ตราสารหนี้สีเขียว ฟังดูชื่อแล้วอาจไม่รู้สึกคุ้นเคยเท่าไร อันที่จริงแล้วตราสารหนี้ชนิดนี้เป็นเหมือนตราสารหนี้ทั่วไป เว้นแต่ว่าผู้ออกทำการสัญญาว่าจะใช้เงินสำหรับการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ด้วยโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการฟื้นฟูป่าและทะเล เป็นต้น
ใครสามารถออก Green Bonds ได้?
รัฐบาลหรือองค์กรธุรกิจสามารถออกตราสารหนี้นี้ได้ทั้งนั้น นอกจากนี้สถาบันการเงินหรือธนาคารก็สามารถระดมทุนระยะยาวโดยใช้ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือทางการเงินได้เช่นกัน
ใครคือผู้ซื้อ Green Bonds?
ตลาดตราสารหนี้สีเขียวมีการเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีนักลงทุนที่ใส่ใจสังคมเป็นจำนวนมากอย่างอเมริกาและประเทศในยุโรป ความต้องการซื้อตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้รับการกระตุ้นการรับรู้มากขึ้นในหมู่นักลงทุนที่มองหาบริษัทที่มีการเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว
การศึกษาของ Natixis ESG Survey แสดงให้เห็นว่า 60% ของนักลงทุนมองหาตราสารหนี้ที่สอดคล้องกับค่านิยมส่วนตัวของพวกเขา
ประโยชน์ของการลงทุนในตราสารหนี้สีเขียวคือช่วยให้นักลงทุนมีวิธีที่จะได้รับการยกเว้นภาษี พร้อมกับความพึงพอใจส่วนตัวที่รู้ว่ารายได้จากการลงทุนของพวกเขาถูกนำไปใช้ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ผู้ออกตราสารหนี้สีเขียวยังได้รับประโยชน์ในการดึงดูดนักลงทุนกลุ่มใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนอายุน้อย และผู้ออกตราสารสามารถทำกำไรจากระยะเวลาที่ยาวนานเทียบกับฐานของนักลงทุนที่มีอายุมากกว่า
เพื่อให้มีคุณสมบัติสถานะกรีนบอนด์ ตราสารหนี้มักถูกตรวจสอบโดยบุคคลที่สาม เช่น Climate Bond Standard Board ซึ่งรับรองว่าตราสารหนี้จะให้เงินทุนสำหรับโครงการที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม
Green Bond ในประเทศไทย
ก.ล.ต. ออกเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเพื่อรองรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้สีเขียว โดยผู้ที่จะออกตราสารหนี้สีเขียวต้องเปิดเผยข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ หรือแบบ filing เพิ่มเติม
ในปี พ.ศ. 2561 ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารแห่งแรกที่ได้บุกเบิกตราสารหนี้สีเขียวในไทย โดยได้ออกตราสารหนี้ด้านภูมิอากาศเพราะเล็งเห็นถึงความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย
ตราสารหนี้สีเขียวนั้นยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในไทยนักเพราะนักลงทุนอาจจะยังไม่มั่นใจในผลตอบแทนและยังไม่เห็นการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสนใจตราสารหนี้สีเขียวมากนักหรือบางธนาคารก็นำตราสารหนี้ไปขายในต่างประเทศที่มี Sustainable Investors จำนวนมาก อย่าง ฮ่องกง เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่าง Green Bond, Social Bond และ Sustainability Bond
Green Bond: ตราสารหนี้มุ่งเน้นระดมทุนเพื่อใช้ลงทุนในโครงการที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานสะอาด การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การขนส่ง และอาคารสีเขียว เป็นต้น
Social Bond: ตราสารหนี้ที่มุ่งเน้นระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ผ่านการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิต เช่นการผลิตน้ำดื่มที่สะอาด การพัฒนาระบบขนส่งและพลังงาน การให้บริการสาธารณสุข การส่งเสริมการศึกษา เป็นต้น
Sustainability Bond: ตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อไปใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยหลักเกณฑ์การออกและลักษณะของโครงการต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล
อ้างอิง:
https://www.thebalance.com/what-are-green-bonds-41715
https://www.investopedia.com/terms/g/green-bond.asp
https://www.sec.or.th/TH/Pages/News_Detail.aspx?SECID=7286
http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2018/07112018.aspx