เนื่องจากเราได้โอกาสไปฟัง TMA Top Talk ในเรื่อง Design With a Purpose วันนี้เราเลยจะมาแนะนำคอนเซ็ปต์ Design Thinking ให้ทุกคนได้รู้จักกัน (แต่เราจะขอดีไซน์บทความในแบบของเรานะ เพราะถ้าจะแปลทุกคำอาจจะยาวไป)
ทุก ๆ คนอาจจะได้รู้จักกับคำนี้ในความหมายที่แตกต่างกันไป และหลาย ๆ คน อาจจะยังไม่เข้าใจว่าเราจะนำคอนเซ็ปต์นี้ไปใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างไร
ทางด้าน Prof. Dr. Barry M. Katz ศาสตราจารย์ที่ Stanford University มหาวิทยาลัย Top 5 ของโลกและศาสตราจารย์ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท IDEO ซึ่งสอนให้คนเราสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ได้เริ่มการสัมมนาด้วยการพูดถึงวิธีการปรับตัวให้เข้ากับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (Fourth Revolution)
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่คืออะไร
ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจกับการปฎิวัตินี้ เราต้องรู้ก่อนว่าการปฎิวัติครั้งก่อนๆ เกี่ยวข้องกับอะไร ขอยกตัวอย่างการปฎิวัติครั้งที่สามละกันนะ
การปฏิวัติครั้งที่สามก็คือการเกิดขึ้นของดิจิตอลที่ทำให้เกิดคอมพิวเตอร์ที่เรานำไปใช้งานกันจนแพร่หลายในปัจจุบัน และการปฏิวัติครั้งที่สี่ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ จะเป็นการควบรวมระหว่างอุปกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันกับการติดต่อสื่อสารในรูปเครือข่าย (Digital Physical System) รวมทั้งวิวัฒนาการในด้านไบโอเมตริกซ์เข้าด้วยกัน
Prof. Dr. Barry กล่าวว่าในอดีตคนเรานั้นชอบที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อที่จะรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่เราควรจะทำคือการออกแบบที่ประสานการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ให้เข้ากับวิถีชีวิตของคน (humanization) เขาบอกว่าเราไม่ควรจะเริ่มที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ (product) แต่ควรจะเริ่มที่การออกแบบวิธีคิด (design thinking)
และนี่คือ 3 ขั้นตอนง่ายๆ ของ IDEO ในการออกแบบความคิดเราอย่างสร้างสรรค์ที่จะช่วยให้เราแก้ไขปัญหาและหรือใช้ประโยชน์ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ๆ ได้ดี
1. เริ่มจากวิธีแก้ไม่ใช่ที่ปัญหา (mindset drives by strategies) คนเรามักจะเริ่มต้นที่ปัญหาเพื่อหาทางออกจึงมักทำให้เกิดทางตันแต่เมื่อเราหันกลับมาที่จุดเริ่มต้นว่าอยากได้อะไร อย่างการหา strategy จะทำให้เราเห็นทางออกง่ายขึ้น
2. หลายหัวดีกว่าหัวเดียว (more is better) เพราะไม่ใช่เราคนเดียวที่ทำอยู่ การมองไปที่งานของคนอื่น หรือการรับฟังความเห็นของคนหลากหลายอาชีพและมุมมอง สามารถจะช่วยให้เราประยุกต์สิ่งนั้นเข้ากับเรื่องของเราได้
3. มองภาพรวมไม่ใช่แค่จุดเดียว (look at the bigger picture) เราอาจจะคิดว่าปัญหาที่เรากำลังแก้อยู่นั้นเป็นปัญหาเล็ก ๆ ที่ส่งผลต่อคนแค่กลุ่มเล็ก ๆ แต่จริงๆ แล้วเราควรมองเป็นภาพรวม ว่าแล้วมันมีวิธีที่เราจะช่วยแก้ปัญหาของระบบหรือส่งผลกับคนหมู่มากไปพร้อมกันเลยได้มั้ย
Prof. Dr. Barry ได้พูดถึง 2 ความเชื่อทำให้คนส่วนมากไม่สามารถออกแบบวิธีคิดได้ดี
1. คนเรามักจะอยากได้สิ่งของ / ผลิตภัณฑ์ทำให้มักคิดเป็น คำนาม (noun) แทนที่จะคิดให้เป็นคำกริยา (verb) แต่ถ้าเราเริ่มที่คำกริยาจะทำให้เราไปได้มากกว่า ต้องมองว่าเราไม่ได้ต้องการสิ่งที่ดีกว่าแต่เป็นวิธีการที่ดีกว่า
2. สำหรับปัญหาหนึ่งนั้นมีวิธีแแก้เดียว แต่ความจริงแล้วทุกปัญหามีหลากหลายวิธีแก้ เราต้องไม่ปิดกั้นความคิดตัวเองและผู้อื่นเพราะวิธีที่ดีที่สุดคือวิธีที่สร้างสรรค์ที่สุด
ศาสตราจารย์ ได้ให้ตัวอย่างจำนวนมากเกี่ยวกับการ “redesign” ที่ทางบริษัท IDEO ได้เข้าไปช่วยแก้ไข มีตั้งแต่การ ออกแบบสถาบันการศึกษาไปจนถึงการออกแบบเมือง แต่ที่เราเห็นว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจคือการออกแบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ Prof. Dr. Barry ได้ให้ข้อคิดว่าเราควรจะดีไซน์ปัญญาประดิษฐ์ ก่อนที่มันจะมาดีไซน์เรา เป็นข้อคิดทำให้ฉุกคิดถึงอนาคต ถ้าเราไม่เริ่มคิดแบบสร้างสรรค์ในปัจจุบัน และ Prof. Dr. Barry ยังส่งท้ายสัมมนาว่าอย่าลืมดีไซน์สิ่งที่เราเคยได้ดีไซน์แล้ว หมายถึงเราไม่ควรหยุดนิ่ง
เราเชื่อว่าหลักความคิดเหล่านี้จะช่วยให้ทุกคนปรับตัวเข้ากับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่หรือการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รอบตัวได้ อย่าลืมที่จะออกแบบความคิดของคุณโดยมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนกันนะคะ
Curious Apple
ที่มาบทความ: https://blog.finnomena.com/design-thinking-คืออะไร-71caaaf1ff07