นี่คือมุมมองและปัจจัยที่ทำให้ทองคำมีความน่าสนใจในปี 2019 ครับ ผมได้สรุปและเรียบเรียงจาก “Outlook 2019 Global economic trends and their impact on gold” โดย World Gold Council จะเป็นอย่างไรไปติดตามกันเลยครับ
สถานการณ์ตลาดในปีนี้ มองว่ามี 2 ปัจจัยหลักที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนความต้องการทองคำ คือความผันผวนของตลาดการเงิน และการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าว สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 3 แนวโน้มหลักที่คาดว่าจะผลักดันราคาทองคำ ได้แก่
-ความไม่แน่นอนของตลาดหุ้น
-นโยบายการเงิน และค่าเงินดอลลาร์
-การปฎิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
แม้เมื่อปีที่ผ่านมา ตลาดทองคำจะเผชิญกับความซบเซาเกือบตลอดปี แต่แล้วก็เริ่มฉายแววความเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคม เนื่องจากความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศ และความผันผวนในตลาดการเงิน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯ ส่งให้ผลตอบแทนติดลบเพียงเล็กน้อย และดีกว่าตลาดหุ้นทั่วโลก
รูปที่ 1 ผลตอบแทนสินทรัพย์ในปี 2018 | ที่มา FINNOMENA Business Intelligence
ความเสี่ยงที่เริ่มปรากฏขึ้นนับตั้งแต่กลางปี 2018 พร้อมด้วยปัจจัยเสริมที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ ทำให้คาดว่าความเสี่ยงจะดำเนินต่อไปในปีนี้ พร้อมแล้วเริ่มกันเลยที่หัวข้อแรก
1. ความไม่แน่นอนของตลาดหุ้น
คาดว่านักลงทุนทั่วโลกจะเพิ่มความต้องการทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยง และปกป้องพอร์ตจากความเสี่ยง โดยความเสี่ยงดังกล่าวสามารถแบ่งได้ดังนี้
-มูลค่าตลาดหุ้นที่แพงและความผันผวนที่สูงขึ้น
-ความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจในยุโรป
-แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อาจปรับตัวขึ้นด้วยนโยบาย protectionist (Trade war)
-ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว
เริ่มกันที่การปรับฐานของตลาดหุ้นรอบล่าสุด ไม่ได้ช่วยให้ตลาดถูกลงเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ที่ตลาดหุ้นวิ่งขึ้นมาตลอดทศวรรษโดยปราศจากการปรับฐานครั้งใหญ่ ด้านตลาดตราสารหนี้ยังมีความน่าสนใจในระดับต่ำกว่า เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (10Y-US bond yield) อยู่ในระดับต่ำ และยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี 2008 นักลงทุนจึงมีทางเลือกไม่มากสำหรับรับมือความผันผวนของตลาด
มากกว่านั้นดัชนี VIX หรือดัชนีวัดความกลัวของตลาดหุ้น มีค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 13 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 ไปที่ 21 ในไตรมาสที่ 4 (จากรูปที่ 2 จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า VIX เปลี่ยนกรอบขึ้นมาตลอดปี 2017 ถึง 2019 ส่งสัญญาณความกลัวในตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง)
รูปที่ 2 ดัชนี VIX ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา | ที่มา : Bloomberg
ต่อมาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่เพิ่งฟื้นจากปัญหาหนี้สินไม่สามารถเทียบได้กับระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ พร้อมด้วยความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจ อาทิเช่น ข้อตกลง Brexit ความวุ่นวายในฝรั่งเศส การแยกดินแดนในสเปน และปัญหาหนี้สินอิตาลี ทำให้มีแรงซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องจากยุโรปนับตั้งแต่ต้นปี 2016
นอกจากนี้รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกกำลังดำเนินนโยบาย protectionist แม้นโยบายดังกล่าวจะมีผลดีในระยะสั้น แต่สำหรับระยะยาวแล้วจะสร้างผลเสีย เช่น เพิ่มอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากค่าจ้างแรงงานและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น
รูปที่ 3 ดัชนี S&P500 ค่า P/E และกำไรสุทธิ | ที่มา Bloomberg
และยังมีปัจจัยอื่นซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะชะลอตัว ตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ตอบรับข่าวจากผลประกอบการที่ดีในปี 2018 อันเนื่องมาจากนโยบายปรับลดการเก็บภาษีรายได้ของทรัมป์ จากรูปที่ 3 แม้ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงมา ส่งผลให้ตลาดหุ้นราคาถูกลงเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วน P/E แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับผลกำไรที่เพิ่มขึ้น (เส้นสีเขียว, เส้นสีชมพู) จึงค่อนข้างชัดเจนว่าการที่ตลาดมีราคาถูกลงเกิดจากนโยบายปรับลดการเก็บภาษี และในปี 2019 จะไม่มีนโยบายดังกล่าว
2. ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ย และค่าเงินดอลลาร์
ปัจจัยที่จำกัด upside ของทองคำ คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการแข็งของค่าเงินดอลลาร์ เพียงแค่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพียงปัจจัยเดียวไม่เพียงพอที่จะลดความน่าสนใจทองคำของนักลงทุนลงได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี 2004 ถึง 2007 หรือปี 2016 และช่วงต้นปี 2018 แต่หากรวมปัจจัยค่าเงินดอลลาร์แล้วจะสามารถกดดันราคาทองคำได้ อย่างไรก็ตามมีเหตุผลเพียงพอให้เชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์ใกล้หมดรอบแข็งค่าแล้ว ดังนี้
รูปแบบการปรับตัวขึ้นของดัชนี Dollar Index คล้ายกับรูปแบบเมื่อปี 2016 ซึ่งในครั้งนั้นตามมาด้วยรอบของการอ่อนค่า
รูปที่ 4 ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินดอลลาร์ และราคาทองคำ | ที่มา Bloomberg
ขณะที่ Fed มีท่าทีผ่อนคลายต่อนโยบายการเงินมากขึ้น ด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางอื่น ๆ กำลังตึงตัวขึ้น พร้อมกันนั้นหลายธนาคารกลางของประเทศตลาดเกิดใหม่เริ่มกระจายสัดส่วนเงินทุนสำรองไปยังทองคำ อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งเกินไปจะส่งผลเสียต่อการค้าของสหรัฐฯ
3. การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
ความต้องการทองคำของประเทศตลาดเกิดใหม่คิดเป็น 70% ของทั่วโลก ซึ่งประเทศจีนและอินเดียเป็นสองประเทศขนาดใหญ่และมีปริมาณการบริโภคทีเด่นชัด
ทั้งสองประเทศเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจอีกครั้ง เช่น กระตุ้นการบริโภคภายใน เพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจและความมั่งคั่งแตกต่างจากประเทศอื่นอย่างชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าหากมุมมองต่อทองคำยังเป็นบวก ทองคำจะได้รับผลดีโดยเฉพาะกลุ่มเครื่องประดับ
รูปที่ 5 ความสัมพันธืระหว่างราคาทองคำ และปริมาณการถือครองทองคำของ ETF | ที่มา Bloomberg
ทำไมต้องทองคำ?
ในระยะสั้นราคาทองคำถูกขับเคลื่อนโดยความเสี่ยงของตลาดการเงิน ทิศทางค่าเงินดอลลาร์ และการปฎิรูปเศรษฐกิจ
ในระยะยาวความต้องการทองคำได้รับแรงหนุนจากชนชั้นกลางที่มีความมั่งคั้งขึ้นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และความต้องการในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
ส่วนธนาคารกลางเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านค่าเงินดอลลาร์ ทำให้แรงซื้อจากธนาคารกลางในปี 2018 สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015
นอกจากนั้นทองคำยังมีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์อื่นในระดับต่ำ ทั้งในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวหรือหดตัว ดังนั้นราคาเป็นผลมาจากอุปสงค์และอุปทาน อีกทั้งยังเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องไม่ต่างจากสินทรัพย์ทางการเงินชนิดอื่น
แปลและเรียบเรียงจากบทความ
https://www.gold.org/goldhub/research/outlook-2019