าจะให้แบ่งประเภทตามวัตถุประสงค์ที่ Indicators ถูกออกแบบมา สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
- Indicators ที่ใช้ระบุทิศทางของแนวโน้ม เช่น Moving Average , Parabolic SAR เป็นต้น
- Indicators ที่ช่วยในการยืนยันความแข็งแกร่งหรือความน่าเชื่อถือของทิศทางนั้น ๆ เช่น ADX , OBV เป็นต้น
- Indicators ที่ใช้วัดแรงเหวี่ยงหรืออัตราเร่งของราคา (Momentum) เช่น CCI, RSI , Stochastic เป็นต้น
- Indicators ที่ใช้วัดความผันผวนของราคา (Volatility) เช่น ATR , Historical Volatility เป็นต้น
- Indicators ที่ใช้วัดสภาพตลาดโดยรวมซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงที่สินค้าหรือหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง หรือที่เรียกว่า Market Indicators
นอกจากนี้ยังมี Indicators อื่น ๆ ที่อาจจะออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์นอกเหนือจาก 5 ข้อที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น หรือมี Indicators บางตัวที่ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้หลายวัตถุประสงค์ (เช่น MACD ใช้ได้ทั้งระบุทิศทางและวัดแรงเหวี่ยงของราคา) ซึ่งเวลาที่เราจะเลือกใช้งาน Indicator ตัวใดก็ตาม เราควรรู้จักว่า Indicators ตัวนั้น ๆ ถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ใด เวลานำไปใช้งานหรือแปลความหมายกราฟ จะได้สามารถวิเคราะห์สภาวะตลาดได้ดียิ่งขึ้น
ข้อแนะนำหนึ่งที่ผมคิดว่ามีประโยชน์อย่างมาสำหรับผู้ที่สนใจวิเคราะห์ Indicators คือ ควรทำความเข้าใจก่อนว่า Indicators ที่กำลังจะใช้งานถูกออกแบบเพื่อวัตถุประสงค์ใด และไม่ควรใช้งาน Indicators ที่ถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันพร้อม ๆ กัน เช่น เลือกใช้งาน RSI พร้อมกัน CCI พร้อมกับ Stochastic เป็นต้น เนื่องจาก Indicator แต่ละตัวนั้นให้มุมมองเหมือน ๆ กัน ไม่ได้เป็นแนวทางในการการเพิ่มความน่าเชื่อถือของผลการวิเคราะห์ให้มากขึ้น
ภาวะตลาดต่างกันก็แม่นต่างกัน
Indicators ที่ถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ต่างกันจะถูกใช้งานได้ดีในสภาวะตลาดที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น Indicators ที่ถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการระบุทิศทาง เช่น Moving Average จะใช้งานและให้สัญญาณได้ดีในสถานการณ์ตลาดที่มีแนวโน้มชัดเจน (Trend) แต่จะใช้งานได้ไม่มีในช่วงที่ตลาดเป็นแบบไม่มีแนวโน้ม (Sideways) ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ถ้าช่วงไหนเป็นช่วงไม่มีแนวโน้มชัดเจน ราคาเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง จะเกิดสัญญาณหลอกจากการตัดขึ้นตัดลงระหว่าง ราคา กับ Moving Average (Cross Over) เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ในทางตรงกันข้ามสำหรับ Indicators ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้วัดแรงเหวี่ยงหรืออัตราเร่งของราคา (Momentum) เช่น RSI หรือ Stochastic จะใช้งานได้ดีและให้สัญญาณที่ค่อนข้างแม่นยำในสภาวะตลาดแบบไม่มีแนวโน้ม (Sideways) แต่ถ้าตลาดมีแนวโน้มชัดเจนหรือแนวโน้มที่แข็งแกร่ง (Trend) ก็มักจะเกิดสัญญาณ Overbought Oversold หลอกจาก Indicators กลุ่มนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ตัวปัญหา คือ ไม่มีใครรู้ว่าภาวะตลาดในปัจจุบันที่มีแนวโน้มชัดเจนจะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของแนวโน้ม หรือเปลี่ยนจากแนวการมีแนวโน้มชัดเจน (Trend) เป็นตลาดแบบไม่มีทิศทาง (Sideways) หรือในช่วงที่ตลาดที่กำลังเป็นแบบไม่มีทิศทาง (Sideways) ก็ไม่มีใครรูู้ล่วงหน้าว่าตลาดจะกลับมาเป็นแบบมีทิศทาง (Trend) เมื่อไหร่ จึงเป็นที่มาของคำแนะนำให้ใช้การวิเคราะห์ Indicators เป็นการวิเคราะห์เสริม และต้องตัดสินใจลงมือซื้อขายจากข้อมูลของกราฟของราคาซึ่งมีความสำคัญกว่า
ไม่มีตัวที่ดีที่สุด
และบ่อยครั้งอีกเช่นเดียวกันครับที่ผมมักจะเจอกับคำถามเหล่านี้
“ Indicators ที่ใช้วิเคราะห์ Momentum ระหว่าง RSI (Relative Strength Index), CCI (Commodity Channel Index), และ Stochastic ตัวไหนดีกว่ากัน?”
“ Indicators ประเภท Moving Average ระหว่าง SMA (Simple Moving Average), EMA (Exponential Moving Average) และ WMA (Weighted Moving Average) ตัวไหนใช้งานได้ดีกว่ากัน?”
คงต้องขอตอบคำถามเหล่านี้แบบนี้ครับว่า ยังไม่มีการศึกษาที่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า Indicator ตัวหนึ่ง ทำงานได้ดีกว่า Indicator อีกตัวในทุกสภาวะตลาด คลอบคลุมทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็น “ทำไมผมถึงเลือกใช้ EMA แทนที่จะใช้ SMA หรือ WMA?”เหตุผลคือ EMA เป็นเส้นค่าเฉลี่ยที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้ ดังนั้นกิจกรรมการซื้อขาย (Market Action) ที่เกิดขึ้นบริเวณเส้น EMA น่าจะเป็นระดับที่คนในตลาดจำนวนมากให้ความสนใจ จึงทำให้เป็นจุดที่น่าติดตามเพื่อหาจังหวะลงมือซื้อขายด้วยเช่นเดียวกัน
ไม่มี PARAMETER ที่ดีที่สุด
ประเด็นสุดท้ายสำหรับทความนี้ครับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตั้งค่า Parameter (จำนวนวันหรือจำนวน Period) ในการคำนวณ Indicators ว่าควรจะใช้ค่าเท่าไรดี เช่น “EMA 5 วัน 10 วัน 13 วัน 25 วัน 30 วัน ….. ควรเลือกใช้ค่าไหนดีที่สุด?” คำตอบตอบถามนี้ คือ ไม่มี Parameter ไหนที่ใช้งานได้ดีที่สุด
แต่มีข้อสังเกตที่อยากแนะนำคือ การตั้งค่า Parameter ที่แตกต่างกัน ให้ Indicators ส่งสัญญาณช้าหรือเร็วแตกต่างกัน โดยถ้าเลือกใช้ใช้ Parameter ที่มีค่าน้อย จะทำให้ Indicators เคลื่อนที่เร็ว และให้สัญญาณซื้อขายที่บ่อย แต่ถ้าเลือก Parameter ที่มีค่ามากจะทำให้ Indicators เคลื่อนที่ช้า และให้สัญญาณช้ากว่านอกจากนั้น Parameter ที่ใช้งานได้ดีในสินค้าหนึ่ง ๆ หรือหุ้นตัวหนึ่ง อาจจะใช้งานได้ไม่ดีกับสินค้าอื่นหรือหุ้นตัวอื่นก็ได้
การใช้ค่า Parameter นั้นมีข้อแนะนำอยู่ 2 ข้อครับ
- ควรเลือก Parameter ที่เหมาะสมกับระยะเวลาการถือครองของเรา เช่น ถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะสั้น Parameter ที่มีค่าน้อยก็จะเหมาะกว่า Parameter ที่มีค่ามาก แต่ถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะกลางหรือยาว ก็อาจต้องเลือกใช้งานค่า Parameter ที่สูงขึ้น และถ้าเรารู้สึกว่าการเทรดของเรา Indicators ให้สัญญาเร็วไป เราก็สามารถค่อย ๆ ปรับเพิ่มค่าของ Parameter จนถึงจุดที่เหมาะสมกับเรา แต่ถ้ารู้สึกว่า Indicators ให้สัญญาช้าอยู่บ่อย ๆ ก็สามารถปรับลดค่า Parameter ลงได้ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและระยะเวลาในการการซื้อขายของผู้ใช้งาน
- ที่จริงแล้วไม่มีมี Parameter ที่สามารถให้สัญญาณลงมือซื้อขายได้เที่ยงตรงในทุก ๆ ครั้งของการซื้อขาย ดังนั้น ค่าของ Parameter ที่น่าสนใจมาใช้งานจะเป็นค่า parameter ที่ใช้งานได้ดีพอประมาณ โดยยอมรับความคลาดเคลื่อนในระดับหนึ่ง แล้วดูว่าสัญญาณที่ให้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยผิดพลาด เท่านี้ผมก็คิดว่าเป็น Parameter ที่ดีแล้วครับ
สรุป
หัวข้อนี้เป็นการรวบรวมประเด็นที่เป็นข้อส่งสัยสำหรับผู้ที่สนใจใช้งาน Indicators ประกอบการวิเคราะห์ทางเทคนิคแต่รู้สึกว่า Indicators ที่ใช้งานอยู่นั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการคาดหวังผลลัพธ์สูงเกินสิ่งที่การวิเคราะห์ทางเทคนิคจะให้ได้ หรืออาจเกิดจากการนำ Indicators ไปใช้งานผิดวัตถุประสงค์ที่ถูกออกแบบมา รวมทั้งการใช้งาน Indicators ที่ให้ข้อมูลในมุมมองเดียวกันพร้อม ๆ กันหลายตัว
มีข้อสังเกตเพิ่มเติม คือ Indicators ประเภทที่ใช้ระบุแนวโน้มจะใช้งานได้ดีในสภาวะตลาดที่มีแนวโน้มชัดเจน แต่สำหรับ Indicators ประเภทที่ใช้วัด Momentum มักจะใช้งานได้ดีในภาวะตลาดแบบ Sideways จึงทำให้ไม่มี Indicators ที่ใช้งานได้ทีที่สุดในทุกสภาวะตลาด รวมทั้ง Parameter ที่ดีทีี่สุดที่จะใช้ในการคำนวณ Indicators ก็ไม่สามารถแนะนำได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากปัจจัยสำคัญในการกำหนดว่าควรใช้ Parameter เท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับสไตล์การเทรดของแต่ละคน
โดย DaddyTrader
http://daddytrader.guru/indicatorquestion1/