Smart contract ถือเป็นฟังก์ชันที่ทำให้คริปโตเคอร์เรนซีหลาย ๆ ตัว มีการใช้งานที่หลากหลายครับ smart contract ทำให้นักพัฒนาสามารถเขียนโปรแกรมเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อนได้ เช่น การปล่อยกู้, การทำ leverage, การทำ yield farming เป็นต้น โดยตัดตัวกลางที่เป็นมนุษย์ออกไป ทำให้หลาย ๆ คนหันมาสนใจโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่มีฟังก์ชัน smart contract ครับ
คริปโตเคอร์เรนซีที่มีฟังก์ชัน smart contract ในปัจจุบันเกือบทั้งหมด ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Stake (PoS) ครับ นั่นคือผู้ใช้งานจะมีโอกาสที่จะถูกเลือกเป็นผู้เขียนบล็อกใหม่ ตามมูลค่าของโทเคนที่ถูกวาง (stake) เป็นหลักประกันเอาไว้ ซึ่งกลไกดังกล่าวมีข้อควรระวังตรงที่ในทางทฤษฎีแล้ว หากมีผู้ใช้งานที่มีโทเคนดังกล่าวมูลค่าสูง ๆ อาจนำไปสู่การบิดเบือนข้อมูลบนบล็อกเชนได้ครับ ถ้าหากเปรียบเทียบกับบล็อกเชนที่ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Work (PoW) อย่าง Bitcoin แล้ว PoS มีความปลอดภัยที่ต่ำกว่า PoW พอสมควรครับ การใช้งาน smart contract ในปัจจุบันจึงอยู่บนความเสี่ยงที่บล็อกเชน smart contract นั้น ๆ จะถูกบิดเบือนข้อมูลได้ แล้วเราจะหาบล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract แต่มีความปลอดภัยระดับเดียวกันกับ Bitcoin ได้หรือไม่? วันนี้ผมพาทุกคนมารู้จักกับ Stacks ซึ่งเป็นบล็อกเชนที่จริง ๆ แล้วไม่ได้ใช้กลไกฉันทามติ PoW ครับ แต่ไปอ้างอิงความปลอดภัยจาก PoW บน Bitcoin ส่วนจะทำอย่างไรนั้น ไปติดตามกันครับ
What is Stacks?
Stacks เป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ครับ ก่อตั้งในปี 2013 ในชื่อ Blockstack โดย Muneed Ali และ Ryan Shea ทั้งสองคนเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย Princeton ครับ โดย Muneeb จบการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และ Ryan จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล โดยทั้งคู่ทำหน้าที่เป็น co-CEO ของโปรเจกต์ จนกระทั่งปี 2018 ที่ Ryan ตัดสินใจลาออกเพื่อไปทำธุรกิจอื่น ๆ ทำให้ปัจจุบัน Muneeb ดำรงตำแหน่ง CEO ของโปรเจกต์แต่เพียงผู้เดียวครับ
จุดเริ่มต้นของ Blockstack คือวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Muneeb ที่ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบอินเทอร์เน็ตให้มีลักษณะเป็น peer-to-peer network หรือเป็นเครือข่ายที่ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางในการส่งข้อมูล และให้ผู้ใช้งานมีสิทธิในการจัดการความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของตนเอง เวลาที่ใช้งานเว็บไซต์ต่าง ๆ โดย Muneeb เคยกล่าวว่าเรากำลังอยู่ในยุคมืดของอินเทอร์เน็ต เนื่องจากทุกวันนี้ ผู้คนใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านแพลตฟอร์มที่มีลักษณะ centralized เช่น Google, Facebook และ YouTube ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ และสามารถเข้าถึงและใช้งานข้อมูลที่ผู้ใช้สร้างขึ้นได้อย่างอิสระ ทำให้ข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก อยู่ในการครอบครองของบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง และผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ไม่ได้มีสิทธิในข้อมูลของตนครับ
Blockstack เกิดขึ้นมาพร้อมกับ motto ที่ว่า Can’t be Evil ซึ่งมีที่มาจาก Don’t be Evil ซึ่งเป็น motto ของ Google ที่ถูกตั้งขึ้นในปี 2000 แต่ก็ถูกลบออกไปในปี 2018 ครับ โดย Muneeb กล่าวว่าอินเทอร์เน็ตรูปแบบใหม่ ไม่ควรมีความสามารถในการเป็น evil ตั้งแต่เริ่มต้น และออกแบบ Blockstack ให้เป็นระบบที่มีผู้ใช้งานเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ตัวกลาง ซึ่งการออกแบบโครงสร้างอินเทอร์เน็ตแบบดังกล่าวสามารถใช้บล็อกเชนของ Bitcoin เป็นกระดูกสันหลังของโปรเจกต์ได้ครับ การพัฒนา Blockstack จึงเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้น และเมื่อเดือนตุลาคม 2020 โปรเจกต์ได้ทำการรีแบรนด์และเปลี่ยนชื่อเป็น Stacks ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในปัจจุบัน Stacks ถูกพัฒนาโดย Hiro Systems PBC ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และการดูแลดังกล่าวอยู่ภายใต้ Stacks Foundation ครับ
Technology
เราสามารถมอง Stacks เป็น application layer ของอินเทอร์เน็ตก็ได้ครับ โดยในปัจจุบัน application layer นี้ก็คือแพลตฟอร์มที่มีเจ้าของเป็นบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเช่น Facebook, Instagram, YouTube และ Google ครับ อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ครับว่าในปัจจุบัน layer นี้มีความรวมศูนย์ (centralization) อยู่พอสมควร โดย Stacks จะทำหน้าที่เดียวกันกับ layer ดังกล่าวครับ แต่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของตนเองได้ ไม่เหมือนกับสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ จนถึงปัจจุบันมีแอปพลิเคชันกว่า 500 ตัวที่กำลังพัฒนาอยู่บน Stacks ครับ ซึ่งก็มีหลากหลาย ทั้งเว็บเบราว์เซอร์, แหล่งเก็บข้อมูลออนไลน์, แหล่งเขียนบล็อก และอื่น ๆ ครับ
Stacks มีบล็อกเชนของตัวเองที่คอยบันทึกข้อมูลต่าง ๆ แต่ตัวบล็อกเชนนั้นมีความเกี่ยวข้องกับบล็อกเชนของ Bitcoin โดยจะใช้งานคุณลักษณะด้านความปลอดภัยและการทำธุรกรรมบน Bitcoin ครับ สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือบล็อกเชนของ Stacks สามารถเขียน smart contract ได้ ทำให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันที่มีความหลากหลายบนบล็อกเชนของ Stacks ได้ โดยอาศัยความปลอดภัยในการทำธุรกรรมของบล็อกเชนของ Bitcoin ครับ
Consensus Mechanism
Stacks ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Transfer (PoX) ครับ ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานคล้ายคลึงกับกลไก Proof-of-Stake (PoS) ที่จะมีการวางสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อแลกกับค่าตอบแทนบางอย่าง แต่ Stacks จะใช้คุณสมบัติด้านความปลอดภัยจากกลไก Proof-of-Work (PoW) ของ Bitcoin ในส่วนของการยืนยันความถูกต้องของบล็อก (finality) แปลว่าทุก ๆ ธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนของ Stacks สามารถตรวจสอบได้บนบล็อกเชนของ Bitcoin ครับ
ในกลไก PoX จะมีผู้มีส่วนร่วมหลัก ๆ สองส่วนด้วยกัน
- Miners เป็นผู้ใช้งานที่มีโอกาสได้รับสิทธิเขียนบล็อกใหม่บนบล็อกเชนของ Stacks ครับ แต่ถึงชื่อจะเป็น miner แต่จริง ๆ พวกเขาไม่ได้ขุดเหมือนกับขุด BTC แต่อย่างใด โดยในแต่ละรอบการเขียนบล็อก miner แต่ละคนจะต้อง “เสนอ” BTC โดยทำธุรกรรมส่ง BTC บนบล็อกเชนของ Bitcoin ครับ จากนั้นบล็อกเชนของ Stacks จะรวบรวมรายชื่อ miner ในแต่ละรอบ และทำการสุ่มหาผู้ชนะในรอบนั้น โดยโอกาสที่จะชนะจะขึ้นกับปริมาณ BTC ที่ถูกเสนอครับ และ miner จะได้รับ STX ซึ่งเป็นโทเคนประจำบล็อกเชนของ Stacks เป็นค่าตอบแทนการเขียนบล็อกครับ ด้วยกลไกดังกล่าว บล็อกใหม่ของ Stacks จะเกิดขึ้นพร้อมกับบล็อกใหม่ของ Bitcoin ครับ
- Stackers เป็นผู้ใช้งานที่ช่วยเสริมข้อมูลต่าง ๆ บนบล็อกเชนของ Stacks ครับ โดยการจะเป็น stackers จะต้องนำ STX ของตนเองมาล็อกไว้เป็นระยะเวลา 10 วัน เพื่อแลกกับส่วนแบ่งของ BTC ที่ miner เสนอให้กับบล็อกเชนครับ ซึ่งปริมาณ BTC ที่จะได้ ก็จะแปรผันตามปริมาณ STX ที่ล็อกเอาไว้ครับ
ถึงแม้ PoX บน Stacks จะใช้งานคุณลักษณะด้านความปลอดภัยบน Bitcoin แต่ประสิทธิภาพของบล็อกเชนไม่ได้อ้างอิงกับ Bitcoin แต่อย่างใดครับ ในเชิงทฤษฎี 1 hash ของ Bitcoin จะมีจำนวนธุรกรรมบนบล็อกเชนของ Stacks เท่าไหร่ก็ได้ นอกจากนี้ Stacks เองยังมี microblocks ที่จะช่วยเพิ่มความเร็วในการยืนยันความถูกต้องอีกครับ
Data Storage
ความพิเศษอย่างหนึ่งของบล็อกเชนของ Stacks คือในแต่ละบล็อกจะมีการเก็บข้อมูลเพียงแค่ user identity และส่วนหนึ่งของข้อมูลธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ identity นั้น ๆ เอาไว้ ซึ่งแอปพลิเคชันที่พัฒนาบนบล็อกเชนของ Stacks สามารถอ่านข้อมูลดังกล่าวได้ครับ ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องสร้างชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านสำหรับการใช้งานแอปพลิเคชันในทุก ๆ ครั้งที่เข้าใช้งานแอปพลิเคชันใหม่ โดยตัวแอปฯ จะใช้การยืนยันตัวตนจากข้อมูลบนบล็อกเชนแทนครับ
สำหรับข้อมูลส่วนอื่น ๆ เช่นข้อมูลที่ผู้ใช้งานสร้างเมื่อใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ จะถูกเก็บแยกไว้ในระบบเก็บข้อมูลที่ชื่อว่า Gaia ครับ ซึ่งระบบหลังบ้านของ Gaia จะนำข้อมูลดังกล่าวไปเก็บไว้กับผู้ให้บริการ cloud อย่างเช่น Microsoft Azure และ Amazon EC2 อีกทอดหนึ่ง การเข้าถึงข้อมูลชุดดังกล่าวจะสามารถทำได้เพียงแค่ผู้ใช้งานที่เป็นเจ้าของข้อมูลเท่านั้นครับ
STX
เป็นโทเคนประจำบล็อกเชน Stacks ครับ โดยในจุดเริ่มต้นของบล็อกเชน มี STX ถูกผลิตขึ้นมาทั้งหมด 1.32 พันล้านโทเคน และไม่มีปริมาณอุปทานสูงสุด (maximum supply) ครับ (แต่ทีมพัฒนาของ Stacks ให้ตัวเลขโดยประมาณไว้ว่าในปี 2050 จะมี STX อยู่ 1,818 ล้านโทเคนครับ ในปี 2017 ทีมพัฒนา Stacks มีการทำ initial coin offering (ICO) สำหรับ STX โดยการระดมทุนดังกล่าวได้รับการอนุญาตจาก U.S. Securities and Exchange Commission (SEC) ครับ ถือเป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีโปรเจกต์แรก ๆ ที่สามารถเปิดระดมทุนได้โดยผ่านการเห็นชอบจาก SEC ครับ อ้างอิงจาก CoinGecko ในปัจจุบัน STX มีมูลค่าตลาด (market capitalization) อยู่ที่ประมาณ 398 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 100 ในบรรดาคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมดครับ
ฝั่ง supply ของ STX จะได้มาจากค่าตอบแทนในการเขียนบล็อกใหม่ของ miners ตามที่กล่าวไปข้างต้น และปริมาณ STX ที่ได้จากการเขียนบล็อก จะลดลงทุก ๆ 4 ปี ล้อไปกับ halving schedule ของ BTC จากการเขียนบล็อกเชน Bitcoin ครับ โดยใน 4 ปีแรก จะมี STX ถูกผลิตออกมา 1,000 STX ต่อการเขียนบล็อกสำเร็จหนึ่งครั้ง และ 4 ปีถัดไป ปริมาณดังกล่าวก็จะลดเหลือ 500 STX และจะลดลงไปเรื่อย ๆ จนถึง 125 STX และจะไม่ลดลงไปอีกครับ ฝั่ง demand ของ STX มาจากการใช้ชำระเป็นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนของ Stacks ครับ
Stacks 2.1
บล็อกเชนของ Stacks เพิ่งมีการอัปเกรดครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งไปครับ โดยทีมพัฒนาตั้งชื่อเวอร์ชันว่าเป็น Stacks 2.1 โดยการอัปเกรดครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมต่อกับบล็อกเชนอื่น ๆ ผ่าน bridges และเพิ่มฟังก์ชันอำนวยความสะดวกในธุรกรรมที่ทำข้ามบล็อกเชนจาก Stacks ไปยัง Bitcoin โดย Stacks 2.1 มีการอัปเกรดในหลายเรื่องเลยครับ แต่วันนี้ผมจะหยิบเอาการอัปเกรดที่น่าสนใจมาฝากกันครับ
Continuous Stacking
สำหรับ Stacks เวอร์ชันก่อนหน้า ถ้าหาก stackers ทำการล็อก STX ไว้ในรอบการเขียนบล็อกหนึ่งรอบ หลังจากรอบการเขียนบล็อกดังกล่าวเสร็จสิ้น จะมีระยะเวลา cooldown สำหรับ STX ที่ถูกล็อกไว้ ทำให้ STX ดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้ล็อกสำหรับรอบการเขียนบล็อกถัดไปได้ครับ Stacks 2.1 แก้ไขปัญหาดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ทำให้ stackers สามารถล็อก STX ได้มากตามที่ต้องการโดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหา cooldown ครับ
Support SegWit and Taproot
SegWit และ Taproot เป็นการอัปเกรดแบบ soft fork ของบล็อกเชน Bitcoin ครับ โดย SegWit จะลดขนาดของข้อมูลของแต่ละธุรกรรมลง ทำให้ความสามารถในการทำธุรกรรมสูงขึ้น ส่วน Taproot ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวของข้อมูลบนบล็อกเชน และลดพื้นที่ที่จำเป็นสำหรับการเก็บข้อมูล การอัปเกรดทั้งสองจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ Bitcoin และลดค่าธรรมเนียมอีกด้วยครับ
Stacks 2.1 เพิ่มการเชื่อมต่อบล็อกเชน Stacks กับที่อยู่กระเป๋าดิจิทัลของ Bitcoin ที่ใช้สองเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ miner สามารถทำธุรกรรมบน Bitcoin ด้วย SegWit หรือ Taproot UTXO ได้ นอกจากนี้ การทำธุรกรรมบนบล็อกเชนของ Bitcoin จะมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลงอีกด้วยครับ
Bitcoin-native Assets
Stacks 2.1 เพิ่มความสามารถในการส่งโทเคนที่อยู่บนบล็อกเชนของ Stacks ไปยังที่อยู่กระเป๋าดิจิทัลของ Bitcoin ได้โดยตรง ผ่าน smart contract ที่ถูกเขียนขึ้นใน Stacks 2.1 ครับ และเจ้าของกระเป๋าฝั่ง Bitcoin จะสามารถควบคุมโทเคนดังกล่าวได้แต่เพียงผู้เดียวครับ
Roadmap
Subnets
ในช่วงต้นปี 2022 ทีมพัฒนาของ Stacks เปิดเผยว่าทางทีมกำลังศึกษาการทำ hyperchains (ซึ่งภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็น subnets เนื่องจากปัญหาด้านลิขสิทธิ์) ครับ ซึ่ง subnets เป็นเทคโนโลยี scaling solutions ภายในบล็อกเชนของ Stacks โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนธุรกรรมที่ประมวลผลได้ในหนึ่งวินาที โดยที่ยังคงรักษาความกระจายศูนย์ในตัวบล็อกเชนครับ โดยหลักการคือระบบนิเวศของ Stacks จะแตกบล็อกเชนหลัก (เรียกว่า mainchain) ออกเป็นบล็อกเชนย่อย ๆ (แต่ละบล็อกเชนย่อยเรียกว่า subnet) ครับ โดย subnet แต่ละอันจะเชื่อมต่อกับ mainchain ผ่าน smart contract ที่ดูแลโดยทีมพัฒนาของ Stacks เอง โดยผู้ใช้งานจะสามารถโอนโทเคนไป-กลับระหว่าง mainchain และ subnet ใด ๆ ได้ โดยลักษณะการโอนจะคล้ายคลึงกับการใช้งานสะพาน (bridge) ในการโอนโทเคนข้ามบล็อกเชนครับ
แต่ละ subnet จะมีกลไกฉันทามติเป็นของตัวเอง, มีผู้มีส่วนร่วม (เหมือน miners และ stackers บน mainchain) เป็นของตัวเอง การออกแบบดังกล่าวทำให้ subnet เป็นอิสระจาก mainchain พอสมควร และแต่ละ subnet สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของบล็อกเชนตัวเองได้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับ mainchain ครับ
ทีมพัฒนาของ Stacks ยกตัวอย่างการใช้งาน subnet กับ NFT marketplace ครับ เนื่องจากการสร้าง (mint) NFT หนึ่งครั้งจะเกิดธุรกรรมจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งโดยปกติแล้วจะทำให้บล็อกเชนช้าลง และทำให้ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมสูงขึ้นสักพักหนึ่ง แต่การที่ NFT marketplace อยู่บน subnet จะช่วยแบ่งเบาภาระการประมวลผลธุรกรรมจาก mainchain และช่วยให้ไม่เกิดภาวะคอขวด (bottleneck) ขึ้นภายในระบบนิเวศครับ และการใช้งานดังกล่าวยังสามารถประยุกต์ใช้กับกรณีอื่น ๆ ที่มีธุรกรรมจำนวนมากในหนึ่งช่วงเวลาได้ เช่น GameFi เป็นต้น
ปัจจุบัน subnets ถูกเปิดใช้งานบน testnet ของ Stacks ไปแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 ส่วนกำหนดการเปิดใช้งานบน mainnet คาดว่าจะเปิดใช้ในไตรมาสแรกของปี 2023 ครับ
App Chains
App Chains เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของบล็อกเชนของ Stacks ครับ โดยแนวคิดเบื้องหลังคือบล็อกเชนบล็อกเชนเดียวไม่สามารถรองรับปริมาณการทำธุรกรรมที่สูงมาก ๆ ได้ แต่บล็อกเชนหลาย ๆ บล็อกเชนสามารถทำเช่นนั้นได้ และถ้าหากการเพิ่มบล็อกเชนย่อย ๆ เข้าไปในระบบนิเวศ สามารถทำได้โดยไม่มีการกำหนดสิทธิ (permissionless) จะทำให้ระบบนิเวศดังกล่าวสามารถเติบโตไปพร้อมกับปริมาณการทำธุรกรรมได้เรื่อย ๆ ครับ
App Chains เป็นการประยุกต์กลไกฉันทามติ PoX จากเดิมที่บล็อกเชนของ Stacks ใช้ PoX และอ้างอิงความปลอดภัยจากบล็อกเชนของ Bitcoin เทคโนโลยี App Chains จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างบล็อกเชนใหม่ในระบบนิเวศของ Stacks โดยอ้างอิงความปลอดภัยจากบล็อกเชนที่มีอยู่ในระบบนิเวศของ Stacks ได้ครับ ซึ่งบล็อกเชนใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นนั้นก็จะได้รับการรับรองความปลอดภัยจาก Bitcoin มาอีกทอดหนึ่งเช่นกันครับ โดยในปัจจุบัน App Chains กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา และคาดว่าจะปล่อยออกมาให้ได้ใช้งานกันในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 ครับ
สำหรับรายละเอียดของทั้ง subnets และ app chains รวมถึงการอัปเกรดอื่น ๆ ในอดีต สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ Official Roadmap ของ Stacks ครับ
Concerns
ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่คุ้นเคยกับโลกคริปโตเคอร์เรนซีอาจจะเคยได้ยินชื่อบล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract อย่าง Ethereum, Polygon หรือ Avalanche แต่อาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อ Stacks (หรือชื่อเก่าอย่าง Blockstack) ครับ ผมคิดว่าปัญหาอย่างหนึ่งของ Stacks คือการดึงดูดผู้คนในโลกคริปโตเคอร์เรนซีให้มาใช้งานบล็อกเชนของตัวเองครับ Stacks เองมีจุดเด่นคือทำงานโดยใช้กลไกด้านความปลอดภัยจาก Bitcoin ซึ่งถือเป็นบล็อกเชนที่มีความปลอดภัยสูงที่สุด แต่ถึงกระนั้น ตัวบล็อกเชนเองก็ยังไม่สามารถดึงดูดทั้งฝั่งนักพัฒนาให้เข้ามาพัฒนาแอปพลิเคชันบน Stacks และไม่สามารถดึงดูดผู้ใช้งานทั่วไปให้มาใช้งานได้ สังเกตุได้จากตัวเลขจำนวน stackers บนหน้าเว็บ stacking.club ที่ในแต่ละรอบการเขียนบล็อก มีจำนวน stackers อยู่เพียง 100 กว่ากระเป๋าเท่านั้นเองครับ
อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาของบล็อกเชน Stacks คือการมีคณะกรรมการกลางที่ถูกคัดเลือกโดย Stacks Foundation ที่คอยดูแลแนวทางการพัฒนาของโปรเจกต์ครับ การใช้ระบบแบบนี้ลดความกระจายศูนย์ของการพัฒนาโปรเจกต์ไปเยอะพอสมควร ถีงแม้ชุมชนผู้ใช้งาน Stacks จะสามารถแสดงความคิดเห็น และโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในแต่ละร่างการอัปเกรด แต่ก็จะมีคณะกรรมการกลุ่มนี้คอยดูแลอีกทอดหนึ่งครับ นอกจากนี้ การใช้ระบบดังกล่าว ลดคุณค่าของ STX ด้วยครับ เนื่องจากโทเคนหลาย ๆ ตัวมีคุณค่าจากการเป็น governance token นั่นคือผู้ที่ถือครองโทเคนจะได้สิทธิในการโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างอัปเกรด ตามจำนวนโทเคนที่ถือครอง แต่ไม่ใช่สำหรับ STX ที่ไม่ได้มีฟังก์ชันนี้ครับ ทำให้คุณค่าของ STX มีไว้สำหรับจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมเป็นส่วนมากครับ
Summary
Bitcoin ถือเป็นบล็อกเชนที่ได้รับการยอมรับจากหลาย ๆ คน ในเรื่องความปลอดภัยครับ ด้วยกลไกฉันทามติ Proof-of-Work และพลังขุดของนักขุดจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้บล็อกเชนของ Bitcoin ถูกแก้ไขบิดเบือนข้อมูลได้ค่อนข้างยาก แต่ในปัจจุบัน Bitcoin เองไม่ได้มีฟังก์ชัน smart contract เหมือนกับบล็อกเชนอื่น ๆ และ Stacks เป็นโปรเจกต์ที่มาตอบโจทย์นี้ครับ ด้วยการสร้างบล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract และอ้างอิงคุณลักษณะด้านความปลอดภัยจาก Bitcoin ทำให้ Stacks น่าจะเป็นบล็อกเชน smart contract ที่มีความปลอดภัยสูงมาก ๆ
แต่แน่นอนว่า Stacks เองก็มีปัญหาอยู่ครับ ปัญหาหลัก ๆ คือการไม่สามารถดึงดูดนักพัฒนาให้มาพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ บนบล็อกเชนได้ และปัญหานั้นนำไปสู่ปัญหาถัดไป คือจำนวนผู้ใช้งานบล็อกเชน ที่ยังถือว่าค่อนข้างน้อยอยู่ครับ นอกจากนี้ การที่บล็อกเชนของ Stacks อ้างอิงเวลาการเขียนบล็อกพร้อมกับ Bitcoin ทำให้บล็อกเชนของ Stacks ช้ากว่าบล็อกเชน smart contract อื่น ๆ ที่ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Stake พอสมควรครับ และการออกแบบบล็อกเชนที่ให้เขียนบล็อกใหม่พร้อมกันกับ Bitcoin ทำให้การเพิ่มความเร็วในการเขียนบล็อกใหม่ ดูเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรเลยครับ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ในอนาคต Stacks จะสามารถดึงดูดผู้ใช้งานให้มาใช้งานเพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนครับ
Further Read
- Official Website: https://stacks.org/
- Whitepaper: https://gaia.blockstack.org/hub/1AxyPunHHAHiEffXWESKfbvmBpGQv138Fp/stacks.pdf
- Stacks 2.1: https://stacks.org/stacks-21-what-to-expect#bridges
- Roadmap: https://www.stacks.co/roadmap
- Improvement Proposals: https://github.com/stacksgov/sips
- Binance Research: https://research.binance.com/en/projects/blockstack
CodeBreaker
ที่มาบทความ: https://link.medium.com/KNXdgrKVXub
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้