TSE Reform จะยังหนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นต่อไป
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีความปฏิรูปมาโดยตลอด แต่ยังไม่เห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ยิ่งดูจากอัตราส่วน P/B โดยส่วนใหญ่ของหุ้นในตลาดที่ต่ำกว่า 1 เท่า สะท้อนว่านักลงทุนไม่ค่อยสนใจลงทุนหุ้นญี่ปุ่น
ต้นปี 2023 TSE (Tokyo Stock Exchange) เรียกร้องให้บริษัทในตลาดต้องมีแผนพัฒนาการเติบโตของธุรกิจ ขั้นแรกจะเพิ่ม ROE โดยนำเงินสดที่บริษัทญี่ปุ่นมีกันมากมาใช้ และอาจมาในรูปการซื้อหุ้นคืน
สิ้นเดือน ม.ค. 2024 มีบริษัทเผยแผนพัฒนาแล้ว 54% ส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ ถ้าหุ้นขนาดกลางและเล็กซึ่งซื้อขายที่ P/B ต่ำกว่า 1 เท่า และมีงบการเงินแกร่ง หันมาเปิดเผยแผนมากขึ้นจะมีผลเชิงบวกมากต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ขั้นต่อมาเป็นขั้นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพงบการเงินและการทำกำไรในระยะยาวด้วยการแยกธุรกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพออกไป เพิ่มโอกาสทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นลดต้นทุน จัดสรรเงินลงทุนดีกว่าเดิม
ถ้าเป็นไปได้ด้วย ROE ที่เพิ่มขึ้น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีโอกาสไปซื้อขายที่มูลค่ามี premium เหมือนตลาดหุ้นอื่นกันบ้าง
รัฐบาลพยายามผลักดันให้ประชาชนเอาเงินสดออกมาลงทุน
เป็นปัจจัยที่ใช้คำว่า “คาดหวัง” และ “ยาก” ได้ตรงที่สุด เพราะเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ซึ่งคนญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องเก็บเงินสด แถมลงทุนน้อย
ฝั่งรัฐบาลมีความพยายามดึงเงินสดเหล่านั้นออกมาลงทุนมาหลายปี ล่าสุดขยายลิมิตการลงทุนรายปีและยกเว้นภาษีจากการลงทุนไปอย่างไม่มีกำหนด
ซึ่งบอกเลยว่าเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาอีกนาน…แต่ถ้าทำได้จะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นเหมือนอย่างที่เห็นนักลงทุนรายย่อยเข้ามาดันตลาดหุ้นเวียดนามและอินเดีย
การขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใด
มีคำถามปนความกังวลตั้งแต่ต้นปีว่า BoJ ขึ้นดอกเบี้ยน่าจะกดดันตลาดหุ้นไม่ใช่หรือ?
ปลายปี 2022 เริ่มเจอปัญหาเงินเฟ้อจากราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น จากนั้นปี 2023 ส่งผ่านเงินเฟ้อไปทั่ว เลยเห็นเงินเฟ้อของญี่ปุ่นที่รอมานานเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 4% ซึ่งผลที่ตามมากลับไม่ใช่การขึ้นดอกเบี้ย แต่เป็นการขึ้นค่าแรงถึงเกือบ 2.5% และคาดว่าจะเพิ่มด้วยอัตรานี้ในปี 2024 สวนทางเงินเฟ้อที่ลดลง
แน่นอนว่า BoJ ต้องการขึ้นดอกเบี้ยและเลิกใช้นโยบาย Yield Curve Control แต่ที่ยังไม่ขยับสักที เพราะ BoJ รอคอยเงินเฟ้อมานาน ในเมื่อเงินเฟ้อมาแล้วและไม่สูงเกินไป จึงปล่อยให้มีเงินเฟ้อเพื่อให้ยืนที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน
นอกจากนั้นค่าแรงที่เพิ่มขึ้นในขณะที่เงินเฟ้อลดลง ช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น หนุนการใช้จ่ายที่ซบเซามานาน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ BoJ ต้องการเช่นเดียวกับเงินเฟ้อ
แสดงว่าถ้าเห็น BoJ ขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร นับเป็นสัญญาณเชิงบวกแสดงว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นแข็งแกร่งใช้ได้เลย
สรุปว่า…
ระยะสั้น BoJ น่าจะรอดูตัวเลขเศรษฐกิจจนกว่าจะมั่นใจว่ารับกับการขึ้นดอกเบี้ยได้ นอกจากนี้เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นปัจจัยช่วยเร่งให้ประชาชนนำเงินสดที่ได้ดอกเบี้ยน้อยมากออกมาลงทุน และหากเห็นว่า TSE Reform ได้ผลดี ส่งให้ ROE เพิ่มขึ้น ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติหนุนดัชนี ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเทรดแบบมี premium ผลตอบแทนดัชนีที่พุ่งแรงก็มีโอกาสล่อตาล่อใจดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนรายย่อย ถ้าจะลงทุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็ควรเน้นลงทุนระยะยาว รอผลจากปัจจัยที่กล่าวมา
สุดท้ายนี้ขอฝากเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยว่าด้วย 2 ดัชนีหลักของตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่กองทุน Passive หลายค่ายอ้างอิงกันอยู่
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น มี 2 ดัชนีหลัก คือ Nikkei 225 และ TOPIX
- ดัชนี Nikkei 225 เป็นดัชนีที่คำนวณจากราคาหุ้น (Price-weighted Index) ของบริษัทในตลาดหุ้นญี่ปุ่น จำนวน 225 บริษัท วิธีคำนวณดัชนีแบบนี้ทำให้หุ้นที่มีราคาสูงมีผลต่อความเคลื่อนไหวของดัชนีมาก
- ดัชนี TOPIX เป็นดัชนีที่คำนวณจากมูลค่าตามราคาตลาด (Free-float adjusted market capitalization-weighted Index) ของบริษัทจำนวนกว่า 2,100 บริษัท วิธีคำนวณดัชนีแบบนี้ทำให้หุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงมีผลต่อความเคลื่อนไหวของดัชนีมาก
ดังนั้นทั้ง 2 ดัชนีจะมีความเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันบ้าง แต่ดัชนี TOPIX จะสะท้อนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้ดีกว่าดัชนี Nikkei 225
เขียนโดย CrisisMan
facebook.com/MrCrisisman/