Polkadot: A blockchain of blockchains

เทคโนโลยีบล็อกเชนพัฒนาไปเร็วมากเลยนะครับ ในปัจจุบันเราเห็นบล็อกเชนจำนวนมากในท้องตลาดที่มีโครงสร้าง กลไกฉันทามติ และ tokenomics ที่แตกต่างกัน ซึ่งก็จะมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้ คือในท้ายที่สุดบล็อกเชนพวกนั้นก็จะต้องทำงานร่วมกันครับ แล้วจะทำได้อย่างไรล่ะ? วันนี้ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับเทคโนโลยีที่จะช่วยเชื่อมต่อบล็อกเชนที่มีลักษณะแตกต่างกันเข้าด้วยกัน ด้วยโครงสร้างที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในโครงสร้างที่ซับซ้อนที่สุดของโลกบล็อกเชนซึ่งจะช่วยให้บล็อกเชนสื่อสารกันได้อย่างไรนั้น ไปรู้จัก Polkadot กันครับ

What is Polkadot?

Polkadot คือเครือข่ายบล็อกเชนที่เคลมตัวเองว่าเป็นจุด “รวม” เครือข่ายบล็อกเชนอื่น ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ทุก ๆ บล็อกเชนสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ ด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยให้แต่ละ chain สามารถส่งข้อมูลหากัน “ได้ทุกรูปแบบ” ทำให้ Polkadot ecosystem สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้ขนาดเครือข่าย (ทั้งในแง่ผู้ใช้งานและมูลค่าสินทรัพย์ภายใน ecosystem) จะเพิ่มขึ้นก็ตาม

Polkadot เริ่มต้นมาจากแนวคิดที่ว่าบล็อกเชนแต่ละอันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ที่แตกต่างกัน ซึ่งโจทย์ที่แตกต่างกันนั้นนำมาสู่การออกแบบโครงสร้างบล็อกเชนที่ต่างกัน ดังนั้นจะไม่มีบล็อกเชนที่เป็น one size fits all หรือบล็อกเชนที่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้แน่นอน เมื่อ Polkadot เห็นว่าบนโลกนี้จะมีหลายบล็อกเชนตัว Polkadot จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อบล็อกเชนเหล่านั้น เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ครับ ซึ่ง Polkadot ก็เกิดมาพร้อมกับ software development kit (SDK) ตัวนึง ที่จะช่วยให้ นักพัฒนาสามารถสร้างบล็อกเชน, เขียน smart contract, ออกแบบ tokenomics และเชื่อมต่อกับบล็อกเชนอื่น ๆ ใน ecosystem ได้นั่นเอง

Polkadot Founder

Polkadot: A blockchain of blockchains

Polkadot ถูกสร้างโดย Dr. Gavin Wood ครับ Gavin เป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่เป็น co-founder และอดีต CTO ของ Ethereum และยังเป็นคนพัฒนา Solidity ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้เขียน Ethereum Smart Contract ที่ถูกนำไปต่อยอดในหลาย ๆ โปรเจกต์ที่เราเห็นทุกวันนี้ครับ

นอกจาก Gavin จะสร้าง Polkadot แล้ว ยังก่อตั้ง Parity Technologies ซึ่งเป็นบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ที่สร้าง Substrate ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือสร้างบล็อกเชนที่ถูกนำไปใช้พัฒนา Polkadot และก่อตั้ง Web3 Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนทุนให้กับ developer ที่พัฒนา Web3 ซึ่งมีคุณสมบัติเป็น decentralized web ครับ

Polkadot Architecture

Polkadot ถูกพัฒนาด้วย Substrate ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือในการเขียนโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้นด้วยภาษา Rust ซึ่งผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เห็น Polkadot ผ่าน ๆ คงจะเคยเห็นรูปนี้นะครับ…

Polkadot: A blockchain of blockchains

Polkadot คือเทคโนโลยีที่หลาย ๆ คนให้คำนิยามว่ามีโครงสร้างที่ซับซ้อนที่สุด โครงสร้างของมันอาจจะดูแปลกตาสำหรับหลาย ๆ คน เราลองมาเจาะแต่ละองค์ประกอบกันครับ

Relay Chain

Polkadot: A blockchain of blockchains

เป็นแกนกลางสำคัญของ Polkadot เป็นบล็อกเชนที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อบล็อกเชนอื่น ๆ ทั้งหมดเข้าด้วยกัน นั่นคือการส่ง token ข้ามบล็อกเชนใด ๆ ใน ecosystem ทั้งหมดจะต้องผ่าน Relay Chain ครับ และตัว Relay Chain จะทำหน้าที่ share security ของตัว Polkadot ไปยังบล็อกเชนอื่น ๆ ทั้งหมด (สมมติว่ามีการ revert transaction ใน Relay Chain ตัว parachain ที่มาเชื่อมต่อทุกบล็อกเชน จะถูก revert transaction ไปด้วยโดยอัตโนมัติ) นอกจากนี้ validator ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมบน Polkadot จะต้อง stake DOT token ซึ่งเป็น native token ของ Polkadot บน Relay Chain นี้ครับ

เนื่องจากเป็นบล็อกเชนที่ต้องการประสิทธิภาพสูง เพื่อที่จะส่งผ่าน token ไปยังจุดหมายปลายทางได้ Relay Chain จึงไม่ได้ถูกออกแบบให้สามารถเขียน smart contract ได้ ส่วนการใช้งาน smart contract หรือฟังก์ชันอื่น ๆ ที่หลากหลายขึ้น จะอยู่บน Parachain ทั้งหมดครับ

ตัว Relay Chain จะมี slot หรือช่องเพื่อให้บล็อกเชนอื่น ๆ มาทำการเชื่อมต่อ และ slot มีอยู่จำกัดแค่ 100 ช่องครับ ซึ่งเดี๋ยวจะมาคุยกันต่อว่ามันส่งผลกับอุปสงค์ (demand) ของ DOT อย่างไร

Parachain

เป็นบล็อกเชนที่เขียน smart contract ได้ ที่ถูกเชื่อมเข้ากับ Relay Chain นั่นคือ Parachain เปรียบเสมือนบล็อกเชนย่อย ๆ ที่มีลูกเล่นแตกต่างกันไป แต่จะเชื่อมต่อถึงกันด้วย Relay Chain ครับ การที่นักพัฒนาจะเชื่อมต่อบล็อกเชนที่ตัวเองสร้างเข้ากับ Relay Chain จะต้องทำการผูก (bond) DOT ซึ่งเป็น native token ของโปรเจกต์เข้ากับ Relay Chain เพื่อเป็นหลักประกันการทำงานร่วมกัน ซึ่งการผูกโทเคนดังกล่าวอาจจะกินเวลานานถึง 2 ปีเลยทีเดียว ซึ่งในปัจจุบัน Parachain ก็เริ่มทยอยเปิดให้บล็อกเชนต่าง ๆ เข้ามาเชื่อมต่อแล้วครับ

ซึ่งการใช้ Substrate เป็นตัวช่วยในการเขียนบล็อกเชน ก็จะช่วยให้บล็อกเชนของตัวเองเชื่อมต่อกับ Polkadot ecosystem ได้ง่ายขึ้นครับ

Parathread

เป็นรูปแบบการเชื่อมต่อพิเศษ ซึ่งเป็นลักษณะ pay-as-you-go Parachain ครับ การเชื่อมต่อด้วย Parachain มีข้อดีคือเมื่อเชื่อมแล้วจะมี throughput (อัตราการส่งข้อมูลสำเร็จ) ที่สูง แต่ก็มีต้นทุนการผูก DOT ที่สูงเช่นกัน การเชื่อมต่อแบบ Parathread จะเข้ามาช่วยนักพัฒนาที่อาจจะไม่ได้มี DOT เยอะ สามารถเชื่อมต่อกับ Relay Chain ได้ จุดเด่นของ Parathread คือใช้ต้นทุนการเชื่อมต่อที่ต่ำ แต่ก็แลกมาด้วยประสิทธิภาพการเชื่อมต่อที่ต่ำลง ทำให้ Parathread เหมาะกับโปรเจกต์ที่มีลักษณะเน้นการ​ “อ่าน” มากกว่าการ “เขียน” เนื่องจากการเขียนคือการแชร์ข้อมูลจากบล็อกเชนตัวเองไปยังบล็อกเชนอื่น ๆ ซึ่งต้องการความเร็วในการเชื่อมต่อ (ซึ่งมีอยู่ใน Parachain) ครับ ดังนั้นถ้าหากต้องการอ่านข้อมูลจากบล็อกเชนอื่น ๆ อย่างเดียว Parathread ก็อาจจะเหมาะสมกว่า ซึ่ง Parathread ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาครับ ยังไม่ได้เปิดให้ใช้งานจริง

Consensus

Polkadot ใช้กลไกฉันทามติ Nominated Proof-of-Stake โดยจะมีองค์ประกอบหลัก ๆ 4 ส่วนด้วยกัน

  • Validator คือคนที่จะมาตรวจสอบธุรกรรมบน Relay Chain โดยจะต้องทำการวาง (stake) เหรียญ DOT เป็นสินทรัพย์ค้ำประกันบน Relay Chain เพื่อรับสิทธิ์การ validate และถ้าหาก validator มีพฤติกรรมที่ต้องสงสัย (และ community approve ว่าทำผิด) DOT ที่ถูกวางไว้จะถูกริบ นั่นคือพื้นฐานของ PoS แต่สำหรับ Polkadot จะมีส่วนประกอบย่อยเพิ่มเติมอีกครับ โดยในปัจจุบัน คนที่จะมาทำหน้าที่ validator ต้อง stake อย่างน้อย 350 DOT และจะได้ผลตอบแทนเป็น DOT ในอัตราประมาณ 10% ของปริมาณที่วางไว้ (ผลตอบแทนจะมากน้อยจะขึ้นกับจำนวน validator, ปริมาณที่วางไว้ และปัจจัยอื่น ๆ)
  • Nominator คือคนที่อยากจะช่วย validate Relay Chain แต่อาจจะไม่สะดวก run node หรือมี DOT ไม่เพียงพอ สามารถเป็น Nominator ได้โดยการ “ให้ยืม”​ DOT ของตัวเองกับ validator ที่เราชอบ และจะได้ผลตอบแทนเช่นเดียวกันกับ validator แต่อาจจะน้อยกว่าที่ทาง validator ได้ เพราะทาง validator ที่เราไปวางด้วยอาจจะมีการคิดค่าคอมมิชชั่นเพิ่มเติมจากเรา
  • Collator คือคนที่ validate ธุรกรรมระหว่าง Parachain และ Relay Chain โดยจะต้องวาง DOT และทำหน้าที่ยืนยันธุรกรรมดังกล่าว ด้วยกลไกเช่นเดียวกันกับ validator
  • Fisherman เป็นคนที่คอยสอดส่องพฤติกรรมของ validator และ collator โดยจะต้องวาง DOT เพื่อทำหน้าที่ และถ้าหากสามารถตรวจจับพฤติกรรมต้องสงสัยได้สำเร็จ ก็จะได้รับ DOT เป็นค่าตอบแทนครับ

DOT

Polkadot: A blockchain of blockchains

เป็น native token ของ Polkadot ecosystem ซึ่งมีหน้าที่หลัก ๆ ดังนี้ครับ

  • ใช้จ่ายค่า gas เวลาทำธุรกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Relay Chain (การทำธุรกรรมภายใน Parachain แต่ละบล็อกเชนจะจ่ายค่า gas ด้วย native token ของบล็อกเชนนั้น ๆ)
  • ใช้ stake เพื่อรับสิทธิ์การเป็น validator, nominator, collator หรือ fisherman ตามที่กล่าวไปข้างต้น
  • ใช้เป็น governance token นั่นคือผู้ที่วาง (stake) DOT เป็นหลักประกันจะมีสิทธิ์ในการโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ proposal หรือข้อเสนอการอัปเกรดเครือข่าย Polkadot ในด้านต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากวาง DOT ไว้เยอะก็จะมีสิทธิ์ในการโหวตสูงตามนั่นเองครับ
  • ใช้ใน Parachain Slot Auction ซึ่งเป็นวิธีที่จะหาโปรเจกต์ที่เหมาะสมที่จะมาเชื่อมต่อกับ Polkadot ครับ ซึ่งจะต้องมีการฝาก DOT เอาไว้กับ Polkadot เป็นระยะเวลานานประมาณหนึ่ง (จะอธิบายต่อด้านล่าง) แต่การฝาก DOT เอาไว้ถือเป็นการลดอุปทาน (supply) ที่หมุนเวียนอยู่ ทำให้ส่งผลบวกต่อราคาของ DOT นั่นเองครับ

Parachain Slot Auction

Polkadot: A blockchain of blockchains

อย่างที่กล่าวไปครับว่าตัว Relay Chain มี slot ให้เชื่อมต่อทั้งหมด 100 slot ดังนั้นการที่บล็อกเชนต่าง ๆ จะมาเชื่อมต่อกับ Relay Chain ก็จะต้องแย่งกันเพื่อให้ได้มาซึ่ง slot ที่ว่างอยู่ ดังนั้น Polkadot จึงใช้วิธีการ “ประมูล”​ slot ว่างครับ โดยเรียกวิธีนั้นว่า Parachain Slot Auction โดยคนที่ต้องการจะมาใช้ slot จะต้องทำการผูก DOT ไว้กับเครือข่าย Polkadot ซึ่งจะมีขั้นตอนตามนี้ครับ

  • Polkadot จะประกาศรอบ Slot Auction เป็นระยะ ๆ ว่าจะเปิดรับโปรเจกต์มาเชื่อมต่อ Parachain กี่ slot และจะต้องผูก DOT ไว้ภายในช่วงเวลาใด (ณ ปัจจุบัน ระยะเวลาการผูกคือ 2 ปีครับ)
  • โปรเจกต์ต่าง ๆ จะทำการผูก DOT และ Polkadot จะทำการ snapshot แบบสุ่ม (ป้องกันการทุ่มเงินในช่วงเวลาสุดท้ายของ slot auction ซึ่งเป็นกรณีที่เจอได้ทั่วไปในการประมูลแบบปกติ) และทำ snapshot มากกว่า 1 ครั้งและนำมูลค่า DOT มาเฉลี่ยกัน และพอสิ้นสุดก็จะได้โปรเจกต์ที่มีมูลค่า DOT เฉลี่ยสูงสุดเป็นผู้ชนะการประมูล

ซึ่งนอกจากโปรเจกต์ต่าง ๆ จะผูก DOT ของตัวเองได้แล้ว ยังสามารถ “ดึงดูด”​ ให้กับผู้ใช้งานทั่วไปที่ถือ DOT ให้มาช่วยผูก DOT ร่วมกับโปรเจกต์ตัวเองได้ สิ่งนี้เรียกว่า Crowdloan Offering ครับ (แปลตรง ๆ คือการอนุญาตให้โปรเจกต์ไปกู้ยืม DOT จากผู้คนทั่วไป) ซึ่งการที่ผู้ใช้งานทั่วไปจะร่วมลงทุนในโปรเจกต์ ทางโปรเจกต์ก็ต้องมีแรงจูงใจ (incentive) ใช่ไหมครับ ในมุมนึงทางโปรเจกต์ก็ต้องขายวิสัยทัศน์ของตัวเอง (ผมว่ามันเหมือน CEO บริษัทในตลาดหุ้นมา opp day แหละ อารมณ์เดียวกัน) และอีกมุมนึง โปรเจกต์อาจจะมีของรางวัลให้กับผู้ร่วมลงทุน (อาจจะเป็น native token ของโปรเจกต์ตัวเอง) ก็ได้เช่นกันครับ

ซึ่งในปัจจุบัน Polkadot รับโปรเจกต์ไปแล้ว 20 โปรเจกต์และกำลังเปิดรับโปรเจกต์ถัดไปอยู่ด้วยครับ สำหรับใครที่สนใจจะเข้าร่วม slot auction สามารถตรวจสอบโปรเจกต์ต่าง ๆ และเข้าร่วม crowdloan ได้ที่ https://polkadot.js.org/apps/ และเชื่อมต่อ Polkadot wallet (polkadot.js, Clover wallet หรือ Talisman ก็ได้) ครับ ในนั้นจะมีรายชื่อของโปรเจกต์ทั้งหมด และเราสามารถเลือกผูก DOT ไว้กับโปรเจกต์ที่เราชอบ จะกี่โปรเจกต์ก็ได้ครับ เราลองไปดูตัวอย่างโปรเจกต์ที่ชนะการประมูลไปก่อนหน้านี้กัน

Acala

Polkadot: A blockchain of blockchains

Acala เป็นโปรเจกต์ decentralized finance (DeFi) ที่สร้างบน Polkadot ครับ โดย Acala ตั้งเป้าเป็น ultimate DeFi and liquidity hub บน Polkadot ecosystem โดยจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย เช่น derivatives, stablecoin รวมถึง liquid staking ที่จะเปิดให้มีตลาดการซื้อขาย bonded DOT สำหรับคนที่ผูก DOT ใน crowdloan แต่ต้องการสภาพคล่อง ก็สามารถซื้อขาย bDOT ใน Acala ได้ครับ

Moonbeam

Polkadot: A blockchain of blockchains

Moonbeam เป็นโปรเจกต์ที่มีแนวคิดเดียวกันกับ Polkadot นั่นคือ The future is multichain (โลกอนาคตจะไม่ได้มีแค่บล็อกเชนเดียว) โดย Moonbeam เป็นบล็อกเชนที่มีลักษณะ smart contract EVM-compatible ซึ่งรับเอาความสามารถต่าง ๆ ของ Ethereum network เช่น cross-chain operability, staking, on-chain governance มาใช้บน Polkadot ecosystem นั่นคือผู้ใช้สามารถใช้งาน Moonbeam ได้เหมือนกับ Ethereum เพียงแต่ Moonbeam มีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม (gas) ที่ถูกกว่า เพราะทำงานอยู่บน Polkadot ครับ

Efinity

Polkadot: A blockchain of blockchains

Efinity ถูกสร้างขึ้นโดย Enjin ซึ่งเป็นทีมที่สร้าง Enjin (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Enjin ได้ที่นี่) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบน Ethereum ที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้าง Non-Fungible Token (NFT) ในรูปแบบไอเทมเกม / เพลง / งานศิลปะ และอื่น ๆ มีจุดเด่นคือเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยในการสร้างเกมส์รูปแบบ play-to-earn, สร้าง NFT บนเกมส์แต่ละเกมส์ และสามารถ trade NFT ข้ามเกมส์ได้ (ขอแค่เป็นเกมส์ภายใน Enjin ecosystem ก็สามารถซื้อ-ขาย NFT ถึงกันได้หมด) Efinity เป็นแพลตฟอร์มที่มีลักษณะเดียวกันกับ Enjin แต่ถูกสร้างขึ้นบนเครือข่ายของ Polkadot นั่นทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งาน Efinity ได้เหมือนกับที่ใช้งาน Enjin แต่จะมีข้อดีเพิ่มเติมคือมีค่า gas ที่ถูกกว่า Enjin เนื่องจาก Polkadot มีค่า gas ที่ถูกกว่า Ethereum นั่นเองครับ

และยังมีโปรเจกต์อื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกเยอะเลย ลองไปศึกษาเพิ่มเติมกันได้ครับ

Kusama Network

Polkadot: A blockchain of blockchains

พูดถึง Polkadot จะไม่พูดถึง Kusama ก็คงไม่ได้นะครับ Kusama คือ Polkadot’s Canary Network หรือแปลง่าย ๆ ว่าเป็น testnet ของ Polkadot นั่นเอง

ชื่อ Canary Network มาจากนก Canary ซึ่งเป็นนกที่คนงานเหมืองแร่จะเอาใส่กรงและพกติดไปด้วยเวลาที่ลงเหมืองใต้ดิน โดยนกสายพันธุ์นี้จะมีประสาทสัมผัสด้านกลิ่นที่ไวกว่ามนุษย์หลายเท่า ดังนั้นเมื่อมีการรั่วของแก๊ส หรือมีปริมาณแก๊สพิษสูงผิดปกติ อันอาจก่อให้เกิดอันตรายในเหมือง นกตัวนี้จะรับรู้ได้ก่อนมนุษย์ จึงทำให้คนงานเหมืองแร่สามารถรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขหรือหนีออกมาจากเหมืองแร่ได้ทันเวลาครับ

ซึ่ง Kusama ไม่ใช่ testnet ธรรมดาครับ มันคือ testnet ที่มีการใช้งานจริง ๆ ตัว KSM ซึ่งเป็น native token บน Kusama ก็มีมูลค่าจริง ๆ (เรียกว่ามันคือ mainnet ตัวนึงก็ยังได้) ซึ่งการอัปเกรดใด ๆ (รวมถึง Parachain Slot Auction) ที่จะทำบน Polkadot จะถูกทดสอบใช้งานในโลกจริงบน Kusama ก่อน เนื่องจากการทดสอบบน testnet ปกติ อาจจะไม่ได้มีความน่าเชื่อถือมากนัก เพราะผู้ใช้ที่ใช้งาน testnet ไม่ได้มีปัจจัยด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับราคาที่ขึ้น-ลงของสินทรัพย์ต่าง ๆ มาเกี่ยวข้อง (ลองคิดถึง platform เทรดหุ้นจำลองก็ได้ครับ ทำไมเวลาลองเล่นในแพลตฟอร์มพวกนี้กับไปเทรดหุ้นจริง ๆ ผลตอบแทนมันถึงต่างกันราวฟ้ากับเหว) Polkadot ที่ทดสอบการอัพเกรดต่าง ๆ บน Kusama จึงได้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือมากกว่า testnet ทั่วไปนั่นเอง

Roadmap

Parachain Slot Auctions

แน่นอนว่า slot auction ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ครับ จนกว่า slot ของ Parachain จะถูกประมูลจนหมด ซึ่งในปัจจุบัน slot auction ดำเนินมาถึง slot ที่ 10 แล้ว และจะมีความถี่ในการประมูลอยู่ที่ slot ละ 2 อาทิตย์ และจะประมูลแค่ 1 slot ต่อ 1 ช่วงเวลา ดังนั้นก็คงจะใช้เวลาอีกสักพักกว่าที่ slot auction จะเสร็จสมบูรณ์ครับ

Parachain Interoperability

เป็นเรื่องปกติที่การทำธุรกรรมข้ามบล็อกเชนจะมีอุปสรรคเยอะกว่าการทำธุรกรรมภายในบล็อกเชนตัวเอง บล็อกเชนที่ใช้ sharding เช่น Harmony (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) ก็ยังมีปัญหาในการทำธุรกรรมข้าม shard หรือพวก bridge ที่ส่งสินทรัพย์ข้าม chain ก็ยังเจอปัญหาถูก hack อยู่เรื่อย ๆ สำหรับ Polkadot เอง การทำธุรกรรมข้าม Parachain ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ครับ และ Polkadot จะแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีที่เรียกว่า Cross-Consensus Message Format (XCM) ซึ่งในตอนนี้ยังทดสอบอยู่ใน testnet และน่าจะปล่อยใช้งานจริงในระยะอันใกล้

Parathreads

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นนะครับว่า Parathread คือ Pay-as-you-go Parachain เป็นการเชื่อมต่อแบบพิเศษที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงเท่ากับ Parachain และจะช่วยขยายฐานการใช้งาน Polkadot ecosystem ไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ได้อีกเยอะเลยครับ

Polkadot: A blockchain of blockchains

Unique Network เป็น NFT marketplace ที่ทำงานร่วมกับสหประชาชาติ (UN) ในการเปิดขาย NFT และนำส่วนแบ่งรายได้ไปแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งทาง Unique Network เองก็มีความสนใจจะเชื่อมต่อ Parathread ครับ

อัปเดทล่าสุดคือ Unique Network ประมูล Parachain Slot Auction ชนะ และได้สิทธิ์ในการเชื่อมต่อกับเครือข่ายของ Polkadot ในรูปแบบ Parachain เรียบร้อยแล้วครับ

Concern

ดูเหมือนว่า Polkadot จะมีการออกแบบ ecosystem ที่ซับซ้อน และสามารถแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่างที่บล็อกเชนอื่น ๆ เจอได้ แต่ถึงกระนั้น ในตอนนี้ ตัว ecoystem เองก็ยังมีประเด็นบางอย่างอยู่ครับ

  • Centralization: ณ ปัจจุบันการ approve proposal ในการปรับเปลี่ยนพัฒนา Polkadot ในขั้นสุดท้ายหลังจากที่ proposal ได้รับการโหวตโดยเสียงส่วนใหญ่จาก community แล้ว จะต้องผ่านการ approve อีกครั้งจาก Polkadot’s Technical Committee ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจาก Web3 Foundation และ Parity Technologies ครับ นั่นแปลว่า Polkadot ยังคงมีความ centralized อยู่มากครับ
  • Chinese Community: โปรเจกต์บน Polkadot ส่วนใหญ่ เป็นโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนครับ รวมถึง community ของ Polkadot บนสื่อออนไลน์ต่าง ๆ (เท่าที่เปิดเผยข้อมูล) ก็เป็นคนจีนเสียเยอะ และทุก ๆ คนคงทราบดีอยู่แล้วว่ารัฐบาลจีนกำลังดำเนินการอย่างจริงจังในการแบนคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะมีการบล็อกไม่ให้เข้าถึง Polkadot ecosystem ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง ผมคิดว่าจำนวนผู้ใช้งานที่ใช้งาน Polkadot จะหายไปเยอะเลย และจะส่งผลกับการเติบโตของ ecosystem แน่นอน

Summary

สำหรับผม Polkadot น่าสนใจตั้งแต่แนวคิดตั้งต้นที่บอกว่าจะไม่มีบล็อกเชนที่มีลักษณะ one size fits all อยู่จริง แต่ละบล็อกเชนถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน และจะมีลักษณะโครงสร้างต่างกันไปตามแต่การใช้งาน จุดสำคัญคือเราจะสามารถเชื่อมต่อบล็อกเชนเหล่านั้นเข้าด้วยกันได้อย่างไร Polkadot สามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ครับ

แต่อย่างที่ทราบว่า Polkadot ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น Parachain Slot Auction เพิ่งเริ่มเปิดประมูลไปเมื่อปลายปีที่แล้ว การ upgrade proposal ก็ยังคงต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการส่วนกลางซึ่งก็ลดความกระจายศูนย์ของ ecosystem ไปเยอะ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปัญหาใหญ่เลยแหละครับ แต่ผมก็ยังเชื่อนะว่าสุดท้ายทีม Polkadot จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ แต่อาจจะต้องใช้เวลาสักพักครับ

Further Read

CodeBreaker

ที่มาบทความ: https://link.medium.com/q7OsunPR1qb


คำเตือน

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

TSF2024