ใครเคยสงสัยไหมว่าทำไมพอเราซื้อกองทุนปุ๊บ ลงยาวๆ ปั๊บเลย ทั้งๆ ที่ฟังกูรูก็แล้ว ดูผลการดำเนินงานย้อนหลัง (Past Performance) ก็แล้ว แต่ก็อ้าว เฮ้ย ไม่เห็นเหมือนที่คุยกันไว้นี่หน่า ราคาลง ไม่เห็นวิ่งไปไหนเลย เอาไงดีนะ วันนี้เลยฝากอุปกรณ์ที่เรียกว่า “Checklist” ไว้ให้ได้ลองใช้กัน
1. อ่านให้มากและทำการบ้านอย่างหนัก
นอกจากการฟังและอ่านคำแนะนำจากเหล่ากูรูและเพื่อนๆ ซึ่งมักนำเสนอข้อมูลที่หอมหวานประกอบกับผลการดำเนินงานอันสวยหรู ชวนให้น่าลงทุน นักลงทุนควรทำการบ้านศึกษาข้อมูล อย่างเช่น Fund Fact Sheet
เพราะการทำการบ้านมาอย่างดีจะช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มความมั่นใจ อีกทั้งคำแนะนำเหล่านั้นอาจไม่ตรงกับนิสัยของนักลงทุนเอง
2. วิเคราะห์อย่างละเอียด
Fund Fact Sheet เอกสารจำนวนน้อยหน้านี้ บอกกล่าวข้อมูลมากมายกับนักลงทุนอย่างน่าเหลือเชื่อ ที่ควรอ่านเลย ก็อย่างเช่น นโยบายการลงทุน สินทรัพย์ที่ลงทุน ที่สำคัญเลยคือ ค่าธรรมเนียม นั่นเพราะกำไรเป็นความไม่แน่นอน ความแน่นอนคือค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียแน่ๆ ดังนั้นพิจารณาสิ่งนี้ให้มาก
3. จัดทัพ จัดพอร์ต
หากรู้อนาคตว่ากองทุนไหนจะทำกำไรดีที่สุด ก็คงไม่มีบทความนี้ การรับมือกับความไม่แน่นอน คือการจัดพอร์ตกระจายสินทรัพย์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อเงินลงทุนเมื่อตลาดเกรี้ยวกราดกับนักลงทุน
4. จิตวิทยาและความอดทน
เพราะการลงทุนไม่ใช่แค่ใส่น้ำร้อน รอ 3 นาที แล้วได้กำไร หากแต่ต้องใช้เวลา มีขึ้นลงบ้างเป็นธรรมดา อย่างไรก็ตามถ้าเรามั่นใจกับการทำการบ้านและการวิเคราะห์แล้ว ขอแค่ใจที่มั่นคง อดทน ปล่อยให้พอร์ตของเราเก็บเกี่ยวให้เต็มที่ก็พอแล้ว
5. พร้อมเปลี่ยนแปลงด้วยความเด็ดขาด
สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ในตลาดมีปัจจัยมากมายที่พร้อมถาโถมใส่พอร์ตของเรา ดังนั้นหากปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนไปอย่างถาวร การตัดสินใจขายออกเพื่อทำกำไรหรือคัตลอส (Cut Loss) เพื่อจำกัดความเสี่ยงนั้นก็จำเป็น อย่าลังเลที่จะตัดสินใจ
จากบทเรียนที่ผ่านมาสอนไว้ว่าการทำการบ้านอย่างหนัก พร้อมด้วยความอดทนและการตัดสินใจที่เด็ดขาดนั้นจะช่วยให้วางแผนการลงทุนได้ง่ายและเกิดผลมากขึ้นครับ
CrisisMan