ในปัจจุบันมีบล็อกเชนที่ใช้งานจริงอยู่หลายบล็อกเชนนะครับ ซึ่งแต่ละบล็อกเชนก็จะมีการใช้งานที่แตกต่างกันไป มีปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาของ native token บนบล็อกเชนนั้น ๆ ที่แตกต่างกันออกไป (เราจะเห็นบางช่วงเวลาที่ราคาโทเคนบางตัวมีการพุ่งขึ้นหรือดิ่งลง ในขณะที่โทเคนตัวอื่น ๆ ไม่ได้มีพฤติกรรมเดียวกัน) นั่นทำให้การซื้อ-ขายโทเคนข้ามบล็อกเชน เป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนทำครับ ซึ่งในตอนนี้ หลาย ๆ คนก็อาจจะเลือกใช้กระดานเทรดคริปโตเคอร์เรนซีอย่าง Binance หรือ Coinbase เป็นแหล่งซื้อ-ขาย ด้วยปัจจัยเรื่องมูลค่าการเทรดและความหลากหลายของโทเคน (ถ้าเราอยู่บนบล็อกเชน Ethereum จะให้เราแลก ETH เป็นโทเคนอื่นอย่าง BTC หรือ BNB เราก็จะได้ wrapped token หรือโทเคนที่ถูกตรึงมูลค่าไว้กับต้นทาง ไม่ใช่โทเคนจริง ๆ มาใช่ไหมครับ) แต่ในขณะเดียวกัน กระดานเทรดดังกล่าวก็มีความรวมศูนย์ (centralized) อยู่ระดับนึง และมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในการถอนออกอยู่ (เราจะเห็นข่าว Binance ระงับการถอนชั่วคราวอยู่เรื่อย ๆ)
วันนี้ผมจะพาทุกคนมารู้จักกับโปรโตคอลที่ใช้แลกเปลี่ยนโทเคนที่มีลักษณะเช่นเดียวกับกระดานเทรดแบบรวมศูนย์ที่กล่าวไปครับ นั่นคือสามารถซื้อ-ขายโทเคนต่าง ๆ ข้ามบล็อกเชนได้ แต่ในขณะเดียวกัน ทำงานแบบกระจายศูนย์ (decentralized) นั่นแปลว่าถ้าหากเราใช้งานโปรโตคอลตัวนี้ เราจะเป็นเจ้าของสินทรัพย์เราจริง ๆ และจะไม่มีการปิดกั้นการถอนใด ๆ ได้ครับ ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อบล็อกเชนโดยเฉพาะ เราไปทำความรู้จัก THORChain กันครับ
What is THORChain?
Thorchain เป็นตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีแบบกระจายศูนย์ (decentralized exchange:DEX) ครับ โดยอ้างอิงจาก whitepaper ระบุว่า…
THORChain เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตฯ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อบล็อกเชนและโทเคนต่าง ๆ บนบล็อกเชน ผ่านสะพาน (bridge) และ liquidity pool ของโปรโตคอล โดยมีผู้ตรวจสอบคอยตรวจสอบธุรกรรมอยู่เบื้องหลัง โดยผู้ตรวจสอบได้รับค่าตอบแทนบางอย่าง
ไม่มีใครทราบข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับผู้ก่อตั้งโปรเจกต์ THORChain ครับ ข้อมูลที่เราทราบคือโปรเจกต์เริ่มต้นในปี 2018 จากนักพัฒนากลุ่มหนึ่งที่เจอกันในงาน Hackathon ของ Binance และเริ่มสร้าง THORChain ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และฟีเจอร์หลาย ๆ อย่าง เช่นหน้าเว็บ THORChain เกิดจากการพัฒนาจากชุมชน (community) ของ THORChain ล้วน ๆ ครับ
ความแตกต่างสำคัญของ THORChain กับ DEX อื่น ๆ อย่างเช่น Uniswap, Sushiswap หรือ Pancakeswap คือ DEX เหล่านั้นจะมีโทเคนที่เรียกว่า wrapped token อยู่ เช่น WBTC ใน DEX บน Ethereum อย่าง Uniswap และ Sushiswap หรือ WETH ใน DEX บน BNB Chain อย่าง Pancakeswap ครับ ซึ่ง wrapped token เหล่านี้ไม่ได้อยู่บนบล็อกเชนตัวเอง แต่เป็นโทเคนที่มีการตรึงมูลค่าไว้กับโทเคนต้นทาง (เช่น WBTC ตรึงไว้กับ BTC ที่อยู่บนบล็อกเชนของ Bitcoin จริง ๆ) เพราะฉะนั้นการซื้อ WBTC บน Uniswap ไม่ได้แปลว่าเราถือ Bitcoin ครับ แต่แปลว่าเราถือโทเคนบางอย่างที่มีมูลค่าเท่ากับ Bitcoin แต่สำหรับ THORChain แล้ว ถ้าหากเราซื้อ BTC บน THORChain แปลว่าเราจะมี BTC ที่อยู่บนบล็อกเชนของ Bitcoin จริง ๆ ครับ
กลุ่มผู้ใช้งาน THORChain จะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ users คือผู้ใช้งานที่ต้องการจะแลกเปลี่ยนโทเคน และอีกกลุ่มคือ liquidity providers คือผู้ใช้งานสร้างสภาพคล่องให้กับโปรโตคอล โดยนำโทเคนที่ตัวเองมีมาใส่ในกองกลางไว้ เพื่อเป็นตลาดแลกเปลี่ยนโทเคนครับ โดยระบบการแลกเปลี่ยนบน THORChain จะทำงานแบบ decentralized exchange นั่นคือจะไม่มีคนตรงกลางคอยทำหน้าที่จับคู่ออเดอร์ครับ การแลกเปลี่ยนโทเคนคือการนำโทเคนที่ต้องการขายมาใส่เพิ่มในกองกลาง แล้วหยิบโทเคนที่อยากได้ออกไป โดยมีค่าธรรมเนียมเล็กน้อย ซึ่งค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะกลายเป็นรายได้ให้กับ liquidity providers ครับ นอกจากนี้ liquidity providers ยังได้ RUNE ซึ่งเป็นโทเคนประจำบล็อกเชน THORChain เพิ่มจากการเพิ่มสภาพคล่องให้กับโปรโตคอลอีกด้วย
Technology
THORChain ถูกสร้างขึ้นด้วย Cosmos SDK ซึ่งเป็นชุดโปรแกรมสำหรับสร้างบล็อกเชนของ Cosmos (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Cosmos ได้ที่นี่) และใช้กลไกฉันทามติของ Cosmos ที่ชื่อว่า Tendermint ครับ โดยธุรกรรมจะต้องได้รับการยอมรับจาก node อย่างน้อย 2 ใน 3 ของจำนวน node ทั้งหมด จึงจะถือว่าสำเร็จ ในปัจจุบันมีจำนวน validator node อยู่ทั้งหมด 76 nodes ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วโครงสร้างของบล็อกเชนสามารถรองรับได้ที่ 360 nodes
Nodes
เป็นส่วนประกอบที่คอยทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมทั้งบนบล็อกเชนต่าง ๆ ที่มาเชื่อมต่อกับบล็อกเชนของ THORChain และภายในบล็อกเชนของ THORChain เอง โดยหลัก ๆ แล้ว node จะมีหน้าที่สองอย่างครับ คือ
- เป็นผู้สร้างและดูแล vault หรือกองกลางเพื่อให้ liquidity provider นำโทเคนมาสร้างสภาพคล่องให้กับโปรโตคอล
- เป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน และเขียนบล็อกใหม่ให้กับบล็อกเชน
โดย node จะต้องทำการวาง RUNE ซึ่งเป็นโทเคนประจำบล็อกเชน THORChain ไว้เป็นหลักประกัน และจะถูกริบ RUNE ที่วางไว้ หากมีความพยายามจะบิดเบือนธุรกรรมครับ ซึ่งทุก ๆ คนสามารถเป็น node ได้ถ้าหากมีคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถสูง และทำการวาง RUNE เป็นหลักประกันครับ ซึ่งถ้าหากวาง RUNE เยอะเพียงพอ ก็จะได้สิทธิในการเป็น active node ของเครือข่ายครับ
Bifrost Protocol
เป็นโปรโตคอลสำคัญในระบบของ THORChain ที่คอยเชื่อมต่อบล็อกเชนแต่ละเชนเข้าไว้ด้วยกันครับ โดย Bifrost จะช่วยยืนยันความปลอดภัยของการทำธุรกรรมข้ามเชน รวมถึงป้องกันปัญหา double-spending และกรณีอื่น ๆ ที่พยายามบิดเบือนธุรกรรมข้ามเชนครับ โดยเมื่อมีการส่งโทเคนจากบล็อกเชนอื่นเข้ามายัง THORChain ตัว Bifrost จะให้ node บน THORChain ทำการยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมครับ โดยในการตรวจสอบ THORChain ใช้วิธีที่เรียกว่า one-way state pegs ครับ นั่นคือ THORChain จะใช้วิธีตรวจสอบรายการธุรกรรมของบล็อกเชนอื่น ๆ จากนั้นทำการเลือกธุรกรรมที่เกี่ยวข้องมา และทำการเก็บข้อมูลเช่นปริมาณสินทรัพย์, เลขที่ธุรกรรม, ที่อยู่ผู้รับและผู้ส่ง ซึ่งโค้ดจะถูกเขียนสำหรับหนึ่งบล็อกเชนครับ (ถ้าจะเชื่อมต่อกับบล็อกเชนใหม่ ก็ต้องเขียนโค้ดชุดใหม่) โดยเมื่อมีธุรกรรมใหม่เกิดขึ้น ทุก ๆ node จะต้องรายงานธุรกรรมนั้นเข้ามาที่ THORChain (เรียกขั้นตอนนี้ว่า witness transaction) node ที่พลาดการรายงานดังกล่าวจะถูกทำโทษ จากนั้นจึงเข้าขั้นตอนการตรวจสอบธุรกรรมต่อไปครับ
Yggdrasil Protocol
เมื่อบล็อกเชนมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น และมีความถี่ของการทำธุรกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมทำให้บล็อกเชนช้าลงเป็นธรรมดาครับ และเมื่อจำนวน node ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรม ไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันกับจำนวนผู้ใช้งาน ก็แน่นอนว่าจะเกิดปัญหาคอขวด (bottleneck) ของการตรวจสอบธุรกรรมที่ node ครับ THORChain รับรู้ถึงปัญหานี้ดี และใช้วิธี sharding ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่ง sharding คือการแบ่งบล็อกเชนออกเป็นเชนย่อย ๆ และกระจาย node ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมออกไปตามเชนต่าง ๆ ด้วยวิธีนี้ จำนวน node ขั้นต่ำที่จะต้องตรวจสอบธุรกรรม 1 ธุรกรรม จะลดลงครับ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ sharding ได้ที่บทความ Harmony ครับ)
Sharding ของ THORChain มีชื่อว่า Yggdrasil Protocol แต่ลักษณะจะไม่ได้เหมือนกับ sharding ทั่วไป ในขณะที่ sharding ทั่วไปจะทำการตัดแบ่งบล็อกเชนอันหนึ่งออกเป็นสายโซ่ย่อย ๆ Yggdrasil จะทำการแบ่งกลุ่มบล็อกเชนที่ THORChain เชื่อมต่ออยู่ออกเป็นกลุ่มย่อยแทนครับ แปลว่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนเดียวกัน จะอยู่ในกลุ่มเดียวกัน (ไม่ถูกตัดให้กระจายออก) และในแต่ละกลุ่ม จะมี node ประจำที่คอยทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมอยู่ครับ ซึ่งการตัดแบ่งแบบนี้จะทำให้ลดขั้นตอนการรวมสายโซ่ย่อยเป็นบล็อกเชนเดียว (ซึ่งถ้าตัดบล็อกเชนเป็นสายโซ่ย่อยแบบ sharding แบบเก่า ก็จะต้องมีขั้นตอนนี้เพิ่มขึ้นมา) และช่วยเพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรมได้เยอะเลยครับ
Swapping Method
ขั้นตอนการใช้งาน THORChain อย่างแรกคือเราจะต้องสร้างกระเป๋าบนหน้าเว็บ THORswap ก่อน ซึ่งการสร้างกระเป๋าหนึ่งครั้ง เราจะได้ที่อยู่กระเป๋าสำหรับทุก ๆ บล็อกเชนที่เชื่อมต่อกับ THORChain ครับ (ซึ่งเราก็สามารถโอนโทเคนต่าง ๆ ระหว่างกระเป๋า THORChain และกระเป๋าอื่น ๆ อย่าง Metamask หรือ SafePal ได้ปกติเลย)
สมมติว่าเราอยากจะแลก BTC เป็น ETH สิ่งที่เราทำคือกดแลกบนหน้าเว็บของ THORChain ได้เลย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังบ้านจะมีความซับซ้อนระดับหนึ่ง โดย BTC ที่เราใช้แลกจะถูกส่งไปยังกระเป๋า Bitcoin ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ node จากนั้น node จะทำการตรวจสอบธุรกรรมว่ามีการโอนเหรียญจากเราเข้าไปที่กระเป๋าจริง ๆ และเมื่อตรวจสอบแล้ว node ก็จะโอน ETH จากกระเป๋า Ethereum ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ node ดังกล่าว กลับมาที่กระเป๋าของเราครับ แต่จริง ๆ แล้ว THORChain ยังมีกลไกหลังบ้านที่ซับซ้อนมาก ๆ ทำงานอยู่ด้วย ซึ่งผมจะไม่ได้ลงรายละเอียดในบทความนี้นะครับ
อีกหนึ่งข้อสังเกตคือถ้าเราลองไปดู liquidity pool ที่อยู่บนหน้าเว็บ THORSwap เราจะเห็นว่าจะมีเฉพาะคู่ของ RUNE กับโทเคนจากบล็อกเชนอื่น ๆ ครับ (จะไม่มี pool ที่ไม่มี RUNE อย่าง BTC-ETH หรือ BNB-USDC) ซึ่งทีมพัฒนา THORChain ตั้งใจออกแบบโปรโตคอลให้ทุก ๆ โทเคนที่มาเทรด จะต้องเทรดผ่าน RUNE เพราะจะได้ลดจำนวน pool ที่อยู่บนหน้าเว็บครับ ลองจินตนาการว่าถ้า THORChain รองรับการแลกเปลี่ยนโทเคนสำหรับบล็อกเชน 100 อัน ด้วยการออกแบบแบบปัจจุบัน จะมี pool อยู่เพียง 100 คู่ แต่ถ้าใช้วิธีจับคู่ทุกคู่ที่เป็นไปได้ จะมี pool มากถึง 4,950 คู่เลยครับ ซึ่งการมีจำนวน pool ที่น้อยทำให้มูลค่าสภาพคล่องต่อ 1 pool มีอยู่มาก และทำให้ราคาแลกเปลี่ยนมีความผันผวนที่ต่ำครับ
แต่การใช้งานหน้าเว็บ THORSwap ไม่จำเป็นจะต้องแลกโทเคนใด ๆ เป็น RUNE ก่อนนะครับ สามารถแลกโทเคนที่เราอยากขายเป็นโทเคนที่เราอยากซื้อได้เลย กลไกหลังบ้านของ THORChain จะทำการแลกสองรอบ คือแลกโทเคนที่จะขายเป็น RUNE ก่อน แล้วเอา RUNE ไปแลกโทเคนที่อยากซื้ออีกที ให้โดยอัตโนมัติครับ
นอกจากนี้คนที่มาเทรดกับ THORChain จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มอีกหนึ่งส่วน ซึ่งเรียกว่า slip fee ครับ slip fee คือค่าธรรมเนียมที่คิดจากมูลค่าที่เราเทรดต่อมูลค่าสินทรัพย์ใน pool ครับ (slip fee ที่ต้องเสียจะแปรผันตามอัตราส่วนสินทรัพย์ใน pool ที่เปลี่ยนไปหลังจากการเทรด) แปลว่าถ้ามีวาฬสักเจ้า มาเทรดบน THORSwap วาฬเจ้านั้นจะเสีย slip fee เยอะกว่าคนธรรมดา เพราะปริมาณเทรดเยอะกว่า ซึ่งค่าธรรมเนียมส่วนนี้ก็จะเป็นรายได้ให้กับ liquidity providers ต่อไปครับ
Other Features
THORName Service
เป็นฟีเจอร์ของ THORChain ที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างอักขระความยาวไม่เกิน 30 ตัวอักษร เป็นชื่อ cross-chain wallet ที่สร้างขึ้นบนเว็บ THORSwap ได้ครับ (ความพิเศษคือใส่อีโมจิได้ด้วย) และเมื่อตั้งชื่อแล้ว เวลาเราจะให้เพื่อนเราโอนโทเคนใด ๆ มาให้เราที่กระเป๋าดังกล่าว เพื่อนเราก็สามารถโอนมาที่กระเป๋าตามชื่อที่เราตั้งไว้ โดยไม่ต้องจดที่อยู่กระเป๋ายาว ๆ ของเรานั่นเองครับ ถือว่าสะดวกแก่การใช้งานเลยครับ
THORWallet
เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยทีม THORChain ครับ โดยเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลที่เราสามารถโอนโทเคนข้ามบล็อกเชนได้หลากหลายบล็อกเชนภายในแอปพลิเคชันเดียว ซึ่งกลไกเบื้องหลังก็เหมือนกับ THORChain ที่ผมได้กล่าวไปด้านบนเลยครับ โดยในปัจจุบันก็เปิดให้ดาวน์โหลดทั้ง App Store และ Play Store แล้วครับ
RUNE
เป็น native token ของบล็อกเชน THORChain ครับ โดย RUNE เริ่มต้นจากการเป็น BEP-2 token ที่อยู่บนบล็อกเชนของ Binance (ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น BNB Beacon Chain และเป็นคนละบล็อกเชนกับ Binance Smart Chain นะครับ) โดยในจุดเริ่มต้น RUNE มีปริมาณอุปทานสูงสุดอยู่ที่ 1 พันล้านเหรียญ แต่ในปลายปี 2019 ได้มีการลดปริมาณอุปทานสูงสุดให้เหลือ 500 ล้านเหรียญครับ และเมื่อบล็อกเชนของ THORChain เริ่มทำงานเต็มรูปแบบ ก็ได้มีการย้าย RUNE ไปไว้บน THORChain ครับ โดยมี RUNE 57% ที่ถูกแบ่งไว้เป็นรางวัลสำหรับการเขียนบล็อกใหม่ ซึ่งก็จะทยอยแจกออกมาให้กับ node ที่เขียนบล็อกใหม่เรื่อย ๆ โดยมีระยะเวลาการส่งมอบ (vesting schedule) อยู่ที่ 10 ปีครับ
การใช้งาน RUNE จะมาจากสองส่วนหลัก ๆ ครับ ส่วนแรกคือ node ที่จะต้องวาง RUNE เป็นหลักประกัน ซึ่งจะต้องวางอย่างน้อย 1 ล้าน RUNE หรือ 1.5 เท่าของมูลค่า total value locked (TVL) ของ pool ทั้งหมดบน THORSwap แล้วแต่ค่าใดจะมากกว่าครับ (และจะมีโปรแกรมที่คอยตรวจสอบเรื่อย ๆ) นั่นหมายความว่าถ้าการใช้งาน THORSwap เพิ่มขึ้น มูลค่า TVL เพิ่มขึ้น จะมี RUNE ที่ถูก stake เยอะขึ้น ทำให้ปริมาณ RUNE ที่หมุนเวียนอยู่ลดลง ส่งผลเชิงบวกต่อราคาของ RUNE ครับ
อีกส่วนหนึ่งคือ liquidity provider ที่นำคู่โทเคนมาวางเป็นกองกลางครับ ตามที่กล่าวไปด้านบนครับว่า THORSwap จะมีคู่โทเคนเฉพาะ RUNE กับโทเคนอีกหนึ่งตัวเท่านั้น ดังนั้นคนที่จะฝากสินทรัพย์ใน pool ก็ต้องซื้อ RUNE เพื่อนำมาวางคู่กับอีกเหรียญ เป็นการเพิ่มความต้องการซื้อ RUNE ไปอีกครับ
โดยในปัจจุบันอ้างอิงจาก CoinMarketCap RUNE มีมูลค่าตลาดทั้งหมด 662.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 65 ของคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมดครับ (ข้อมูล ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2565)
Roadmap
Chain Integrations
THORChain มีแผนจะเพิ่มการเชื่อมต่อกับบล็อกเชนขนาดใหญ่อีกหลาย ๆ เจ้าครับ โดยที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาก็จะมี Avalanche และ Cosmos (ATOM) ครับ ส่วนที่อยู่ในระหว่างการวางแผนก็จะมี Decred, Zcash, Monero, Dash และ Haven Protocol ครับ
Giving controls to the community
เป็นการยกระดับโปรเจกต์ในแง่ของความกระจายศูนย์ครั้งใหญ่ครับ ซึ่งในปัจจุบัน การพัฒนา THORChain ยังอยู่ภายใต้การดูแลของทีม THORChain เป็นหลัก ซึ่งในอนาคต ทางทีมเองก็หวังว่าจะสามารถกระจายการพัฒนาโปรเจกต์ออกไปยังผู้ใช้งานต่าง ๆ มากขึ้น ในการจะถ่ายอำนาจในการพัฒนาดังกล่าว ทีมของ THORChain ได้ตั้งตัวชี้วัดเอาไว้หลายข้อครับ เช่น จำนวน node, จำนวน RUNE ที่อยู่ใน pool, มูลค่า TVL ของโปรเจกต์ และอื่น ๆ อีกครับ ซึ่งเมื่อโปรเจกต์ดำเนินไปได้ตามเป้าที่ตั้งไว้แล้ว ทีม THORChain ก็จะทำการทำลาย admin key ของโปรเจกต์ และจะส่งมอบหน้าที่ในการพัฒนาให้กับชุมชนต่อไปครับ
Concerns
ถึงแม้จะดูเป็นโปรเจกต์ที่แก้ไขปัญหาหลายอย่าง มีเทคโนโลยีเบื้องหลังที่ซับซ้อน และเป็น DEX ที่มีปริมาณการเทรดและจำนวนผู้ใช้งานที่สูง แต่ THORChain เองก็ยังมีความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้านครับ สำหรับคนที่ไม่ทราบ THORChain เพิ่งถูก hack ไป ในช่วงเดือนกรกฎาคมของปี 2021 โดยมีมูลค่าคริปโตเคอร์เรนซีที่ถูก hack ไปกว่า 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐครับ ซึ่งในช่วงเวลานั้นทีม THORChain ตัดสินใจหยุดการทำงานของบล็อกเชนชั่วคราว และทำการแก้ไข bug ที่พบ และเปิดการทำงานใหม่อีกครั้ง และนอกจากนั้นยังเพิ่มการตรวจสอบ (audit) ตัวโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้น และมีการทำประกันกรณี THORChain ถูก hack เพิ่มเติมหลังจากนั้นอีกด้วย แต่เราก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้ครับว่าโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้นมานั้นมีความปลอดภัยจริง ๆ และยิ่งเป็นโปรโตคอลที่มีลักษณะถ่ายโอนสินทรัพย์ข้ามบล็อกเชนแล้ว ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นไปอีกระดับนึงครับ
อีกหนึ่งความเสี่ยงคือเรื่องการกำกับดูแล (regulation) ครับ ผมเชื่อว่าทุก ๆ คนน่าจะทราบดีว่าผู้กำกับดูแล (regulator) หลาย ๆ เจ้า ไม่ค่อยชื่นชอบในแพลตฟอร์มที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถเทรดคริปโตเคอร์เรนซีได้ โดยไม่ต้องทำการยืนยันตัวตนใด ๆ (ยิ่งในอนาคต THORChain จะรองรับ privacy coins อย่าง Monero และ Zcash แล้ว ผู้กำกับดูแลยิ่งไม่ชอบเข้าไปใหญ่) ซึ่งประเด็นนี้อาจจะส่งผลกับการขยายฐานผู้ใช้งานไม่น้อยเลยครับ
Summary
THORChain ถือว่าตอบโจทย์นักเทรดหลาย ๆ คนที่ชอบซื้อ-ขายโทเคนข้ามบล็อกเชนครับ ด้วยการออกแบบที่สามารถเชื่อมต่อบล็อกเชนหลาย ๆ บล็อกเชนเข้าด้วยกัน และยืนยันความปลอดภัยของการทำธุรกรรมข้ามบล็อกเชน ทำให้เป็นโปรโตคอลที่น่าสนใจทีเดียว แต่ในขณะเดียวกัน มูลค่าการซื้อ-ขาย จำนวนผู้ใช้งาน และความหลากหลายของสินทรัพย์ที่ซื้อ-ขายได้บน THORChain ก็ยังน้อยกว่ากระดานเทรดอย่าง Binance หรือ Coinbase อยู่เยอะครับ ก็ต้องดูกันต่อไปว่า THORChain จะสามารถขยายฐานผู้ใช้งานและเพิ่มความหลากหลายของสินทรัพย์ภายในโปรโตคอลได้มากแค่ไหน ประกอบกับความเสี่ยงที่ผมได้กล่าวไป รวมถึงเรื่องที่เคยถูก hack มาก่อน ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มลดความมั่นใจในตัวโปรโตคอลตัวนี้ลง ราคาของ RUNE ในตอนนี้ก็ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ก็ต้องรอดูครับว่า THORChain จะสามารถเรียกความมั่นใจของนักลงทุนกลับมาเหมือนเดิมได้เมื่อไร…
Further Read
- Official Website: https://thorchain.org/
- Whitepaper: https://rebase.foundation/network/thorchain/specification-document-walkthrough/whitepaper
- Yggdrasil Protocol: https://medium.com/thorchain/the-yggdrasil-protocol-63748d05f039
- THORChain Name Service: https://docs.thorchain.org/network/thorchain-name-service
- Thorchain was hacked!: https://www.coindesk.com/markets/2021/07/23/blockchain-protocol-thorchain-suffers-8m-hack/
CodeBreaker
ที่มาบทความ: https://link.medium.com/8GMohrVhIyb
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้