15 กันยายน ปี 2008 มหาอำนาจทางการเงินของโลกที่มีอายุมากว่า 158 ปี ที่ชื่อว่า Lehman Brothers ต้องปิดตัวลง หลังขาดทุนมหาศาลจากการลงทุนในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ก่อเกิดวิกฤตซับไพร์มส่งผลกระทบไปทั่วโลก
บางคนกล่าวหา CEO นามว่า ริชาร์ด ฟูลด์ ที่บริหารงานผิดพลาด มั่นใจและดื้อรั้นมากเกินไป บางคนหันไปโทษคู่แข่งอย่าง Bank of America และ Barclays ที่ล้มโต๊ะเจรจาเข้าซื้อกิจการ หรือโทษแม้กระทั่งรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
จะอย่างไรก็ตาม เราจะมาหาบทเรียนจากสาเหตุที่แท้จริงของการล่มสลายครั้งนี้กัน
กู้มาลงทุน (Leverage)
นี่คือต้นเหตุที่นำพาไปสู่หายนะอย่างแท้จริง ทุกอย่างเริ่มต้นในช่วงเวลาตลาดขาขึ้น ความโลภเริ่มเข้าครอบงำ หนทางสร้างกำไรให้มากที่สุดได้เกิดขึ้น สิ่งๆ นั้นคือ การกู้เพื่อนำมาลงทุน (Leverage)
ปี 2007 Lehman Brothers กู้มาลงทุนสูงสุดมากถึง 44 เท่า ลองนึกภาพง่ายๆ ใช้เงินสดแค่ 100,000 บาท แต่ซื้อหุ้นได้ 4,400,000 บาท (ใช้เงินจากหนี้ล้วนๆ)
การลงทุนครั้งนี้ไม่ใช่หุ้น แต่ลงทุนในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (MBS) ซึ่งช่วงที่เริ่มลงทุนอะไรๆ ก็ดูดีไปหมด เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ยังต่ำ เงินเฟ้อยังไม่มาก ตลาดอสังหาฯ ขึ้นอย่างรุนแรง เมื่อเงินเฟ้อเริ่มขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้ก็ขึ้นตาม จนสุดท้ายการผิดชำระหนี้มีเกลื่อน ตลาดอสังหาฯ ซบเซา มูลค่าของสินเชื่ออสังหาฯ ลดลงจนถึงขั้นไร้ค่า ในเมื่อ Lehman Brothers กู้เงินมาลงทุนขนาดนั้น จึงส่งผลให้เกิดการขาดทุนมหาศาล ไม่มีเงินใช้หนี้ที่กู้มา สุดท้ายก็ล้มลง
หนี้ท่วม สภาพคล่องต่ำ (Debt and Liquidity)
สาเหตุที่ธุรกิจล้มละลายไม่ได้มีสาเหตุมาจากการขาดทุนทั้งหมด แต่เกิดจากการขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ซึ่งได้มาจากการกู้ยืมโดยใช้เครดิต (ความน่าเชื่อถือ)
ทีนี้เรากลับไปหัวข้อที่แล้ว Lehman Brothers กู้มาลงทุนสูงสุดมากถึง 44 เท่า ในทางอ้อมแสดงให้เห็นว่าเงินสดมีน้อยมาก เมื่อเริ่มเปิดเผยงบการเงินที่ขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ สภาพทางการเงินที่ร่อยหรอ เงินสดที่แทบจะไม่มีอยู่แล้ว ความน่าเชื่อถือที่ถูกเจ้าหนี้ระยะสั้นปรับลดลง ส่งผลให้ขาดเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ธุรกิจไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ในขณะเดียวกัน เงินที่กู้ยืมมาลงทุนก็ต้องใช้คืน ก่อให้เกิดหายนะ นำพาไปสู่การล้มละลายของธุรกิจ
โบนัส และขาดทุน (Bonus and Losses)
ด้วยระบบการจ่ายโบนัสของ Lehman Brothers ที่จะจ่ายโบนัสเมื่อบริษัทสามารถทำกำไรได้ จึงเป็นการจูงใจให้พนักงานที่เกี่ยวข้องเร่งแผนการลงทุนของบริษัท ส่งผลให้ขาดความระมัดระวังต่อแผนการลงทุน ตัวอย่างเช่น กู้ยืมเงินมาลงทุนในจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อ้างอิงกับสินเชื่ออสังหาฯ (CDO, CDS) ซึ่งต้องอย่าลืมว่าช่วงแรกคือช่วงที่อะไรๆ ก็ดูดีไปหมด ต้นทุนทางการเงินยังต่ำ กำไรงาม โบนัสบาน แต่แล้วผลขาดทุนเริ่มปรากฏ โบนัสที่จ่ายไปไม่ได้รับคืน เงินสดแทบไม่มี จึงเป็นอีกสาเหตุที่ส่งเสริมความประมาทอันนำพาหายนะมาให้
จากบทเรียนสั้นๆ ที่แสนล้ำค่านี้ นี่คือรูปแบบสุดคลาสสิคของบริษัทที่จะล้มละลาย ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกประเทศ ดังนั้นจึงเป็นสัญญาณที่บอกให้เราๆ ท่านๆ ควรหมั่นตรวจสอบธุรกิจที่กำลังลงทุนอยู่ว่าเข้าไปอยู่ในรูปแบบเหล่านี้หรือไม่ และเชื่อสิว่าในอนาคตมันจะต้องเกิดขึ้นอีก ไม่มีวันหมดไปหรอก
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.lovemoney.com/news/3909/why-lehman-brothers-collapsed
https://hbr.org/2009/09/lessons-from-lehman