ด้วยสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน ทำให้เราหลาย ๆ คนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน และเราก็ต้องหาบางสิ่งบางอย่างที่สามารถสร้างความบันเทิงให้กับเรา video streaming ตอบโจทย์นั้นได้เป็นอย่างดีครับ streaming กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้วนะครับ แพลตฟอร์มอย่าง YouTube, Netflix, Twitch และอื่น ๆ มีจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2021 ที่ผ่านมา และในอนาคต ถึงแม้โรคระบาดจะหมดไป เราจะออกจากบ้านได้ปกติ ผมเชื่อว่าแนวโน้มการใช้งานแพลตฟอร์ม video streaming ก็คงไม่ได้ลดลงหรอกครับ มันกลายเป็นความปกติใหม่ (new normal) ของพวกเราไปแล้ว วันนี้ผมจะพาทุก ๆ คนมารู้จักกับ streaming รูปแบบใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานของบล็อกเชนจะเป็นอย่างไร จะดีกว่า streaming รูปแบบอื่นอย่างไร ไปติดตามกันครับ
What is Theta Network?
Theta เป็นเครือข่ายที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำ peer-to-peer video streaming โดยมีเป้าหมายที่จะเผยแพร่วิดีโอคุณภาพสูง (High Quality streaming) พร้อมกับลด buffering issue ให้น้อยที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า decentralized streaming network (DSN) เพื่อช่วยกระจาย bandwidth ที่ต้องใช้ ซึ่ง Theta ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยในการ “แบ่ง” หน้าที่ในการส่งข้อมูล จากเดิมที่ video streaming platform จะต้องสร้าง infrastructure เองทั้งหมด Theta ใช้หลักการให้ user หรือคนทั่วไปที่เข้ามาดู streaming ผ่าน Theta สามารถทำการ cache ข้อมูล (ตัว video) ไว้ เพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ใช้งานอื่น ๆ โดยแลกกับค่าตอบแทนบางอย่างครับ ด้วยวิธีการนี้ คนที่ทำการ cache ข้อมูลจึงทำหน้าที่เสมือนเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ไฟล์วิดีโอของ Theta ไปในตัว ช่วยให้ Theta สามารถขยายเครือข่ายได้เร็ว และเพิ่มความกระจายศูนย์ (decentralization) ให้กับ video streaming ได้อีกด้วยครับ
จุดเด่นของการออกแบบระบบให้เป็น peer-to-peer คือการที่ผู้ใช้งานเยอะขึ้นจะส่งผลทางบวกต่อประสิทธิภาพในการส่งต่อไฟล์วิดีโอของเครือข่ายครับ เนื่องจากผู้ใช้งานทุกคนจะทำตัวเป็นแหล่งเผยแพร่สัญญาณอยู่แล้ว การมีผู้ใช้งานเยอะขึ้น ก็คือการมีแหล่งส่งสัญญาณเยอะขึ้น และจะอยู่ใกล้กันมากขึ้น ส่งผลดีต่อความเร็วในการเผยแพร่อีกด้วยครับ ในทางกลับกัน จำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลลบต่อระบบ video streaming ที่ใช้เซิร์ฟเวอร์กลางในการเผยแพร่ข้อมูล เนื่องจากตัวระบบจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับจำนวนผู้ใช้งานนั่นเองครับ
Theta mainnet เริ่มต้นใช้งานมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2019 ครับ แต่จริง ๆ แล้วทางโปรเจกต์มีเหรียญ THETA และ TFUEL ซึ่งเป็นเหรียญของตัวโปรเจกต์เองมาตั้งแต่ปลายปี 2017 โดยอยู่บนบล็อกเชน Ethereum ซึ่งในปัจจุบันก็ถูกย้ายมาใช้งานบนบล็อกเชนของ Theta หมดแล้ว
Theta 3.0
บล็อกเชนของ Theta มีการอัพเกรดมาหลายครั้งแล้วครับ ปัจจุบันเป็นเวอร์ชัน 3.0 แล้ว โดยเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 2021 โดยตัวบล็อกเชนของ Theta มีผู้มีส่วนร่วมหลัก ๆ อยู่ 5 กลุ่มด้วยกัน โดย 3 กลุ่มแรก มีความคล้ายคลึงกับผู้มีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่าง YouTube หรือ Twitch ส่วน 3 กลุ่มหลัง เป็นกลุ่มที่เพิ่มขึ้นมาเนื่องจาก Theta มีกระดูกสันหลังเป็นบล็อกเชนครับ
- Streamers คือผู้ใช้งานที่ผลิตคอนเทนต์และปล่อยลงบนเครือข่าย streaming ของ Theta ครับ ซึ่งก็มีทั้งแบบถ่ายทอดสดและไม่ถ่ายทอดสด ซึ่งการเผยแพร่วิดีโอของตนลงบน Theta ก็จะได้รับค่าตอบแทนบางอย่าง
- Viewers คือผู้ใช้งานที่เข้าไปดูวิดีโอบน Theta ครับ โดยถือเป็นแก่นสำคัญที่ทำให้เครือข่าย streaming เกิดการใช้งานที่เพิ่มขึ้น โดยผู้ใช้งานกลุ่มนี้จะได้รับค่าตอบแทนถ้าหากดูวิดีโอบน Theta หรือสามารถรับค่าตอบแทนเพิ่มหากมีการรับชมโฆษณา (เหมือน YouTube) ครับ
- Advertisers คือคนที่ต้องการจะลงโฆษณาบน Theta ครับ โดยการจะลงโฆษณาจะต้องจ่ายด้วย THETA ซึ่งเป็น governance token ของบล็อกเชน Theta โดยจ่ายให้กับ Streamer ที่ต้องการให้ลงโฆษณาให้นั่นเอง
- Caching Nodes อย่างที่กล่าวไปครับ ว่าการสร้างเครือข่าย Theta นั้น ทางทีม Theta เองไม่ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเผยแพร่วิดีโอ แต่ใช้วิธีดึงดูดผู้ใช้งานทั่วไปให้ทำการ cache วิดีโอต่าง ๆ และส่งต่อตัวไฟล์นั้นไปยังผู้ใช้งานอื่น ๆ ครับ Caching Nodes ก็คือคนที่คอย cache นั่นเอง โดยผู้ใช้งานกลุ่มนี้จะต้องการันตีคุณภาพและความไม่หน่วงของวิดีโอที่ส่งต่อให้กับผู้ใช้งานอื่น ๆ โดยจะได้ THETA เป็นค่าตอบแทนครับ
- Ingest Nodes เป็น node เสริมสำหรับ Caching Nodes ครับ ทำหน้าที่ช่วยเหลือในการเพิ่มคุณภาพของวิดีโอ และได้ THETA เป็นค่าตอบแทนเช่นกัน
- Guardian Nodes เป็น node รูปแบบใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นมาในการอัพเกรด Theta 3.0 ครับ โดยหน้าที่ของ Guardian Nodes คือการตรวจสอบธุรกรรม และเขียนบล็อกใหม่ลงบนบล็อกเชนของ Theta และจะได้รับ TFUEL ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง native token นอกเหนือจาก THETA ครับ โดยผู้ใช้งานที่ต้องการจะเป็น Guardian Node จะต้องทำการวาง (stake) THETA จำนวน 1,000 THETA เพื่อค้ำประกันสิทธิในการตรวจสอบธุรกรรม จะต้องมีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตที่มีสเปคสูง โดยขั้นต่ำคือ CPU 8 cores + memory 32 GB + disk size 1 TB (ซึ่งทาง Theta แนะนำให้เป็น SSD) และจะต้องมีความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่ต่ำกว่า 5 mbps ครับ
Technology
Consensus
Theta ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Stake ครับ ซึ่งผู้ตรวจสอบ (validator) จะต้องทำการวาง (stake) THETA ซึ่งเป็น governance token ของบล็อกเชนเพื่อตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน Theta ใช้งานกลไก Multi-Level Byzantine Fault Tolerance ในการตรวจสอบธุรกรรม โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ของ Theta ระบุว่าตัวบล็อกเชน Theta สามารถประมวลผลธุรกรรมได้ 1,000 transactions per second (tps) ครับ
การเขียนบล็อกใหม่ของ Theta จะมี enterprise validator nodes เป็นผู้ตรวจสอบที่เป็นองค์กรหรือสถาบันขนาดใหญ่ จะคอยเขียนบล็อกใหม่ลงบนบล็อกเชนของ Theta จากนั้นจะมี node อีกหนึ่งชุด เรียกว่า guardian (ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบทั่วไป ๆ และมีอยู่หลายพัน nodes) เพื่อตรวจสอบการเขียนบล็อกดังกล่าวอีกหนึ่งรอบครับ (เป็นที่มาของชื่อ Multi-Level BFT) ซึ่งการออกแบบดังกล่าวทำให้ Theta เป็นบล็อกเชนที่เร็วมาก เพราะมีจำนวนผู้ตรวจสอบในการเขียนบล็อกใหม่น้อย แต่ก็สามารถชดเชยความปลอดภัยและความกระจายศูนย์ที่หายไปได้ด้วยการใช้ guardians ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งครับ โดยในปัจจุบันบริษัทที่มาเป็น enterprise validator nodes ให้กับ Theta ก็มีหลากหลายครับ ยกตัวอย่างเช่น Google, Binance, Samsung, Sony และรวมถึง Theta Labs ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาบล็อกเชนของ Theta อีกด้วย
Resource-Oriented Micropayment Pool
เนื่องจากกลไกเศรษฐศาสตร์ของ Theta คือการให้รางวัลตอบแทนผู้ใช้งานที่ทำการ cache วิดีโอเอาไว้ จึงต้องมีการออกแบบระบบการโอนสินทรัพย์ของตัวเครือข่ายเองครับ Resource-Oriented Micropayment Pool เป็นกลไกสำหรับการโอนสินทรัพย์ไปมาภายใน Theta ecosystem โดยสร้าง off-chain pool ที่เป็นกองกลางของสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ภายนอกบล็อกเชน และใช้วิธีโอนสินทรัพย์นอกบล็อกเชนแทน ซึ่งการใช้ off-chain pool ช่วยให้บล็อกเชนไม่ช้าลง หากมีการขยายตัวของการใช้งาน ทำให้ตัวเครือข่ายสามารถขยายฐานผู้ใช้งานได้ไวขึ้นนั่นเองครับ
Mesh Delivery Network
Theta เองถูกออกแบบมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับ peer-to-peer video streming ซึ่งความท้าทายหนึ่งอย่างของการสร้างระบบถ่ายทอดแบบนี้คือความสม่ำเสมอในการส่งต่อไฟล์ของ node แต่ละ node เพราะไม่ใช่ว่าทุก ๆ node จะถูกเปิดใช้งานตลอดเวลา ด้วยความที่ผู้ใช้งานทั่วไปก็สามารถทำหน้าที่ cache และส่งผ่านไฟล์ต่าง ๆ ได้ คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้จะเปิดคอมพิวเตอร์ 24 ชั่วโมง 7 วันใช่ไหมครับ ซึ่งถ้าหากมี node ใด node หนึ่งปิดตัวลงไป ตัวเครือข่ายเองต้องมีความสามารถในการหา node ที่ใกล้เคียงที่สุด เพื่อใช้ส่งสัญญาณมาหาผู้ใช้งานที่ ณ ตอนแรกใช้ node ที่ถูกปิดลงไปครับ
ตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลต่อคุณภาพและความเร็วในการส่งผ่านไฟล์ คือระยะห่างระหว่าง node เมื่อ node ใด node หนึ่งปิดตัวลงไป Theta เองจะต้องมีความสามารถในการหา node ที่อยู่ใกล้เคียงที่สุดได้ Theta มีระบบที่เรียกว่า Geo-Optimized Tracker Server ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ลิสต์รายชื่อของ node ที่อยู่ใกล้ node ที่เราสนใจ ซึ่งเมื่อมี node ใหม่เข้ามาในระบบ ตัว tracker server จะทำการเก็บข้อมูลพิกัด (ละติจูด / ลองจิจูด), IP address, และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งผ่านข้อมูล เช่น ความเร็วอินเทอร์เน็ต จากนั้นจะเก็บข้อมูลดังกล่าวของ node ทุก node ในรูปแบบ spatial database จากนั้นจะทำการค้นหา peer nodes ที่อยู่ใกล้ ๆ node นั้น ๆ และบันทึกข้อมูลไว้ครับ
นอกจากนี้ tracker server ยังทำหน้าที่ตรวจสอบการเปิดใช้งานของ node อีกด้วย โดย node แต่ละ node จะทำการส่งข้อมูลเล็ก ๆ (เรียกว่า heartbeat) ไปให้กับ tracker server เป็นช่วง ๆ ตลอดระยะเวลาที่ node ถูกเปิดใช้งาน ด้วยเหตุนี้ทำให้ tracker server สามารถติดตามสถานะการเปิด/ปิดของแต่ละ node ได้ และเมื่อมี node ปิดตัวลง ก็จะทำการหา peer nodes ที่อยู่ใกล้เคียงได้ครับ
Smart Streaming Contract
บล็อกเชนของ Theta มีความสามารถในการสร้าง smart contract ด้วยนะครับ โดยมีชื่อเรียกว่า Smart Streaming Contract (หรือบางที่จะเรียกว่า Incentive Contract) และมีความเข้ากันได้ (compatibility) กับ smart contract ของ Ethereum อีกด้วย ซึ่งการมี smart contract อยู่ในบล็อกเชนของ Theta หมายความว่านักพัฒนาสามารถออกแบบกลไกการทำธุรกรรมที่ซับซ้อนขึ้น นอกเหนือจากการจ่ายแบบปกติ ที่จะทำเป็นรายธุรกรรมไป ยกตัวอย่างเช่นการทำ subscription model แบบเดียวกันกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่จะจ่ายให้กับ content creator เป็นรายเดือนไป หรือการทำโมเดลการจ่ายแบบ pay-as-you-go หรือจ่ายตามจำนวนนาทีที่ดู ก็สามารถทำได้ด้วย smart contract ครับ
Theta MetaChain
เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีกำหนดการเปิดตัวในเดือนธันวาคม 2022 ครับ โดย MetaChain จะทำหน้าที่เป็นเครือข่ายของบล็อกเชนหลาย ๆ บล็อกเชน มีเป้าหมายที่จะขยายการใช้งานของ Theta ecosystem ให้หลากหลายมากขึ้น โดยโครงสร้างของ MetaChain จะประกอบด้วยหนึ่ง main chain ซึ่งทำหน้าที่เป็นแกนกลางของ ecosystem (ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็น Theta mainnet ที่เราใช้งานกันในปัจจุบัน) และ subchains ซึ่งนักพัฒนาที่สร้าง subchain ก็สามารถออกแบบบล็อกเชนได้ตามต้องการ และสามารถเชื่อมต่อกับ main chain รวมถึง subchains อื่น ๆ ได้
Theta EdgeCast
เป็นแพลตฟอร์ม video streaming ที่ถูกสร้างขึ้นในฐานะ DApp และอาศัยความสามารถในการทำ smart contract บนบล็อกเชนของ Theta ครับ ซึ่งเวอร์ชัน beta ถูกปล่อยออกมาใช้งานในเดือนพฤศจิกายน 2020 โดย EdgeCast มีความสามารถในการส่งผ่านข้อมูลวิดีโอแบบต่อเนื่อง (transcoding) พร้อมกับการ cache ข้อมูลวิดีโอ เพื่อทำการส่งต่อไปยังผู้ใช้งานอื่น ๆ ทำให้วิดีโอที่อยู่บน EdgeCast จะถูกถ่ายทอดออกไปทั่วทุกมุมโลก โดยไม่ได้มีเซิร์ฟเวอร์หรือผู้ให้บริการที่อยู่ตรงกลางเหมือนกับแพลตฟอร์ม centralized video streaming อื่น ๆ ที่เราคุ้นเคย
โดยจะมี Edge Node ซึ่งก็เป็นหนึ่งในผู้ใช้งาน EdgeCast ทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลวิดีโอครับ แลกกับการได้ TFUEL เป็นค่าตอบแทน ซึ่งผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเรา ๆ ก็สามารถเป็น node ได้นะครับ สิ่งที่ต้องทำคือไปดาวน์โหลด Edge Node มาจากเว็บไซต์ของ Theta Network และติดตั้ง (รองรับทั้ง Windows และ macOS) จากนั้นเปิดตัวโปรแกรมทิ้งไว้ ตัว smart contract ของ EdgeCast จะทำการกระจายสิทธิการประมวลผลวิดีโอให้กับ node แต่ละ node ซึ่งโอกาสที่เราจะได้ทำงานประมวลผลก็ขึ้นกับความต้องการดูวิดีโอของผู้ใช้งานอื่น ๆ ครับ
ซึ่งล่าสุดใน Theta 3.0 มีการเปิดให้ Edge Node สามารถ stake TFUEL ได้ครับ โดยจะได้รับ TFUEL เพิ่มเติมจากการทำงานปกติอีกด้วย
EdgeCast ถือเป็น product สำคัญในการเติบโตของ Theta ครับ เนื่องจากทีม Theta เองก็เห็นว่าการเผยแพร่วิดีโอแบบไม่มีศูนย์กลางเป็น megatrend ที่กำลังเกิดขึ้น และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ EdgeCast เองตอบโจทย์นั้นอย่างสมบูรณ์แบบครับ ประกอบกับการพัฒนาเครือข่าย Theta ในอนาคต ที่จะเพิ่มการรองรับเทคโนโลยี 5G รวมถึงอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ เช่น smart TV หรือ smart phone ก็น่าจะช่วยให้เครือข่าย Theta เติบโตได้อีกไกลครับ
Tokens
บล็อกเชนของ Theta ใช้ระบบ dual token ครับ แปลว่าตัวบล็อกเชนเองมี native token อยู่สองตัวด้วยกัน ซึ่งรูปแบบการใช้งาน / อุปทาน ก็จะแตกต่างกัน
THETA
เป็น token ที่ใช้ในการ stake เพื่อที่จะได้สิทธิในการเป็น Guardian Node หรือ Enterprise Validator Node และช่วยเขียนบล็อกใหม่ (หรือช่วยตรวจสอบการเขียน) ให้กับบล็อกเชนของ Theta ครับ โดยจะถูกผลิตออกมาทั้งหมด 1 พันล้านเหรียญ (จะไม่เพิ่มไปกว่านี้)
TFUEL
Theta ให้นิยาม TFUEL ว่าเป็น operational token ครับ โดยการใช้งานของ TFUEL จะใช้งานเหมือน gas token นั่นคือเมื่อมีการทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น โอนเหรียญทั่วไป / จ่ายรางวัลให้กับ Edge Node เมื่อมีการส่งต่อไฟล์วิดีโอให้ / หรือเวลาใช้งาน smart contract บนบล็อกเชนของ Theta ก็จะต้องจ่ายค่า gas ด้วย TFUEL ครับ โดย ณ จุดเริ่มต้นของบล็อกเชน มี TFUEL ถูกผลิตขึ้นมา 5 พันล้านเหรียญ และ TFUEL ไม่มีเพดานการผลิตสูงสุดครับ แปลว่าจะถูกผลิตขึ้นมาเรื่อย ๆ
ซึ่งล่าสุด ใน Theta 3.0 มีการปรับรูปแบบการใช้งานของ TFUEL ให้มีการ burn TFUEL โดย 25% ของค่า gas ของธุรกรรมใด ๆ ที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน จะถูก burn ครับ
Partnerships
LINE
Theta มีการจับมือร่วมกับ LINE Tech Plus ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทลูกของ LINE Corporation ที่เป็นเจ้าของแอพพลิเคชันส่งข้อความที่มีผู้ใช้งานกว่า 200 ล้านคน โดย LINE Tech Plus มีการสร้างบล็อกเชนของตัวเองที่ชื่อว่า LINK (คนละอันกับ Chainlink นะครับ) และจะทำการเชื่อมต่อกับ Theta ecosystem เพื่อสร้างแอพพลิเคชันสำหรับดูวิดีโอบนโทรศัพท์มือถือ โดยใช้โครงสร้าง peer-to-peer streaming เช่นเดียวกันกับ Theta network แต่ทำงานอยู่บน LINK ครับ โดยจะมีการสร้างหน้าเว็บ/แอพสำหรับการดูวิดีโอเช่นเดียวกันกับที่ Theta สร้าง Theta.tv และผู้ใช้งานก็จะทำหน้าที่ cache และส่งต่อไฟล์วิดีโอ และได้รับค่าตอบแทน เหมือนกับ Theta ecosystem โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะเริ่มใช้งานในประเทศญี่ปุ่นก่อน ก่อนที่จะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ครับ สำหรับใครที่สนใจอ่านข่าวเต็ม ๆ ก็สามารถอ่านต่อได้ที่นี่เลยครับ
Samsung
โปรเจกต์ Theta กับ Samsung ถือว่ามีความสัมพันธ์ต่อกันมานาน เพราะ Samsung เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนลำดับต้น ๆ (early investors) ของ Theta ครับ โดย Theta จะแจก NFT ซึ่งอยู่บนบล็อกเชนของ Theta ให้กับลูกค้าที่พรีออเดอร์ Samsung Galaxy S22 หรือ Tablet S8 ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตเรือธงรุ่นใหม่ของค่าย Samsung ครับ
Movies
Theta จับมือร่วมกับ MGM และ Lionsgate ซึ่งเป็นสองบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา โดยการจับมือเป็นพันธมิตรในครั้งนี้ ทำให้ Theta ได้ลิขสิทธิ์ในการนำภาพยนตร์คลาสสิกจากสองบริษัทข้างต้น มาฉายบนเครือข่าย video streaming ของตนเองครับ ซึ่งก็แน่นอนว่าใช้หลักการ peer-to-peer streaming และผู้ใช้งานสามารถดูภาพยนตร์ไปพร้อมกับทำการ cache และส่งต่อเนื้อหา เพื่อรับค่าตอบแทนไปพร้อมกันได้ โดยในปัจจุบันก็มีการฉายภาพยนตร์ดังหลาย ๆ เรื่อง เช่น The Return of the Living Dead, Invasion of the Body Snatchers และอื่น ๆ อีกครับ
World Poker Tour
World Poker Tour (WPT) เป็นแบรนด์ที่มีมาตั้งแต่ปี 2002 โดยถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการแข่งกัน poker โดยเชิญผู้เล่นชั้นนำหลายคนจากทั่วทุกมุมโลก มาแข่งกันเพื่อหาผู้ชนะ และมีการเผยแพร่สัญญาณวิดีโอการแข่งขัน ในช่องทางต่าง ๆ เช่น ช่องโทรทัศน์อย่าง BT Sport ของประเทศอังกฤษ และแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง YouTube ก็มีเช่นกันครับ
โดยในปี 2021 WPT ประกาศความร่วมมือกับ Theta Network เพื่อนำสัญญาณวิดีโอการแข่งขัน poker มาฉายบน Theta Network ครับ ซึ่งผู้ใช้งาน Theta ที่ดูการแข่งขันดังกล่าว ก็จะได้รับ TFUEL ตามกลไกของ Theta ซึ่งทาง WPT กล่าวว่าการใช้งาน infrastructure ของ Theta จะก่อให้เกิดประโยชน์ในสองด้านหลัก ๆ
- ลดต้นทุนในการถ่ายทอดสัญญาณ ด้วยโครงสร้างของ Theta ที่ผู้รับชมจะกลายเป็นผู้ถ่ายทอดสัญญาณไปโดยอัตโนมัติ ทำให้ต้นทุนในการสร้างแหล่งเผยแพร่สัญญาณลดลง
- เพิ่ม engagement ของผู้ใช้งาน เนื่องจากมีการให้รางวัลเพิ่มเติมกับผู้ที่ดูวิดีโอ ก็น่าจะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานมากขึ้น
สำหรับใครที่อยากอ่านเพิ่มเติมสามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่เลยครับ
Roadmap
นอกเหนือจากการขยายฐานผู้ใช้งาน / การหาพันธมิตรใหม่ ๆ ทั้งที่จะมาถ่ายทอดสัญญาณบนเครือข่าย และบริษัทเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเป็น Enterprise Validator Nodes ทาง Theta เองก็ยังมีแผนพัฒนาโปรเจกต์อีกหลายอย่างครับ เช่น
Digital Rights Management (DRM)
Theta เองมีแผนที่จะเพิ่มลูกเล่นต่าง ๆ เกี่ยวกับ Non-Fungible Token (NFT) เข้าไปในบล็อกเชนของตัวเอง และหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญก็คือ DRM ครับ โดย DRM จะช่วยเพิ่มลูกเล่นให้กับเจ้าของวิดีโอ เช่น จำกัดสิทธิ์การรับชมเฉพาะคนที่มี NFT ของเจ้าของวิดีโอ ซึ่งการตั้งค่าดังกล่าวสามารถทำได้ในตอนนี้อัพโหลดวิดีโอขึ้นบนเครือข่ายเลยครับ ตัวอย่างการใช้งานก็อย่างเช่นการแสดงคอนเสิร์ตบน Theta ซึ่งผู้จัดก็อาจจะเปิดขายตั๋วในรูปแบบของ NFT และกำหนดสิทธิในการรับชมคอนเสิร์ตดังกล่าว เฉพาะผู้ที่มี NFT ตามที่กำหนดไว้ เป็นต้นครับ
ซึ่งในปัจจุบันก็มีการใช้งานไปบ้างแล้ว โดย OpenTheta ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม NFT marketplace บนบล็อกเชนของ Theta ก็มีการทดลองแจกคูปองในรูปแบบ NFT ที่จะทำให้ผู้ที่ได้ไป สามารถเข้า private QnA session กับ Wes Levitt ซึ่งเป็น Head of Strategy ของ Theta ครับ
EdgeStore
EdgeStore เป็นเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่ทางทีม Theta สร้างขึ้นมา โดยมีเป้าหมายที่จะจัดเก็บเนื้อหาต่าง ๆ บนเว็บครับ โดย EdgeStore จะมีลักษณะเป็น append-only นั่นคือข้อมูลที่ถูกบันทึกไปแล้ว จะไม่สามารถถูกแก้ไขได้ (แต่สามารถบันทึกข้อมูลเป็นเวอร์ชันใหม่ได้) และนอกเหนือจากการเก็บข้อมูลแล้ว EdgeStore ยังมีการ cache ข้อมูลส่วนที่มีการใช้งานบ่อย ๆ (เช่นวิดีโอที่คนกดดูเยอะ ๆ) ครับ ซึ่งในอนาคต EdgeStore ก็น่าจะถูกใช้งานในหลายรูปแบบ เช่น
- เป็นแหล่งเก็บไฟล์ภาพหรือวิดีโอสำหรับ NFT บนบล็อกเชนของ Theta ซึ่งถ้าเก็บด้วยวิธีนี้ก็จะการันตีได้ว่าไฟล์จะไม่ถูกลบทิ้ง
- เป็นแหล่งเก็บข้อมูลสำหรับ Web3 apps เช่น แอพพลิเคชันแชท / เขียนบล็อก / เก็บ code
- เป็นแหล่งเก็บข้อมูลสินทรัพย์ต่าง ๆ บนจักรวาลนฤมิต (Metaverse) เช่นโมเดลสามมิติของตัวละครหรือไอเทมต่าง ๆ
โดย Theta มีแผนเปิดทดลองใช้งาน beta version ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 และจะเปิดใช้งานเต็มรูปแบบในปี 2023 ครับ
Concerns
ถึงแม้ว่า Theta จะมีโครงสร้างการออกแบบที่น่าสนใจ และสามารถขยายฐานผู้ใช้งานได้ไม่ยาก ด้วยรูปแบบ peer-to-peer streaming และการใช้บล็อกเชนเข้ามาทำงานเป็นเบื้องหลัง แปลว่าการเผยแพร่วิดีโอต่าง ๆ จะไม่ได้ถูกควบคุมจากทีม Theta ซึ่งก็ดูเป็นเรื่องที่ดีใช่ไหมครับ? แต่จริง ๆ เรื่องนี้ก็ถือเป็นประเด็นที่ถกกันมาสักพักแล้ว ผมยกตัวอย่างเช่นผมเป็นผู้จัดงานคอนเสิร์ตบน Theta แต่ในขณะที่ผมกำลัง stream อยู่ ดันมีใครที่ไหนก็ไม่รู้มาดึง live stream ของผมไปทำเป็น live stream ของตัวเอง ซึ่งถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มอย่าง YouTube เราก็สามารถร้องเรียนไปยัง YouTube ได้ใช่ไหมครับ แต่ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นบน Theta ล่ะ? ด้วยความที่ทุกอย่างทำงานอยู่บนบล็อกเชน ทีม Theta เองก็ไม่ได้มีสิทธิในการไปลบหรือไปแบนคนกลุ่มนั้นครับ
ซึ่งทีมงานของ Theta เองก็รับรู้ถึงประเด็นข้อนี้ และกำลังพยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ แต่ก็ยังไม่ได้มีวิธีแก้ไขที่ชัดเจนออกมาครับ
Summary
แพลตฟอร์ม video streaming ที่เราคุ้นเคยกันอย่าง YouTube และ Twitch ถือว่าสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้งานในปัจจุบันได้ดีเยี่ยม มีช่วงระยะเวลาที่ล่ม (downtime) น้อยมาก ๆ แต่ในอนาคต หากมีการใช้งานเพิ่มขึ้น หรือมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง 5G เข้ามา แล้วทำให้แพลตฟอร์มเหล่านั้นต้องทำการอัพเกรด infrastructure ของตัวเอง ก็อาจจะมีต้นทุนที่สูง และจะต้องอัพเกรดเรื่อย ๆ ตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ ครับ Theta ถือเป็นแพลตฟอร์ม streaming ที่เปลี่ยนวิธีคิด โดยให้ผู้ใช้งาน (คนที่ดูวิดีโออย่างเรา ๆ) ทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่สัญญาณวิดีโอ แลกกับค่าตอบแทนบางอย่าง ซึ่งผมว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจครับ และด้วยการใช้งานบล็อกเชนเป็นกระดูกสันหลัง ทำให้แพลตฟอร์ม Theta มีลูกเล่นเกี่ยวกับ NFT และเหรียญต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งก็เพิ่มความน่าสนใจของโปรเจกต์ขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี โปรเจกต์นี้ยังถือว่าค่อนข้างใหม่ ถ้าดูจำนวนผู้ใช้งานในปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้เยอะมาก ยังต้องรอการพิสูจน์อีกไกลครับ ว่าการออกแบบโครงสร้างแบบนี้ จะช่วยให้ขยายฐานผู้ใช้งานได้เร็วขึ้นจริงหรือเปล่า, กลไกทางเศรษฐศาสตร์ที่ออกแบบไว้ จะสร้างความคุ้มค่าเพียงพอที่จะดึงดูดผู้ใช้งานหรือเปล่า ก็คงต้องดูกันต่อไปครับ
Further Read:
- Official Website: https://www.thetatoken.org/
- Official Docs: https://docs.thetatoken.org/docs/what-is-theta-network
- Whitepaper: https://s3.us-east-2.amazonaws.com/assets.thetatoken.org/Theta-white-paper-latest.pdf?v=1580747263.406
- EdgeStore: https://medium.com/theta-network/theta-edgestore-revealed-in-alpha-preview-release-d54f6670e183
CodeBreaker
ที่มาบทความ: https://link.medium.com/Z2PkO0xcIqb
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้