ใครเคยอ่านหนังสือหนา ๆ ที่ไม่มีสารบัญบอกไหมครับ ว่าเนื้อหาแต่ละบทอยู่หน้าประมาณไหนของหนังสือ การค้นหาเนื้อหาที่เราต้องการจะเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ ถ้าหากหนังสือเล่มนั้นไม่ได้มีสารบัญบอกเราครับ การจัดเก็บข้อมูลก็เช่นกันครับ ถ้าหากไม่ได้มีการจัดลำดับและสร้างสารบัญบอกว่าข้อมูลแต่ละส่วนอยู่ตรงไหนของพื้นที่จัดเก็บข้อมูล การค้นหาข้อมูลก็จะใช้เวลาและพลังงานที่ค่อนข้างสูงครับ
ในโลกของคริปโตเคอร์เรนซีก็เช่นกันครับ หนังสือเล่มดังกล่าวก็เปรียบเสมือนบล็อกเชนตัวหนึ่ง ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากข้อมูลบนบล็อกเชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคนที่จะค้นหาข้อมูลจากบล็อกเชนก็คือนักพัฒนาแอปพลิเคชันบนบล็อกเชนครับ สมมติว่านักพัฒนาที่พัฒนาแอปพลิเคชันบน Ethereum อยากจะค้นหาข้อมูลการทำธุรกรรมบน Uniswap ถ้าหากไม่ได้มีการจัดเรียงข้อมูลที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนของ Ethereum ให้เป็นระเบียบ นักพัฒนาจะต้องใช้เวลานานมาก ๆ เพื่อหาในสิ่งที่ต้องการครับ วันนี้ผมจะพาทุก ๆ คนมารู้จักกับเทคโนโลยีที่ช่วยทำการจัดลำดับข้อมูล (indexing) ให้กับบล็อกเชนต่าง ๆ ซึ่งมีชื่อว่า The Graph ครับ ส่วนจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันครับ
What is The Graph?
จุดเริ่มต้นของ The Graph เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของปี 2017 กับ 2018 ครับ จากนักพัฒนาซอฟต์แวร์สามคน ได้แก่ Yaniv Tal, Janis Pohlmann และ Brandon Ramirez โดยก่อนหน้านั้นทั้งสามคนทำงานร่วมกันในบริษัทสตาร์ทอัปพัฒนาซอฟต์แวร์แห่งหนึ่ง ในช่วงปี 2017 ทั้งสามคนได้รู้จักกับ Ethereum และรู้สึกสนใจในตัวเทคโนโลยีของ Ethereum เป็นอย่างมาก เนื่องจากการทำธุรกิจโดยปกติมีความรวมศูนย์ (centralized) พอสมควร ทุกวันนี้เราใช้บริการแพลตฟอร์มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อยู่เพียงไม่กี่แห่ง เช่น Google, Amazon, Facebook และบริษัทเหล่านี้เป็นเจ้าของข้อมูลผู้ใช้งานมากมายมหาศาลเกินกว่าจะประเมินมูลค่าได้ และทำให้บริษัทอื่น ๆ ที่ต้องการนำข้อมูลผู้ใช้งานไปวิเคราะห์ต่อ ต้องซื้อข้อมูลจากบริษัทกลุ่มนี้ และบริษัทกลุ่มนี้มีอำนาจที่จะปกปิดข้อมูลได้อีกด้วย ทั้งสามคนจึงเริ่มพัฒนาแอปพลิเคชันบน Ethereum ครับ และพบว่า Ethereum ในช่วงเวลานั้นยังไม่ได้มีการจัดระเบียบ (indexing) ข้อมูลที่เกิดขึ้น ซึ่งการไม่ได้จัดระเบียบข้อมูล จะทำให้การค้นหาข้อมูลทำได้ยาก และเป็นข้อจำกัดสำคัญสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันบนบล็อกเชนของ Ethereum ครับ ทั้งสามคนจึงเริ่มคิดค้นวิธีการจัดเก็บข้อมูลบน Ethereum โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างเทคโนโลยีการจัดเก็บและจัดเรียงข้อมูลแบบกระจายศูนย์ขึ้นมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ The Graph ครับ
The pain point
การที่บล็อกเชนอย่าง Ethereum มีจำนวนผู้ใช้งานที่สูงมาก ๆ มาจากการที่ตัวบล็อกเชนมีฟังก์ชัน smart contract ครับ smart contract คือชุดโปรแกรมที่จะทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อมีเงื่อนไขเกิดขึ้นตามที่กำหนดไว้ smart contract ช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีกลไกที่ซับซ้อนบนบล็อกเชนได้ แต่นั่นทำให้ปริมาณข้อมูลที่ผู้ใช้งานสร้างขึ้นเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเช่นกันครับ ยกตัวอย่างเช่น Board Ape Yacht Club (BAYC) ซึ่งเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ NFT ไว้บนบล็อกเชน ผู้ใช้งานจะสามารถค้นหาข้อมูลพื้นฐานได้ครับ เช่น ใคร (กระเป๋าไหน) เป็นเจ้าของ NFT แต่ละชิ้น, ที่อยู่ไฟล์รูปภาพของ NFT หรือจำนวน NFT ทั้งหมด แต่ถ้าเป็นข้อมูลเชิงลึก เช่น การค้นหา NFT ตามลักษณะต่าง ๆ เช่น ความหายาก การค้นหาแบบนี้จะทำได้ยากมาก ๆ ครับ
ข้อมูลบนบล็อกเชนโดยปกติจะถูกจัดเรียงตามลำดับของการถูกตรวจสอบและถูกเขียนเป็นบล็อก ถ้าหากเราอยากจะค้นหาข้อมูลบางอย่างโดยที่ไม่รู้ว่าข้อมูลนั้นน่าจะอยู่ประมาณบล็อกที่เท่าไหร่ กระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาและพลังงานมหาศาลครับ นั่นทำให้ block explorer หลาย ๆ แห่งอย่างเช่น Etherscan ใช้วิธีคัดลอกข้อมูลบล็อกเชนทั้งหมดไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลภายในของเว็บไซต์ แล้วออกแบบวิธีการเรียงลำดับข้อมูลด้วยตัวเองเพื่อช่วยให้ค้นหาได้สะดวกยิ่งขึ้น วิธีดังกล่าวสามารถใช้งานได้กับบริษัทที่มีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพียงพอสำหรับบล็อกเชนทั้งหมดครับ ซึ่งไม่ใช่ทุกบริษัทจะสามารถทำเช่นนี้ได้ อีกหนึ่งทางเลือกคือไปใช้บริการฐานข้อมูลจากเว็บไซต์อย่างเช่น Etherscan แต่วิธีนี้ก็จะมีประเด็นเรื่องของความรวมศูนย์ เช่นเดียวกันกับการใช้งานฐานข้อมูลจากแพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหญ่ ๆ อย่าง Microsoft หรือ Amazon ครับ
The Graph เข้ามาแก้ไขปัญหาข้อนี้โดยการจัดลำดับข้อมูล และช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถดึง (query) ข้อมูลจากบล็อกเชนของ Ethereum และ Interplanetary File System (IPFS) ได้ครับ
นั่นทำให้หลายคนให้คำนิยาม The Graph ว่าเป็น Google แห่งโลกบล็อกเชน เพราะ The Graph ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลจากบล็อกเชน เปรียบเสมือน Google ที่เป็น search engine ให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลจากโลกอินเทอร์เน็ตได้สะดวกและรวดเร็วนั่นเองครับ
โดยในปัจจุบัน The Graph ให้บริการเฉพาะบนบล็อกเชนของ Ethereum เท่านั้น แต่ในอนาคตก็มีแผนจะเปิดให้บริการบนบล็อกเชนอื่น ๆ ต่อไปครับ
How does it work?
Entities
โครงสร้างของ The Graph ประกอบด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 5 ส่วนด้วยกันครับ
Consumers
เป็นผู้ใช้งานระบบนิเวศของ The Graph ครับ โดยเป็นผู้ที่ต้องการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ภายใน The Graph โดยการค้นหาข้อมูลแต่ละครั้งจะต้องจ่ายค่าขอข้อมูลด้วย GRT ซึ่งเป็นโทเคนหลักของ The Graph ครับ
Indexers
มีหน้าที่ในการจัดเรียงข้อมูลและให้บริการการค้นหาข้อมูลที่ถูกจัดเรียงแล้ว โดย indexers จะต้องวาง (stake) GRT เพื่อรับสิทธิในการเป็น indexers เพื่อให้มั่นใจว่า indexer ทุกคนจะทำหน้าที่ของตัวเองครับ ถ้าหาก indexer มีพฤติกรรมที่ต้องสงสัย หรือถูกจับได้ว่าให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ผู้ขอข้อมูล GRT ที่ stake ไว้บางส่วนจะถูกริบครับ
รายได้หลักของ indexers มาจากการที่ consumers มาขอข้อมูลครับ ประกอบกับรายได้อีกส่วนหนึ่งที่มาจากทาง The Graph จ่ายให้โดยตรง โดย indexer แต่ละคนสามารถกำหนดราคาค่าขอข้อมูลจากการให้บริการของตัวเองได้โดยอิสระ ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาระหว่าง indexers ด้วยกันเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ consumers ที่จะได้ใช้บริการระบบนิเวศของ The Graph ในราคาที่ถูกลงครับ สำหรับผู้ที่สนใจจะเป็น indexer จะมีคุณสมบัติขั้นต่ำด้านฮาร์ดแวร์กำหนดไว้อยู่ครับ ซึ่งสามารถเข้าไปดูได้ที่ official website ได้เลยครับ
Delegators
เป็นผู้ใช้งานธรรมดาที่ไม่ได้ต้องการจะเป็น indexer แต่ต้องการหารายได้จาก The Graph ครับ โดยผู้ใช้งานกลุ่มนี้จะทำการฝาก (delegate) GRT ของตัวเองให้กับ indexer ในระบบนิเวศของ The Graph เพื่อแลกกับส่วนแบ่งรายได้ที่ indexer คนนั้น ๆ ได้รับ ซึ่ง indexer แต่ละคนจะเป็นผู้กำหนดส่วนแบ่งรายได้ที่จะแบ่งได้กับ delegator ด้วยตัวเองครับ การฝากแต่ละครั้งจะมีค่าธรรมเนียม 0.5% ของมูลค่าฝากครับ ซึ่งค่าธรรมเนียมส่วนนี้จะถูก burn ทิ้ง และมีระยะเวลาการรอถอน (lock-up period) อยู่ที่ 28 วันครับ
Curators
เป็นผู้ใช้งานที่ช่วยเหลือ indexer ในการรวบรวมแหล่งข้อมูลที่มีความต้องการสูง เพื่อชี้เป้าให้ indexer ทำการจัดเรียงข้อมูลชุดดังกล่าวครับ ถ้าหากไม่มี curators ทาง indexer แต่ละคนก็ต้องค้นหาข้อมูลที่ต้องการจัดเรียงเอง ซึ่งจะใช้เวลานานครับ จึงมี curator เกิดขึ้น curators จะต้องทำการฝาก GRT ไว้ใน bonding curve reserve และจะได้ส่วนแบ่งค่าขอดึงข้อมูลที่ indexer ได้รับจาก consumer ครับ แต่ถ้าหาก curator จะถอน GRT ที่ถูกฝากไว้กับ bonding curve reserve จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 1% ครับ
Fishermen and Arbitrators
เป็นหน้าที่พิเศษที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการทำงานของ indexer ครับ โดย fishermen มีหน้าที่คอยตรวจสอบข้อมูลที่ indexer ส่งคืนให้กับ consumer ครับ ซึ่งถ้าตรวจพบว่าข้อมูลดังกล่าวผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง จะรายงานกรณีดังกล่าวให้กับ arbitrators ตัดสินใจว่าจะลงโทษ indexer หรือไม่ครับ
Connection
ถ้าหากนักพัฒนาต้องการจะค้นหาข้อมูลจากระบบนิเวศของ The Graph จะใช้วิธีการสร้าง application programming interface (API) เพื่อเชื่อมต่อกับ The Graph ครับ การเชื่อมต่อดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า subgraphs ซึ่งนักพัฒนาทุกคนสามารถเชื่อมต่อกับ subgraphs อื่น ๆ ที่ถูกสร้างไว้ก่อนหน้าแล้วได้ และสามารถรวม 2 subgraphs ย่อย (หรือมากกว่านั้น) ให้เป็น subgraph ใหญ่อันเดียวก็ทำได้เช่นกันครับ subgraphs สองตัวใหญ่ ๆ ที่มีผู้ใช้งานเยอะ คือ subgraphs ของ Uniswap และ Compound ซึ่งเป็นสองแอปพลิเคชันคริปโตเคอร์เรนซีขนาดใหญ่บนบล็อกเชนของ Ethereum ครับ โดยผู้ใช้งานสามารถค้นหาคู่ liquidity, ปริมาณการทำธุรกรรม, มูลค่ารวม และอื่น ๆ อีกมากมายจาก subgraphs เหล่านี้ครับ โดยการค้นหาข้อมูลจาก subgraph จะใช้ภาษา GraphQL ซึ่งเป็นภาษาที่มีต้นแบบมาจาก SQL ที่เป็นภาษาหลักในการจัดการฐานข้อมูลครับ และสามารถค้นหา subgraph ที่ถูกสร้างขึ้นไว้แล้วจาก Graph Explorer ได้ครับ
Data Flow
Indexer จะคอยอัปเดตข้อมูลให้กับ subgraphs ทุก ๆ อันที่อยู่ภายใต้การดูแลในทุก ๆ ครั้งที่มีการเขียนบล็อกใหม่ลงบนบล็อกเชนครับ ซึ่งการทำงานจะมีขั้นตอนตามนี้ครับ
- ข้อมูลจากแอปพลิเคชันบน Ethereum ถูกบันทึกลงบนบล็อกเชนของ Ethereum
- Indexer แต่ละคนจะทำการสแกนบล็อกใหม่ที่ถูกเขียนขึ้น และค้นหาข้อมูลในบล็อกที่ตรงกับ subgraph ของตัวเอง
- Indexer ดึงข้อมูลส่วนที่เกี่ยวข้องกับ subgraph แต่ละอันของตัวเอง และอัปเดตข้อมูลชุดใหม่ลงบนฐานข้อมูลที่ถูกจัดเรียงแล้ว
GRT
เป็นโทเคน ERC-20 บนบล็อกเชนของ Ethereum ครับ โดยมีปริมาณอุปทานตั้งต้นอยู่ที่ 1 หมื่นล้านเหรียญ และมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% ต่อปี เนื่องจากมีการผลิต GRT ใหม่เพื่อจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้กับ indexer เรื่อย ๆ ครับ โดยอุปทานตั้งต้นมีการแบ่งสัดส่วนให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ดังนี้
- 4% ถูกขายในรอบการระดมทุนครั้งแรก (initial coin offering: ICO)
- 34% ถูกขายในการระดมทุนแบบปิดในช่วงเริ่มต้นโปรเจกต์ โดยมีนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่หลายแห่งมาร่วมลงทุนด้วยครับ เช่น Coinbase Ventures, JD Capital และ Multicoin
- 2% ถูกขายให้กับ indexer และสมาชิกชุมชมผู้ใช้งานในราคาพิเศษ
- 23% ถูกแบ่งให้กับผู้มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นพัฒนาโปรเจกต์ ซึ่งรวมถึงที่ปรึกษาของโปรเจกต์ด้วยครับ
- 8% ถูกแบ่งให้กับ Edge and Node ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนา The Graph
- 29% ถูกแบ่งไว้เป็นค่าตอบแทนสำหรับการขยายฐานชุมชนผู้ใช้งานครับ
ในส่วนของความต้องการใช้งานจะมาจาก 3 ส่วนหลัก ๆ ครับ
- การที่ผู้ใช้งานส่งคำขอข้อมูลไปยัง indexer ครับ ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องจ่ายค่าขอข้อมูลในรูปแบบของ GRT ซึ่ง 1% ของค่าขอข้อมูลดังกล่าวจะถูก burn ครับ
- การใช้เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน โดย indexer จะต้องวาง (stake) GRT เพื่อได้รับสิทธิในการทำหน้าที่เป็น indexer และ delegator สามารถฝาก GRT กับ indexer เพิ่มเติมได้ ซึ่งถ้ามีการบิดเบือนข้อมูลเกิดขึ้น GRT ที่วางไว้ก็อาจจะถูกริบครับ
- Curator ทำการฝาก GRT ไว้กับ bonding curve reserve เพื่อทำหน้าที่ครับ ซึ่งการฝากไว้ใน bonding curve reserve ถ้าหากจะถอนออก จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 1% และค่าธรรมเนียมส่วนนี้จะถูก burn ครับ
อ้างอิงจาก CoinGecko GRT มีมูลค่าตลาดประมาณ 472 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 79 ของคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมด และด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นที่คงที่ แต่มีอัตราการลดลง (จากการ burn) ที่แปรผันตามปริมาณคำขอข้อมูลในระบบนิเวศ นั่นแปลว่าถ้าหาก The Graph มีการใช้งานที่มากถึงจุดหนึ่ง ปริมาณ GRT ที่ถูก burn จะสูงกว่าปริมาณ GRT ที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้ GRT เป็นสินทรัพย์ที่มีอัตราการเฟ้อติดลบ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อราคาของ GRT ครับ
Roadmap
แนวทางการพัฒนาโปรเจกต์ The Graph ถูกแบ่งออกเป็น 5 ด้านใหญ่ ๆ ด้วยกันครับ
Data & APIs
เป็นด้านที่จะพัฒนาการใช้งาน subgraphs ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านความเร็วในการประมวลผล และความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับครับ โดยทีมพัฒนาของ The Graph มีแผนที่จะพัฒนาการทำงานของโปรโตคอลแบบขนาน (parallel execution) เพื่อเพิ่มความเร็วในการขอข้อมูล, มีการใช้งานกลไก Proof-of-Indexing (POI) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลที่เก็บอยู่ภายในระบบนิเวศ และพัฒนา Firehose ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลดิบที่อยู่ในแต่ละบล็อกของบล็อกเชน โดย Firehose จะเป็นตัวกำหนดมาตรฐานในการดึงข้อมูลจากบล็อกเชน เพื่อในอนาคต The Graph จะสามารถขยายการใช้งานไปยังบล็อกเชนอื่น ๆ นอกเหนือจาก Ethereum ได้ครับ
SNARK Force
SNARK เป็นหนึ่งในเทคโนโลยี Zero-Knowledge proof (ZK) ครับ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่าข้อมูลชุดนั้นคืออะไร ทางทีมพัฒนาของ The Graph ได้เริ่มต้นพัฒนา SNARK เพื่อใช้งานกับ The Graph มาสักพักแล้วครับ โดย SNARK จะเข้ามาช่วยพิสูจน์ความถูกต้องของข้อมูลที่อยู่ภายในระบบนิเวศของ The Graph ครับ
Protocol Economics
เป็นส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกลไกทางเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดภายในระบบของ The Graph ครับ เช่น การฝาก (delegation) ของ delegator ที่ทางทีมกำลังพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมถึงการสร้าง subgraph ที่ทีมชุดนี้ก็จะช่วยพัฒนาขั้นตอนการสร้างให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น และกลไกการจ่ายค่าตอบแทนใน bonding curve reserve ที่ curator นำ GRT มาฝากก็อยู่ภายใต้การดูแลของทีมนี้เช่นกันครับ
Protocol & Network Operations
เป็นส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวการสร้างและดูแลระบบย่อย ๆ ต่าง ๆ ภายในระบบของ The Graph ครับ โดยในปัจจุบันทีมดังกล่าวกำลังพัฒนา Epoch Block Oracle ซึ่งเป็นโปรโตคอลในการติดตามการเคลื่อนไหวในหลาย ๆ บล็อกเชนพร้อมกัน เพื่อให้รองรับการที่ The Graph มีแผนจะเปิดใช้งานบนบล็อกเชนอื่น ๆ ในอนาคต ซึ่ง Epoch Block Oracle ก็จะเพิ่มความสามารถในการติดตามผลการขอข้อมูล เพื่อจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้กับ indexer ในหลาย ๆ บล็อกเชนได้ครับ
Indexer Experience
เป็นส่วนที่ดูแลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ indexer ครับ โดยในปัจจุบันทีมนี้กำลังปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ indexer เพื่อให้กระบวนการเหล่านี้มีต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อให้ indexer ได้รับรายได้สูงขึ้นครับ
Concerns
ถึงแม้ว่า The Graph จะเป็นโปรเจกต์ที่ดูน่าสนใจและมีการใช้งานเกิดขึ้นจริง แต่ตัวโปรเจกต์เองก็มีจุดสังเกตที่ทุก ๆ คนควรทราบอยู่หลายจุดครับ วันนี้ผมยกตัวอย่างสองประเด็นที่น่าจะเป็นประเด็นหลักของตัวโปรเจกต์มาเล่าให้ทุกคนฟังกันครับ
Non-Ethereum Blockchains
ถึงแม้ว่า Ethereum จะเป็นบล็อกเชน smart contract ที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีฐานผู้ใช้งานและมูลค่าสูงที่สุดในบรรดาบล็อกเชน smart contract ทั้งหมด แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเลือกใช้ Ethereum ครับ บล็อกเชนทางเลือกอื่น ๆ มีอยู่หลายตัว ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ซึ่งบล็อกเชนเหล่านั้นยังไม่ได้มีโปรโตคอลที่ทำหน้าที่จัดเรียงข้อมูลเหมือนกับที่ Ethereum มี The Graph ครับ ตามที่ได้กล่าวไปว่า The Graph เองก็กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดใช้งานบนบล็อกเชนอื่น ๆ แต่ในปัจจุบันสิ่งนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นครับ ไม่แน่ว่าเราอาจจะเห็นโปรโตคอลจัดเรียงข้อมูลตัวใหม่ถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชนอื่น ๆ ก่อนหน้า The Graph ก็เป็นได้ครับ
Centralization
Subgraphs ที่มีผู้ใช้งานสร้างขึ้นภายในระบบนิเวศของ The Graph จะถูกเก็บไว้กับ hosted service ของ The Graph ครับ ซึ่งการเก็บ subgraphs ทั้งหมดไว้ในที่เดียวกัน ทำให้เกิดการรวมศูนย์ (centralization) ของข้อมูลภายในระบบนิเวศของ The Graph ครับ อย่างไรก็ดี ทางทีมพัฒนาของ The Graph มีแผนที่จะแก้ไขประเด็นดังกล่าวภายในไตรมาสแรกของปี 2023 ครับ
Summary
การจัดเรียงข้อมูลบนบล็อกเชนให้เป็นระเบียบ และง่ายต่อการใช้งาน ถือเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานบล็อกเชน ซึ่งจะนำไปสู่จำนวนผู้ใช้งานและนักพัฒนาบนบล็อกเชนที่เพิ่มขึ้นครับ เนื่องจากข้อมูลบนบล็อกเชนจะถูกเก็บเป็นบล็อก ทำให้การค้นหาข้อมูลชุดหนึ่ง ๆ แบบเจาะจง ใช้เวลาและทรัพยากรมากพอสมควร The Graph เข้ามาแก้ปัญหานี้โดยการสร้างฐานข้อมูลแบบเฉพาะกลุ่ม แยกตามประเภทของข้อมูลหรือการใช้งาน ตามแต่จะกำหนดครับ การสร้างฐานข้อมูลแบบดังกล่าวช่วยให้การค้นหาข้อมูลจากบล็อกเชนทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นหลายเท่า ทำให้ The Graph เป็นหนึ่งในโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่น่าจับตามองครับ
แต่ในขณะเดียวกัน The Graph เองก็ยังมีประเด็นหลาย ๆ อย่างที่ควรจะติดตามครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบล็อกเชนที่ในปัจจุบัน The Graph ทำงานอยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum เท่านั้น ถึงแม้ทีมพัฒนาจะมีแผนขยายการใช้งานไปยังบล็อกเชนอื่น ๆ แต่ก็ต้องรอดูครับว่าในอนาคต The Graph จะเจอคู่แข่งบนบล็อกเชนอื่น (หรือแม้กระทั่งบน Ethereum เอง) หรือไม่ อีกประเด็นที่ควรติดตามคือเรื่องความรวมศูนย์ครับ ที่ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ แต่ในปัจจุบัน The Graph ถือเป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีตัวเดียวในบรรดาโปรเจกต์ที่มีมูลค่าสูง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการค้นหาข้อมูลครับ นั่นทำให้ The Graph ไม่มีคู่แข่งที่มีความสามารถในการแข่งขันใกล้เคียงกัน ถือว่าเป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยครับ
Further Read:
- Official Website: https://thegraph.com/en/
- Official Docs: https://thegraph.com/docs/en/
- Roadmap (2022): https://thegraph.com/blog/roadmap-2022/
CodeBreaker
ที่มาบทความ: https://link.medium.com/XFx3oFsbrwb
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้