เทคโนโลยีการโอนเงินระหว่างธนาคารในตอนนี้ถือว่าล้ำหน้ามาก ๆ นะครับ ทุกวันนี้เราสามารถโอนเงินจากบัญชีของเราไปยังบัญชีของธนาคารอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไม่มีค่าธรรมเนียมใด ๆ ซึ่งไม่ใช่ทุกประเทศบนโลกนี้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนกับประเทศไทยนะครับ ในประเทศอื่น ๆ การโอนเงินระหว่างบัญชียังมีค่าธรรมเนียม จะถูกจะแพงก็แล้วแต่ประเทศไป และยังใช้เวลาประมาณนึงอีกด้วยครับ พวกเราหลาย ๆ คนก็อาจจะเคยเจอความช้าและแพงของการทำธุรกรรมในรูปแบบดังกล่าว เวลาที่เราโอนเงินข้ามประเทศนะครับ ไม่ว่าจะใช้บริการของบริษัทไหน การโอนเงินข้ามประเทศทั้งใช้เวลา และมีค่าธรรมเนียมที่แพง ผู้คนทั่วโลกที่ออกไปทำงานนอกประเทศของตน และต้องการส่งเงินกลับมาให้กับครอบครัวที่อาศัยอยู่ในประเทศ ต้องเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้อยู่เรื่อย ๆ ทำให้รายได้ที่ทางครอบครัวควรจะได้รับ หายไปอย่างมีนัยสำคัญครับ
เพราะฉะนั้นจะดีกว่าไหมถ้าเรามีเทคโนโลยีที่ช่วยลดแรงเสียดทานของการทำธุรกรรม นั่นคือทำให้การโอนเงินทุกรูปแบบ มีความเร็วและมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำ Stellar เป็นโปรเจกต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้ลดตัวกลางในการทำธุรกรรม และด้วยโครงสร้างสถาปัตยกรรมก็ทำให้บล็อกเชนของ Stellar มีค่าธรรมเนียมที่ถูกมาก ๆ อีกด้วย ในการโอนเงินจากกระดานเทรดคริปโตเคอร์เรนซีของประเทศไทย (เช่น Bitkub / Zipmex) ไปยังกระดานเทรดต่างประเทศอย่าง Binance หรือ KuCoin หลาย ๆ คนก็มักจะเลือกโอนด้วยสกุลเงินดิจิทัล XLM ซึ่งก็เป็นโทเคนบนบล็อกเชนของ Stellar เพราะค่าธรรมเนียมการโอนนั้นถูกมาก ๆ ครับ วันนี้ผมจะพาทุก ๆ คนมารู้จักกับโปรเจกต์เครือข่ายโอนเงินไร้พรมแดนตัวนี้กันครับ
What is Stellar?
Stellar เป็นเครือข่ายการโอนเงินแบบกระจายศูนย์ (decentralized) ที่มีเป้าหมายจะเป็นช่องทางการจ่ายเงินที่เร็ว ปลอดภัย ไร้พรมแดน และมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำ ด้วยการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้ Stellar สามารถเชื่อมต่อทั้งบุคคลธรรมดากับองค์กร (เช่นธนาคาร) และทำให้ผู้ใช้งานเหล่านี้สามารถส่งผ่านสินทรัพย์ไป-มาได้อย่างรวดเร็ว Stellar มีเป้าหมายที่จะ disrupt ระบบการจ่ายเงินที่พวกเราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ลองคิดถึงการโอนเงินข้ามประเทศดูครับ ทุกวันนี้การโอนเงินข้ามประเทศมีค่าธรรมเนียมการโอนที่แพง เสียส่วนต่างการแปลงค่าเงิน และใช้เวลาไม่น้อย ซึ่ง Stellar ก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ครับ
ผู้ก่อตั้งโปรเจกต์ Stellar คือ Jed McCaleb ครับ โดย Jed เคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Ripple ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเดียวกัน แต่ Jed ออกจาก Ripple มาก่อตั้ง Stellar ด้วยเหตุผลที่ว่า Ripple ยังมีปัญหาหลาย ๆ อย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาการโอนเงินตามที่กล่าวไว้ ทำให้หลาย ๆ คนเชื่อว่าชุดโปรแกรมของ Stellar หลาย ๆ ส่วน ถูกพัฒนาต่อมาจากชุดโปรแกรมของ Ripple ครับ
ว่าด้วยเรื่องประสิทธิภาพของเครือข่าย ระยะเวลาการประมวลผลธุรกรรมบนบล็อกเชนของ Stellar จะใช้เวลาประมาณ 2–5 วินาที และค่าธรรมเนียมถือว่าถูกมาก ๆ (ในปัจจุบันการโอน 1 ครั้ง เสียค่าธรรมเนียมไม่ถึง 1 สตางค์) ซึ่งถ้าหากถามว่าทำได้อย่างไรนั้น ไปดูเทคโนโลยีเบื้องหลังโปรเจกต์กันครับ
Technology
โครงสร้างสถาปัตยกรรมของ Stellar ประกอบด้วย server หลาย ๆ ตัว ซึ่งแต่ละตัวจะมีเจ้าของเป็นบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานที่แตกต่างกันไป แต่ทุก ๆ server จะเปิดทำงาน Stellar Core ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะทำการเก็บบล็อกเชนของ Stellar ไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เปิดใช้งาน Stellar Core ครับ และจะคอยเช่ือมต่อกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ ที่เปิดทำงาน Stellar Core เหมือนกัน และคอยตรวจสอบว่าบล็อกเชนที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง มีความเหมือนกันหรือไม่ครับ
Consensus Algorithm
Stellar ใช้งานกลไกฉันทามติของตัวเองที่เรียกว่า Stellar Consensus Protocol (SCP) ซึ่งใช้แนวคิดเดียวกันกับกลไก Practical Byzantine Fault Tolerance (pBFT) ของ Ripple แต่มีกฎเกณฑ์ในการตัดสินใจที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง โดยข้อแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ node ที่มีหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมใน Stellar สามารถเป็นใครก็ได้ในเครือข่าย ในขณะที่ node ประเภทเดียวกันใน Ripple จะต้องถูกคัดเลือกมาก่อน โดย SCP จะมีคุณสมบัติหลัก 4 อย่างครับ
- จะไม่มีหน่วยงานหรือผู้มีอำนาจส่วนกลางที่ตัดสินใจเลือกผู้ตรวจสอบธุรกรรมในกลไกฉันทามติ
- การตรวจสอบธุรกรรมมีความรวดเร็วในระดับไม่กี่วินาที
- ผู้ใช้งานมีสิทธิในการเลือกจะเชื่อ node ใดก็ได้ (จะไม่มีการบังคับว่าจะต้องเชื่อใน node ที่มีเจ้าของเป็นคนรวยหรือผู้มีอำนาจ ถ้าหากผู้ใช้งานเลือกจะเชื่อใน node อื่น ๆ และไม่เชื่อใน node กลุ่มดังกล่าว ก็สามารถทำได้)
- มีความปลอดภัยจาก hacker ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ความสามารถสูงเพื่อพยายามควบคุมบล็อกเชน
การทำงานของ Stellar จะให้ node แต่ละ node ทำการเลือก node อื่น ๆ ที่คิดว่ามีความน่าเชื่อถือ จากนั้นโปรโตคอลจะทำการจับกลุ่ม node ที่เชื่อถือกันและกันเป็นกลุ่ม เรียกว่า quorum slice จากนั้นโปรโตคอลจะทำการเชื่อมต่อ Quorum Slice 2 กลุ่มที่มี node ร่วมกัน เรียกว่า quorum ครับ ซึ่งการออกแบบด้วยวิธีดังกล่าวจะลดจำนวนผู้ตรวจสอบ (เพราะจับกลุ่ม node เป็น quorum แล้ว) ซึ่งมีข้อดีคือเพิ่มความเร็วในการตรวจสอบและเขียนบล็อกใหม่ครับ แต่ก็มีข้อเสียคืออาจจะมี node บางกลุ่มที่รวมตัวกันเป็น quorum และพยายามควบคุมบล็อกเชน ซึ่งก็จะทำได้ง่ายกว่าการออกแบบแบบไม่จับกลุ่ม node ครับ ซึ่งทีม Stellar ก็ทราบถึงปัญหานี้ดี และพยายามป้องกันด้วยการออกแบบโปรโตคอลให้หยุดการทำงานชั่วคราวกรณีที่มีความขัดแย้งกันของการตรวจสอบธุรกรรม และต้องให้การตรวจสอบดังกล่าวสำเร็จก่อน บล็อกเชนจึงจะถูกเขียน และโปรโตคอลจึงจะทำงานต่อไปครับ
Anchor
เป็นองค์ประกอบของเครือข่ายบล็อกเชนของ Stellar ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อสกุลเงินดิจิทัลเข้ากับระบบการเงินโลกดั้งเดิม (traditional finance) ครับ ต้องเกริ่นก่อนว่าในปัจจุบันระบบการโอนเงินข้ามประเทศนั้นมีหลากหลายระบบมาก ๆ เช่น ACH, SEPA ที่ใช้โอนเงินสกุลยูโรไปยังประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป, SPEI ที่พัฒนาโดยธนาคารกลางของประเทศเม็กซิโก และระบบ SWIFT ที่ใช้งานแพร่หลายที่สุด อย่างไรก็ดี ระบบเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานร่วมกัน (ต่างคนต่างพัฒนา)
ทีม Stellar เห็นปัญหาข้อนี้และตั้งใจพัฒนา Stellar ให้สามารถเป็นตัวแทนของสกุลเงินใด ๆ บนโลกได้ ในรูปแบบของโทเคนดิจิทัลครับ ซึ่ง Anchor ก็จะเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมต่อสกุลเงินดั้งเดิมกับโทเคนดิจิทัลนี้ โดยหน้าที่ของ Anchor จะมีสองอย่างหลัก ๆ ด้วยกัน
- เป็นผู้ออกโทเคนดิจิทัล (ในรูปแบบของ stablecoin) โดยเมื่อมีการฝากสกุลเงินใด ๆ เข้ามา ก็จะออกโทเคนที่ตรึงมูลค่ากับสกุลเงินดังกล่าวในอัตราส่วน 1:1 และโทเคนนั้นก็จะถูกใช้งานบนบล็อกเชนของ Stellar และซื้อ-ขายได้อย่างอิสระ ส่วน Anchor ก็จะต้องเก็บและดูแลสกุลเงินที่นำมาฝากไว้
- เชื่อมต่อบล็อกเชนของ Stellar เข้ากับระบบการเงินของแต่ละประเทศ นั่นคือ Anchor จะต้องดูแลกระบวนการถ่ายโอนสินทรัพย์ระหว่างระบบการเงินสองระบบ และจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายของแต่ละประเทศ (เช่นทำการ KYC) เพื่อให้สามารถทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ ด้วยครับ
ผู้ที่มาทำหน้าที่ Anchor จะเป็นธนาคาร, สถาบันการเงิน, หรือบริษัท FinTech และสามารถเลือกทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่นจะเป็นผู้ออกโทเคนดิจิทัลอย่างเดียว) ได้ครับ และผู้ที่มาเป็น Anchor จะได้ประโยชน์จากหลากหลายขั้นตอน เช่น การคิดค่าธรรมเนียมการฝาก/ถอนสกุลเงินดิจิทัล, ส่วนต่าง (spread) ของการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน, รวมถึงค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมอีกด้วยครับ
Lumens (XLM)
เป็นโทเคนหลักบนบล็อกเชนของ Stellar ครับ โดย ณ วันแรกของการเปิดใช้งานบล็อกเชน XLM มีปริมาณอุปทานสูงสุด (maximum supply) อยู่ที่ 1 แสนล้านเหรียญ แต่ในปัจจุบันถูกปรับลดลงมาเหลือ 5 หมื่นล้านเหรียญ จากมติของ validator node ของ Stellar ครับ โดยโทเคนทั้งหมดถูกแบ่งแจกจ่ายให้กับผู้ใช้งานในแต่ละกลุ่มดังนี้ครับ
- 50% ถูก airdrop ให้กับผู้ใช้งานเป็นรอบ ๆ
- 25% ถูกแบ่งให้กับผู้มีส่วนร่วมในการช่วยให้เครือข่ายบล็อกเชนของ Stellar เติบโตครับ ซึ่งผู้มีส่วนร่วมดังกล่าวก็มีตั้งแต่บริษัทหลาย ๆ แห่ง, องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร รวมถึงหน่วยงานภาครัฐบางหน่วยงานด้วยครับ
- 20% ถูกแจกให้กับผู้ที่ถือ BTC และ XRP (โทเคนหลักบนบล็อกเชนของ Ripple) ในช่วงปี 2016 ถึง 2017 ครับ
- 5% ถูกแบ่งให้กับ Stellar Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลการพัฒนาเครือข่ายและการจับมือเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ของ Stellar ครับ
ในส่วนของความต้องการการใช้งานของ XLM จะมาจากการทำธุรกรรมบน Stellar ครับ โดยการทำธุรกรรมใด ๆ จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม (gas fee) ด้วย XLM และด้วยเป้าหมายของ Stellar ที่จะเป็นเครือข่ายโอนเงินที่จะมีผู้ใช้งานทั่วโลก ประกอบกับการจับมือเป็นพันธมิตรกับธนาคารและสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่ง ทำให้จำนวนธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นบนบล็อกเชนของ Stellar น่าจะเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวในอนาคต ซึ่งก็จะส่งผลโดยตรงต่อความต้องการ XLM ครับ
นอกจากนี้ XLM ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่าง ๆ ที่อยู่บนบล็อกเชนของ Stellar ครับ โดยบนบล็อกเชนจะมี DApp ที่ทำหน้าที่สร้าง pool ของคู่เหรียญต่าง ๆ เอาไว้ และส่วนมากจะเป็นคู่ของ XLM กับสกุลเงินอื่น ๆ ดังนั้นสมมติเราโอนเงินสกุลบาทให้กับเพื่อนที่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา แล้วอยากให้เงินบาทของเราเปลี่ยนเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ การแลกเปลี่ยนก็จะถูกทำผ่าน XLM ครับ
Use Cases
IBM
IBM เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทครับ โดยในปี 2018 IBM ได้ประกาศว่ากำลังพัฒนาแพลตฟอร์มบล็อกเชนสำหรับธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวกในการโอนเงินและการทำ clearing รายวัน ด้วยการประยุกต์ใช้งานบล็อกเชนของ Stellar ที่มีจุดเด่นในด้านความเร็วและค่าธรรมเนียมที่ถูก ทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ IBM สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความล่าช้าของการโอนเงินข้ามประเทศ และการยืนยันตัวตนบุคคลในขั้นตอนการโอนเงินดังกล่าวครับ โดยธนาคารที่อยู่ภายในเครือข่ายแพลตฟอร์มของ IBM จะสามารถโอนเงินให้กับองค์กรอื่น ๆ ได้ผ่านสกุลเงิน XLM ครับ
Coinqvest
เป็นแพลตฟอร์มชำระเงินระดับองค์กรที่ถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชนของ Stellar ครับ ด้วยการเชื่อมต่อ API กับ Coinqvest ทำให้ร้านค้าออนไลน์หรือองค์กรต่าง ๆ สามารถชำระเงินผ่าน Stellar และสามารถเลือกสกุลเงินปลายทางได้อย่างอิสระ ซึ่งการประยุกต์ใช้งานบล็อกเชนของ Stellar ก็ทำให้การโอนเงินมีความไร้พรมแดน มีค่าธรรมเนียมที่ถูก และรวดเร็วครับ โดยในปัจจุบันก็มีร้านค้าออนไลน์กว่า 500 แห่ง และถ้าเปรียบเทียบไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 กับไตรมาสเดียวกันของปี 2021 พบว่าจำนวนการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นกว่า 40% เลยครับ
RealtyBits Inc.
เป็นผู้พัฒนาตลาดซื้อ-ขายสินทรัพย์นอกตลาด (private asset) บนบล็อกเชนของ Stellar ครับ เนื่องจากปัจจุบันการซื้อ-ขายสินทรัพย์นอกตลาด ยังทำได้ค่อนข้างยาก นักลงทุนที่สนใจในสินทรัพย์กลุ่มนี้จะต้องลงทุนผ่านผู้จัดการกองทุนที่เป็นลักษณะ private equity fund ซึ่งการใช้วิธีดังกล่าวมีขั้นตอนที่ซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายที่สูง
RealtyBits ถูกพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยทำงานโดยการเป็นแพลตฟอร์มจับคู่เจ้าของสินทรัพย์และนักลงทุนที่ต้องการซื้อ ซึ่งทั้งสองฝั่งจะต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองก่อนใช้งานแพลตฟอร์ม โดยเจ้าของสินทรัพย์จะมี dashboard ที่คอยติดตามมูลค่าสินทรัพย์ของตน และนักลงทุนที่ถือครองสินทรัพย์ได้ครับ ด้วยการใช้งานบล็อกเชนของ Stellar ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดผ่าน RealtyBits มีค่าใช้จ่ายที่ถูกมาก ๆ และมีขั้นตอนน้อย สามารถทำได้อย่างรวดเร็วครับ
e-Hryvnia
ในเดือนธันวาคม 2021 ธนาคาร TASCOMBANK ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศยูเครน ร่วมกับ Bitt ซึ่งเป็นบริษัท FinTech แห่งหนึ่ง ประกาศทดลองเปิดใช้งาน e-Hryvnia ซึ่งเป็นโทเคนดิจิทัลบนบล็อกเชนของ Stellar ที่ถูกตรึงมูลค่าไว้กับสกุลเงิน Hryvnia ซึ่งเป็นสกุลเงินของประเทศยูเครน โดยในการเปิดใช้งานช่วงแรก จะทดลองจ่ายเงินเดือนในรูปแบบโทเคนดิจิทัลให้กับพนักงานในบริษัทที่ปรึกษาด้านไอทีบางแห่ง รวมถึงทดลองใช้โอนเงินระหว่างบุคคลทั่วไปและร้านค้า (เหมือนเวลาเราโอนเงินให้เพื่อนหรือโอนเงินเพื่อชำระสินค้าในประเทศไทยเลยครับ แค่กรณีนี้ไปอยู่บนบล็อกเชนของ Stellar ไม่ได้มีตัวกลางในการควบคุมการทำธุรกรรม)
โดยโปรเจกต์ดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารกลางยูเครนและกระทรวงดิจิทัลของประเทศยูเครน ซึ่งรัฐสภายูเครนก็ได้ผ่านกฎหมายรองรับการลงทะเบียนสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) แล้ว เพื่อให้การใช้งาน e-Hryvnia เป็นไปตามกฎหมายกำหนดครับ
CoinMe
ในช่วงกลางปี 2022 บริษัท CoinMe ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลกับสกุลเงินดั้งเดิม (fiat currency) สัญชาติอเมริกัน ประกาศจับมือกับ Circle ซึ่งเป็นบริษัทผู้ออกสกุลเงินดิจิทัล USDC เพื่อนำสกุลเงิน USDC ไปใช้งานบนบล็อกเชนของ Stellar และผู้ใช้งานสามารถซื้อ-ขาย USDC ผ่านจุดบริการของ CoinMe ได้ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนที่ต้องการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดั้งเดิมเป็นสกุลเงินดิจิทัลครับ นอกจากนี้ CoinMe ยังมีฟีเจอร์การโอนเงินแบบ P2P ซึ่งทำให้ผู้คนสามารถโอนเงินสกุล USDC หากันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และการใช้งานบล็อกเชนของ Stellar ก็ทำให้การทำธุรกรรมรูปแบบดังกล่าวมีค่าธรรมเนียมที่ถูกมาก ๆ อีกด้วยครับ
ในปัจจุบัน CoinMe ให้บริการอยู่ภายในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในอนาคต บริษัทก็มีแผนที่จะเจาะตลาดต่างประเทศ โดยจะเน้นไปที่ประเทศกลุ่มละตินอเมริกาก่อนเป็นลำดับแรกครับ
Roadmap
Stellar ตั้งเป้าที่จะเป็นเครือข่ายสำหรับการโอนเงินที่ไร้พรมแดน ทุก ๆ คนสามารถใช้งานเครือข่ายได้ สามารถโอนเงินไปหาใครที่ไหนก็ได้ ด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูก ในปี 2022 Stellar ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จเอาไว้ 3 ข้อใหญ่ ๆ ด้วยกันครับ
Increase Scalability and Network Innovation
ความเร็วถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้ Stellar ครับ เนื่องจากเป็นบล็อกเชนที่มีจุดเด่นในเรื่องการโอนเงิน และการเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินในหลากหลายประเทศ เปรียบเสมือนประตูเชื่อมต่อโลกการเงินปัจจุบันกับโลกการเงินดิจิทัล ทำให้ Stellar ต้องมีความเร็วสูง จึงจะดึงดูดผู้คนให้มาใช้งานได้ ในปัจจุบันทีม Stellar กำลังพัฒนากลไกสำหรับการทำธุรกรรมโอนเงินบนบล็อกเชน ที่จะช่วยให้บล็อกเชนของ Stellar รองรับความถี่การทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้ กลไกที่ว่ามีชื่อว่า SPEEDEX ครับ ซึ่งนอกจากจะช่วยรองรับความถี่ธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยปรับโครงสร้างของกระดานเทรดแบบกระจายศูนย์ (decentralized exchange:DEX) ซึ่งช่วยพัฒนาในเรื่องของลำดับการส่งออเดอร์ซื้อ-ขาย และป้องกันการทำ front-running บนกระดานเทรดครับ
Activate More Network Participation
ในปัจจุบัน Stellar มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการเข้าถึงสกุลเงินดิจิทัลกับผู้คนในหลากหลายสถานที่บนโลกใบนี้ เครือข่ายผู้ใช้งานก็จะเกิดการขยายฐานกว้างออกไปเรื่อย ๆ ทีม Stellar เองก็อยากจะให้ผู้ใช้งานทุก ๆ คนมีความรู้สึกเป็นเหมือนเจ้าของโปรเจกต์ครับ โดยเฉพาะนักพัฒนาที่กำลังใช้งานบล็อกเชนของ Stellar ก็ควรจะมีสิทธิมีเสียงในการเสนอร่างการพัฒนา (proposal) ในด้านต่าง ๆ ของเครือข่าย และแน่นอนว่า Stellar กำลังก้าวไปในทางที่โปรเจกต์จะจับมือกับรัฐบาลกลางของหลาย ๆ ประเทศในการสร้างสกุลเงินดิจิทัล (CBDC) ของประเทศเหล่านั้น เหมือนที่เราเห็นสกุลเงิน e-Hryvnia ดังนั้น Stellar เองก็จำเป็นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั่วไปด้วยเช่นกันครับ ตัวเครือข่ายจึงจะดำเนินต่อไปได้ และยังสามารถขยายฐานผู้ใช้งานไปได้เรื่อย ๆ
Demand and Promote Inclusion
Stellar วางตัวเองเป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่รองรับการโอนเงินทั่วโลก ดังนั้นเป้าหมายสำคัญคือการเข้าถึงผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ครับ ซึ่งก็แน่นอนว่ากระบวนการการเข้าถึงก็อาจจะมีความแตกต่างกันไป ตามลักษณะเฉพาะของผู้คน รวมถึงข้อกฎหมาย ข้อจำกัด ในพื้นที่แต่ละแห่งครับ ดังนั้น Stellar วางเป้าหมายในการศึกษาวิจัยข้อมูลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แต่ละแห่ง ผ่านการทำงานร่วมกับบริษัท, นักพัฒนา, นักกฎหมาย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ครับ
และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกกล่าวถึงคือความรู้เกี่ยวกับการเงิน (financial literacy) ครับ การที่คนสักคนจะยอมรับ ใช้งาน และเห็นคุณค่าของบล็อกเชนของ Stellar คนผู้นั้นจะต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินใช่ไหมครับ Stellar เองก็เล็งเห็นประเด็นข้อนี้ และตั้งเป้าสนับสนุนคอนเทนต์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเงินอีกด้วยครับ
ในมุมระดับประเทศ Stellar เองก็ตั้งเป้าว่าจะจับมือเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลกลางของประเทศหลาย ๆ ประเทศ (โดยเฉพาะรัฐบาลที่สนับสนุนการใช้งานคริปโตเคอร์เรนซี) ครับ โดยคาดหวังผลของ network effect ว่าสุดท้าย การขยายตัวของเครือข่ายรัฐบาลและธนาคารกลางที่ใช้งานบล็อกเชนของ Stellar จะดึงดูดให้ประเทศอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้สนับสนุนคริปโตเคอร์เรนซีมากนัก หันมาสนใจ และใช้งานบล็อกเชนของ Stellar ในที่สุดครับ
Concerns
ถึงแม้จะเป็นโปรเจกต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจที่ใหญ่ และในปัจจุบันก็มีบริษัทและองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งมาจับมือเป็นพันธมิตร Stellar เองก็ยังมีความท้าทายหลาย ๆ อย่างที่ยังต้องรอการพัฒนาของเครือข่ายต่อไปครับ ประเด็นที่สำคัญที่สุด คงจะเป็นเรื่องวิสัยทัศน์ของโปรเจกต์ ที่จะวางตัวเองเป็นเครือข่ายโอนเงิน ที่มีผู้ใช้งานหลากหลายตั้งแต่บุคคลทั่วไป สถาบันการเงิน และรัฐบาลกลางของแต่ละประเทศครับ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าวิสัยทัศน์ดังกล่าวมีความขัดแย้งกับภาพวาดในฝันของผู้คนในวงการคริปโตเคอร์เรนซีหลาย ๆ คน ที่วาดภาพเอาไว้ว่าในอนาคตเราจะไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพารัฐบาลและธนาคารกลาง ซึ่งความขัดแย้งนี้ก็อาจจะทำให้หลาย ๆ คนมีความสงสัยว่า ถ้าหากในอนาคต บล็อกเชนของ Stellar มีการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และเราทุกคนโอนเงินให้กันด้วยเครือข่ายดังกล่าวเป็นชีวิตประจำวัน ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย จากการใช้งานบล็อกเชนอื่น ๆ ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ จะยังคงเหลืออยู่บนบล็อกเชนของ Stellar หรือไม่ หรือสุดท้ายแล้ว ข้อมูลต่าง ๆ ก็จะไหลไปหาสถาบันการเงินขนาดใหญ่ และรัฐบาลของพวกเราอยู่ดี
อีกประเด็นที่ต้องให้ความสนใจคือเรื่องการเติบโตของเครือข่าย validator nodes บนบล็อกเชนของ Stellar ครับ ความแตกต่างสำคัญของกลไกทางเศรษฐศาสตร์ของ Stellar กับบล็อกเชนอื่น ๆ คือ Stellar ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับ node เมื่อตรวจสอบธุรกรรมและเขียนบล็อกใหม่สำเร็จ (บล็อกเชนอื่น ๆ จะมีค่าตอบแทนส่วนนี้ และเป็นแรงดึงดูดให้เกิด validator node ใหม่ ๆ ขึ้น) ดังนั้นการเชิญชวนให้ใครสักคนมาเป็น validator node บนบล็อกเชนของ Stellar จะทำได้ยากกว่าบล็อกเชนอื่น ๆ ครับ และเมื่อมีจำนวน node น้อย แปลว่าบล็อกเชนจะมีความกระจายศูนย์ (decentralization) ที่ต่ำครับ
Summary
ค่าใช้จ่ายและเวลาที่เสียไปในการโอนเงินระหว่างประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ครับ ทุกวันนี้ธนาคารในแทบทุกประเทศต้องมีการติดต่อทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่อยู่นอกประเทศตัวเอง และการทำธุรกรรมรูปแบบดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายที่แพง และใช้เวลาที่นาน Stellar เป็นเทคโนโลยีที่น่าจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้ช่วยลดตัวกลางที่ต้องใช้ในการทำธุรกรรมรูปแบบเก่า ช่วยให้การโอนเงินข้ามประเทศ มีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง และมีระยะเวลาสั้นลงครับ
อย่างไรก็ดี Stellar ยังต้องการการพิสูจน์ตัวเองอีกเยอะครับ กว่าจะไปถึงจุดที่ตั้งเป้าหมายไว้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีรัฐบาลและธนาคารกลางของหลาย ๆ ประเทศให้ความสนใจที่จะเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายบล็อกเชน แต่จำนวนดังกล่าวก็ถือว่าไม่ได้สูงมากนัก นอกจากนี้ยังมีรัฐบาลกลางของประเทศใหญ่ ๆ หลายประเทศ ที่ออกตัวว่าไม่สนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคริปโตเคอร์เรนซีครับ ซึ่งถ้าหากตัวโปรเจกต์ไม่สามารถโน้มน้าวประเทศกลุ่มดังกล่าวให้มาเชื่อมต่อกับเครือข่ายได้ ก็จะเป็นอุปสรรคใหญ่ของการขยายฐานผู้ใช้งานครับ
นอกจากนี้ผู้คนในวงการคริปโตเคอร์เรนซีบางกลุ่มยังมองว่า Stellar อาจจะเป็นโปรเจกต์ที่จะลดอิสรภาพทางการเงินของพวกเขาเหล่านั้น เนื่องจากเป้าหมายของโปรเจกต์ที่จะเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลและธนาคารกลาง ทำให้ถ้าหากผู้คนทั่วไปใช้งานบล็อกเชนของ Stellar ก็ไม่อาจการันตีความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่แท้จริง เหมือนกับบล็อกเชนอื่น ๆ ที่เราเห็นในท้องตลาด ซึ่ง Stellar จะสามารถหาจุดสมดุลระหว่างการทำงานร่วมกับรัฐบาล และการเป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่มีผู้ใช้งานทั่วไปได้หรือไม่ ก็ต้องรอติดตามกันต่อไปครับ
Further Read:
- Official Website: https://www.stellar.org/
- Whitepaper: https://www.stellar.org/papers/stellar-consensus-protocol?locale=en
- Roadmap: https://www.stellar.org/roadmap
CodeBreaker
ที่มาบทความ: https://link.medium.com/HHyv4iJSZrb
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้