ในปัจจุบันมีบล็อกเชนเกิดขึ้นหลายบล็อกเชนนะครับ แต่บล็อกเชนที่ได้รับความนิยมและสามารถขยายฐานผู้ใช้งานได้ ส่วนใหญ่จะเป็นบล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract ครับ smart contract ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาแอปพลิเคชัน (DApp) ที่มีลูกเล่นที่หลากหลายบนบล็อกเชนได้ ทำให้บล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract เป็นที่จับตามองจากนักลงทุนหลาย ๆ คนในมุมโอกาสการเติบโตทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานและปริมาณการทำธุรกรรมครับ
แต่ smart contract เป็นโปรแกรมที่จะมีความซับซ้อนขึ้น ถ้าเทียบกับการทำธุรกรรมโอนโทเคนธรรมดาครับ ในการสั่งทำ smart contract แต่ละครั้ง จะมีต้นทุนในด้านเวลาในการประมวลผลที่สูงขึ้นจากการโอนโทเคนแบบปกติ ทำให้หลาย ๆ บล็อกเชนในปัจจุบันใช้เวลาค่อนข้างนานในการสั่งทำ smart contract ครับ วันนี้ผมจะพาทุกคนมารู้จักกับบล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract แต่ใช้เวลาประมวลผลธุรกรรมที่เร็วมาก ๆ และมีค่า gas ที่ถูกอีกด้วย จะทำได้อย่างไรนั้น ไปรู้จักกับ Solana กันครับ
What is Solana?
Solana คือบล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการขยายการใช้งาน (scalability) โดยเฉพาะ โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนา DApp ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพของบล็อกเชน ซึ่งในปัจจุบัน Solana สามารถประมวลผลธุรกรรมได้ 65,000 ธุรกรรมต่อวินาที (ซึ่งทำให้การประมวลผล smart contract ไม่ได้ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการประมวลผลธุรกรรมแบบปกติ) ซึ่งเทียบเท่ากับระบบการทำธุรกรรมของ VISA เลยครับ ถือว่าเป็นบล็อกเชนที่เร็วมาก ๆ (และน่าจะเร็วที่สุดแล้วในบรรดาบล็อกเชนทั้งหมด) และหนึ่งในเป้าหมายระยะยาวของ Solana คือการทำให้ตัวบล็อกเชนสามารถประมวลผลธุรกรรมได้ในความเร็วระดับเดียวกันตลาดซื้อขายหุ้นอย่าง NASDAQ ครับ
ในปัจจุบัน บล็อกเชนของ Solana มีชื่อว่า Solana Beach และในปัจจุบันยังเปิดใช้งานในรูปแบบ Mainnet Beta ครับ อ้างอิงจาก Defillama Solana มีมูลค่าสินทรัพย์ (total value locked) กว่า 2.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 5 จากบล็อกเชนทั้งหมด และอ้างอิงจาก Cryptoslam Solana มีมูลค่าซื้อขาย Non-Fungible Token (NFT) เฉลี่ยต่อวันสูงเป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่ Ethereum เท่านั้นครับ
ผู้ก่อตั้งโปรเจกต์ Solana คือ Anatoly Yakovenko ครับ โดยคุณ Anatoly เคยทำงานเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์อยู่ในบริษัท Qualcomm นาน 13 ปี ซึ่ง Qualcomm เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ มีผลิตภัณฑ์ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีเครือข่ายที่เชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือเข้าด้วยกัน และในปัจจุบัน Solana ถูกพัฒนาโดย Solana Labs ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ในสหรัฐอเมริกา และถูกควบคุมดูแลการพัฒนาโดย Solana Foundation ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ครับ
ชื่อ Solana มาจากชื่อชายหาดแห่งหนึ่งในเมืองซานดิเอโก้ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ Qualcomm ที่คุณ Anatoly เคยทำงานอยู่ด้วยครับ
จุดเริ่มต้นของ Solana เกิดขึ้นในปี 2017 จากแนวคิดที่ว่าเราสามารถเพิ่มความเร็วให้กับระบบบล็อกเชนได้ด้วยการ timestamp หรือปั๊มเวลาของธุรกรรมแต่ละธุรกรรมได้ครับ ลองนึกภาพเสาสัญญาณสองต้นก็ได้ครับ ถ้าหากทั้งสองต้นปล่อยสัญญาณที่ความถี่เท่ากันออกมาพร้อมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือสัญญาณจากทั้งสองแหล่งจะหักล้างกันหมด สถานีวิทยุจึงแก้ปัญหาด้วยการกำหนดช่วงเวลาการปล่อยสัญญาณของเสาสัญญาณแต่ละต้นครับ เช่น เสาต้นแรก ปล่อยสัญญาณในวินาทีที่ 1 จากนั้นเสาต้นที่สองปล่อยสัญญาณในวินาทีที่ 2 แล้วให้เสาต้นแรกกลับมาปล่อยสัญญาณใหม่ในวินาทีที่ 3 สลับกันไปเรื่อย ๆ ด้วยวิธีการปล่อยสัญญาณแบบนี้ จะทำให้สัญญาณจากเสาทั้งสองต้นไม่หักล้างกันครับ
บล็อกเชนก็ทำงานคล้าย ๆ กับเสาสัญญาณสองต้นครับ หลาย ๆ ครั้งเราจะเห็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมสองคนเขียนบล็อกใหม่พร้อมกัน แต่บล็อกใหม่ทั้งสองบล็อก กลับมีรายละเอียดที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ บล็อกเชนจะแตกออกเป็นสองสายย่อยชั่วคราว จากนั้นบล็อกเชนย่อยที่มีความยาวมากกว่า จะเป็นบล็อกเชนที่ถูกเลือกครับ กลไกการทำงานแบบนี้จะมีข้อเสียตรงที่จะผู้ตรวจสอบ (validator) ที่ดันไปเขียนบล็อกใหม่ในบล็อกเชนย่อยที่ไม่ได้ถูกเลือก ก็จะทำงานตรวจสอบธุรกรรมไปโดยเปล่าประโยชน์ครับ เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุครับ Solana เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ ส่วนจะทำอย่างไรนั้น ไปติดตามกันครับ
Technology
Proof-of-History
จากความตั้งใจที่จะปัญหาเรื่องการสิ้นเปลืองทรัพยากรในกรณีที่มีการแตกบล็อกเชนออกเป็นสองสายย่อย ทำให้ Solana ถูกออกแบบมาให้มี “นาฬิกา” ภายในบล็อกเชนของตัวเองครับ ต้องเล่าว่าบล็อกเชนปกติอย่างของ Bitcoin จะไม่ได้มีการนับความเป็นไปของบล็อกเชนในหน่วยวินาที แต่จะใช้การนับเป็นบล็อก การที่บล็อกเชนมีบล็อกใหม่เกิดขึ้นหนึ่งบล็อก ก็เปรียบเสมือนการที่เข็มวินาทีของนาฬิกาขยับหนึ่งครั้ง ซึ่งในปัจจุบัน “เข็มวินาที” ในบล็อกเชนของ Bitcoin ก็จะขยับทุก ๆ 10 นาทีครับ
อย่างที่เกริ่นไว้ครับว่า Solana มีการปรับโครงสร้างของบล็อกเชนด้วยการ timestamp หรือปั๊มเวลาการเกิดขึ้นของธุรกรรมต่าง ๆ ไว้ ดังนั้น Solana ก็ต้องมีการสร้างนาฬิกาตัวกลางที่ทำงานแบบกระจายศูนย์ (เพื่อไม่ให้มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้อยู่เหนือกาลเวลาในโลกของ Solana) ครับ ซึ่ง Solana ได้มีการใช้งาน SHA256 ซึ่งเป็นกลไกที่ถูกใช้ในบล็อกเชนของ Bitcoin โดยมีแนวคิดที่ว่า SHA256 สามารถถูกดัดแปลงให้เป็นฟังก์ชันที่ทำหน้าที่เป็น “นาฬิกาแบบกระจายศูนย์” บนบล็อกเชนของ Solana ได้ครับ
กลไกที่ทำหน้าที่เป็นนาฬิกาให้กับ Solana คือ Proof-of-History (ซึ่งไม่ใช่กลไกฉันทามติแต่อย่างใด) โดยหลักการคือการเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า Verifiable Delay Function เข้าไปใน SHA256 เพื่อให้สามารถ timestamp เวลาลงบนบล็อกภายในบล็อกเชนของ Solana ครับ ซึ่งเมื่อแต่ละบล็อกมีเวลาการเกิดขึ้นของธุรกรรมแล้ว ก็จะทำให้ผู้ตรวจสอบแต่ละคน สามารถทำการตรวจสอบธุรกรรมไปพร้อมกันกับผู้ตรวจสอบคนอื่น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ตรวจสอบคนอื่น ๆ ทำการตรวจสอบข้อมูลก่อนครับ เพราะธุรกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะมีลำดับการเกิดขึ้นใช่ไหมครับ ซึ่งการเขียนบล็อกลงบนบล็อกเชน ก็ต้องเขียนตามลำดับที่เกิดขึ้นของแต่ละธุรกรรม ในกรณีบล็อกเชนปกติที่ไม่ได้มีการปั๊มเวลาเข้าไปในข้อมูลธุรกรรม ผู้ตรวจสอบจะต้องมีการรอการตรวจสอบธุรกรรมใด ๆ จากผู้ตรวจสอบคนอื่น (จะไม่สามารถข้ามลำดับการตรวจสอบได้) แต่ใน Solana ผู้ตรวจสอบสามารถหยิบธุรกรรมใด ๆ มาตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องสนลำดับการทำธุรกรรมครับ เพราะธุรกรรมทั้งหมดมีการปั๊มเวลาไว้เรียบร้อยแล้ว จะตรวจสอบธุรกรรมไหนก่อนก็ได้ สุดท้ายก็เรียงลำดับธุรกรรมตามเวลาที่เกิดขึ้นอยู่ดี ดังนั้นการปั๊มเวลาก็ทำให้บล็อกเชนดำเนินไปได้เร็วขึ้น และการออกแบบดังกล่าวทำให้ “เข็มวินาที” ของ Solana ขยับในทุก ๆ 400 มิลลิวินาทีครับ สำหรับใครที่อยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Proof-of-History สามารถอ่านได้ที่ Medium ของคุณ Anatoly ที่นี่เลยครับ
Consensus Mechanism
Solana ใช้งานกลไกฉันทามติ delegated Proof-of-Stake (dPoS) ครับ โดยผู้ที่ต้องการจะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมจะต้องทำการวาง (stake) SOL ซึ่งเป็นโทเคนประจำบล็อกเชนของ Solana ไว้เป็นหลักประกัน เพื่อรับสิทธิในการตรวจสอบธุรกรรม และสำหรับคนที่ใช้งานบล็อกเชนของ Solana แต่อาจจะไม่ต้องการทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ สามารถฝาก (delegate) SOL ของตนเองให้กับผู้ตรวจสอบคนอื่น ๆ ได้เช่นกัน ความพิเศษของบล็อกเชน Solana คือไม่ได้มีการกำหนดปริมาณขั้นต่ำของ SOL ที่ต้องวางเพื่อรับสิทธิ เหมือนกับบล็อกเชนอื่น ๆ ครับ นั่นทำให้ผู้คนทั่วไปที่อาจจะไม่ได้มีกำลังซื้อสูง ก็สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบของ Solana ได้ อย่างไรก็ดี ปริมาณ SOL ที่แต่ละคนวางเอาไว้ก็จะส่งผลโดยตรงกับโอกาสในการถูกสุ่มเลือกขึ้นมาตรวจสอบธุรกรรมครับ โดยในปัจจุบันบล็อกเชนของ Solana มีจำนวนผู้ตรวจสอบทั้งหมด 1,884 nodes ครับ
ในการสร้างบล็อกใหม่ Solana จะทำการสุ่มเลือกผู้ตรวจสอบเพื่อให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ซึ่งโอกาสในการถูกสุ่มก็แปรผันตามมูลค่า SOL ที่วางไว้ครับ ผู้ตรวจสอบหนึ่งคนจะได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำ 4 บล็อกติดต่อกัน จากนั้นก็จะมีการเปลี่ยนผู้นำใหม่ ด้วยการทำงานรูปแบบนี้ทำให้ยากต่อผู้ตรวจสอบที่ต้องการจะโจมตีหรือบิดเบือนข้อมูลบนบล็อกเชนครับ นอกจากนี้ Solana ยังมีการริบ SOL บางส่วนของผู้ตรวจสอบที่บิดเบือนข้อมูลด้วยครับ (และในอนาคตจะทำการริบ SOL ทั้งหมด)
Clusters
เป็นกลุ่มของผู้ตรวจสอบที่ถูกมอบหมายหน้าที่ให้ทำการตรวจสอบธุรกรรมเฉพาะอย่างครับ ยกตัวอย่างเช่น ในบล็อกเชนของ Solana จะมี cluster ที่ถูกมอบหมายให้ตรวจสอบธุรกรรมของ Raydium ซึ่งเป็นกระดานเทรดคริปโตเคอร์เรนซีใน Solana เพียงอย่างเดียว และอาจจะมีอีก cluster หนึ่งที่ถูกมอบหมายให้ตรวจสอบธุรกรรมของ Solanart ซึ่งเป็นตลาดซื้อ-ขาย NFT บนบล็อกเชนของ Solanaโดยเฉพาะ ทำให้การประมวลผลธุรกรรมบนบล็อกเชนของ Solana มีความรวดเร็วมากขึ้นไปอีกหนึ่งระดับครับ
Partnerships
Arweave
Solana เป็นบล็อกเชนที่มีจุดเด่นในด้านความเร็วและค่า gas ที่ถูก ทำให้ในหนึ่งวัน มีจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้นมหาศาลครับ นั่นทำให้ขนาดของบล็อกเชนของ Solana มีขนาดใหญ่ขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าบล็อกเชนอื่น ๆ เป็นพิเศษ ซึ่งขนาดที่ใหญ่ขึ้นนี้จะส่งผลโดยตรงกับความกระจายศูนย์ (decentralization) ของบล็อกเชน เนื่องจากถ้าหากบล็อกเชนมีขนาดใหญ่มาก ๆ จะมี node บางส่วน ที่อาจจะไม่ได้มีคอมพิวเตอร์ที่สเปคสูงมาก ๆ ไม่สามารถรองรับบล็อกเชนที่มีขนาดใหญ่ได้ ทำให้เหลือ node ที่สามารถตรวจสอบธุรกรรมได้อยู่ไม่กี่ node ทำให้บล็อกเชนถูกโจมตีได้ง่ายขึ้นครับ
Solana จึงใช้วิธีเก็บข้อมูลบนบล็อกเชนกับ Arweave ซึ่งเป็นโปรโตคอลที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ บนบล็อกเชนของ Arweave ได้ “ตลอดไป” ด้วยการจ่ายค่าซื้อพื้นที่เก็บข้อมูลเพียงครั้งเดียว โดยการจับมือดังกล่าวเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2021 ครับ ก็ทำให้ Solana มีพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่ม และสามารถควบคุมขนาดของบล็อกเชนได้ครับ สำหรับใครที่อยากอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Arweave สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่เลยครับ
Circle (USDC)
Circle เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ทำระบบการจ่ายเงินแบบ peer-to-peer และเป็นบริษัทที่เป็นผู้ออก USDC ซึ่งเป็นโทเคนดิจิทัลที่ถูกตรึงมูลค่าไว้กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในอัตราส่วน 1:1 ครับ โดยในปลายปี 2020 Circle ประกาศจับมือกับ Solana และจะดันให้ Solana เป็นบล็อกเชนหลักของ USDC ครับ โดยการจับมือครั้งนี้จะช่วยให้การโอน USDC ของผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันมือถือของ Circle จะโอนผ่านบล็อกเชนของ Solana และจะได้ประโยชน์ในด้านความเร็วและค่า gas ที่ถูกครับ
Products and Apps
Solana Pay
เป็นโปรโตคอลที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้นักพัฒนาสามารถเพิ่มฟีเจอร์การชำระเงินในแอปพลิเคชันบนบล็อกเชนของ Solana ได้ครับ ซึ่งผู้ใช้งานทั่วไปที่มาใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวจะสามารถส่งโทเคนดิจิทัลจากกระเป๋าของตัวเองไปยังกระเป๋าของร้านค้าที่ใช้งาน Solana Pay เหมือนกันได้ในต้นทุนค่า gas ที่ต่ำมาก ๆ ซึ่งการใช้งานหลัก ๆ ก็จะมาจากการชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วย stablecoin อย่าง USDC ที่ได้กล่าวไปข้างต้นครับ
สำหรับร้านค้าที่ใช้งาน Solana Pay ก็จะได้ประโยชน์ในด้านการตัดตัวกลางที่คอยดูแลการชำระเงิน ซึ่งก็อาจจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมเล็กน้อย ทำให้ทางร้านค้าเองมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมา แต่ถ้าใช้งาน Solana Pay ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ และการชำระเงินก็จะมีความเร็วเพิ่มขึ้นด้วยครับ
STEPN
STEPN เป็นแอปพลิเคชันบนมือถือในหมวดหมู่ไลฟ์สไตล์ที่มีลักษณะเป็น GameFi และ SocialFi ครับ เป็นแอปพลิเคชันที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนมาออกกำลังกายด้วยแนวคิด exercise-to-earn ครับ โดยโปรเจกต์นี้ได้รางวัลที่ 4 ในการแข่งขัน Solana Ignition Hackathon ในปี 2021 และได้พัฒนาบนบล็อกเชนของ Solana ครับ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 จำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน STEPN ก็โตทะลุ 1 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้วครับ
รูปแบบการเล่นคือผู้เล่นเมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน (มีให้ดาวน์โหลดทั้ง iOS และ Android) แล้ว จะทำการซื้อ NFT ในรูปแบบรองเท้าผ้าใบ ซึ่งรองเท้าแต่ละคู่ก็จะมีค่าพลังที่แตกต่างกันตามระดับความหายากของ NFT นั้น ๆ ครับ จากนั้นเมื่อผู้เล่นมีการขยับร่างกาย (เดินหรือวิ่ง) ตัวแอปพลิเคชันจะจับการเคลื่อนไหวของผู้เล่น และผู้เล่นจะได้โทเคนในเกมเป็นค่าตอบแทน ตามปริมาณการเคลื่อนไหวครับ
โทเคนในเกมจะมีสองตัวด้วยกัน ตัวแรกคือ GMT ซึ่งเป็น governance token หรือโทเคนที่ผู้ถือจะได้สิทธิในการโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างการอัปเกรดต่าง ๆ ของโปรเจกต์ครับ อีกหนึ่งตัวคือ GST ซึ่งเป็นโทเคนที่ผู้เล่นจะได้ถ้าหากมีการเคลื่อนไหว และ GST สามารถใช้ในการซื้อไอเทมต่าง ๆ ในเกมได้ครับ
OpenSea
OpenSea เป็นตลาดซื้อ-ขาย NFT ที่มีมูลค่าซื้อ-ขายรายวันสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของตลาด NFT ทั้งหมดครับ โดยในตอนแรก OpenSea ถูกพัฒนาขึ้นบนบล็อกเชนของ Ethereum และทำให้ Ethereum กลายเป็นบล็อกเชนที่มีมูลค่าซื้อ-ขาย NFT สูงเป็นอันดับหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน Ethereum กำลังประสบปัญหาค่า gas ที่ค่อนข้างแพง ทำให้บล็อกเชนหลาย ๆ บล็อกเชนถูกนำเสนอมาเป็นทางเลือกสำหรับการซื้อ-ขาย NFT และ Solana เป็นหนึ่งในนั้นครับ ทำให้ OpenSea ตัดสินใจพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย NFT เพิ่มบนบล็อกเชนของ Solana โดยเพิ่งเริ่มเปิดให้บริการไปเมื่อเดือนเมษายน 2022 ครับ ถือเป็นตลาดซื้อ-ขาย NFT ขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งบน Solana เลยครับ
SOL
เป็นโทเคนประจำบล็อกเชนของ Solana ครับ โดยมีปริมาณอุปทานตั้งต้น (initial supply) อยู่ที่ 500 ล้านเหรียญ แต่ทางทีมพัฒนา Solana มีการ burn เหรียญ SOL ทิ้งไปจำนวน 11,365,067 เหรียญ และในปัจจุบันมี SOL ที่ถูกปล่อยออกมาหมุนเวียนตามท้องตลาดประมาณ 69% แล้วครับ
ในฝั่งของความต้องการใช้งาน SOL จะมาจากสองส่วนหลัก ๆ ครับ
- ใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม (gas) สำหรับทุก ๆ ธุรกรรมบนบล็อกเชนของ Solana ครับ ซึ่งค่า gas บน Solana ก็ถือว่าถูกมาก ๆ (ในช่วงที่ผมเขียนบทความนี้น่าจะอยู่ราว ๆ 1 สตางค์ต่อธุรกรรม) สำหรับ SOL ที่ถูกจ่ายเป็นค่า gas จะถูก burn ทั้งหมด
- ใช้วาง (stake) เป็นหลักประกันเพื่อรับสิทธิในการตรวจสอบธุรกรรม ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นครับ และสำหรับการเขียนบล็อกใหม่แต่ละครั้ง ก็จะมีการผลิต SOL ออกมาใหม่ เพื่อเป็นค่าตอบแทนการเขียนบล็อก (block reward) ให้กับผู้ตรวจสอบที่เขียนบล็อกครับ โดยในปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนสำหรับผู้ตรวจสอบ (validator) และผู้ฝาก (delegator) จะอยู่ที่ 5.48% และ 4.95% ตามลำดับครับ
Roadmap
Solana Mainnet
อย่างที่กล่าวไปนะครับว่าในปัจจุบันบล็อกเชน Solana ยังเปิดใช้งานในสถานะ Mainnet Beta ครับ (เรียกว่าเป็นเวอร์ชันทดลองใช้งานก็ได้) ในระหว่างการทำงานของ Mainnet Beta เราก็จะเห็นการอัปเกรดยิบย่อยต่าง ๆ ของบล็อกเชน แต่จนถึงปัจจุบัน Solana ก็ยังไม่ได้เปิดให้ใช้งานในรูปแบบ Mainnet (ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ใช้งานจริง) เลยครับ และกำหนดการสำหรับการเปิดใช้งาน Mainnet ก็ยังไม่ได้มีกำหนดตายตัวอีกด้วย เพราะฉะนั้นทุก ๆ คนที่ใช้งานบล็อกเชนของ Solana ก็ควรทราบถึงจุดนี้ด้วยครับ
Neon
เป็นเทคโนโลยี Ethereum Virtual Machine (EVM) ที่ถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชนของ Solana ครับ ซึ่งถ้าหาก Neon EVM มีการใช้งานกับ Solana จริง ๆ แปลว่าแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ในปัจจุบันเปิดใช้งานบน Ethereum จะสามารถเปิดใช้งานบน Solana ผ่าน Neon ได้เลยครับ และ Neon ยังจะรับคุณลักษณะด้านโครงสร้างของ Ethereum มาอีกด้วย เช่นมาตรฐานโทเคน ERC-20, การรองรับภาษา Solidity (ซึ่งช่วยให้สามารถเขียนโปรแกรมบน Solana ได้เหมือนเขียนบน Ethereum) แต่แอปพลิเคชันที่มาเปิดบน Neon EVM ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากบล็อกเชนของ Solana ในด้านความเร็วของการทำธุรกรรม และค่า gas ที่ต่ำครับ
SAGA
ในเดือนมิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา Solana Labs ที่เป็นบริษัทพัฒนาบล็อกเชน Solana ประกาศจัดตั้งบริษัทลูก Solana Mobile และประกาศเริ่มต้นการพัฒนา SAGA ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android แต่มีความพิเศษคือเพิ่มฟีเจอร์ที่ช่วยให้ตัวโทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับบล็อกเชนของ Solana ได้ครับ โดยผู้ใช้งาน SAGA จะสามารถทำธุรกรรมโอนโทเคน, ซื้อ-ขาย NFT และดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของตนเอง ที่อยู่บนบล็อกเชนของ Solana ผ่านโทรศัพท์ดังกล่าวได้ครับ โดยในโปรเจกต์นี้ Solana Mobile จะพัฒนาในส่วนของซอฟต์แวร์เป็นหลัก โดยจะสร้าง Solana Mobile Stack SDK ซึ่งเป็นชุดโปรแกรมที่จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันบน SAGA ได้ และในส่วนของการพัฒนาฮาร์ดแวร์ จะเป็นบริษัท OSOM ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ของโทรศัพท์ Android ซึ่งเคยพัฒนาฮาร์ดแวร์ให้กับทั้ง Google และ Intel มาแล้วครับ
กำหนดการเปิดตัวของโทรศัพท์ SAGA ยังไม่ได้มีการกำหนดที่แน่ชัด สำหรับคนที่สนใจก็ต้องติดตามกันต่อไปครับว่าจะปล่อยออกมาให้ใช้งานเมื่อไร
Concerns
Solana เป็นบล็อกเชนที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดครับ จำนวนการทำธุรกรรมต่อวันในช่วงนี้สูงขึ้นหลายเท่าตัวถ้าเทียบกับ 2–3 ปีที่แล้ว แต่ตัวโปรเจกต์เองก็ยังมีจุดที่ควรระวังหลาย ๆ อย่างครับ ในบทความนี้ผมจะยกตัวอย่างประเด็นที่สำคัญสองประเด็นด้วยกัน ที่คนที่สนใจลงทุนหรือใช้งาน Solana ควรทราบครับ
Outages
Solana เป็นบล็อกเชนที่ “ล่ม” บ่อยครับ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าตัวบล็อกเชนยังเปิดให้ใช้งานในรูปแบบ Mainnet Beta เพราะฉะนั้นฟีเจอร์หลาย ๆ อย่างของบล็อกเชนก็อยู่ในช่วงทดลองใช้งาน ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเจอเหตุการณ์ผิดปกติอยู่บ้าง วันนี้ผมยกตัวอย่างเหตุการณ์ผิดปกติมาสองเรื่องด้วยกันครับ
Crashes
บล็อกเชนของ Solana เคยประสบปัญหา “ล่ม” ใหญ่ ๆ มาแล้ว 2 ครั้งครับ โดยเกิดจากการโจมตีรูปแบบ distributed denial of service (DDOS) โดยมีผู้ไม่หวังดีทำธุรกรรมในปริมาณที่สูงมาก ๆ ในช่วงเวลาอันสั้น จนบล็อกเชนไม่สามารถรับได้ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในกลางเดือนกันยายนปี 2021 โดยบล็อกเชนเกิดล่มไปนานเกือบ 24 ชั่วโมง และครั้งที่สองเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน และทำให้ประสิทธิภาพของบล็อกเชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญครับ (ซึ่งจริง ๆ แล้วบล็อกเชนของ Solana เจอปัญหายิบย่อยมาเรื่อย ๆ ครับ แต่ปัญหาเหล่านั้นก็อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างมากนัก)
The Wormhole Hack
Wormhole เป็นเทคโนโลยีสะพาน (bridge) เชื่อมต่อบล็อกเชนระหว่าง Ethereum กับ Solana ครับ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานบน Ethereum สามารถโอนโทเคน ERC-20 อย่างเช่น ETH หรือ USDC ข้ามมาใช้งานบนบล็อกเชนของ Solana ได้ครับ โดยหลักการทำงานคือผู้ใช้งานจะทำการฝากโทเคนบนฝั่ง Ethereum ไว้กับกองกลาง แล้ว Wormhole จะทำการผลิตโทเคนที่ตรึงมูลค่าไว้กับโทเคนที่ฝากไว้ บนฝั่ง Solana ครับ
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 Wormhole ถูกแฮกครับ และสูญเสียสินทรัพย์ไปในมูลค่ารวมทั้งหมด 321 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยครับ โดยสาเหตุของการแฮกคือ แฮกเกอร์สามารถ “หลอก” Wormhole ฝั่ง Solana ให้ผลิต ETH โดยที่ไม่ได้ทำการฝาก ETH ไว้ที่ฝั่ง Ethereum ครับ จากนั้นก็ทำการโอน ETH กลับมายังฝั่ง Ethereum ซึ่งก็ทำให้สามารถเสก ETH ขึ้นมาจากอากาศได้ครับ ซึ่งหลังจากการแฮกดังกล่าว Solana ก็ได้ Jump Crypto ซึ่งเป็นกองทุน venture capital มาช่วยเหลือค่าเสียหายส่วนนี้ครับ
Wallets Hacked
สด ๆ ร้อน ๆ กับเหตุการณ์ในต้นเดือนสิงหาคม 2022 ที่กระเป๋าเงินดิจิทัลบนบล็อกเชนของ Solana เช่น Phantom และ Slope ของผู้ใช้งานที่ไม่ได้เชื่อมต่อ hardware wallet ถูกแฮกเงินไปกว่า 8,000 กระเป๋า คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐครับ ซึ่งในขณะนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างการหาสาเหตุที่แท้จริงของการแฮกในครั้งนี้ แต่หลาย ๆ คนก็ตั้งข้อสงสัยว่าช่องโหว่ของโปรแกรมอาจเกิดขึ้นในฝั่งผู้พัฒนากระเป๋าเงิน มากกว่าที่จะเป็นช่องโหว่ของบล็อกเชนของ Solana ครับ แต่ข่าวนี้ก็สร้างความวิตกกังวลให้ผู้ใช้งาน Solana ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ
Competition
นอกเหนือจากประเด็นเรื่องบล็อกเชนเจอปัญหาล่มบ่อยแล้ว อีกหนึ่งประเด็นของ Solana คือเรื่องคู่แข่งครับ ตัว Solana เองเป็นโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีบริษัทสตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีเกิดขึ้นจำนวนมาก และยังมีโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีเกิดขึ้นอีกหลายโปรเจกต์เลยครับ หนึ่งในนั้นคือ Near Protocol ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่แข่งที่สำคัญของ Solana ครับ ซึ่งคุณ Anatoly เองก็เคยออกมาบอกครับว่าตอนนี้ทีมยังมีปัญหาในการเพิ่มจำนวนนักพัฒนาเพื่อให้ทันกับแผนการเติบโตของบล็อกเชนและโปรเจกต์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ต้องรอดูกันครับว่าสุดท้ายแล้ว Solana จะสามารถขยายทีมนักพัฒนาให้ทันกับโปรเจกต์ใหม่ ๆ ได้หรือไม่
Summary
Solana เป็นหนึ่งในบล็อกเชนที่มีความเร็วสูงที่สุดในบรรดาบล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract ทั้งหมด ด้วยเทคโนโลยี Proof-of-History ประกอบกับการออกแบบโครงสร้างบล็อกเชน ทำให้บล็อกเชนมีประสิทธิภาพที่สูงมาก และในปัจจุบัน ก็มี DApp ต่าง ๆ มาเปิดใช้งานอย่างหลากหลาย จนทำให้มูลค่า TVL ของ Solana มีสูงถึง 2.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว นอกจากนี้ แพลตฟอร์มตลาดซื้อ-ขาย NFT หลาย ๆ เจ้า ก็ทยอยมาเปิดบน Solana แล้วครับ ทำให้ Solana ดูจะเป็นบล็อกเชนที่คนที่ติดตามหรืออยากซื้อ NFT จะมาใช้งานกันเป็นหลักในอนาคต
แต่ถึงแม้ตัวโปรเจกต์จะดูมีศักยภาพ มีฐานผู้ใช้งานที่ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ Solana เองตอนนี้ก็ยังอยู่ในรูปแบบ Mainnet Beta ครับ และจะเปิดใช้งาน Mainnet จริง ๆ เมื่อไหร่ก็ยังไม่มีใครรู้ และในตอนนี้ บล็อกเชนก็เจอปัญหาใหญ่ ๆ ทั้งเรื่องการถูกโจมตีแบบ DDOS และการแฮกสินทรัพย์ไปหลายครั้งแล้ว ปัจจัยข้อนี้ส่งผลเชิงลบอย่างมากกับ Solana ครับ เพราะบล็อกเชนอื่น ๆ ไม่ได้มีปัญหาถี่ขนาดนี้ ดังนั้นก็ต้องรอดูกันต่อไปครับ ว่าเมื่อ Solana อัปเกรดขึ้นเป็น Mainnet แล้ว จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากแก้ไขได้จริง ๆ Solana จะเป็นอีกหนึ่งบล็อกเชนที่น่าติดตามในระยะยาวครับ
Further Read:
- Official Website: https://solana.com/
- Whitepaper: https://solana.com/solana-whitepaper.pdf
- Solana Clusters: https://docs.solana.com/cluster/overview
- Solana Beach: https://solanabeach.io/
- Solana Pay: https://docs.solanapay.com/
- Binance Research: https://research.binance.com/en/projects/solana
CodeBreaker
ที่มาบทความ: https://link.medium.com/s8jedYB8Ctb
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้